ริ้วขบวนพระอิสริยยศในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งงานสำคัญที่ได้มีการรื้อฟื้นราชประเพณี “เข้าทุกข์ใหญ่” ซึ่งมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และห่างหายไปเป็นเวลานานแล้ว โดยเหล่าข้าในพระองค์จากพระราชนิเวศน์มฤคทายวันพร้อมใจกันใส่ชุดขาวไว้ทุกข์ถวาย เพื่อแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีแด่ “ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า”
ความแปลกตาของเครื่องแต่งกายที่ข้าราชบริพารจากวังมฤคทายวัน จะสวมใส่ในวันพระราชพิธี ซึ่งจะปรากฏขึ้นในริ้วขบวนพระอิสริยยศ เพื่อส่งเสด็จเจ้านายของตนในระยะทางสุดท้ายสู่พระเมรุนั้น ไม่ได้ต้องการสร้างความโดดเด่น หากแต่ชาวมฤคทายวันต้องการถวายความจงรักภักดี ด้วยการแต่งกายตามพระราชนิยมในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในพระประสงค์ของเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ที่ทรงเคยตรัสไว้ว่าอยากให้รื้อฟื้นและอนุรักษ์วิถีการดำเนินชีวิตแบบไทยไว้
"ตลอดพระชนม์ชีพ 85 พรรษา พระองค์ทรงเป็นราชนารีในมหาจักรีบรมราชวงศ์ มิ่งขวัญของพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจ เพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง ตราบจนถึงวาระสุดท้ายของพระองค์ ข้าราชบริพารและเจ้าหน้าที่ที่มฤคทายวันมีประมาณกว่า 100 คน ทุกคนตั้งใจและอยากมาถวายงานครั้งสุดท้ายนี้มาก แต่ตามกำหนดคือให้มาร่วมริ้วขบวนพระราชพิธีเพียง 80 คนเท่านั้น ซึ่งทุกคนจะใส่ชุดขาวทั้งหมด” เกล้ามาศ ยิบอินซอย ผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระภิคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี กล่าว
“การไว้ทุกข์” หรือ “เข้าทุกข์” ของคนไทยโบราณ นิยมแต่งกายด้วยชุดขาวล้วน เป็นการไว้ทุกข์แก่ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ รวมไปถึงการไว้ทุกข์ถวายเจ้านายด้วย การไว้ทุกข์ด้วยชุดขาวปลอดนี้ บางครั้งใช้เรียกว่า “เข้าทุกข์ใหญ่ ” ถือเป็นการไว้ทุกข์เต็มยศแล้ว จึงไม่ต้องใส่แขนทุกข์หรือปลอกแขนผ้าสีดำอีก ต่างจากการแต่งเครื่องแบบหรือที่เรียกว่า “ยูนิฟอร์ม” ซึ่งถือเป็นเครื่องแต่งกายปกติที่ยังไม่ได้ไว้ทุกข์ จึงต้องใส่แขนทุกข์ด้วยผ้าสีดำ
ประเพณีการแต่งกายชุดขาวไว้ทุกข์ หรือการเข้าทุกข์ใหญ่นี้ เป็นประเพณีที่มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ได้ปฏิบัติต่อเนื่อง จนเมื่ออิทธิพลการแต่งกายของตะวันตก ในการแต่งกายด้วยชุดสีดำไว้ทุกข์ แพร่หลายเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 8 ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการแต่งกายไว้ทุกข์จากชุดขาวไปเป็นชุดดำ
ดร.ชัชพล ไชยพร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และข้าราชบริพารในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “หากไว้ทุกข์แก่ผู้เยาว์หรือผู้น้อยนั้น ผู้ใหญ่จะแต่งดำ แต่หากไว้ทุกข์แก่ผู้ไม่รู้จักคุ้นเคยกันจะแต่งสีน้ำเงินเข้ม ในกรณีนี้เป็นการไว้ทุกข์ถวายเจ้านายผู้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ จึงต้องแต่งขาวล้วน และการเข้าทุกข์ใหญ่ ก็เป็นประเพณีที่มีมาแต่กรุงศรีอยุธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ จนสมัยรัชกาลที่ 8 อิทธิพลการแต่งกายของตะวันตกเข้ามา จึงให้มีการเปลี่ยนแปลงการแต่งกายไว้ทุกข์จากชุดขาวไปเป็นชุดดำอย่างตะวันตก ตามประกาศรัฐนิยม”
สำหรับการเตรียมเครื่องแต่งกายเข้าทุกข์ใหญ่ ที่ใช้ในงานริ้วขบวนพระอิสริยยศฯ ในครั้งนี้ อ.เผ่าทอง ทองเจือ เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ซึ่งจากการตรวจสอบหลักฐานจากภาพถ่ายงานพระเมรุของสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทร อันเป็นหลักฐานที่ใช้ได้ใกล้เคียงที่สุด ในเรื่องของพระราชอิสริยยศที่ใกล้เคียงกันกับสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ และถือได้ว่าเกือบจะเป็นงานพระเมรุสุดท้าย ที่ยังมีการเข้าทุกข์ใหญ่หรือแต่งขาวถวายในการไว้ทุกข์ ทำให้ทราบและเข้าใจได้อย่างชัดเจนถึงประเพณีการแต่งกายด้วยชุดขาวในการไว้ทุกข์
ครั้งนี้จึงได้นำรูปแบบการแต่งกายตามแบบราชสำนักนิยม ในครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มาเป็นแนวทางในการสร้างแบบเสื้อ โดยเฉพาะ เสื้อขาวของสุภาพสตรีในครั้งนี้ ได้ใช้ฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจีฯ ในรัชกาลที่ 6 มาเป็นต้นแบบ ส่วนผ้าซิ่นนั้นเป็นผ้าฝ้ายแกมไหมทอยกดอก ลายเกล็ดพิมเสน ซึ่งสั่งทอจากโรงงานที่จังหวัดลำพูน ส่วนฝ่ายชายจะใส่เสื้อราชปะแตนคอตั้งสูง ตามพระราชนิยมในครั้งนั้น และขัดดุมโลหะดุนเป็นลายอักษรพระนาม พ.ร. ส่วนรองเท้าสั่งตัดจากร้าน “เซ่งชง” ย่านวัดสุทัศน์ฯ ซึ่งเป็นร้านรองเท้าที่ตัดให้กับวังนี้มาตลอด
นอกจากนี้ ข้าในพระองค์ในริ้วขบวนทุกคน จะกลัดเข็มพระนาม พ.ร. ที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เป็นเข็มที่ระลึกในการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 6 ส่วนที่อกเสื้อของเจ้าหน้าที่ทุกคน กลัดเข็มโลหะเป็นอักษรคำว่า “มฤคทายวัน” โดยเป็นลายพระราชหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกด้วย
และในวันที่ 9 เมษายน 2555 เหล่าข้าราชบริพารที่ปฏิบัติงานที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ซึ่งเป็นพระราชนิเวศน์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จะร่วมใจกันถวายความจงรักภักดีด้วยการ “เข้าทุกข์ใหญ่” อยู่ในริ้วขบวนที่ 2 กองสุดท้าย เพื่อส่งเสด็จพระราชธิดาพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 6 สู่สวรรคาลัย