xs
xsm
sm
md
lg

ฝังเข็มแก้อาการออฟฟิศซินโดรม เจ็บไหม หายปวดได้จริงรึเปล่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

By Lady Manager

หลังนั่งติดแหง่กอยู่กับโต๊ะทำงานมานานแรมปี หลายคนประสบปัญหาปวดหลังปวดไหล่ หรืออาการโดยรวมที่เรียกว่า “ออฟฟิศ ซินโดรม” ทายาก็แล้ว กินยาก็แล้ว ถึงขั้นไปนวดแผนโบราณก็ยังไม่ค่อยหาย งั้นมาลองอีกวิธีที่น่าสนใจอย่าง “ฝังเข็ม” กันสักหน่อย

“การฝังเข็มเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษา หรือบำบัดความเจ็บป่วย ตามแนวทางของแพทย์แผนจีนที่มีมากว่า 2,000 ปีแล้วค่ะ ซึ่งการฝังเข็มคือ การแทงเข็มลงไปบนจุดฝังเข็มตามร่างกาย ซึ่งอยู่ที่เส้นลมปราณ เพื่อปรับสมดุลของร่างกาย

เพราะแพทย์แผนจีนเชื่อว่า หากเลือดและลมปราณทำงานสอดคล้องกันดี ร่างกายก็จะแข็งแรง แต่หากลมปราณและเลือดลมไหลเวียนไม่ดีร่างกาย ก็จะเกิดอาการเจ็บป่วย ซึ่งการฝังเข็มนี้ เข็มที่ปักลงไปจะสามารถกระตุ้นลมปราณให้เลือดไหลเวียนได้อย่างไม่ติดขัด อวัยวะที่ทำงานผิดปกติก็จะคืนสู่สภาพปกติ จนสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้” ภทรพรรณ วงศ์ทางประเสริฐ แพทย์แผนจีน ผู้เชี่ยวชาญด้านการฝังเข็มแห่งปราณณารา เกริ่นนำถึงเหตุผลที่การฝังเข็มสามารถบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้

แพทย์สาวหน้าใส อธิบายให้เราฟังต่อว่า การฝังเข็มสามารถรักษาโรคได้หลากหลาย เช่น บรรเทาอาการปวดต่างๆ ทั้งปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดประจำเดือนฯ รักษาโรค อย่างอัมพฤกษ์, อัมพาต, ภูมิแพ้, เบาหวาน, อัลไซเมอร์ หรือแม้แต่สิว, ฝ้า, ผมร่วง, อาการผิดปกติ อย่าง นอนไม่หลับ, เครียด, ซึมเศร้า การฝังเข็มก็ยังช่วยได้

โอกาสนี้ เราพาสาวออฟฟิศ ผู้มีอาการป่วยด้วยภาวะออฟฟิศ ซินโดรม (Office Syndrome) มาเป็นกรณีตัวอย่าง ให้คุณหมอสาธิตการฝังเข็ม เพื่อช่วยบรรเทาอาการป่วยของเธอ

“ปกติต้องนั่งทำงานนานๆ อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ค่ะ ระยะหลังมานี้เริ่มมีอาการปวดต้นคอ ปวดไหล่ เลยหาทางออกด้วยการออกกำลังกาย แต่แทนที่จะหายกลับรู้สึกว่ายิ่งปวดเมื่อย แถมแขนช่วงล่างก็รู้สึกชาด้วย” คนไข้ของเราบอกเล่าถึงอาการเจ็บป่วยที่เธอทั้งทรมานกายทรมานใจ
“ฝังเข็ม” เจ็บเล็กน้อย แต่ปวดหน่วงๆ

แพทย์แผนจีนภทรพรรณ ฟังคำบอกเล่าอาการแล้ว ก็จัดแจงจับชีพจร, ตรวจดูลิ้น, มองดูสีหน้า พร้อมกดที่ไหล่ และต้นคอ ก่อนเฉลยให้เราฟังถึงอาการผู้ป่วยรายนี้ว่า เป็นอาการปวดเมื่อยจากการทำงาน ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการฝังเข็มในจุดที่ปวด อันได้แก่ ต้นคอ ไหล่ และแขนช่วงล่าง

“คนไข้กรณีนี้เป็นออฟฟิศซินโดรมคือ ปวดตามจุดต่างๆ ซึ่งเกิดจากการใช้กล้ามเนื้ออย่างหนัก ซึ่งการนั่งทำงานอยู่นานๆ ก็เหมือนกับกล้ามเนื้อเราต้องเกร็งตัวอยู่นานๆ ทำให้เกิดอาการเมื่อยได้ พอมาออกกำลังกายอีก ก็เหมือนกล้ามเนื้อบริเวณที่มีอาการปวดอยู่แล้ว ถูกใช้งานมากขึ้นอีกก็ยิ่งปวด ดังนั้นการรักษาเราก็จะฝังเข็มในจุดที่คนไข้มีอาการปวดในรายนี้คือ บริเวณต้นคอ ไหล่ และแขนช่วงล่าง”

เมื่อเข้าสู่กรรมวิธีการฝังเข็ม หมอแผนจีนสาวระบุว่า เข็มที่ฝังเป็นเข็มสแตนเลส (Stainless) บางๆ ชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง มีหลากหลายขนาด ซึ่งแพทย์จะเลือกให้เหมาะกับแต่ละตำแหน่ง เช่น ปักที่ต้นคอ ก็จะสั้นกว่า เข็มที่ปักบริเวณสะโพก และด้วยความที่เข็มสแตนเลสบางมาก เมื่อฝังลงไป คนไข้จะรู้สึกเหมือนมดกัด เมื่อเข็มผ่านเข้าไปในผิวหนัง แต่เมื่อตัวเข็มถึงตำแหน่งฝังเข็ม คนไข้จะรู้สึกหน่วงๆ หรือเหมือนมีอะไรสักอย่างวิ่งผ่านไปตามเส้น นอกจากนี้การฝังเข็มแต่ละจุดจะรู้สึกไม่เหมือนกัน เช่น ฝังที่มืออาจจะรู้สึกหน่วงกว่า ..กว่าการฝังที่ไหล่ เป็นต้น

“ก่อนฝังเข็ม หมอจะเช็ดมือให้สะอาดด้วยแอลกอฮอล์ จากนั้นจะนำแอลกอฮอล์เช็ดที่ผิว ในหนังตำแหน่งที่จะฝังเข็ม แล้วทำการปักลงไปในตำแหน่งที่คนไข้มีอาการ ซึ่งกรณีนี้ คนไข้ต้องนอนคว่ำ และนอนท่าที่สบายที่สุด เพราะหลังฝังเข็มลงไปแล้วคนไข้ต้อนนอนนิ่งๆ อยู่ประมาณ 30 นาที หากขยับตัวจะยิ่งรู้สึกเจ็บ”
บอกเล่าอาการความรู้สึก..หลังโดนเข็มจิ้ม !

หลังผ่านไป 30 นาที คุณหมอแผนจีนนำเข็มที่ปักตามจุดลมปราณออก เรากลับมาทักทายคุณน้องคนไข้อีกครั้ง พร้อมสอบถามความรู้สึก และอาการระหว่างถูกเข็มปัก ซึ่งเธอก็บอกเล่ามาว่า

“ตอนที่คุณหมอปักเข็มลงที่ผิว ตรงผิวหนังแทบไม่รู้สึกเลยค่ะ แต่พอปักลงไป เหมือนโดนเส้นอะไรสักอย่าง รู้สึกปวด และเจ็บหน่วงๆ ที่เส้นใต้กล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณร่องระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ ตรงนั้นเจ็บมาก แต่พอนอนเฉยๆ ไปสักระยะ อาการปวดก็ดีขึ้น”

เราสังเกตพบว่า จุดที่คุณหมอปักเข็ม มีเพียงรอยแดงเล็กๆ มองแทบไม่เห็น.. ไม่เพียงเท่านั้น หลัง 3 วันผ่านไป เรากริ๊งกร๊างไปสอบถามอาการคนไข้ของเราอีกครั้ง

“อาการปวดที่ไหล่หายไปจนแทบไม่รู้สึกแล้วค่ะ ส่วนอาการปวดที่ต้นคอยังมีอยู่บ้างเล็กน้อย”

นี่เองจึงเป็นสาเหตุที่คุณหมอภทรพรรณแนะนำว่า การฝังเข็มควรทำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยสัก 6 ครั้งติดต่อกัน

“ควรฝังเข็มติดต่อกันอย่างน้อย 6 ครั้งค่ะ ความถี่ในการฝังก็ขึ้นอยู่กับอาการ และความเห็นของแพทย์ แต่การรักษาอาการปวดเมื่อยอย่างออฟฟิศซินโดรมนี้ เป็นอาการที่เกิดจากการทำงาน ซึ่งหากเรายังทำงานท่าเดิมซ้ำๆ ใช้กล้ามเนื้อหนักอีก ก็อาจกลับมาเป็นได้อีก

แม้เราจะหยุดทำงานไม่ได้ หยุดนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ได้ แต่ก็อยากจะแนะนำว่า ควรเลี่ยงอากาศเย็น อย่านั่งให้แอร์ตกมาโดนบริเวณที่เราปวด และหมั่นเปลี่ยนท่าทาง บริหารร่างกายขณะทำงานบ้าง

ดังนั้นสรุปได้ว่า การฝังเข็มทำครั้งเดียวอย่างน้อยคือ อาการดีขึ้น แต่หวังจะให้หายเลยคงไม่ใช่ ต้องทำต่อเนื่องกัน และที่สำคัญ อยู่ที่คนไข้ด้วยว่าดูแลตัวเองดีแค่ไหน”

*เกร็ดควรรู้เรื่องฝังเข็ม

ท้ายสุดคุณหมอให้เกร็ดน่ารู้สำหรับผู้สนใจรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยการฝังเข็มมาดังนี้ค่า

ก่อนฝังเข็ม ควรเตรียมร่างกายให้พร้อม โดยรับประทานอาหารก่อน 1-2 ชั่วโมง และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมง

หลังฝังเข็ม เมื่อแพทย์ถอนเข็มออก อาจมีเลือดออกเล็กน้อย ให้ใช้สำลีกดไว้สักครู่เลือดจะหยุดไหลไปเอง และหลังเสร็จการรักษา คนไข้สามารถอาบน้ำ เล่นกีฬา หรือรับประทานอาหารได้ตามปกติ และการฝังเข็มสามารถรักษาร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบันได้ ดังนั้นคนไข้จึงสามารถทานยา หรือรักษาตามแนวทางแพทย์แผนปัจจุบันควบคู่ไปด้วยได้

ผู้ไม่ควรฝังเข็ม ได้แก่ สตรีมีควรรภ์, ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด เมื่อเลือดไหลแล้วหยุดไหลยาก, รวมถึงผู้รับประทานยาสลายลิ่มเลือด ที่ทำให้เลือดแข็งตัวยาก
คลิป ฝังเข็มแก้อาการออฟฟิศซินโดรม @ ปราณณารา

อบคุณ! ปราณณารา ถ.ชิดลม โทร 083-1151135

 


>>
อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ 
 http://www.celeb-online.net
 
กำลังโหลดความคิดเห็น