ท่วงทำนองของ 'หมาป่า'
“หากเปรียบชีวิตของผมเป็นเสียงเปียโน ผมขอเปรียบเป็นทำนองแบบรัคมานินอฟ (Sergej Rachmaninov) ในช่วงแรก แล้วเปลี่ยนเป็นเดบูซี ( Claude Debussy ) ในช่วงหลัง”
ดวงตาสีเขียวมะกอกของไบรอัน วูล์ฟ หรือชื่อเต็ม ไบรอัน ( เจมส์ ) วูล์ฟ -
Brian ( James) Woulfe คล้ายส่องประกายวาววับ ในยามที่เจ้าตัวบอกเล่าถึงแรงบันดาลใจและเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านมาเข้ามาในชีวิต....มันคือเรื่องราวของการเดินทางข้ามซีกโลก จากไอร์แลนด์สู่กรุงลอนดอน จากลอนดอนสู่ไข่มุกอันดามันอย่างเกาะภูเก็ตก่อนจะเริ่มปลูกต้นรักกับเมืองบางกอก เมืองที่เขาบอกว่าเปี่ยมด้วย ‘พลังแห่งความมีชีวิตชีวา’
อินทิเรียดีไซเนอร์ ( Interior Designer) วัยเพียง 28 ปี ผู้ก่อตั้งบริษัท Designed by Woulfe บอกว่าสีสันหลากหลายและความคึกคักวุ่นวายของกรุงเทพฯ คือมนต์เสน่ห์ที่มัดใจเขาเอาไว้
ด้วยประสบการณ์การเดินทางท่องโลกและการหาเลี้ยงชีวิตด้วยเนื้องานอันท้าทายความคิดสร้างสรรค์อยู่เสมอ คงไม่เกินเลยนัก หากเราจะเปรียบชายหนุ่มผู้นี้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเสียงเรียกพ้องกันกับชื่อของเขา....วูล์ฟ... ‘หมาป่า’ สายพันธุ์แห่งความสันโดษที่พร้อมจะเดินทางบุกป่าฝ่าดงเพื่อลับคมเขี้ยวให้แหลมคม
และคงไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน หากหมาป่าสายพันธุ์นักออกแบบตกแต่งภายในเจ้าของรางวัลงานออกแบบระดับโลกอย่างเขา จะเปรียบเปรยช่วงชีวิตที่ผ่านมาให้เข้ากับเสียงเปียโนของคีตกวีชื่อก้องที่ทั้งทรงพลังหนักแน่น
แบบ เซอร์เกร์ รัคมานินอฟ กับท่วงทำนองพลิ้วไหวปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกในแบบของโคล้ด เดบูซี นั่นก็เพราะช่วงชีวิตในวัยเด็กกระทั่งย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม เสียงเปียโนคือส่วนหนึ่งในชีวิตของหนุ่มไอริชผู้นี้
“ก่อนหน้าที่จะสนใจเรื่องงานออกแบบ ผมเป็นนักเปียโน เคยแสดงเปียโนผ่านรายการโทรทัศน์ของ BBC ด้วยนะครับ ผมเล่นเปียโนมาตั้งแต่ 4 ขวบ ผมว่าความสนใจที่ผมมีต่องานศิลปะคงเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนนั้น มันเริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนที่ผมเล่นเปียโน แต่เมื่อเริ่มโตขึ้น การเรียนเปียโนมากขึ้นทำให้ผมเริ่มเบื่อ แล้วผมก็หันเหความสนใจมาที่การออกแบบตกแต่งภายใน คงเพราะโดยส่วนตัวแล้วผมสนใจเรื่องของศิลปะ แล้วการดีไซน์ก็เป็นศิลปะแขนงหนึ่ง และที่สำคัญ ผมว่างานออกแบบเป็นงานที่ท้าทาย เพราะปรกติแล้ว ผมชอบอะไรที่ควบคุมได้ แต่งานตกแต่งภายในจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะถ้าวันนี้ผมทำงานนี้เสร็จ ตื่นเช้ามาวันรุ่งขึ้นผมก็ต้องพบกับงานใหม่และพบกับลูกค้าคนใหม่ ความต้องการของลูกค้าคนใหม่ก็ต่างไป มันเป็นความท้าทายที่ทำให้ผมไม่เบื่อ”
แต่หากมองในภาพกว้าง ไบรอันก็ยอมรับว่าการเป็นนักออกแบบและการเป็นนักดนตรีนั้น ยังมีบางสิ่งที่คล้ายคลึงกัน นั่นก็คือการให้ความใส่ใจในทุกรายละเอียด
“เพราะในการออกแบบ เราต้องคำนึงถึงบรรยากาศโดยรวม คำนึงว่าเราจะนำสิ่งใด แบบไหน มาเติมแต่งเข้าไปให้มีความสวยงาม กลมกลืนและน่าสนใจ เช่นเดียวกับเวลาแต่งเพลง เราจะแต่งเพลงอย่างไรให้ออกมาไพเราะ สร้างบรรยากาศให้สุนทรีย์ ผมว่าทั้งการเล่นดนตรีและการออกแบบไม่ต่างกันเลย โดยเฉพาะในแง่ที่ว่าเราต่างก็ต้องพัฒนาสไตล์ของเราต่อไปเรื่อยๆ
“แม้ทุกวันนี้ผมไม่ได้เล่นเปียโนแล้ว แต่ผมก็ยังจำความรู้สึกได้นะว่าเวลาที่ผมฝึกซ้อมเปียโน ก็ไม่ต่างจากเวลาที่ผมใส่ใจกับรายละเอียดต่างๆ เมื่อทำงานเป็นนักออกแบบ”
ลับฝีมือให้แหลมคม
ผลงานการออกแบบเพนท์เฮาส์สุดหรู Kata Rock’s Phuket จนคว้าถึง 3 รางวัลคือ Best Apartment in the World 2010 , Best Apartment Asia Pacific และ Best Apartment Thailand จากเวที International Property Awards รวมทั้งงานออกแบบตกแต่งภายในให้กับบ้านสไตล์คันทรี่, วิลล่า เพนท์เฮาส์หรืองานออกแบบอีกหลายต่อหลายแห่งทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ อาทิ Winksley Hall, Mood Borad Rag House และ Villa M Malaiwana
เนื้องานเหล่านั้นทำให้วัยเพียง 28 ปีของเขาดูน่าค้นหา ชวนพูดคุยเพื่อสัมผัสความคิดและมุมมองอันว่าด้วยเรื่องของงานออกแบบ
ไม่ใช่เพียงเพราะการคว้ารางวัลระดับโลกได้ด้วยวัยที่ยังไม่ถึง 30 ปี แต่ประสบการณ์สดใหม่ที่เขาค่อยๆ หล่อหลอมและขัดเกลาตนเองกระทั่งได้รับความเชื่อถือจากลูกค้า อีกทั้งความกล้าที่จะกระโจนสู่วิชาชีพที่ไม่คุ้นเคย โดยอาศัยเพียงสัญชาติญาณ ความรู้สึก และเสียงเรียกร้องในใจว่า ‘นักออกแบบนี่แหละ! คือสิ่งที่ใช่’ สำหรับเขา นี่ต่างหาก คือความน่าสนใจแท้จริง
มันคือความกล้าที่จะทดลอง กล้าที่จะเบนเข็ม 360 องศา จากนักเปียโนมืออาชีพสู่ดีไซเนอร์ที่ฝากผลงานการออกแบบอันน่าประทับใจให้ลูกค้าหลากหลายราย
คือความกล้าหาญและสัญชาตญาณอันแหลมคมที่หล่อหลอมขึ้นจากการ ‘กระโจน’ สู่วังวนที่ไม่คุ้นเคย
ทั้งหมดทั้งมวล ถูกถ่ายทอดผ่านถ้อยความเหล่านี้...
“ผมได้งานออกแบบชิ้นแรกมาด้วยความบังเอิญ มันเริ่มต้นจากการที่เพื่อนผมกำลังตกแต่งบ้าน แล้วเขาไม่พอใจการออกแบบของอินทีเรียดีไซเนอร์คนเดิม แล้วเพื่อนคนนี้ก็รู้ว่าผมสนใจงานด้านนี้ เขาก็เลยให้ผมเข้ามาดูแลด้านการออกแบบ พอผมได้รับคำชักชวนผมก็ไปดูและออกแบบตามที่คิดว่าเหมาะ บอกเขาว่าตรงไหนน่าจะเปลี่ยนแปลง ตรงไหนน่าจะตกแต่งด้วยอะไร ยังไงบ้าง แบบไหน คอนเซ็ปต์ใดบ้างที่ควรจะเปลี่ยน”
ไบรอันบอกว่างานชิ้นนั้น เป็นงานที่เขารับหน้าที่เป็นนักออกแบบตกแต่งภายในอย่างเต็มตัว ซึ่งเมื่อลองถอยกลับมามอง เขาก็พอใจในผลงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกค้าคือเพื่อนของเขาเอง เพราะการที่ทำให้เพื่อนพอใจในงานที่ตนออกแบบ มันก็ยิ่งทำให้เขารู้สึกว่างานนี้สนุกและตัวเองน่าจะเหมาะกับงานนี้
“การออกแบบครั้งนั้นทำให้ผมตัดสินใจที่จะก้าวเข้ามาทำงานนี้อย่างจริงจัง”
ไบรอันบอกว่างานออกแบบทุกงานของเขา ทั้งในอังกฤษกระทั่งภูเก็ตและกรุงเทพฯ นั้น ส่วนใหญ่แล้ว ก็เป็นลูกค้าที่สนใจงานของเขาจากการบอกเล่ากันปากต่อปาก เป็นความเชื่อมั่นและไว้วางใจที่บอกต่อๆ กัน
แม้ทุกวันนี้ บริษัทของเขาเขาไม่ได้รับออกแบบเพียงบ้านหรือวิลล่าหรือเพนท์เฮาส์ระดับไฮเอนด์ แต่ให้บริการทั้งด้านการออกแบบกราฟฟิค การจัดนิทรรศการ วาแผน และ ออกแบบตกแต่งทั้งในส่วนของโชว์รูมเฟอร์นิเจอร์ จนถึงออฟฟิสของผู้บริหารระดับสูง แต่หัวใจสำคัญของการออกแบบที่เน้นรายละเอียดและใส่ใจความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ก็ยังคงเป็นสิ่งที่เขายึดถือ
“งานออกแบบแต่ละครั้งคือการที่เราสร้างสรรค์งานขึ้นจากข้อมูลของลูกค้า มันคือการล้วงลึกถึงสิ่งที่อยู่ในใจเขา เพราะบางครั้งลูกค้าเขายังไม่รู้ใจตัวเองดี หรือบางครั้งเขารู้ว่าอยากได้แบบไหน แต่เขาไม่รู้จะอธิบายยังไง เราก็ต้องกระตุ้นเขา หาให้พบให้ได้ ว่าเขาต้องการงานออกแบบแบบไหน
“งานออกแบบของนักออกแบบบางคน อาจจะมีสไตล์ของตัวเอง ไม่ว่าออกแบบให้ใคร งานของเขาก็เป็นสไตล์แบบเขา แต่งานของผมไม่ใช่ เพราะงานของผมคือความต้องการของลูกค้า เป็นความชอบของลูกค้า เมื่อเขาเห็นแล้วเขาแฮปปี้ เขาก็บอกต่อ นี่แหละ เป็นที่มาที่ทำให้ผมได้งาน
“ในทุกงานออกแบบมันก็ย่อมมีความคิดที่แตกต่างกันระหว่างลูกค้ากับนักออกแบบ ไม่สอดคล้องกันทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์หรอกครับ แต่เมื่อไหร่ที่เกิดความคิดไม่ตรงกัน ผมจะมองว่า อะไร? คือสิ่งที่ลูกค้าไม่ชอบ เช่น ถ้าผมรู้ว่าลูกค้าไม่ชอบสีดำ ผมก็จะไม่นำสีดำมาใช้เลย หรือถ้าเขาไม่ชอบขนสัตว์ ผมก็จะไม่นำขนสัตว์มาใช้ในงาน สิ่งที่ผมคำนึงถึงเสมอในงานออกแบบของผมก็คือการที่ผมกับลูกค้า ‘เติบโต’ ไปด้วยกัน เป็นการเรียนรู้กันไปเรื่อยๆ อะไรที่ลูกค้าชอบ เราก็ต้องใส่ใจ เราต้องเรียนรู้ลูกค้า ต้องเติบโตไปกับเขา เมื่อเรารู้ว่าเขาชอบอะไร หรือไม่ชอบอะไร งานที่เราออกแบบให้เขาก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ
“นอกจากสิ่งที่กล่าวมาแล้ว อีกสิ่งที่ผมให้ความสำคัญมากๆ ก็คือ ความสง่างามแต่ในขณะเดียวกันก็เรียบง่าย เป็นความสง่างามที่ประยุกต์ได้กับทุกงานออกแบบ เช่น ถ้าลูกค้าบอกว่า อยากได้ลายไทย ผมก็ต้องสามารถผสมผสานลายไทยเข้ากับความเรียบง่ายให้ได้ ผมจะไม่เปลี่ยนสไตล์ของลูกค้า แต่ผมจะเปิดเผยข้อมูลกับลูกค้าทุกอย่าง เช่นในกรณีที่ลูกค้าชอบเฟอร์นิเจอร์ของอิตาลี แต่ถ้ามีสิ่งของในประเทศไทยที่คุณภาพไม่ต่างกัน ผมก็จะอธิบายเขา ว่า มีของแบบนี้ในไทยด้วยนะ คุณภาพไม่ต่างจากที่คุณต้องการจากที่อิตาลีเลยด้วย มันช่วยประหยัดงบประมาณของคุณได้นะ หรือถ้าผมรู้จักนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ระดับโลกที่มีฐานการผลิตในไทย ผมก็จะนำเสนองานของคนๆ นี้ ให้กับลูกค้า เพื่อให้เขาได้รับสิ่งที่ดีและเหมาะสม”
ความเป็นไปใน ‘ป่าเมือง’
เติบโตในไอร์แลนด์ แล้วก้าวเข้าไปเผชิญโชคในลอนดอน ศึกษาหาความรู้ด้านการออกแบบจาก The Design school , Chelsea ลับฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ผ่านงานหลากหลายรูปแบบทั้งอพร์าทเมนต์ในย่านพลุกพล่านของลอนดอน,
บ้านพักสไตล์คันทรีในแถบชานเมือง กระทั่งเดินทางมาหาความท้าทายใหม่ๆ ของการออกแบบในภูเก็ตและกรุงเทพฯ
ประสบการณ์ที่ว่ามา ทำให้เราอยากรู้ว่ามุมมองที่เขามีต่องานออกแบบของแต่ละเมืองใหญ่คนละซีกโลกนั้น มีความแตกต่าง หรือยาก-ง่ายกว่ากันเพียงใด
“เรื่องสภาพอากาศและทิวทัศน์ต่างกันเยอะมาก เช่นที่เมืองไทย การออกแบบต้องการใส่ใจทั้งวิวรอบๆ เช่น ดูทะเล ภูเขา การออกแบบต้องเน้นที่ความกลมกลืน สวยงาม และการเชื่อมต่อระหว่างเอาต์ดอร์และอินดอร์ ระหว่างทางต้องมีการเชื่อมต่อที่สวยงามกลมกลืน แต่ที่ลอนดอน เป็นเมืองหนาวผู้คนไม่ค่อยใช้ชีวิตเอาต์ดอร์นัก ส่วนใหญ่จะอยู่ในบ้าน ดังนั้นรายละเอียดต่างๆ จะมุ่งเน้นไปที่เฟอร์นิเจอร์ในบ้าน ทั้ง ตู้ โต๊ะต่างๆ ต้องใส่ใจทุกรายละเอียด
“นอกจากนั้น ลูกค้าในลอนดอนของผม ส่วนใหญ่เป็นบ้านสไตล์คันทรี เราก็ต้องใส่ใจในความเก่าแก่ ใส่ใจอายุของบ้าน เราต้องเน้นในเรื่องของการอนุรักษ์ ขณะที่ลูกค้าในลอนดอนก็ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ นัก เป็นชีวิตของคนเมือง แต่ที่เมืองอื่นๆ ของไทยโดยเฉพาะภูเก็ต บ้านที่มีวิวมองเห็นทะเล มีสภาพแวดล้อมรอบข้างที่มีพื้นที่เยอะ จะเอื้อให้ผมใส่ลูกเล่นได้มากกว่า”
แต่นอกจากมุมมองที่มีต่องานออกแบบในแต่ละเมืองแล้ว ก็อดถามไถ่ไม่ได้ว่าเมื่อย่างก้าวจากโลกตะวันตกเข้าโลกตะวันออก ‘งานออกแบบสไตล์เอเชีย’ ในสายตาของเขา เป็นแบบไหน
“สิ่งสำคัญในงานออกแบบของเอเชีย คือความละเอียดลออ ความใส่ใจในรายละเอียด”
ครั้นถามถึงการออกแบบในไทย ว่าต้องศึกษาวิถีชีวิต วัฒนธรรม หรือค้นคว้าข้อมูลสถาปัตยกรรม หรืองานออกแบบตกแต่งของไทยมากน้อยแค่ไหนนั้น ไบรอันตอบว่า
“ในการทำงานทุกครั้งของผม ผมต้องค้นคว้าข้อมูลเสมอ ผมจะถามลูกค้าอย่างละเอียดทุกครั้งว่าเขาชอบงานออกแบบแบบไหน เพราะฉะนั้น การออกแบบเหล่านั้น ก็ทำให้ผมได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ในเมืองไทยก็ไม่ต่างกัน เช่น เมื่อลูกค้าต้องการความเป็นไทย ผมก็จะซื้อหนังสือ ค้นข้อมูลทั้งในอินเตอร์เน็ตและถามไถ่ผู้ที่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ถามไถ่ถึงสิ่งที่ผมไม่รู้ ถามถึงสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเป็นงานออกแบบของไทย
“แต่ในกรณีที่มีลูกค้าที่ต้องการความผสมผสานระหว่างความเป็นไทยกับความร่วมสมัย ผมมีความรู้สึกว่าความเป็นไทยและความร่วมสมัย ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้หลอมรวมกัน ดังนั้น สิ่งที่ผมต้องระวังก็คือเมื่อนำทั้ง 2 รูปแบบมาอยู่ร่วมกันแล้ว มันลงตัวหรือไม่? หรือว่ามันดูขัดแย้งกัน การที่จะนำงานออกแบบที่แสดงถึงความเป็นไทยมารวมกับความเป็นโมเดิร์นนั้น ดูแล้วต้องไม่รู้สึกว่ามันถูกบังคับให้มาอยู่ร่วมกัน แต่ต้องแสดงให้เห็นถึงการประสานกันอย่างลงตัว ต้องดูว่าองค์ประกอบมันเข้ากันได้มั้ย”
แล้วหากไม่ติดยึดในรูปแบบ หลังคาหน้าจั่ว บ้านทรงไทย หรือลายกนกอันอ่อนช้อย ไม่มีใต้ถุน ไม่มีบ้านไม้ล่ะ เขาคิดว่าอะไร? คือกลิ่นอายหรือจิตวิญญาณความเป็นไทยแบบไหนที่เขาจะใส่ไว้ในงานออกแบบ
“ผมว่ากลิ่นอายนั้นคือ ‘การใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์’ ในความรู้สึกผม เอกลักษณ์ของบ้านไทยคือการให้ความสำคัญกับ ‘พื้นที่’ ถ้าเราดูบ้านไทยสมัยก่อนจะพบว่าพื้นที่ถูกแบ่งเป็นสัดส่วน เรารู้ว่าเมื่อเดินเข้ามาในบริเวณบ้าน เราต้องถอดรองเท้าไว้ตรงนี้นะ เมื่อเดินเข้าบ้านมาเราจะกินข้าวตรงไหน จะนั่งกินข้าวเป็นกลุ่มๆ ที่ห้องไหน ผมว่านี่คือกลิ่นอายความเป็นไทย"
“ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมยังไม่รู้เกี่ยวกับเมืองไทย ดังนั้นการมาเมืองไทยคือการมาเรียนรู้ และผมก็เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ทั้งค้นข้อมูลด้วยตัวเอง และถามไถ่คนไทยว่าทำไมบ้านของพวกเขาต้องมีรูปทรงแบบนี้ ทำไมต้องทำแบบนั้น ผมเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา”
ครั้นถามไถ่เฉพาะเจาะจงมาที่กรุงเทพฯ ชายหนุ่มก็บอกเล่าอย่างอารมณ์ดีว่า
“กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีเสน่ห์มากๆ มีชีวิตชีวา ผมว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้น ทำลายเสน่ห์ของเมืองนี้ไม่ได้ หรือแม้แต่ปัญหารถติด ปัญหาจราจร ปัญหาควันพิษ ก็กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยไปเลย เมื่อเทียบกับสีสันจากอาหาร ร้านรวง บาร์ และผู้คน
“ผมว่ากรุงเทพเป็นเมืองที่มี ‘ชีวิต’ ทุกวันนี้ ผมพยายามอย่างมาก ที่จะหาข้ออ้างในการมาทำงานอยู่กรุงเทพฯ ( หัวเราะ) เวลาที่เพื่อนๆ มาเที่ยวเมืองไทยผมก็จะพามาเที่ยวกรุงเทพฯ ผมเชื่อว่าในอนาคต กรุงเทพฯสามารถก้าวขึ้นไปแข่งขันกับนิวยอร์คหรือลอนดอนได้เลย”
คำถามสุดท้าย ถ้าให้คุณตกแต่งห้องสักห้อง แล้วในห้องนั้นมีกลิ่นอายของกรุงเทพฯ คุณจะตกแต่งให้ออกมามีหน้าตาแบบไหน?
“เริ่มต้นจากสีก่อนเลยนะครับ สีที่ผมใช้อาจจะเป็นสีเข้มๆ แต่ไม่ใช่สีดำนะ และเพราะกรุงเทพฯในสายตาผมเป็นเมืองที่วุ่นวาย ดังนั้น ผมอาจจะใช้พื้นเป็นพื้นไม้ เพื่อสื่อถึงความเป็นไทย แต่เฟอร์นิเจอร์อื่นๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ช้อน ส้อม ผมจะใช้แบบที่ต่างกันทั้งรูปทรงและสีสัน เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่หลากหลายและมีความแตกต่าง มีความวุ่นวายอยู่ร่วมกัน
“นอกจากนั้นสิ่งที่ผมมองเห็นก็คือกรุงเทพฯ มีคนรุ่นเก่า มีผู้ใหญ่ มีคนสูงอายุอยู่เยอะ แม้เราจะไปในที่ที่เป็นแหล่งวัยรุ่นอย่างสยามสแควร์ก็ตาม ถึงยังไง เราก็ยังมองเห็นความเป็น ‘โอลด์ เจเนอรชั่น’ ดังนั้น ผมจะใส่ภาพที่เป็นรอยยิ้ม เป็นความอ่อนโยนอยู่ในห้องนั้นด้วย สรุปแล้วห้องนี้จะไม่มีความทื่อตรงหรือรูปแบบที่ตายตัว แต่จะมีความหลากหลายรวมอยู่ด้วยกัน”
..............
วันนี้ กรุงเทพฯ และเมืองไทยกำลังยึดกุมหัวใจหมาป่าให้ปักหลักอย่างไม่ยอมจากไปง่ายๆ เว้นแต่ว่า วันหนึ่งข้างหน้า ป่าเมืองแหล่งใหม่ๆของโลกกว้างจะเชื้อชวนสัญชาติญาณนักออกแบบของเขาให้ก้าวเข้าไปพบกับความท้าทายใหม่ๆ ....อีกครั้ง
..........
เรื่องโดย : นางสาวยิปซี
ถ่ายภาพไบรอันโดย : ศิวกร เสนสอน
*หมายเหตุ เอื้อเฟื้อสถานที่ : โรงแรม Four Points By Sheraton สุขุมวิท 15
ขอขอบคุณคุณ เดชาวุธ วุฒิศิลป์ ผู้แปลภาษาระหว่างการสัมภาษณ์