xs
xsm
sm
md
lg

ภัยร้ายท่าซ้ำ! นั่ง-ก้ม-ลุก-เงย-หันเอียงผิดรูปเป็นประจำ บ่อเกิดออฟฟิศซินโดรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By Lady Manager

เคยมั้ย ไม่ได้ทำงานออฟฟิศ ตอกบัตรเช้า-เย็น แต่เป็นโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เพราะชีวิตประจำวันของคนสมัยนี้วันๆ จ้องแต่หน้าคอมพ์ ไม่ขยับร่างกายไปไหน ไม่ยกเว้นแม้แต่ 'นิ้ว' ที่มัวแต่แชทคุยกับเพื่อนฝูง

รู้มั้ย ว่าพฤติกรรมเหล่านี้ บั่นทอนกล้ามเนื้อ และนำพาหายนะของโรคปวดเมื่อย กล้ามเนื้ออักเสบ มาเยือนคุณอย่างไม่รู้ตัว!

โดยเฉพาะผู้หญิง ไหนจะต้องสะพายกระเป๋าหนักขึ้นรถ ลงเรือ แถมยังต้องใส่รองเท้าส้นสูงอีก เสี่ยงปวดข้อเท้า เล็บขบ ข้อเท้าพลิก อยากสวยก็ต้องอดทนขนาดนั้นเชียวรึ!

"ปัญหาเกี่ยวกับกระดูกของผู้หญิงมีเยอะพอสมควร ส่วนหนึ่งมาจากเรื่องของกิจกรรมระหว่างวัน ตั้งแต่เรื่องของการสะพายกระเป๋า ถือของหนัก ใส่รองเท้าส้นสูงตลอดเวลา ด้วยลักษณะของการที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายมากเท่าไหร่ ต้องทำงานบ้านเยอะกว่าผู้ชาย รวมไปจนถึงการตั้งครรภ์

เหล่านี้สามารถเป็นผลกระทบต่อโครงสร้างของกระดูกได้ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้อาจนำมาซึ่งปัญหาของการปวดต่างๆ ตั้งแต่เรื่องของการปวดคอ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ หากถูกปล่อยทิ้งไว้นานจนแนวโครงสร้างมีการพัฒนาผิดรูปก็จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาได้ เช่นข้อเสื่อม หมอนรองกระดูกเคลื่อน เป็นต้น" ดร.มนต์ทณัฐ โรจนาศรีรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ไคโรเมด สหคลินิก (Chiromed Medical Center) กล่าว
ออฟฟิศซินโดรม ภัยร้ายเยือนสาวพฤติกรรมซ้ำ

คุณหมอมนต์ทณัฐ บอกว่า ไม่เพียงแต่สาวออฟฟิศที่เสี่ยงต่อโรคออฟฟิศซินโดรม แต่..ทุกอาชีพที่ต้องอยู่ในท่าทางที่ซ้ำ เป็นเวลานาน

"ก่อนอื่น เราต้องรู้ก่อนโครงสร้างของเราเป็นแบบไหน แกนของร่างกายของเราจะมีส่วนเว้า ส่วนโค้ง ที่ถูกออกแบบโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ดังนั้น เวลาที่เราใช้งาน หรือทำงาน ถ้าเราอยู่ในท่าทางที่ผิด ทำให้แกนของแนวกระดูกสันหลังอยู่ในแนวที่ผิด จะส่งผลทำให้เกิดแรงกดของข้อต่อ และเกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อมากขึ้นกว่าปกติ ถ้าเราอยู่ในท่าซ้ำๆ เดิมๆ เป็นเวลานาน

เช่นผู้หญิงที่ทำงานออฟฟิศ อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ก็จะเกิดอาการต่างๆ ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดช่วงบ่า ปวดลงมาที่ศอก แขน ข้อมือ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เราต้องทำเป็นประจำวันอยู่แล้ว

สิ่งแรกที่เราต้องดูก่อนเลยว่า เราต้องรู้ว่าโครงสร้างที่ถูกต้องเป็นอย่างไร และโครงสร้างที่ไม่ถูกต้องมันมาจากพฤติกรรมของเราเอง อะไรที่เกิดขึ้นได้บ้าง เราถึงมาวิเคราะห์เป็นข้อย่อยๆ ลงมา เพราะอาการปวดสามารถเอฟเฟ็กต์ได้ทั้งหมด ตั้งแต่ช่วงคอ ไหล่ หลัง เข่า ข้อเท้า เป็นได้ทุกส่วน

ทว่าโรคออฟฟิศซินโดรมนั้น เป็นชื่อเรียกของพฤติกรรม หรืออาการที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่อยู่ในสภาวะทำงานแบบเดิมๆ จำเจ อาจไม่จำเป็นเป็นคนที่ทำงานออฟฟิศตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น อาชีพ หมอฟัน เขาต้องนั่งทำงานในท่าที่แปลกๆ อยู่ทั้งวัน มีการก้มๆ เอียงๆ หรือรวมไปถึงอาชีพอื่นก็ตาม ที่ต้องทำซ้ำๆ เดิมๆ

อย่างแอร์โฮสเตสก็มีปัญหาเยอะ คนขับรถที่ต้องขับรถเป็นเวลานาน คือ อาชีพอะไรก็ตามที่ต้องอยู่ในท่าลักษณะเดิมๆ ซ้ำๆ ต่อเนื่อง อันนี้ทำให้เกิดอาการออฟฟิศซินโดรมได้

และยังมาจากการใช้ Mechanic ของร่างกายที่ผิดอย่างไม่ถูกต้องต่อเนื่องเป็นเวลานาน และทำให้เกิดการพัฒนาของปัญหาขึ้นมาได้ตั้งแต่เรื่องของสภาวะการเสื่อมถอยของกล้ามเนื้อ รวมไปถึงเรื่องของการสึกกร่อนของตัวข้อ

ต้องเข้าใจก่อนว่า สาเหตุของปัญหาโดยส่วนใหญ่มากกว่า 90% มาจากตรงนี้ พฤติกรรมที่ผิดสะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา

ส่วนสาเหตุที่เกิดจากปัจจัยอื่น อย่างความเสี่ยงอื่นๆ เช่น การแตกหักของตัวข้อ มาจากเรื่องของอุบัติเหตุ ถ้าเราไม่มีอุบัติเหตุเราก็ไม่มีปัญหาตรงนั้น หรือสภาวะความเป็นโรคอย่างอื่น เช่น เรื่องของโรคกระดูกพรุน กระดูกบาง เป็นปัญหาของ Genetic และเรื่องของการดูแลตนเองมาตั้งแต่เด็ก การทานแคลเซียมน้อยตั้งแต่เด็ก จะส่งผลให้มวลกระดูกความหนาแน่นของเราอาจจะไม่ดีมากเท่าไหร่ พอถึงจุดหนึ่งที่ร่างกายมีความสึกกร่อน มันจะเสียหายไปเร็ว

โดยเฉพาะผู้หญิง หลังจากเข้าสู่ช่วงใกล้วัยทอง กระดูกจะบางมากกว่าปกติ โดยเฉลี่ยอายุประมาณ 40-50 ปี ที่จะเข้าสู่ช่วงวัยทอง"
ยืดเหยียดร่างกาย คลายความเมื่อย

"อาการของออฟฟิศซินโดรม มาจากปัญหาของโรคกล้ามเนื้อก่อน คือ การตึงของกล้ามเนื้อ ปวดกล้ามเนื้อจากการใช้งานเป็นเวลานาน ในเบื้องต้นร่างกายอาจจะปรับให้กล้ามเนื้อส่วนอื่นเข้ามาทดแทนได้บ้าง แต่ถ้าเราอยู่ในพฤติกรรมเดิมๆ ไม่มีการปรับปรุงแก้ไขอะไรเลย กล้ามเนื้อจะรวนไปทั้งระบบ

จะสังเกตได้ว่า คนที่ทำงานออฟฟิศอยู่เป็นประจำ หรือทำงานลักษณะเดิมๆ มันจะเกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานหนัก แล้วเกิดภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่ไม่ถูกใช้งานเลย พอนานวันร่างกายจะค่อยๆ ปรับสภาพไปอยู่ในท่าที่ผิด

อย่างคนที่มีปัญหาเดินหลังค่อม จะเกิดจากลักษณะพวกนี้ คือ พฤติกรรมที่มีการค่อมหลังต่อเนื่องเป็นเวลานาน พอนานวันเข้ากล้ามเนื้อที่ช่วยพยุง หรือช่วยเหลือ โครงสร้างก็จะค่อยๆ ล้มๆ แล้วก็จะปรับสภาพไปในทางที่ผิดต่อไปเรื่อยๆ เลย

ร้อยละ 80 เป็นเรื่องของ Self Awareness เราต้องรู้ว่า ลักษณะท่าทางที่ถูกต้องควรจะต้องทำอย่างไร จะต้องใช้วิธีการเตือนตัวเอง ดูแลตัวเอง มีการพัฒนาการในเรื่องของร่างกายตัวเองด้วยการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาให้กล้ามเนื้อมีความสมดุล

รวมไปถึงเรื่องของการฝึกการ Stretching คือ การยืดเหยียดร่างกายบ้าง อย่าอยู่ในท่าที่ผิดซ้ำๆ เดิมๆ เป็นเวลานาน เป็นเรื่องของการดูแลตัวเองมากกว่า เพราะปัญหาเหล่านี้มาจากเรื่องพฤติกรรม เราต้องสลายพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงก่อน ปัญหาจึงจะแก้ได้

เพราะในเชิงของการรักษา เราช่วยได้แค่ 20 -30% ที่เหลืออยู่ที่ตัวคนไข้เองมากกว่า โดยหลักการประมาณทุกๆ ชั่วโมง ควรจะต้องพักต้องเบรกบ้าง ลุกขึ้นมายืดกล้ามเนื้อหรือเปลี่ยนอิริยาบถ ชั่วโมงละครั้ง ไม่ใช่นั่งต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ชั่วโมง"
-> ทิปส์เด็ดห่างออฟฟิศซินโดรม

- พักสายตาจากจอคอมพิวเตอร์ทุก 10 นาที ควรกะพริบตาบ่อยๆ เปลี่ยนท่าการทำงานทุก 20 นาที

- ตั้งจอคอมพิวเตอร์และคีย์บอร์ดไว้ในแนวตรงกับหน้าขอบบนของจอคอมพิวเตอร์ ควรอยู่ระดับจอคอมพิวเตอร์ควรอยู่ห่างเท่ากับความยาวแขน ให้จออยู่ในมุมที่เหนือกว่าระดับตาเล็กน้อย ใช้เมาส์ โดยพักข้อศอกบนที่รองแขน และสามารถเคลื่อนไหวได้แบบไม่จำกัดพื้นที่

- วางข้อมือบนคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ในตำแหน่งตรง ไม่บิด หรืองอข้อมือขึ้นหรือลง และปรับที่วางคีย์บอร์ดให้อยู่ในระดับข้อศอก ทำมุม 90 องศา

- เก้าอี้ที่ดีนั่งแล้วเท้าวางแนบกับพื้นโดยที่เท้าไม่ลอย ก้นต้องเข้าไปพนักพิงของเก้าอี้และปรับเอนได้ 10-15 องศา หากหลังไม่สามารถพิงพนักเก้าอี้ก็ควรหาหมอนรองเอว ปรับพนักพิงให้รองรับกับหลังส่วนล่าง ถ้าไม่สามารถทำได้ใช้หมอนหนุนหลังส่วนล่าง

- เปลี่ยนท่าทางขณะทำงาน ไม่ควรอยู่ในท่าเดิมนานเกิน 1 ชั่วโมง ควรเปลี่ยนท่า อาจลุกขึ้นเดิน บิดลำตัว ยืดเส้นยืดสายสัก 1-2 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย

- พยายามนั่งตัวตรง หลังไม่งอ ไม่ควรนั่งไขว่ห้าง จะทำให้น้ำหนักตัวลงที่ก้นข้างใดข้างหนึ่ง อาจทำให้กระดูกคดได้โดยไม่รู้ตัว

- หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูงและการสะพายกระเป๋าหนักข้างเดียวเป็นระยะเวลานาน การใช้นิ้วหิ้วของหนักบ่อยๆ จะมีผลทำให้มีพังผืดยึดตามข้อนิ้วมือ

 


>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net
 
กำลังโหลดความคิดเห็น