ด้วยพระดำริที่อยากจะเห็นผู้ต้องขังหญิงในทัณฑสถานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงก่อกำเนิดโครงการ “กำลังใจในพระดำริฯ” จนเกิดเป็นข้อกำหนดกรุงเทพฯ (BANGKOK RULES START NOW) ที่ได้รับการยอมรับจากสหประชาติ ถึงพระปรีชาที่ทรงผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ต้องขังมากที่สุด เร็วๆนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดโครงการกำลังใจในพระดำริฯในกิจกรรม (BANGKOK RULES START NOW)ข้อกำหนดกรุงเทพฯ โดยมีกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมคณะเฝ้ารับเสด็จ ณ ทัณฑสถานหญิงธนบุรี
หลังจากการประทานของที่ระลึก พระองค์ภาฯ เสด็จไปยังภายในทัณฑสถานเพื่อทอดพระเนตรการฝึกวิชาชีพของผู้ต้องขังหญิง อาทิ งานแก้วพ่นทราย งานเพ้นท์ไม้ งานฝีมือและสิ่งประดิษฐ์ เบเกอรี่ กาแฟ ขนมไทย งานโหราศาสตร์ และทรงทอดพระเนตรการสอนภาษาอังกฤษ โดยสถาบันเคมบริดจ์ ณ อาคารห้องสมุดพร้อมปัญญา การนี้ทรงสาธิตการสอนภาษาอังกฤษให้แก่ผู้ต้องขังด้วยสีพระพักตร์สดใส พร้อมกันนี้ทรงประทานคำแนะนำแก่พงศกร เอี่ยมองค์ ผอ.สถาบันนิวเคมบริดจ์ว่า “ให้ทำไปเรื่อย ๆ สอนให้ผู้ต้องขังหญิงที่มีพื้นฐานการศึกษาที่ดีก่อน แล้วต่อยอดให้กลุ่มนี้ไปทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยอาจารย์ในการสอนผู้ต้องขังหญิงคนอื่น ๆ เมื่อถึงเวลาพ้นโทษออกไปจะได้กล้าพูด กล้าสื่อสารกับชาวต่างประเทศ”
ครั้นพอเสด็จออกจากห้องสอนภาษาอังกฤษแล้วผู้ต้องขังหญิงที่เรียนวิชาวาดภาพจากวิทยาลัยเพาะช่างได้ทูลเกล้าฯถวาย รูปวาดคุณแก้วสุนัขทรงเลี้ยงของพระองค์ภาฯ โดยพระองค์ภาฯทรงมีรับสั่งกับผู้ต้องขังหญิงด้วยพระสุรเสียงเป็นกันเองว่า “เหมือนแก้วมาก”
จากนั้นเสด็จไปยังอาคารสถานพยาบาล เพื่อทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ พร้อมทั้งประทานชุดของขวัญ และชุดวีดิทัศน์คู่มื่อการดูแลการตั้งครรภ์แก่ผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์จำนวน 8 ราย ทรงทอดพระเนตรการสาธิตโครงการพัฒนากายใจด้วยเมล็ดพันธุ์แห่งรักและกรุณา ซึ่งสอนโดยพระไพศาล วิสาโล และทอดพระเนตรการดำเนินงานตามโครงการบราแชริตี้จากเครือเดอะามอลล์กรุ๊ป และ 88 ดีบี พร้อมทั้งประทานบราให้ผู้ต้องขังด้วย
ต่อมาเสด็จไปที่ห้องโถงอาคารเรือนนอน ซึ่งเป็นสถานที่จัดกิจกรรมให้กำลังใจ โอกาสนี้ทรงลงพระนามเปิดตัวหนังสือคู่มือผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีเรื่อง “รู้จักสิทธิ รู้จักศาล” โดย สำนักงานศาลยุติธรรม โครงการกำลังใจในพระดำริฯ เพื่อให้ผู้ต้องขังมีความรู้ด้านกฎหมายและรู้จักรักษาสิทธิของตัวเอง และทรงตรวจสอบการดำเนินงานตามข้อกำหนดกรุงเทพฯของทัณฑสถานหญิงธนบุรี
ก่อนที่จะปิดท้ายด้วยการทอดพระเนตรการแสดงของผู้ต้องขังเรื่อง “หลงทาง หากำลังใจ” ซึ่งเป็นการจำลองชีวิตจริงของผู้ต้องขังหญิงคนหนึ่งที่ครั้งหนึ่งเคยหลงทางทำความผิดจนต้องมาอยู่ในทัณฑสถานแห่งนี้ และการร้องเพลงประสานเสียงเพลง “ขอบคุณที่ยังรักกัน” และก่อนเสด็จกลับทรงตรวจสอบการดำเนินงานตามข้อกำหนดกรุงเทพฯ ของทัณฑสถานหญิงธนบุรีในบอร์ด ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 16 ข้อ จากข้อกำหนดกรุงเทพฯ ทั้งหมด 72 ข้อ
>> อัพเดตข่าวในแวดวงสังคม ก็อซซิป แฟชั่น ความงาม และเที่ยว กิน ดื่ม เพิ่มเติมได้ที่ http://www.celeb-online.net