xs
xsm
sm
md
lg

เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ ทรงกู่เจิงงาน "สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน"ครั้งที่ 5

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ศ.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี มิได้ทรงมีพระปรีชาสามารถในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติเท่านั้น หาแต่ยังมีพระอัจฉริยะทางดนตรีอีกด้วย โดยทรงเป็นพระราชวงศ์พระองค์แรกของโลกที่สามารถทรง “กู่เจิง” อันเป็นเครื่องดนตรีโบราณของราชสำนักจีนจนสมาคมกู่เจิงแห่งสมาคมดนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน และสำนักงานคณะกรรมการกู่เจิงแห่งสมาคมดนตรีเครื่องสายพื้นเมืองประจำกรุงปักกิ่ง ได้ถวายตำแหน่ง “ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์” แด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ และกระทรวงวัฒนธรรมจีน ยังได้ถวายสถานะเป็นทูตทางวัฒนธรรมด้วย

โอกาสนี้ในฐานะที่ทรงดำรงตำแหน่งเป็นทูตวัฒนธรรมจีน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ จึงทรงเป็นเจ้าภาพจัดงานสานสัมพันธ์ไทย-จีนในงานแสดงดนตรีและวัฒนธรรม “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน”ครั้งที่ 5 ขึ้นระหว่างวันที่ 17-24 ส.ค.ศกนี้

โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ได้พระราชทานสัมภาษณ์ ณห้องกัลยาณิวัฒนา ชั้น 14 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ถึงความเป็นมาในการจัดงาน ทรงมีรับสั่งใจความว่า การแสดงในครั้งที่ 5 นี้ ควรต้องเล่นตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์น้ำท่วมและติดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จึงเลื่อนพ้นออกมา เดือน ส.ค.หลังวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

“ข้าพเจ้าได้ติดงานวิชาการในฐานะนักวิทยาศาสตร์ จึงไม่มีเวลาซ้อม ไม่ได้เล่นเลยหายไป 2 ปีเต็ม หลังจากการแสดงครั้งที่ 3 จบลง กระทั่งทางจีนทวงมาว่า “ข้าพเจ้าเป็นทูตวัฒนธรรมของจีน” แล้วไฉนไม่ทำหน้าที่ ข้าพเจ้าก็เลยสะดุ้งเฮือก ต้องฝึกซ้อมให้ทันการแสดง ความจริงแล้วการแสดงครั้งที่ 5 จะต้องเล่นตั้งแต่ ธ.ค.ปีที่แล้วแต่ด้วยติดงานพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ จึงต้องเลื่อนออกมาก่อน”

สำหรับบทเพลง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะทรงบรรเลงทั้งสิ้น 10 บทเพลง ประกอบด้วย เพลงวันวาน (Xi) ถัดมาเป็นเพลงไทยคือ เดือนเพ็ญ (Man Ywei) ตามด้วยเพลง “ชุน เจียง กวาง เยว่ เยี่ยน” หรือ “สปิริต ริเวอร์ อิน เดอะ มูน ไลท์” ซึ่งเป็นเพลงคลาสสิคของจีน อายุมากกว่า 300 ปี, เพลงบุปผาโปรยปราย (Luo Hua Fei), เพลงลมหนาวและดาวเดือน, เพลงห้วงธาราใต้แสงจันทร์ ตามด้วยเพลง “เพอร์เฟ็ค” หรือ “หว่าน เหว่ย” มีความทันสมัย จังหวะเร็ว และเล่นกู่เจิงประสานเสียงกัน 2 ตัว เพลงต่อมา “มิสชิ่ง” หรือ “ฉาง เซียง ซือ” หรือ “คะนึงหาตราบนิรันดร์”, เพลงพระราชนิพนธ์ยามเย็น จบด้วยเพลงประจำของ “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” โดยแต่ละช่วงจะคั่นสลับการแสดงวัฒนธรรมของจีน ได้แก่ ระบำหญิงหมู่ เรื่อง “ซิ่วเซ่อ” จากนครเซี่ยงไฮ้, กายกรรมยิมนาสติกชุด “หญิงสาวแห่งแสงตะวัน” จากเมืองกวางโจว, อุปรากรปักกิ่ง หรือ “งิ้ว” เรื่อง “สนมเอกราชวงศ์ถัง” ตอน ดอกสาลี่บาน และโขนเรื่องรามเกียรติ์ ชุด พระรามข้ามสมุทร เป็นต้น

การแสดงรอบนี้คนไทยทั้งประเทศมิได้เพียงแต่จะได้ชื่นชมในพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีของเจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ทุกคนจะได้รับฟังบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพลงยามเย็น ผ่านเครื่องดนตรีกู่เจิงเป็นครั้งแรก ซึ่งเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯจะทรงเป็นผู้บรรเลงด้วยพระองค์เอง

“ข้าพเจ้าจะนำเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพลงยามเย็น มาแสดงบนกู่เจิงเป็นครั้งแรก ซึ่งมีความยากมาก เพราะว่ากู่เจิงนั้นจะมีโน้ต โด-เร-มี-ซอล-ลา-โด ส่วนโน้ตตัวฟากับที และเสียง ชาร์ป แฟลต ไม่มี ต้องใช้มือซ้ายกดเป็นเสียงชาร์ป แฟลต ต้องแม่นมากถ้าไม่ชำนาญกดแล้วจะเพี้ยน แต่ข้าพเจ้าก็ อยากจะแสดงเพลงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะไพเราะเหลือเกิน จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วว่าจะแสดงเพลงยามเย็น เป็นไฮไลท์ของการแสดงกู่เจิงนี้ โดยจัดแสดงคู่กับ อ.ฉาง จิ้ง มีวงดุริยางค์ราชนาวี เป็นแบ็กอัพ และก็จบด้วยเพลงประจำของพวกเรา เพลงสายสัมพันธ์สองแผ่นดิน”

ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ และทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ต้องเสด็จออกเยี่ยมเยียนพสกนิกร พร้อมทั้งทรงแสดงดนตรีกู่เจิงยังต่างประเทศ ในฐานะทูตวัฒนธรรมของจีนจึงทำให้ไม่มีเวลาฝึกซ้อม แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่ทรงว่างจากพระกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งปวง ก็จะทรงใช้เวลายามบ่ายในการฝึกซ้อม โดยเฉพาะในช่วงค่ำจะยิ่งทำให้การฝึกซ้อมกู่เจิงได้ผลดียิ่งขึ้น เพราะเงียบสงบ เสียงกู่เจิงจะยิ่งดังกังวานดี

ทรงยอมรับว่าด้วยพระชนมายุที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้ความสามารถในการจดจำเนื้อน้อยลง ไม่เหมือนต่อนที่เล่นใหม่ จึงต้องคอยชำเลืองทอดพระเนตรตัวโน๊ตบ่อยๆ แต่เพื่อให้คนไทยทุกคนได้ชื่นชมความไพเราะของเครื่องดนตรีกู่เจิง พระองค์จะทรงพยามยามเคี่ยวเข็ญพระวรกายให้ได้

“มีหลายคนบอกว่าไม่อยากให้ข้าพเจ้าเอาโน้ตไปวางเล่น มันบังหน้าไม่สวย อยากจะได้เห็นหน้า เห็นลีลาของมือ อาจารย์ฉาง จิ้ง ประจำพระองค์ เคยย้ำเสมอว่า คนที่เล่นกู่เจิงนี้ไม่ใช่เสียงเพลงเพราะเท่านั้น แต่ท่าทางจะต้องดูสวยงามด้วย ตอนนี้ก็พยายามจะเคี่ยวเข็ญตัวเองให้ได้ แต่ว่าถ้าผิดพลาด ต้องขอให้อภัยคนแก่ด้วย”

สำหรับการแสดงดนตรีและวัฒนธรรม “สายสัมพันธ์สองแผ่นดิน” ครั้งที่ 5 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ช่วงค่ำ วันที่ 17 ส.ค.2555 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯ ทอดพระเนตรการแสดง และวันที่ 18 ส.ค.2555 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จทอดพระเนตรการแสดง จากนั้นวันที่ 21 ส.ค.2555 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ทรงการแสดง ณ ห้องประชุมเอนกประสงค์กาญจนาภิเษก ม.ขอนแก่น, และวันที่ 24 ส.ค.2555 ทรงแสดง ณ ห้องประชุม ม.สงขลานครินทร์ ประชาชนผู้สนใจสามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ ไทยทิตเก็ตเมเจอร์ และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ หลักสี่ ราคาบัตรเข้าชม ในกรุงเทพฯ ราคาใบละ 800-1,800 บาท จ.ขอนแก่นและ จ.สงขลา ราคาใบละ 400-1,500 บาท. โดยรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายบัตรจะนำเข้าสมทบทุนมูลนิธิ พอ.สว. เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ต่อไป
 
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น