xs
xsm
sm
md
lg

ฟอร์มสวย สวิงฮอต 2 พี่น้อง “โม-เม” อนาคตไกล ดาวรุ่งพุ่งแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอรียา-โมรียา จุฑานุกาล เขาเป็นใคร...?
หลายคนคงไม่คุ้นชื่อนี้สักเท่าไหร่ ทว่าในแวดวงนักกีฬาโดยเฉพาะกีฬากอล์ฟ ชื่อของ เอรียา และ โมรียา เป็นที่โด่งดังไม่ใช่เล่น เพราะทั้งคู่ถือได้ว่าเป็นคู่พี่น้องที่ไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในต่างแดนได้ประจักษ์ด้วยการวาดสวิงจนได้ขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์มือ 1 และ 3 ของโลกมาแล้ว
ดังนั้นวันนี้เราขอพาทุกคนไปทำความรู้จักสาวน้อยทั้งคู่ เพราะแค่เพียงวินาทีแรกที่ได้พบกับสองพี่น้องช่างสดใส สมกับเป็นวัยรุ่นที่ทั้ง แสบ เซี้ยว ซ่า ซะเหลือเกิน งั้นอย่ารอช้าเข้าไปทำความรู้จักกับทั้งคู่กันเลย เผื่อว่าความมุ่งมั่นในสิ่งที่พวกเธอรักและชื่นชอบ จะเกิดเป็นแรงผลักดันให้กับเยาวชนหรือคุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านหันมาปลุกปั้นลูกน้อยให้ประสบความสำเร็จเหมือน 2สาวนี้บ้าง
โม-โมรียา
รอยยิ้มสดใสผ่านเหล็กดัดฟัน ผนวกกับรูปร่างเล็กแต่ทะมัดทะแมงของ “น้องโม-โมรียา” วัย 17 ปี เริ่มเล่นกอล์ฟตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เธอสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองด้วยการคว้าแชมป์วินน์ กริพส์ ฮีเธอร์ ฟารร์ คลาสสิก ซึ่งเป็นแชมป์แรกของเธอในการแข่งขันกับสมาคมอเมริกัน จูเนียร์ กอล์ฟ ส่งผลให้อันดับโลกในโปโล กอล์ฟ แร้งกิ้ง กระโจนจากอันดับ 14 ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 2 และปัจจุบันเธอรั้งอันดับ 3 ของโลก
แต่สิ่งที่น่าประทับใจมากที่สุดก็คือเธอสามารถคว้าอันดับที่ 32 ในกอล์ฟ แอลพีจีเอ ยูเอส วีเมนส์ โอเพ่น ซึ่งเป็นนักกอล์ฟสมัครเล่นที่ทำคะแนนได้ดีที่สุดอีกด้วย นอกจากนี้อีกรายการที่น่าประทับใจเห็นจะเป็น ยูเอส วีเมนส์ อเมเจอร์ ที่สามารถผ่านเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จ แม้ว่าจะแพ้แชมป์แต่เธอได้รับคำชมอย่างมากมายในรายการนี้อย่างท่วมท้น และล่าสุดกับผลงานการแข่งขัน ฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลนด์ 2012 รอบนี้เก็บได้ 1 อันเดอร์พาร์ 71 สกอร์รวม 3 โอเวอร์พาร์ 291 จบที่อันดับ 44 ร่วม 
 
เม-เอรียา
ด้านน้องสาว “น้องเม-เอรียา” วัย 16 ปี เริ่มเล่นกอล์ฟตั้งแต่อายุ 5 ขวบครึ่ง ครองอันดับ 1 ของโลกใน โปโล กอล์ฟ แร้งกิ้ง ของสมาคมกอล์ฟเยาวชนสหรัฐอเมริกา (AJGA) นอกจากนี้ยังมีผลงานอันยอดเยี่ยมของสมาคมกอล์ฟแห่งสหรัฐอเมริกา (USGA) รวมกันถึง 3 รายการ ประกอบด้วย โรเล็กซ์ เกิร์ล จูเนียร์ แชมเปียนชิพ , ยูเอส เกิร์ล จูเนียร์ แชมเปียนชิพ และ จูเนียร์ พีจีเอ แชมเปียนชิพ ด้วย
รวมถึงยังได้รองชนะเลิศ 3 รายการ ทั้ง วินน์ กริพส์ ฮีเธอร์ ฟารร์ คลาสสิก, สกอตต์ โรเบิร์ตสัน เมมโมเรียล และโรเล็กซ์ ทัวร์นาเมนต์ ออฟ แชมเปียนส์ ซึ่งในรายการต่างๆ เธอไม่เคยหลุดจาก 20 อันดับแรกเลย และล่าสุดกับรายการการแข่งขัน ฮอนด้า ไทยแลนด์ แอลพีจีเอ ไทยแลนด์ 2012 เธอก็โชว์สวิงได้ดี แต่มาพลาดเสียดับเบิลโบกี้ที่หลุม 18 จบวันตีเกินไป 2 โอเวอร์พาร์ 74 สกอร์รวมเหลือ 7 อันเดอร์พาร์ 281 หล่นจากอันดับ 7 ไปจบที่อันดับ 12 ร่วม ซึ่งถือเป็นนักกอล์ฟสมัครเล่นที่มีผลงานดีที่สุดในรายการนี้เป็นปีที่สองติดต่อกัน



แต่เบื้องหลังความสำเร็จของทั้งคู่ต้องยกให้คุณพ่อสมบูรณ์ และคุณแม่นฤมล จุฑานุกาล ที่คอยดูแลและให้การสนับสนุนตั้งแต่เริ่มจับไม้เหล็กจนมาถึงตอนนี้เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว
“เริ่มแรกคุณพ่อกับคุณแม่ตีกอล์ฟเป็นประจำอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่จะโมและเมจะเกิดซะอีก พอคุณแม่ท้องลูกคนแรกซึ่งก็คือโม ท่านหยุดเล่นกอล์ฟเพียงแค่ 7 วัน เพื่อไปคลอดโม จากนั้นก็กลับมาเล่นกอล์ฟต่อ ด้านน้องสาวก็เหมือนกัน จำได้ว่าคุณแม่เคยเล่าให้ฟังว่าตอนที่พวกเรายังเด็กเวลาที่ท่านไปเล่นกอล์ฟก็จะหอบหิ้วโมกับเมไปด้วยแล้วก็ไปฝากให้แคดดี้เป็นคนเลี้ยง แต่ขณะนั้นด้วยความที่โมและเมยังเด็กอยู่เลยยังไม่ได้เล่นกอล์ฟ เพียงแค่รู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้ไปกับคุณพ่อคุณแม่เพื่อวิ่งเล่นตามประสาเด็กๆ เท่านั้น ” น้องโม เล่าถึงความชื่นชอบกีฬากอล์ฟของคุณพ่อกับคุณแม่

หลังจากนั้นไม่นานจากเด็กสาว 2 คนที่วิ่งซนไปแต่ละวัน ชีวิตเริ่มพลิกผันเมื่อคุณพ่อสมบูรณ์ หันมาเปิดธุรกิจของตัวเองจากก่อนนี้ที่ทำงานเป็นนักออกแบบ “อินทีเรีย” มาเปิดร้าน “โปรชอป” เป็นร้านขายเกี่ยวกับอุปกรณ์กอล์ฟ ที่จะมีชอปขายในสนามกอล์ฟเท่านั้น ทำให้เวลาเลิกเรียนตอนเย็นคุณแม่ก็จะพาทั้งคู่มาอยู่ที่สนาม และที่แห่งนี้นี่เองถือได้ว่าเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของทั้งโมและเม ที่วิ่งเล่นวุ่นวายไปวันๆ ทว่าในมุมกลับกันคุณพ่อกลับมองว่าการวิ่งเล่นของลูกสาวทั้งคู่ ดูจะไร้ประโยชน์ จึงลองให้จับไม้กอล์ฟเพื่อตีเล่นโดยที่คุณพ่อขันอาสาเป็นคนเริ่มสอนเอง ขณะนั้นลูกสาวคนโต “น้องโม” มีอายุเพียง 7 ขวบ ส่วนลูกสาวคนเล็ก “น้องเม” อายุได้ 5 ขวบครึ่งเท่านั้นเอง
แล้วก็เป็นอย่างที่หวังของคุณพ่อและคุณแม่ เมื่อลูกสาวทั้งคู่มีพัฒนาการในการเล่นกอล์ฟที่ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด ทั้งความมุ่งมั่น ตั้งใจ และฉายแววอยากที่จะลงสนามแข่งขันตามรายการต่างๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ จากแมชการแข่งขันเล็กๆ อยู่อันดับสุดท้าย พยายามฝึกซ้อมอย่างจริงจัง และมุ่งมั่นอยากที่จะเป็นแชมป์ตามรายการต่างๆ ที่ลงแข่งขันบ้าง
“หลังจาก 3 ปีที่ตีเล่นตามสนามกอล์ฟโดยมีคุณพ่อเป็นคนสอน และลองลงแข่งตามรายการต่างๆ มาได้สักระยะ คุณพ่อเห็นว่าพวกเราทั้งคู่ต้องมีโค้ชมาคอยช่วยเหลือในการพัฒนาและแนะนำเทคนิคการเล่นให้หลากหลาย และมีระเบียบวินัยในการฝึกซ้อมมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็ได้ “โปรจิว” และ “โปรหลักชัย” มาเป็นโค้ช และซ้อมอย่างหนักหน่วง 6 วันเต็ม รวมถึงเริ่มไปเป็นตัวแทนไปแข่งตามรายการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น” น้องเม ขอเล่าเสริมบ้าง
จะว่าไปแล้วเส้นทางการเดินทางของพี่น้อง “จุฑานุกาล” ก็ใช่ว่าจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะหลายครั้งที่ตั้งแต่เริ่มเล่นกอล์ฟตีเสียมาก็เยอะ แข่งได้ที่สุดท้ายก็เคยมาแล้ว โดยเฉพาะช่วงแรกๆ ที่เริ่มไปแข่งขัน จะมีแต่คำว่าแพ้ และทุกครั้งเมื่อแข่งเสร็จก็แบกถุงกอล์ฟกลับบ้าน เป็นอย่างนี้กว่าร้อนครั้ง แต่ทุกครั้งที่แพ้ ก็เป็นเหมือนแรงฮึด ว่าทำไมคนอื่นทำได้ แล้วทำไมเราถึงทำไม่ได้ ความพยายามต่างๆ จึงเป็นเหมือนพลังอันมหาศาลให้กลับมาฝึกซ้อม และปรับปรุงแก้ไขการเล่นอยู่ตลอดเวลา คงเพราะมีทักษะ มีความคิด มีการวางแผนรวมถึงประสบการณ์ที่มากขึ้นด้วย

ทว่า กว่าที่ทั้งคู่จะมาถึงวันนี้ได้การฝึกซ้อมก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ น้องโม บอกว่า ตารางการฝึกซ้อมค่อนข้างแน่น และต้องมีระเบียบวินัยค่อนข้างสูง ตลอด 1 สัปดาห์ ทุกวันจะตื่นเช้าไปวิ่งที่โรงเรียนก่อนจะเข้าเรียนตามปกติ ช่วงบ่ายก็จะไปที่สนามกอล์ฟเพื่อฝึกซ้อมจนถึงเย็น จากนั้น ถ้าเป็นวันจันทร์ พุธ ศุกร์ จะต้องเข้าฟิตเนส ส่วน อังคารกับพุธ จะเป็นการว่ายน้ำ พอถึงวันอาทิตย์จะเป็นวันพักผ่อนทำกิจกรรมยามว่าง ทั้งดูหนัง ฟังเพลง ตามประสาวัยรุ่นทั่วไป
ในส่วนของเรื่องการเรียน ทั้งคู่ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เรียนไม่เก่งทั้งคู่ เนื่องจาก ต้องเดินทางไปแข่งกอล์ฟที่ต่างประเทศค่อนข้างบ่อย ผนวกกับเวลาที่อยู่ประเทศก็จะทุ่มเทกับการซ้อมเป็นพิเศษ แต่ก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะทางโรงเรียนที่ทั้งคู่กำลังศึกษาอยู่ (โรงเรียนเซ็นปีเตอร์) นั้นค่อนข้างที่จะเข้าใจ และให้การสนับสนุนทั้งในเรื่องกีฬาและการเรียนอย่างมาก อย่างเช่น ก่อนที่จะสอบทางโรงเรียนจะให้อาจารย์มาติวให้กับน้องโมและน้องเมเป็นรายบุคคลตัวต่อตัวเลย
เมื่อถามย้อนกลับไปว่าทั้งคู่เสียดายเวลาเวลาในการใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นหรือไม่ น้องเม บอกว่า “มันก็มีบ้าง แต่เราเริ่มเล่นกอล์ฟมาตั้งแต่ตอนอายุ 5 ขวบ ชีวิตในช่วงวัยรุ่นก็เป็นช่วงนี้ ทำให้ชินไปแล้วกับการที่จะต้องไปแข่ง จากนั้นก็กลับมาฝึกซ้อม พวกเราเล่นเล่นกอล์ฟมาตั้งนาน ไม่ใช่ว่าจะเพิ่งมาเล่นแค่ปี 2 ปีนี้ มันไม่ใช่เพิ่งมาเปลี่ยน แต่มันเป็นเหมือนความคุ้นเคยมากกว่า ทำให้ไม่ได้รู้สึกว่าขาดอะไร อีกอย่างคงเป็นเพราะเรา 2 คนสนิทกันมากเป็นเหมือนเพื่อน แล้วอีกอย่างเราห่างกันแค่ปีเดียว มันก็เลยไม่ได้ห่างกันมาก จึงไม่ได้เหงาอะไร”


ความที่พี่น้องคู่นี้อายุห่างกันแค่ 1 ปี ทำให้ทั้งคู่สนิทผูกพันธ์กันมาก เพราะเริ่มต้นทำอะไรทุกอย่างเหมือนกันและพร้อมกัน ดังนั้น เมื่อพูดถึงสไตล์การเล่นของแต่ละคน “น้องโม” พี่สาวบอกว่า สไตล์การเล่นของเธอจะเป็นแบบช้าๆ ไม่รีบร้อน ค่อยๆ คิด กว่าจะออกมาได้แต่ละช็อตต้องมั่นใจก่อนถึงจะตีออกไป ซึ่งผิดกับน้องสาวของเธอ “น้องเม” ที่เป็นคนใจร้อน ชนิดที่เมื่อใดที่เธอหยิบไม้เหล็กขึ้นมา จะตีให้ได้เลย หลายครั้งที่พี่สาวของเธอเป็นคนแบกถุงกอล์ฟให้ในการแข่งขัน ก็จะแอบคอยเตือนน้องสาวอยู่เสมอว่า ไม่ต้องรีบร้อน ใจเย็นๆ ค่อยๆ คิด เพราะความที่รีบร้อนทำให้ตัดสินใจ และเกิดข้อผิดพลาดบ่อยครั้ง
กว่าที่ทั้งคู่จะมายืนอยู่ถึงจุดนี้ได้ ต้องผ่านทั้งการแพ้มาก็นับครั้งไม่ถ้วน ชนะมาก็มากโข ดังนั้นเคล็ดลับในการแข่งขันของ 2พี่น้อง “จุฑานุกาล” คือ “แพ้ให้ชิน ชนะให้เป็นนิสัย” เพราะทั้งคู่มองว่า ในการแข่งขันแต่ละแมชมีคนแข่งเป็นร้อยคน แต่มีเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่ “ชนะ” ส่วนที่เหลือไม่ว่าจะเป็นที่ 2 หรือที่เท่าไหร่คนเหล่านั้นก็คือ “ผู้แพ้”
เปรียบเทียบเหมือนนักกีฬา มีแค่ 2 อย่าง คือ แพ้กับชนะ เท่านั้น ดังนั้น โมและเม จึงยึดมั่นกับคำนี้มาตลอด และทุกครั้งที่แข่งแพ้ สิ่งสำคัญต้องพยายามหาสาเหตุให้เจอ ไม่ใช่มานั่งท้อแล้วทำอะไรไม่ได้ แต่จะดีซะกว่าที่หาต้นเหตุเจอว่าผิดพลาดตรงไหนแล้วกลับมาฝึกซ้อมในสิ่งที่พลาดไป

นอกจากนี้ทั้งคู่พึงเตือนตัวเองเสมอว่า การเล่นกอล์ฟเป็นการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด มีที่ให้ต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ต้องไม่จบอยู่ที่คำว่า “พอแล้ว หรือ ดีแล้ว” เพราะว่ากีฬากอล์ฟเป็นกีฬาที่ไม่มีที่สิ้นสุด
คงต้องติดตามและจับตามองกันต่อไปสำหรับ 2 พี่น้อง โมรียา-เอรียา จุฑานุกาล ว่าจะพัฒนาฝีมือและสร้างผลงานเพื่อก้าวสู่บัลลังก์แชมป์นักกอล์ฟสมัครเล่นของโลกได้ตามที่วางเป้าหมายไว้เพียงใด แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เด็กไทยในวัยแค่นี้จะสร้างชื่อเสียงให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ในฝีมือ และเชื่อได้เลยว่าพวดเธอไม่ได้หยุดฝีมือและความสามารถเอาไว้เพียงเท่านี้อย่างแน่นอน

 
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net

ผลงานที่ผ่านมา ของ น้องโม- โมรียา
ปี 2551
จูเนียร์ โอเพน 2008
โอเวอร์ออลหญิง เอเชีย-แปซิฟิค  2008
ปี 2552
ดยุค  ออฟ  ยอร์ค ยัง แชมเปียนชิพ โทรฟี  2009
คลาส เอ (อายุ 17 ปี)  และประเภททีม กอล์ฟ เยาวชนนานาชาติ เอเชีย-แปซิฟิค  กอล์ฟ  แชมเปียนชิพ  2009
ปี 2553
คลาสเอ  และประเภททีม  เอชเอสบีซี  ไชน่า  จูเนียร์โอเพ่น  2009
คลาสเอ  (อายุ 15-17 ปี)  ซานดิเอโก  จูเนียร์มาสเตอร์  2009
ไทยแลนด์  จูเนียร์  แชมเปียน  2009 (สมาคมกอล์ฟ  แห่งประเทศไทย  ในพระบรมราชูปถัมภ์
ปี  2554
วินน์  กริพล์  ฮีเธอร์ ฟารร์  คลาสสิก  20111  ซึ่งเป็นแชมป์ครั้งแรกในการแข่งขันกับสมาคมกอล์ฟเยาวชนสหรัฐอเมริกา (AJGA)
สกอตต์ โรเบิร์ตสัน เมมโมเรียล รองแชมป์  ยูเอส วีเมนส์  อเมเจอร์ 2011
อันดับ 3 โรเล็กซ์  ทัวร์นาเมนต์  ออฟ  แชมเปียนส์
ติด  10  อันดับแรกของโลก
ธันเดอร์เบิร์ด  อินเตอร์เนชั่นแนล  จูเนียร์
โรเล็กซ์  เกิร์ล จูเนียร์ แชมเปียนชิพ
โรเล็กซ์  ทัวร์นาเมนต์  ออฟ  แชมเปียนส์
อันดับ 32 กอล์ฟแอลพีจีเอ ยูเอสวีเมนส์ โอเพ่น  (นักกอล์ฟสมัครเล่นที่ทำคะแนนได้ดีที่สุด)
อันดับ 38 ฮอลด้า  แอลพีจีเอ  ไทยแลนด์ 2011
ปี 2555
แชมป์ วีเมน เชาท์  แอตแลนติก  อเมเจอร์ กอล์ฟ แชมเปียนชิพ 2012 หรือ เดอะแชลลี่ แชมเปียนชิพ ครั้งที่ 86
รองแชมป์  แอนนูอัล ดิ๊กซี่ อเมเจอร์ แชมเปียนชิพ ครั้งที่ 81
อันดับ 3 ฮาร์เดอร์ ฮอลล์  วีส์เมน อินวิเตชั่น  ครั้งที่ 57
 
ผลงานที่ผ่านมา ของน้องเม-เอรียา  
ปี 2547 
รองแชมป์กอล์ฟจูเนียร์ เวิล์ด 2004
ปี 2552 
แชมป์คลาส บี (อายุ 14 ปี) และประเภททีมกอล์ฟเยาวชนนานาชาติ เอเชีย-แปซิฟิค กอล์ฟ แชมป์เปียนชิพ 2009
ปี 2553 
แชมป์ คลาส บี และประเภททีม เอชเอสบีซี ไชน่า จูเนียร์ โอเพ่น 2010
      แชมป์ คลาสบี (อายุ 13-14 ปี) ซานดิเอโก จูเนียร์ มาสเตอร์ 2009
      ตัวแทนประเทศไทยแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 16 เมืองกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน
    นักกอล์ฟสมัครเล่นยอดเยี่ยม ในการแข่งขันกอล์ฟเมเจอร์คราฟท์ นาบิสโก แชมเปียนชิพ 2010
ปี 2554 
โรเล็กซ์ เกิร์ล จูเนียร์ แชมเปียนชิพ (ทำสถิติสกอร์ต่ำสุด 17 อันเดอร์พาร์)
ยูเอส เกิร์ล จูเนียร์ แชมเปียนชิพ 2011
ปี 2554
จูเนียร์ พีจีเอ แชมเปียนชิพ ครั้งที่ 36
จูเนียร์ ออเร้นจ์ โบวล์ อินเตอร์เนชั่นแนล กอล์ฟ แชมเปียนชิพ ครั้งที่ 47
รองแชมป์
เดอะ ปิง อินวิเตชั่น
วินน์ กริพส์ ฮีเธอร์ ฟารร์ คลาสสิก
สกอตต์ โรเบิร์ตสัน เมมโมเรียล
โรเล็กซ์ ทัวร์นาเมนต์ ออฟ แชมเปียนส์
อันดับ 5 ธันเดอร์เบิร์ด อินเตอร์เนชั่นแนล 2011
อันดับ 8 ฮอนด้า แอลพีจีเอ ไทยแลน์ 2011
นักกอล์ฟยอดเยี่ยมประจำปี 2554 ของสมาคมกอล์ฟเยาวชนสหรัฐอเมริกา (AJGA)
ปี 2555
รองแชมป์
ฮาร์เดอร์ ฮอลล์ วีส์เมน อินวิเตชั่น ครั้งที่ 57
วีเมน เซาท์ แอตแลนติก อเมเจอร์ กอล์ฟ แชมเปียนชิพ 2012 หรือ เดอะแซลลี่ แชมเปียนชิพ ครั้งที่ 86
 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น