xs
xsm
sm
md
lg

มุทิตาจิต ของ“อร่าม” กับ ความผูกพันที่มีต่อสมเด็จฯกรมพระยาดำรงค์ราชานุภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับเป็นห้วงเวลากว่า 150 ปีมาแล้ว ที่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จากพวกเราไป หากแต่พระอัจฉริยภาพมากมายที่ทรงวางเป็นรากฐานล้วนเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าทรงเป็นกำลังสำคัญในการบริหารประเทศหลายด้าน และทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเคยตรัสชมพระองค์ เปรียบเทียบว่าเป็นเสมือน "เพชรประดับพระมหาพิชัยมงกุฎ"

หากว่า “มุทิตา” หมายถึงความเป็นผู้มีใจชื่นชมยินดีในเมื่อผู้อื่นได้ดีหรือได้รับความสำเร็จ อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอาการที่เกิดขึ้นในใจเองโดยมิได้บังคับ เกิดขึ้นเพราะจิตใจปราศจากความอิจฉาริษยา เกิดขึ้นเพราะเป็นผู้มีปกติยอมรับในผลสำเร็จหรือความดีของคนอื่นแล้วไซร้ ด้วยพลังศรัทธาที่แรงกล้าของ อร่าม สวัสดิวิชัย กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ มูลนิธิเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลูกชาวบ้านคนหนึ่งจึงได้ส่งผลให้ตัวเขาได้มีโอกาสใกล้ชิดกับลูกของสมเด็จกรมพระยาดำรงค์ราชานุภาพ และรับรู้เรื่องราวและรายละเอียดที่ลึกซึ้งในพระประวัติ ผลงานที่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน จนได้ประมวลรวมกันจนกลายมาเป็นความผูกพันและมุ่งหวังอย่างแรงกล้าอยากให้พระราชกรณียกิจของท่าน เป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่เพื่อเป็นแสดงมุทิตาจิตด้วยการทำความดีนั่นเอง

อร่าม เป็นคนอำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี โดยปี 2502 ช่วงเรียนมัธยมปลายตรงกับงาน 100 ปี สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และองค์การยูเนสโก้ยกย่องให้ท่านเป็นบุคคลสำคัญของโลก ช่วงนั้นศึกษาภัณฑ์ ได้จัดพิมพ์หนังสือสาร์นสมเด็จ รวมถึงพระนิพนธ์ต่างๆ และโรงเรียนก็ซื้อไปเข้าห้องสมุด จึงเข้าไปอ่านและก็ชอบมากๆ คือวันหนึ่งต้องอ่านวันละเล่ม และมันก็จำอยู่ในหัว ทำให้เรารู้ประวัติศาสตร์ และวรรณคดี เรื่องโบราณต่างๆ ได้รู้ว่าท่านทรงมีพระปรีชาสามารถมีพระอัจฉริยะทุกด้าน

“เมื่อผมเรียนจบทำงานได้เงินเดือนเดือนละ 150 บาท ทุกเดือนผมจะแบ่งเงิน 30 บาทสมทบทุนโดยเสด็จพระราชกุศลตั้งมูลนิธิดำรงราชนนุภาพ ทำมาหลายเดือนจนท่านหญิง (มจ.พูนพิศมัย ดิศกุล) สงสัยอยากเห็นตัว บรรณารักษ์ก็บอกเป็นเด็กตัวเล็กๆ ท่านก็บอกให้เรียกมาดูตัว จนวันที่ 20 กันยายน 2507 ผมก็ได้เฝ้าท่านหญิงที่หอดำรงค์ราชานุภาพ หอเก่าที่หน้าวัดมหาธาตุ จากนั้นท่านก็ทรงกรุณาให้เฝ้า ก็เอ็นดูบอกว่าอยากรู้อะไรก็มาหาที่วังได้ จากนั้นก็ตามเสด็จ ได้ร่วมโต๊ะเสวย ทำให้คุ้นเคยกับเจ้านายทุกพระองค์ ท่านก็จะเล่าให้ฟังทุกเรื่องเราก็ซาบซึ้ง” อร่าม เล่าพร้อมรอยยิ้ม

อร่ามบอกว่าชื่นชอบในพระอัจฉริยะของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยเฉพาะพระอัจฉริยภาพเรื่องจัดระบบการปกครองส่วนภูมิภาค ที่เรียก "ระบบเทศาภิบาล" ที่ทรงรวมหัวเมืองต่างๆจัดเป็น "มณฑล" มี "ข้าหลวงเทศาภิบาล" เป็นผู้บังคับบัญชา อยู่ในอำนาจของกระทรวงมหาดไทย

“การจัดระบบการปกครองนับเป็นงานสำคัญที่สุดในพระชนม์ชีพของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพราะใช้เวลาถึง 23 ปี ทรงตั้งมณฑล 18 มณฑล จังหวัด 71 จังหวัด ท่านหญิงเล่าว่าครั้งหนึ่งท่านออกไปตรวจราชการ เจ้าเมืองแต่เมืองแต่ละเมืองจะตกใจ ท่านเสนาบดีมหาดไทยมาทำไม จะยกทัพจับศึกหรือไง? เพราะเสนาบดีสมัยก่อนจะไม่ออกนอกกรุง นอกจากการใหญ่ พอตรวจจนทั่ว กลับมาท่านตั้งสุขาภิบาล เพราะท่านดูแล้วเมืองไทยอยู่ส่วนกลางอย่างเดียวไม่ได้ จึงตั้งแบ่งให้ดูแลกันเองเป็นภาค ภาคละกี่จังหวัดแยกไปบริหาร แล้วถ้าภาคไหนมีปัญหาให้มาบอก อันนี้ถือเป็นการจัดมณฑลให้เป็นระเบียบ ซึ่งปัจจุบันนักการเมืองก็นำความคิดนี้มาทำตามท่าน อย่าง อบจ. หรือ อบต.” กล่าว

หลังจัดตั้งมณฑลเสร็จแล้ว การปกครองก็เป็นระเบียบและง่ายขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพอพระทัย ถึงกับมีรับสั่งงานบริหารราชการโดยกิจการใดที่ดูแล้วจะไม่ก้าวหน้า จะโปรดให้ยกกิจการนั้นมาขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย เช่น กรมป่าไม้ กระทรวงสาธารณสุข กรมสรรพากร กรมทรัพยากรธรณี จนเมื่อกิจการนั้นได้รับการดูแลดีสามารถเลี้ยงตัวได้ให้ย้ายกลับไปไว้ที่เดิม ซึ่งคำสั่งดังกล่าวแสดงว่า รัชกาลที่ 5 ทรงไว้วางใจ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

อร่าม บอกว่าหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัยยังเล่าถึงพระบิดาให้ฟังว่า “สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีความจำแม่นมาก แม้ทรงพระชราแล้ว ถ้าท่านผู้หญิงพูนพิศมัยอ่านข่าวเรื่องพบของโบราณที่อำเภออะไรในหนังสือพิมพ์ ยังไม่ทัน ออกชื่อเมือง ท่านจะทรงบอกต่อได้ทันทีว่า อำเภอนั้นอยู่ต่ออำเภอนั้น เหมือนกับว่าแผนที่ประเทศไทยอยู่ในพระเนตรท่านตลอดเวลา”

ท่านผู้หญิงพูนพิศมัย บอกว่า “เสด็จพ่อคือนักปราชญ์ เพราะนักปราชญ์จะนั่ง นักรบต้องยืน ..” หลังจากแม่ฉันตาย (หม่อมเฉื่อย) เสด็จพ่อนำอัฐิหม่อมเฉื่อยจะอยู่ในรถวอที่เชิญหีบศพ โดยทรงนำมาไว้ที่ปลายพระบาท เพื่อที่ลืมตาตื่นจะได้เห็น และเสด็จพ่อยังรับสั่งว่าหากฉันตาย ให้เอาไปไว้ด้วยกันที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ บางประอิน จ.อยุธยา”

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ได้ส่งผลกระทบต่อบุคคลสำคัญของชาติอยู่หลายท่าน และหนึ่งในจำนวนนี้มี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงถูกควบคุมพระองค์ไว้ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทำให้พระองค์ทรงเสียพระทัยมากจนล้มประชวร และทรงตัดสินพระทัยอย่างเด็ดขาด เสด็จไปประทับที่ปีนังนานเกือบ 10 ปี ระหว่างที่อยู่ที่ปีนังก็ยังทรงงานหนักเพื่อชาติบ้านเมืองตลอด จนวาระสุดท้ายของชีวิต

“ผมว่าหาใครอย่างท่านไม่มีอีกแล้ว คือท่านเก่งทุกเรื่อง พระราชกรณียกิจที่พวกเราเห็น ด้านการศึกษา งานมหาดไทย สาธารณสุข ศิลปวัฒนธรรม คือท่านวางรากฐานทั้งหมด ยิ่งอ่านก็ยิ่งคิดว่าทำยังไง เราถึงจะได้เจอคนคนนี้ เพื่อจะได้ซักถามเรื่องประวัติศาสตร์ พระกรณียกิจจากท่าน แต่ท่านก็สิ้นพระชนม์ไปแล้ว เราก็ได้แต่เฝ้าดูรูปท่าน” อร่าม กล่าว

อย่างไรก็ตามแม้อร่ามจะไม่มีโอกาสได้เข้ารับใช้ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่เขาก็มีโอกาสได้เข้าเฝ้าลูกท่าน ได้รับใช้หลานท่าน ซึ่งเพียงเท่านี้เขาก็บอกว่าภูมิใจยิ่งนัก

"จนถึงวันนี้ผมยังอยากเข้าเฝ้าท่าน แต่เมื่อไม่มีโอกาสได้เฝ้าท่านได้รับใช้ลูกท่านผมก็ดีใจแล้ว หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัยเคยบอกผมว่า เสียดายที่เธอเกิดไม่ทันพ่อฉัน หากทันฉันเชื่อว่าเสด็จพ่อจะโปรดเธอเป็นอย่างมาก" อร่าม กล่าว

เราหยั่งรากในอดีต เพื่อมุ่งสู่อนาคตฉันใด การศึกษาและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ก็เป็นเหมือนกระจกเงาที่ส่องให้เราได้เห็นตัวตนที่เด่นชัดมากขึ้นฉันนั้น

นอกจากปี2555 จะเป็นปีที่ครบ 150 ปี วันประสูติของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และเป็นวาระครบ 50 ปี ที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติได้ถวายพระเกียรติให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกแล้วการเทิดพระเกียรติและแสดงมุทิตาจิตต่อท่านที่สำคัญที่สุดก็คือ การทำความดีต่อสังคม และก่อประโยชน์ต่อสาธารณะนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น