xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนสายน้ำเล่าเรื่อง “เรือด่วนเจ้าพระยา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถ้าใครเป็นคนกรุงเทพฯและนนทบุรี เชื่อแน่ว่าสักครั้งหนึ่งในชีวิตคุณคงได้เคยใช้บริการนั่งเรือด่วนเจ้าพระยามาบ้าง ขณะที่อีกหลาย ๆ ชีวิตที่อาศัยอยู่ในกรุงทเพฯและนนทบุรีนั้น “ เรือด่วนเจ้าพระยา” ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขาไปแล้วเช่นกัน
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2514 คณะกรรมการบริหารขององค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์(ร.ส.พ.) มีมติให้เลิกกิจการเดินเรือเส้นทางเลียบฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยขายกิจการให้แก่บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด โดยเริ่มต้นเปิดให้บริการด้วยเรือจำนวน 23 ลำ
เรือด่วนในปีแรก ๆ เป็นเรือลำเล็ก ๆ เพดานเตี้ย มีเก้าอี้นั่งเพียง 40 ที่นั่ง ผู้โดยสารยืนได้ 20 คน ต่อมาต้องทำเรือให้สูงขึ้นเพราะเริ่มมีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการ ซึ่งนักท่องเที่ยวฝรั่งส่วนมากตัวสูงใหญ่ ขณะเดียวกันก็ปรับขนาดเรือให้ใหญ่ขึ้นมีเก้าอี้ 150 ที่นั่ง และยืนได้อีก 60 คน.
เรือด่วนเจ้าพระยาเก็บค่าโดยสารตั้งแต่เปิดดำเนินการครั้งแรกในอัตรา 3 บาทตลอดสาย หรือระยะละ 1 บาท ( น้ำมันลิตรละ 67 สตางค์) ต่อมาในปี 2517 เมื่อน้ำมันขึ้นสูงถึงลิตรละ 2.22 บาท ได้มีการปรับค่าโดยสารระยะแรก 1.50 บา ระยะที่ 2 ราคา 2.50 บาท ระยะที่ 3 ราคา 3.50 บาท จนเมื่อปี 2523 เมื่อราคาน้ำมันปรับตัวไปถึง 7.28 บาท จึงมีการปรับอัตราค่าโดยสารใหม่อีกครั้งในราคา 3 บาท 5 บาทและ 7 บาทตามระยะทาง

ปี 2548 น้ำมันขึ้นราคาลิตรละ 22.59 บาท เรือด่วนเจ้าพระยาจึงขึ้นราคาค่าโดยสารเป็น 9 ,11,13 บาท เรือธงส้ม 13 บาท เรือธงเหลือง 18.27 บาท และเรือธงฟ้า 22,32 บาท ค่าโดยสารเรือมีการปรับครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2554 ในราคา 9,11,13 บาท เรือธงส้ม 15 บาท เรือธงเหลือง 20,29 บาท และเรือธงเขียว 13,32 บาท (ราคาน้ำมันลิตรละ 26.99 บาท)
แม้ว่าบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด จะเป็นบริษัทเพียงรายเดียวที่เดินเรือด่วนในแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ก็ประสบกับภาวะขาดทุนมาตลอด เพราะก่อนหน้านั้นประชาชนยังไม่นิยมใช้บริการเรือโดยสารกัน เนื่องจากสภาพการจราจรของกรุงเทพฯยังไม่วิกฤติเท่าปัจจุบันนี้
“คุณแม่ ( คุณหญิงสุภัทรา ) ไม่ได้มองว่าเรือด่วนเป็นธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่มองว่าเป็นงานบริการประชาชนด้วย ถ้าเราเลิกทำ ผู้โดยสารนับล้านคนที่เดินทางด้วยเรือโดยสารเป็นประจำจะทำอย่างไร แล้วพนักงานของบริษัทอีกหลายร้อยชีวิตจะทำอย่างไร” สุภาพรรณบอกว่าความตั้งใจของมารดา

แต่ในยคุแรกที่บริษัทเรือด่วนเจ้าพระยายังเปิดดำเนินการอยู่ได้นั้นเพราะอาศัยรายได้จากบริษัทสุภัทรา จำกัด ซึ่งเดินเรือข้ามฟากมาสนับสนุน จนกระทั่งปี 2530 เมื่อการจราจรของกรุงเทพฯเริ่มมีปัญหารถติดมากขึ้น ผู้คนเริ่มหันมาใช้บริการเรือด่วนเจ้าพระยาเป็นทางเลือกมากขึ้น จึงทำให้บริษัทเริ่มเห็นกำไรขึ้นมาบ้าง
จากจุดเริ่มต้นที่มีเรือบริการเพียง 23 ลำ มีผู้โดยสารมาใช้บริการปีละไม่กี่แสนคน จนเมื่อปี 2529 มีผู้มาใช้เรือด่วนสูงถึง 2,824,063 คน และขึ้นเป็น 4 ล้านกว่าคนในอีก 2 ปีต่อมา จนทะลุ 10 ล้านคนในปี 2536 ในยุคที่อมเรศ ศิลาอ่อน มาเป็นประธานกรรมการบริหาร และได้รับ BOI เพื่อต่อเรือขนาดใหญ่
ปัจจุบันเรือด่วนเจ้าพระยาประกอบธุรกิจกิจครบวงจร ซึ่งนอกจากจะให้บริการขนส่งคมนาคมทางน้ำแล้ว ยังมีอู่ต่อเรือทั้งหมด 3แห่งคือ พระนครศรีอยุธยา 2 แห่งและบางพลัดอีก1 แห่ง โดยเรือด่วนทุกลำที่วิ่งให้บริการอยู่ทุกวันนี้เป็นผลงานต่อเรือจากอู่เรือของบริษัท ซึ่งมีจำนวนถึง 100 ลำที่เป็นฝีมือของคนไทยล้วน ๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น