xs
xsm
sm
md
lg

“ให้ดูมดเป็นตัวอย่าง” คำสอนคุณหญิงแอ้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพราะความรักของคุณยายที่มีต่อน้องแจน น้องจีน และน้องจุน หลานๆ ตัวน้อยที่มักสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับธรรมชาติรอบตัว และชอบมีคำถามแปลกๆ มาถามคุณยายเสมอ ผสานกับความตั้งใจที่อยากให้เด็กไทยทุกคนได้เรียนรู้เรื่องราวของธรรมชาติอย่างสนุกและสร้างสรรค์
“มด” จึงเป็นสิ่งใกล้ตัวที่ คุณหญิงรัชนีวรรณ วัฒนชัย หรือ คุณยายแอ้ นำมาเขียนเป็นนิทานกึ่งสารคดี ชุด 10 ปี หนังสือดีเพื่อเด็ก ในโอกาสที่มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ได้มอบความสุขให้แก่เด็กๆ ด้วยเสียงเล่านิทาน
“มดมหัศจรรย์” เป็นหนังสือนิทาน 1 ใน 5 เรื่องที่มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ร่วมกับ บจก.แปลน ฟอร์ คิดส์ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นของขวัญทางปัญญาให้กับเด็ก โดยใช้ “มด” เป็นสัญลักษณ์ของความขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด และอดทน แฝงไว้เป็นข้อคิด

“เรื่องนี้เกิดขึ้น เพราะพาหลานๆ เข้าไปเก็บต้นไม้ ใบไม้แห้งที่สวนหน้าบ้าน เราเห็นมดเดินเรียงแถว เลยเรียกหลานมาดูว่า มดนี่มีระเบียบนะ เดินเป็นแถวยาวเรียงกันเลย และแนะนำเขาว่า เราควรต้องเป็นคนที่มีระเบียบ ให้เอาอย่างมดนะคะ มดจะขยัน ตั้งแต่เช้าถึงกลางคืนมดจะเดินตลอด เก็บกิ่งไม้ ขนอาหาร จะเล่าให้หลานฟังถึงความรอบคอบของมด ว่ามดไม่ประมาท คอยกักตุนอาหารไว้กินยามยาก เวลาที่ฝนตกหนัก มดออกมาจากรังไม่ได้ ก็นำอาหารที่สะสมเก็บไว้มาแบ่งปันกันกิน ได้สอนหลานๆ ว่าต้องเป็นคนที่ขยัน รู้จักเก็บ อดออม รู้จักใช้ทุกอย่าง เวลาลำบากก็จะนำมาใช้ได้” คุณหญิงแอ้ กล่าว
นอกจากเนื้อหาที่ช่วยจุดประกายความคิดให้กับเด็ก สามารถพูดคุยและเล่าเรื่องราวได้แล้ว ภาพประกอบในหนังสือนิทานเล่มนี้ ยังสะท้อนให้เห็นถึงคนสองรุ่นที่สามารถอยู่ด้วยกันได้ โดยไม่ต้องมีคนกลางอยู่ด้วย เป็นการสื่อสารที่ผู้วาดภาพจำเป็นต้องศึกษาทั้งองค์ความรู้เกี่ยวกับมด และใช้จินตนาการในการวาดภาพใบหน้าทุกหน้าด้วยสีน้ำอย่างดีที่สุด เพื่อให้มดมหัศจรรย์ออกมาเป็นตัวเล่มอย่างสมบูรณ์แบบ
คุณหญิงแอ้
ริสรวล อร่ามเจริญ กก.ผจก. แปลน ฟอร์ คิดส์ เล่าว่า “การจะทำเรื่องมด เราต้องรู้เรื่องมด ประวัติของมด ประเภทของมด และภาพประกอบทั้งหมดควรเป็นอย่างไร ในเรื่องนี้จะเป็นมดแดงผู้ทรงพลัง สามารถยกของได้หนัก 5 เท่าของตัวเอง การที่ใช้สัตว์เป็นเพื่อน จะทำให้เด็กสนุก แต่ก็ขึ้นอยู่กับคนที่เขียนนิทานเขามีมุมอะไรที่จะสอน นิทานดีๆ สมัยก่อน มีการนำกลับมาตีพิมพ์เยอะมาก โครงการหนังสือเด็กก็เปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน เพราะทุกคนเข้าใจแล้วว่าต้องใช้หนังสือกับเด็ก ที่สำคัญทุนของนิทานที่ยังคงอยู่ในตัวเด็กคือ ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ต้องให้ตั้งแต่เล็กๆ เพราะมนุษย์เราแรกเกิดถึงสามขวบ เป็นช่วงอัตราการแตกของเซลล์สมองเยอะที่สุด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ด้วยว่า จะกระตุ้นแบบไหนให้เหมาะสมกับลูกของเรา”
ปัจจุบันถึงแม้เราจะปฏิเสธเรื่องของเทคโนโลยี ที่เข้ามาแทรงแซงวิถีความเป็นอยู่ของเด็กไม่ได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ใหญ่ต่างหากที่จะจัดความพอดีให้กับเด็กได้อย่างไร หากพ่อแม่เข้าใจในศาสตร์ของหนังสือว่า กว่าเด็กจะอ่านออก อ่านได้ อ่านแตก และอ่านอย่างสนุกได้ ต้องใช้เวลาและความอดทนมาก แต่ในความอดทนนั้น จะมีความรักของพ่อแม่แฝงอยู่ด้วยทุกระยะ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ประคับประคองและชี้นำให้เด็กเติบโตมาอย่างมีความสุข
ดังที่ เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป หรือที่เด็กๆ รู้จักกันในนาม ตุ๊บปอง นักเขียนนิทานชื่อดัง แนะนำว่า “เวลาอ่านหนังสือเรากอดลูกได้ การกอด การสัมผัส ไม่มีใครให้ได้ดีไปกว่าพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย เพราะมันมีความรักทางสายเลือด สิ่งเหล่านี้จะถ่ายโอนไปถึงเด็กๆ และทำให้เด็กๆ เติบโตมาอย่างความมั่นคงทางจิตใจ”

 
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่  http://www.celeb-online.net
กำลังโหลดความคิดเห็น