>>ท่ามกลางกระแส "Thai Young Designer" กำลังบูมสุดๆ คนกลุ่มที่มีอุดมการณ์และรักงานดีไซน์ได้หยิบนำเอาเสน่ห์ของผ้าทอมาดึงดูดสายตาของชาวโลกให้ได้เห็นถึงการออกแบบที่ทันสมัยและมีความเทรนดี้ ที่แฝงอยู่ในเทคนิคพื้นฐานของการทอผ้าด้วยกี่ที่มีนานกว่า 2,000 ปีแล้ว ซึ่งวันนี้เรากำลังนั่งพูดคุยกับ “คุณแนท-นัดดาดวง ฐิตะดิลก” ผู้ที่มีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการ "ต้นน้ำ" จนถึง "ปลายน้ำ" เพื่อที่จะทำให้วิถีการทอผ้าและความงามจากผลิตภัณฑ์แบบไทยๆ เป็นที่ประจักษ์กับสายตาชาวโลก
“คุณแนท-นัดดาดวง ฐิตะดิลก” หนึ่งในทีมดีไซเนอร์หรือเรียกอีกอย่างว่า นักพัฒนาผลิตภัณฑ์ แห่งมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เธอเป็นนักออกแบบในส่วนของผลิตภัณฑ์โฮมแวร์ สินค้าลิฟวิ่งและของตกแต่งบ้านทั้งหมด ต้องดูแลตั้งแต่ส่วนของกระบวนการคิด ผลิต ขาย จนสินค้าถึงมือลูกค้าเลยทีเดียว
เธอหอบความรู้จากการร่ำเรียนและไปใช้ชีวิตอยู่ที่ชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา นานถึง 9 ปี นับตั้งแต่เรียนไฮสคูลที่เทกซ์ซัส และไปเรียนต่อปริญญาตรี ในสาขา Fiber and material Studies ที่ The School of the art Institute of Chicago ก่อนจะมาเพิ่มเติมเรื่องของการค้าและดีไซน์ที่ Rhode Island school of Design จนกระทั่งเข้าไปทำงานในบริษัท Troscan Designบริษัทค้าขายเฟอร์นิเจอร์ระดับไฮเอนด์ในชิคาโก
:: เปิดโลกกว้าง ประสบการณ์แห่งการเรียนรู้
เรียกว่าตลอดระยะเวลา 9 ปีที่เธอใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศเป็นช่วงเวลาแห่งการเปิดรับ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในบริษัท และการสร้างแบรนด์เล็กๆ ของตัวเองในนาม “nfelt”
“ช่วงทำงานอยู่ที่สหรัฐอเมริกาได้ประสบการณ์เยอะมาก เพราะเราจบใหม่ เราจึงเปิดกว้างเรื่องการเรียน รู้ทุกอย่างที่เราพบ อาทิ ตอนที่ทำงานบริษัท ด้วยความที่เป็นสินค้าไฮเอนด์ จึงต้องเรียนรู้ว่าทำไมถึงสามารถขายสินค้าราคาแพง โดยที่มีคนยอมซื้อ นั่นเป็นเพราะรายละเอียดอย่างการเลือกวัสดุ การผลิต การดูแลลูกค้าก่อนขาย-หลังขาย ทำให้ลูกค้ายอมจ่ายราคาแพงเพื่อซื้อสินค้าในราคาที่สมเหตุสมผล
นอกจากนั้นแนทยังทำสินค้าของตัวเองอีกด้วย ชื่อแบรนด์ “nfelt” เป็นเครื่องประดับที่ทำจากผ้าวูล เช่น เข็มกลัด และผ้าพันคอ ตอนแรกไม่ได้คิดว่าจะทำขาย แต่ต้องการผลิตเพื่อใช้เอง พอดีเพื่อนเห็นจึงอยากได้บ้าง ก็เลยทำให้ แล้วก็เริ่มทำขาย ช่วงแรกๆ ขายได้ ตื่นเต้นมาก มีคนญี่ปุ่นมาเจอแล้วก็ติดต่อไปขายที่ญี่ปุ่น แล้วนำไปขายตามงาน DIY ด้วย จากนั้นเริ่มมีคนรู้จักเพราะมีนิตยสารมาสัมภาษณ์ รวมทั้งหนังสือ DIY Book สอนวิธีการทำให้คนอื่นด้วย แต่ตอนนี้เลิกแล้วเพราะเมืองไทยหาผ้าวูลยาก นึกแล้วก็เสียดายเหมือนกันเพราะเป็นสิ่งที่เราทำ”
:: สู่อ้อมกอดเมืองไทย...ปักหลักในสิ่งที่รัก
แม้ว่าจะได้ทำงานในบริษัทใหญ่ มีแบรนด์เล็กๆ เป็นของตัวเอง มีเพื่อนฝูงคนรู้จัก ซึ่งอาจเรียกได้ว่าชีวิตในขณะนั้นค่อนข้างลงตัวแล้ว แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งนกน้อยที่บินไปเติบโตเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างแดนก็ถึงเวลาที่ต้องกลับสู่อ้อมกอดรังของตัวเองที่แท้จริง
“ตอนนั้นอายุ 27 ปี จู่ๆ ก็ตัดสินใจโบกมือลาทุกอย่างที่ชิคาโกแล้วกลับบ้านที่เมืองไทย เพราะคิดว่ายังไงก็ต้องกลับมาอยู่เมืองไทย ฉะนั้น กลับมาเร็วๆ ดีกว่า จะได้เริ่มต้นชีวิตในขณะที่อายุยังไม่เยอะ...พอกลับมาก็มองหางานหลายๆ ที่เพราะคิดว่ายังอยากทำสิ่งที่เรารักอยู่ พอดีเพื่อนแนะนำให้มาสมัครที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้มาสัมภาษณ์กับคุณหญิงแล้วท่านก็รับเลย โดยที่ไม่ได้มีเส้นสายอะไรทั้งนั้น”
จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา 5 ปีแล้วที่เธอยังคงร่วมงานอยู๋กับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมีความมุ่งหวังที่จะให้ผลิตผลจากเมืองไทยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
“การทำงานทุกวันนี้ เราทำงานกันเป็นทีม ก่อนเริ่มงานเราจะมีการระดมสมองกัน ใครมีอะไรก็เอามาแชร์กันคุยถึงคอนเซ็ปต์ ภาพรวม แนวทางการพัฒนา คอมเมนต์งานกันเพื่อให้ออกมาดีที่สุด ส่วนงานดีไซน์สินค้า โฮมแวร์จะหมายถึงพรม ข้าวของเครื่องใช้ในบ้าน และเซรามิกด้วย ผลงานที่ออกมาจะเป็นซีซั่นโดยออก 2 ฤดูกาล คือ ฤดูร้อนกับฤดูหนาว สินค้าในส่วนของลิฟวิ่งก็จะเปลี่ยนตามกระแสแฟชั่นเหมือนกัน แต่ในส่วนของเสื้อผ้าจะมีดีไซเนอร์จากอังกฤษเป็นโครงการที่เราทำร่วมกับ UAL (University of Art London) ที่มาช่วยออกแบบในส่วนเสื้อแฟชั่น
แผนกดีไซน์จะมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ทั้งส่วนการผลิต การขาย การตลาด ไม่ใช่แค่ดีไซน์ แต่ต้องคิดถึงทุกกระบวนการ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ทุกอย่างที่ทำเราพยายามคิดในเรื่องของความยั่งยืน ให้คนมีงานทำต่อเนื่อง ในเรื่องของความจริงใจที่จะสื่อสารให้กับลูกค้า
ทำงานที่นี่มา 5 ปีก็คิดว่าตัวเองยังไม่เก่งนะ เราต้องเรียนรู้จากคนอื่นอีกเยอะนอกจากเราจะการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในทีมตัวเองแล้ว ยังต้องแลกเปลี่ยนในเรื่องเทคนิคความรู้จากทีมอื่นๆ ด้วย ซึ่งอาจจะต้องเรียนรู้เทคนิคจากบนดอยด้วยในเรื่องของการทอผ้า เพราะหลายครั้งที่การทำงานกับความเป็นจริงอาจต้องมีการปรับให้เข้าใจตรงกันมากขึ้น”
:: เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ภายใต้แนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ไร้โอกาส ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการศึกษา สามารถพึ่งพาตนเองได้ สนใจใฝ่รู้ที่จะสร้างโอกาสให้กับชีวิต รักษ์ป่า และเข้าใจว่าคนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้ รวมทั้งทำงานด้านอนุรักษ์ศิลปะ ประเพณี และวัฒนธรรมล้านนา และชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ ให้อยู่สืบไปทำให้ทุกคนที่ทำงานในมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงเองต่างก็มีปณิธานในการทำงานเช่นเดียวกับพระองค์ท่าน ไม่เว้นกระทั่งตัวเธอเอง
“ลักษณะของงานที่ทำอยู่ปัจจุบันตอบโจทย์ให้กับชีวิตหลายๆ อย่าง ไม่ใช่ว่าเราทำเพื่อตัวเอง แต่เราทำเพื่อคนทุกคนที่อยู่ที่ดอยตุง ถึงจะหมดแรงแต่เราก็มีกำลังใจที่จะฮึดสู้ต่อไป เพราะเราเห็นคุณหญิง (คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา) และคุณชาย (หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล) ทำงานหนัก แต่ท่านก็ไม่บ่นทั้งที่ท่านอายุมากกว่าเรา ท่านทั้งสองทุ่มเททุกอย่างเพื่อสังคม และเพื่อให้ชีวิตของคนที่ไม่มีโอกาส มีชีวิตที่ดีขึ้น
ตลอด 5 ปีได้เห็นการพัฒนา และการขยายผลไปยังที่อื่นๆ อย่าง “ดอยตุง” เป็นต้นแบบของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดอยตุงกำลังพัฒนาอยู่ในช่วงกลางน้ำและปลายน้ำ หลังจากที่ทำให้ธรรมชาติกลับมาสมบูรณ์ก็เริ่มพัฒนาเรื่องงานให้คนมีอาชีพที่สุจริต รู้จักเพิ่มมูลค่าของผลผลิต ทั้งหมดทั้งปวงก็อยู่ภายใต้ปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” คือมี “พอ” เพื่อที่จะไปช่วยคนอื่นต่อ ซึ่งเป็นไอเดียในการดำเนินชีวิตและคอนเซ็ปต์ในการทำงานของตัวเองด้วย ฉะนั้น เป้าหมายหลักก็คืออยากจะขยายผล ต่อยอดให้คนในชุมชนได้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำให้มากที่สุด”
:: ชีวิตติดดอย
บ่อยครั้งที่การทำงานแต่ละคอลเลกชั่นต้องพาตัวลงไปสัมผัสกับกรรมวิธี เพื่อให้เข้าถึงแก่นของการผลิต และครีเอตให้ผลงานออกมาตรงตามที่คิดไว้มากที่สุด ฉะนั้น เธอและทีมจึงต้องไปใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่บนดอยตุงอันเป็นที่ที่ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจดีๆ หลายๆ ครั้งด้วย
“ชีวิตค่อนข้างผูกพันกับดอยตุง เพราะเราจำเป็นต้องขึ้นไปดูกระบวนการผลิต เมื่อจะผลิตสินค้าอะไรใหม่ๆ ต้องคอยติดตามว่ามีปัญหาอะไรต้องปรับแก้บ้าง เพื่อให้งานออกมาตรงตามที่เราคิด เราทุกคนชอบไปเชียงราย รู้สึกว่าการทำงานไม่จำเจ เหมือนมีการเบรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจ เพราะแรงบันดาลใจส่วนใหญ่มาจากบนดอย ไม่ว่าจะเป็นจากชีวิตประจำวันที่เราออกไปตามหมู่บ้าน เรื่องของธรรมชาติรอบๆ ตัว วัฒนธรรมล้านนา วัฒนธรรมชนเผ่า เมื่อทุกอย่างมามิกซ์กันก็จะเกิดเป็นแรงบันดาลใจจากสิ่งที่เราเห็น
ส่วนใหญ่แนวทางในการคิดจะหยิบยกเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ด้วย เช่น เทคนิคการทอ เรื่องของการจักรสาน ทุกอย่างจะมีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นของบนดอยหรือของใช้ของชนเผ่า เขาจะทำเพื่อที่จะสนองฟังก์ชั่นการใช้งานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน และส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบธรรมชาติที่มีความความงามเฉพาะตัว
เมืองไทยเป็นประเทศที่งานหัตถกรรมค่อนข้างเด่น ในมุมมองของคนไทยสินค้าลิฟวิ่งอาจมีทางเลือกเยอะ เพราะแบรนด์ต่างประเทศก็มีมากมาย แต่คนต่างชาติจะชอบผลงานจากดอยตุงมาก เพราะของตกแต่งบ้านของดอยตุงใช้วัตถุดิบธรรมชาติและมีดีไซน์”
:: ควบรวมทุกเวลา
ไม่ว่าจะเวลางานหรือเวลาส่วนตัว สำหรับนัดดาดวงแล้วเธอบอกกับเราว่าเป็นเวลาเดียวกัน เพราะไม่ว่าจะเวลาไหน ทั้งสองอย่างก็ถูกผสานรวมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเธอจนแทบจะแยกไม่ออกแล้ว
“มีชีวิตที่กรุงเทพฯ เหมือนคนทำงานทั่วไปด้วย ไม่ติดกับดอยตลอด (หัวเราะ) ไม่ได้แบ่งชัดเจนว่าเวลานี้คือเวลาส่วนตัว เวลานั้นทำงาน เพราะว่าเราสนุกกับการทำงาน เห็นอะไรก็หยิบมาใช้กับงานบ้าง หรือคิดว่างานที่เราทำเป็นการผ่อนคลายบ้าง แต่ก็มีเวลาที่ขอเปลี่ยนบรรยากาศไปเที่ยวบ้าง เพราะว่าตอนเรียนและทำงานอยู่ต่างประเทศเที่ยวค่อนข้างบ่อย
เวลาไปเที่ยวต่างประเทศเราอยากรู้ว่าคนประเทศอื่นๆ เขาใช้ชีวิตกันอย่างไร ส่วนใหญ่ชอบเดินตลาด ไม่ค่อยชอปปิ้งในห้างสรรพสินค้าเท่าไหร่ เพราะมีความเชื่อว่าตลาดจะบอกวัฒนธรรมของชนชาตินั้นได้ดีกว่าอย่างอื่น ล่าสุดเพิ่งกลับมาจากอิตาลี ไปเพื่อดูงานและไปเที่ยวด้วย ได้ไปเยี่ยมชมโครงการ “ซานปากิอาโน่” เป็นโครงการขององค์กรบำบัดยาเสพติด เขาจะเอาเด็กมาบำบัดและสอนเทคนิคการทำผลิตภัณฑ์ เพื่อไปประกอบอาชีพ เช่น ทำแฮมเบอร์เกอร์ ทำผลิตภัณฑ์ของแต่งบ้าน หรือทำเฟอร์นิเจอร์ ทำให้เรารู้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วเขาก็มีปัญหาเรื่องยาเสพติดเหมือนกัน และต้องแก้ปัญหาด้วยการให้อาชีพแก่เขา
...เวลาที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์เหล่านี้เราไม่รู้หรอกว่าวันไหนเราจะได้ใช้ แต่มองว่าเป็นเหมือนคลังความรู้ที่เราเก็บไว้...ในยามจำเป็นมันก็อาจจะออกมาช่วยเราในการแก้ปัญหาได้”
ณ เวลานี้นี่คือชีวิตที่ลงตัวของเธอ เพราะหลายๆ อย่างจากการทำงาน และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้หล่อหลอมให้เธอรู้สึก “พอ” ในการใช้ชีวิต และเธอคงจะรู้สึกดียิ่งขึ้น “เพียง” เธอจะแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้กับคนอื่นด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ และให้คนบนดอยได้มีงานทำอย่างต่อเนื่อง :: Text by FLASH mag.
Fact File
นางแบบ :: นัดดาดวง ฐิตะดิลก
แต่งหน้า :: ณัฐนิชา เหมรา จากเครื่องสำอางลังโคม (Lancome) โทรศัพท์ 0-2684 -3000
เสื้อผ้าและเครื่องประดับ :: ผลิตภัณฑ์ดอยตุง จากมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
สถานที่ :: มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง
ช่างภาพ :: กมลภัทร พงศ์สุวรรณ
>> อัปเดตข่าวในแวดวงสังคม กอสซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net