xs
xsm
sm
md
lg

แพร – สุคนธ์ทิพย์ จากนักเรียน ร.ร.วังไกลกังวล สู่ สาวสวยหัวใจงาม มูลนิธิราชประชานุเคราะห์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



ถ้าเป็นเมื่อหลายปีก่อน เราคงพบเธอได้ที่นั่น อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่ปัจจุบันเราพบเธอได้ที่นี่ กรุงเทพฯ และอีกหลายพื้นที่ๆการงานแห่งชีวิตของเธอมีส่วนนำพาไป

แพร - สุคนธ์ทิพย์ สุกสี อดีตนักเรียนแห่ง โรงเรียนวังไกลกังวล ที่ก้าวสู่ชีวิตวัยทำงานในตำแหน่ง เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ด้านประชาสัมพันธ์ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์

แพรเล่าว่า ทั้งพี่ชายและพี่สาวของเธอ ล้วนแต่เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนวังไกลกังวล โรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น ด้วยกันทั้งสิ้น

แต่โอกาสที่เคยได้รับมากกว่าพี่ชายและพี่สาว เมื่อครั้งที่ยังเป็นนักเรียนของโรงเรียนแห่งนี้ จนทำให้ประทับใจไม่รู้ลืมและส่งผลต่อการเลือกทางเดินชีวิตของตัวเธอเองในปัจจุบัน ก็คือ

การที่ถูกคัดเลือกให้เป็น นักเรียนรุ่นแรก ที่มีโอกาสร่วมรายการ ศึกษาทัศน์( Quest for Knowledge ) รายการสารคดีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำขึ้น และพระราชทานชื่อรายการ

ทั้งยังได้มีโอกาสร่วมรายการ ในตอนที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานความรู้ โดยทรงเป็น “ ครู ”  ในรายการ ถึง 4 ครั้ง

ทั้งดีใจและตื่นเต้น คือความรู้สึกของเด็กมัธยมเช่นเธอในตอนนั้น เมื่อรู้ว่าจะได้ตามเสด็จฯ ในทุกๆครั้ง

“ความรู้สึกเหมือนตอนที่ตามเสด็จฯครั้งแรก ทุกครั้งเลย ทั้งดีใจ ตื้นตันใจและตื่นเต้น ต้องบอกก่อนว่า ก่อนที่จะรู้ว่าจะได้ตามเสด็จฯ มีเวลาเตรียมตัวไม่นานเลย เหมือนรู้เย็นนี้ พรุ่งนี้ต้องไปแล้ว ดังนั้นในทุกครั้ง ต้องพยายามเลือกชุดที่ใหม่ที่สุด ต้องขัดรองเท้า เตรียมตัว พอตอนเช้าไปปุ๊บ ก็จะไปเตรียมข้อมูลกับคุณครู

ได้ตามเสด็จฯในหลวง เป็นอะไรที่เหนือความคาดหมาย ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้ทำตรงนี้ หลายๆคนชอบมาถามว่า หนูเป็นลูกใคร? เพราะอาจจะมองว่าต้องเป็นลูกข้าราชการใหญ่โต หรือต้องเป็นลูกคุณครูหรือเปล่า มิใช่เลย ก็เป็นลูกชาวบ้านธรรมดา เพียงแต่ว่า ได้รับโอกาสที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต”

ภาพที่เคยเกิดขึ้นเมื่ออดีต อาจเป็นภาพที่กำลังเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่สิ่งที่ชัดเจนมากขึ้น และเป็นสิ่งที่เธอควรต้องจดจำเพื่อนำไปปรับใช้กับชีวิตไปตลอด คือพระราชดำรัสที่ทรงเคยสอนและทรงเคยสอดแทรกผ่านรายการในแต่ละตอน เช่น

>> “เรียนอะไรก็ได้ แต่เรียนแล้วขอให้ตั้งใจเรียน และให้นำความรู้เข้าไปในพื้นที่ชนบท ในลักษณะที่ไปให้ความรู้กับเขา ไปชี้แนะเขา

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราไม่เข้าใจอะไรก็ให้ไปถามเขา ให้เขาเป็นคนแนะนำเรา แต่อย่าไปสอนเขา”

>> “น้ำ 1 หยด ให้ใช้ประโยชน์ได้ 4 อย่าง คือ ประโยชน์ต่อป่าไม้ ประโยชน์ต่อการเกษตร ประโยชน์ต่อการอุปโภคบริโภค และการนำน้ำมาบำบัดเพื่อนำกลับมาใช้ ”

>> “ การจดบันทึกนี่ คือการจดเพื่อเตือนความทรงจำ ไม่ใช่จดไว้เพื่อท่องจำ ให้ทำความเข้าใจในสิ่งที่เราจดด้วย”

>> “เป็นนักเรียน หน้าที่คือการเรียน ต้องตั้งใจเรียน และมีความกตัญญูรู้คุณ” ฯลฯ

และเพราะเรื่องของความกตัญญูรู้คุณ นี่เอง ที่ทำให้เธอ ผู้ได้รับทุนการศึกษาจาก มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ฯ มาตั้งแต่ชั้น ม.1 จนขณะนี้กำลังศึกษาในระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต เลือกที่จะทำงานกับมูลนิธิฯ แห่งนี้ โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ตอนที่เรียนจบในระดับปริญญาตรี

“คนส่วนใหญ่ที่ได้ทุนจากมูลนิธิฯนี้ ซึ่งเป็นทุนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ได้บังคับว่า เราต้องกลับมาใช้ทุนหรือทำงานให้มูลนิธิฯ

ขอแค่ให้คุณเป็นคนดี ตั้งใจทำงาน และช่วยเหลือสังคมด้วย ถ้ามีโอกาส ดังนั้นแพรจึงเลือกเข้ามาทำงานที่นี่ ด้วยความเต็มใจ

แน่นอนว่า การที่ได้รับทุนพระราชทาน และยังเคยได้มีโอกาสตามเสด็จฯ ทำให้มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ อยู่ในใจมากๆอยู่แล้ว

เมื่อมาทำงานตรงนี้ มูลนิธิฯนี้ ก็ยังเป็นมูลนิธิฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ส่วนใหญ่ทำงานช่วยเหลือผู้คน ตอบแทนสังคม อีกด้วย

แต่หนูคิดว่า คนเราถ้ารู้จักกตัญญูรู้คุณ หรือรู้จักบุญคุณคน อยู่ที่ไหนก็เจริญรุ่งเรืองแล้วค่ะ”

ดูจากบุคลิกหน้าตา ใครจะคิดว่าสาวสวยเช่นเธอต้องรับภารกิจหนัก แบบที่ต้องออกไปลุยไม่แพ้ชายชาตรี

แม้ว่าในภาวะปกติ อาจจะแค่ต้องทำงาน ด้านการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ หรือไม่ก็ออกหน่วยเพื่อเยี่ยมโรงเรียนต่างๆทั่วประเทศ ที่อยู่ในความดูแลของมูลนิธิฯ

ทว่าโรงเรียนต่างๆเหล่านั้นก็ล้วนแต่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร ทั้งยังมีเป็นจำนวนมาก จนบ่อยครั้งที่ส่งผลให้เธอมีโอกาสใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว แค่เดือนละ 1 อาทิตย์เท่านั้น

ดังนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงว่า ในภาวะที่บ้านเมืองไม่ปกติ สาวสวยเช่นเธอจะต้องเตรียมตัวเองพร้อมเพื่อสู้กับงานหนักและเหนื่อย ไปพร้อมๆกับคนในมูลนิธิฯเดียวกัน อย่างไรบ้าง

“อย่างช่วงน้ำท่วมเยอะๆต้องไปตลอด ต้องลงเรือ ต้องขึ้นรถจีเอ็มซี ไปเคาะตามบ้าน ว่ามีใคร ที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ”

แต่สิ่งยิ่งใหญ่ที่เธอและคนอื่นๆได้รับตอบแทนกลับมาคือ “ความสุขใจ”

“มีความสุข เวลาไปออกหน่วย ได้เห็นภาพของผู้คนที่เขาได้รับถุงยังชีพพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บางคนถึงกับน้ำตาไหล เก็บถุงพระราชทานไว้ตลอด จนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ตอนที่ได้รับครั้งแรก จนถึงทุกวันนี้ เหมือนเป็นสิ่งล้ำค่าที่ได้รับ และเราเองก็ได้เป็นเหมือนตัวแทน ที่นำความห่วงใย หรือว่า นำพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปมอบให้กับผู้ที่เขากำลังเดือดร้อน

อย่างที่ท่าน ดร.ดิสธร วัชโรทัย ประธานมูลนิธิฯ เคยกล่าวไว้ว่า ท่านทำงานเหมือนเป็นบุรุษไปรษณีย์ ท่านจะไม่ใช้คำว่าผู้แทนพระองค์ แต่เป็นเหมือนบุรุษไปรษณีย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่นำความห่วงใย นำถุงยังชีพพระราชทานไปมอบให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน

ผู้ที่ประสบภัย เปรียบเหมือนกับคนที่กำลังจมน้ำ จะตะเกียกตะกายคว้าอะไรก็ได้ในตอนนั้น ดังนั้นเราจึงควรเป็นมูลนิธิแรกๆที่ไปถึง เพราะว่าอย่างน้อย คนที่กำลังจมน้ำ ถ้ามือแรกที่ไปดึงเขาขึ้นมาจากน้ำ เป็นพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พวกเขาจะรู้สึกภาคภูมิใจและมีกำลังใจมากแค่ไหน”

บางเวลา ความเหนื่อยหนักที่เธอได้รับจากการทำงาน พลันหายไปสิ้น เมื่อนึกไปถึงพระราชกรณียกิจมากมายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“ เวลาที่ไปออกหน่วยจะทั้งร้อน ทั้งเหนื่อย อย่างบางที่ๆเราไป บางอำเภอ ไม่คิดเลยว่าจะมีชื่อนี้อยู่ในประเทศไทย

หรืออย่างเวลาขึ้นไปทางเหนือ ทางขึ้นก็ยากลำบาก ถนนก็ลื่น หรือแม้กระทั่งการออกหน่วยน้ำท่วม ที่ต้องไปทางเรือ ในขณะที่น้ำท่วมสูง

ทุกเส้นทาง ล้วนแต่ทำให้เหนื่อยยากลำบาก และยังอาจส่งผลให้เกิดความกลัว เพราะบางเส้นทางมีความเสี่ยง

แต่เมื่อนึกถึงภาพพระราชกรณียกิจ ที่พระองค์ท่านทรงงานหนัก ต้องเสด็จพระราชดำเนินไปในพื้นที่ๆยากลำบาก แม้กระทั่งต้องพระราชดำเนินลุยน้ำ เป็นกำลังใจให้คิดได้ว่า

การที่เราเหนื่อยแค่นี้ ยังไม่ได้เศษเสี้ยวหนึ่งของพระองค์ท่านเลยนะ ภาพตรงนั้น จึงเป็นกำลังใจให้เราไปในตัวด้วยค่ะ”

หนุ่มสาวในวัย 24 -25 ปี เช่นเธอ อาจจะไม่ใช่ทุกคนที่ได้มีโอกาสทำงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท

แต่ในมุมมองของเธอเห็นว่า ไม่ว่าเราจะเป็นใคร อยู่ในบทบาทและสถานะไหน ล้วนสามารถทำงานและทำความดี ถวายพระองค์ท่าน ได้ในทุกที่และทุกโอกาส

“ทุกคนสามารถทำได้หลายอย่างมากๆ อย่างเช่นเวลาที่เกิดภัยพิบัติอะไรขึ้นมาสักอย่าง แล้วมีจิตอาสาช่วยกันทำงาน หรือช่วยกันแพคถุงทราย แพคถุงยังชีพพระราชทาน เป็นต้น

หรือในอีกทางหนึ่ง เราอาจจะแค่ทำความดี ด้วยการช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือผู้อื่นเล็กๆน้อยๆตามกำลัง ก็ถือว่าได้ทำตัวเป็นคนดีของสังคม ได้ตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณด้วยเหมือนกัน”

“พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็มีหลายเรื่องที่อยากให้ทุกคนเลือกที่เหมาะกับตัวเอง แล้วนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ จริงๆไปเลยสักอย่าง

แต่แพรจะยึดภาพที่พระองค์ท่านทรงงานหนักมากกว่า และคอยบอกตัวเองว่าจะท้อไม่ได้ ต้องทำงานตอบแทน และตามรอยพระองค์ท่าน”

เช่นเดียวกัน หากวันหนึ่งวันหน้า ไม่ได้มีโอกาสทำงานตรงนี้แล้ว แต่อดีตนักเรียนแห่ง ร.ร.วังไกลกังวล และสาวสวยหัวใจงาม แห่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ คนนี้เชื่อว่า ตัวเองจะสามารถทำงานตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณได้เช่นเดิม

เพราะว่าเส้นทางของการทำดี ไม่ได้ถูกปูไว้เพียงเส้นทางเดียว

Text by  อ้อย ป้อมสุวรรณ   Photo by   ศิวกร เสนสอน
 
 
 

>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น