xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ ‘เดวิด วาเรน’ ผู้ทรงอิทธิพลแห่งวงการประมูลของโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

The Hope เพชรอาถรรพ์ที่ผู้ครอบครองล้วนประสบเคราะห์ภัย

เพชรสีชมพูน้ำงามชวนหลงใหล

รูปหล่อสำริดนักษัตร ซึ่งถูกขโมยไปจากพระราชวังยุคราชวงศ์ชิง
Nude, Green Leaves, and Bust ผลงานของ ปาโบล ปิกัสโซ
แจกันมังกรสลักอักษรพระนามจักรพรรดิหย่งเจิ้ง
 
     ‘The Hope’ เพชรอาถรรพ์ในตำนานที่คร่าทุกชีวิตซึ่งได้ถือครอง , ‘Vivid Pink’ เพชรสีชมพูน้ำงามที่หวานซึ้งชวนหลงใหลยิ่งกว่าเพชรทั้งปวง , รูปหล่อสำริด ศรีษะนักษัตรเลอค่าซึ่งถูกขโมยไปจากพระราชวังฤดูร้อนของจีนในยุคราชวงศ์ชิง , Nude, Green Leaves, and Bust ภาพวาดหญิงสาวอันเป็นที่รัก โดยฝีมือจิตกรเอกของโลก ปาโบล ปิกัสโซ รวมถึงงานศิลปะและศิลปวัตถุอันทรงคุณค่าหลากชิ้นหลายประเภท ทั้งเพชร พลอย อัญมณี จอกหยก ถ้วยแก้วมรกต รถม้าโบราณ หรือแม้กระทั่งปราสาทเก่าแก่ ทั้งหลายทั้งปวงอันพรรณนาได้ไม่หมดสิ้น ล้วนเคยถูกนำมาเปิดประมูล เคาะราคาผ่านสถาบันการประมูลชื่อดังระดับโลกอย่าง ‘สถาบันคริสตี้’ มาแล้วทั้งสิ้น

 
 
     และเนื่องในวาระที่ เดวิด วาเรน ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันคริสตี้ กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษเดินทางมาเยือนไทย ด้วยภารกิจของการรับหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยายให้แก่สถาบันด้านอัญมณีศาสตร์ ในงาน GIA’s Thailand Gemstone Gathering เราจึงถือโอกาสเชื้อเชิญ ให้เขาสละเวลาพูดคุยนอกรอบ เพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวของศิลปวัตถุที่เขาประทับใจและเก็บไว้ในความทรงจำตลอดชีวิตของการเป็น ‘นักประมูล’ ทั้งไม่ลืมที่จะถกถามถึงนิยามความหมายของคำว่า ‘คุณค่า’ ของศิลปวัตถุในแง่มุมที่ไม่อาจมองข้าม

 
 
     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อถูกขอให้บอกเล่าถึงความประทับใจที่มีต่อศิลปวัตถุซึ่งเขาไม่เคยลืมไปจากใจ แววตาของเดวิด ฉายประกายกระตือรือร้นทันที ทั้งหยิบกระดาษ ปากกา มาขีดวาดรูปทรงถ้วยแก้วล้ำค่าใบนั้นให้คู่สนทนาได้ร่วมรับรู้ แม้เราไม่ได้มีโอกาสสัมผัสหรือเห็นภาพถ่ายของถ้วยใบนั้นชัดเจน แต่คำบอกเล่าของเขา ก็ราวกับการร่ายมนต์ให้ภาพเสมือนจริงปรากฏขึ้นในใจผู้ฟัง

 
 
     “ถ้วยใบนั้นเป็นถ้วยมรกต สูงราว 6 นิ้ว น้ำหนัก 1,200 กะรัต ทำด้วยมรกตคุณภาพดีที่สุด ผมจำได้ว่าถ้วยมรกตใบนั้นถูกประมูลไปในปี ค.ศ. 2003 ด้วยราคา 3 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นถ้วยมรกตที่สวยงามล้ำค่า เชื่อกันว่าเป็นของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมกุลของอินเดีย ผู้ที่ชนะการประมูลคือพิพิธภัณฑ์อิสลามแห่งรัฐกาตาร์ โดยภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์แห่งนั้นเป็นผู้ประมูลไป เขาเชื่อมั่นว่านี่คือสิ่งล้ำค่าที่พิพิธภัณฑ์ควรมีไว้ในครอบครอง”
 
     เดวิดบอกว่า ถ้วยมรกตใบนั้น งามแสนงามจนเขาตะลึงเมื่อแรกเห็น ครั้นถูกถามว่า เชื่อได้อย่างไร? ว่าถ้วยที่เขาเทิดทูนว่างามเหลือจะกล่าวนั้นคือทรัพย์สมบัติของจักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมกุลอันเกรียงไกร เดวิดก็ตอบกลับอย่างหนักแน่นว่า การตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้าน โดยเชื่อมโยงบันทึกเอกสารทางประวัติศาสตร์ บันทึกเรื่องราวของยุคสมัยนั้นๆ รายละเอียดของงานแกะสลัก ผสานกับการตรวจสอบทางเคมี ทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดการอนุมานได้ว่าถ้วยมรกตใบนี้น่าจะอยู่ในยุคใด
 
     แต่ใช่ว่าเขาจะให้ความเชื่อถือกับบันทึกทางประวัติศาสตร์หรือการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะสิ่งที่เขาให้ความสำคัญที่สุดก็คือ...
 
     “สิ่งที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์นั้น อาจจะถูกหรือไม่ก็ได้ แต่สิ่งที่จะไม่มีวันหลอกคุณเลยก็คือตัวชิ้นงาน โดยเฉพาะงานที่มีความละเอียด ดังนั้น สิ่งที่ผมให้ความสำคัญที่สุดก็คือตัวชิ้นงาน มากกว่าจะเชื่อทุกอย่างที่บันทึกไว้ในเอกสาร ซึ่งถ้วยมรกตใบที่ผมเอ่ยถึงนี้ เมื่อดูใต้ถ้วย คุณจะมองเห็นลวดทองคำที่ยึดชิ้นส่วนของถ้วยแก้วทั้ง 3 ส่วนเข้าไว้ด้วยกัน ตัวถ้วยมีการลงยาไว้อย่างประณีต มีการแกะสลักที่ประณีตบรรจง ยิ่งไปกว่านั้น ลวดลายที่แกะสลักนั้นก็บ่งบอกให้เรารู้ได้ ว่าเป็นลวดลายแบบที่นิยมในหมู่ช่างอิตาลี ซึ่งในราชสำนักของราชวงศ์โมกุลก็มีบันทึกว่า มีการเชื้อเชิญช่างฝีมือจากทั่วโลกมาไว้ในราชสำนัก และแน่นอน มีช่างแกะสลักชาวอิตาลีอยู่ในราชสำนักด้วย"


 
 
     “ถ้วยใบนี้มีการแกะสลักเป็นรูปเกล็ดปลา ซึ่งเป็นแนวทางของช่างอิตาเลียน แล้วคุณคิดว่าใครล่ะ? จะมีสิทธิ์ครอบครองงานที่ล้ำค่าชิ้นนี้ คนธรรมดาเหรอ? ถ้วยมรกตที่ใช้มรกตไม่ต่ำกว่า 1,500 กะรัต เพื่อแกะสลักและเจียระไนให้ได้แก้วน้ำหนัก 1,200 กะรัตนี่น่ะนะ ดังนั้น ผมจึงย้ำว่า ไม่ใช่แค่เอกสารบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เรายึดถือ แต่สิ่งสำคัญก็คือตัวงานชิ้นนั้นๆ นั่นแหละ ที่จะบอกเราเอง” 
 
     นั่นเป็นเรื่องราวของวัตถุโบราณล้ำค่าที่เขายอมรับว่ายังฝังแน่นในใจไม่เคยลืม แต่หากพูดถึงสิ่งล้ำค่าที่ควรจะได้เห็นก่อนตายล่ะก็ เดวิดยืนยันว่า สำหรับเขา อัญมณีเลอค่าที่ควรยลให้ได้ก่อนหมดลมหายใจนั้น...
    
     "ผมยกให้เครื่องราชกกุธภัณฑ์ของกษัตริย์แห่งอิหร่าน ซึ่งปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ในตู้เซฟของธนาคารแห่งชาติอิหร่าน ในคอลเลกชั่นนี้ ประกอบด้วยเครื่องประดับมากมายซึ่งล้วนแต่เป็นอัญมณีมีค่าทั้งสิ้น เครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่ว่านี้ ถูกขโมยมาจากอินเดียเมื่อปี ค.ศ. 1748 ผมยืนยันว่า เป็นอัญมณีที่งดงามมากและควรจะเห็นให้ได้สักครั้ง ก่อนตาย"  
     
 
     เมื่อเดวิดเอ่ยถึงการ 'ขโมย' เราจึงอดไม่ได้ที่จะถามไถ่ว่า เขามีความเห็นอย่างไร ต่อกรณีที่รัฐบาลจีนประณามการจัดประมูลของคริสตี้ที่กรุงปารีส ในปี ค.ศ.2009 เมื่อในครั้งนั้น คริสตี้จัดประมูลรูปปั้นสำริด ศรีษะนักษัตรของจีนที่ถูกชาติตะวันตกอย่างฝรั่งเศสและอังกฤษปล้นไปจากพระราชวังฤดูร้อนที่สรางขึ้นในยุคราชวงศ์ชิง ซึ่งสำหรับรัฐบาลจีน การประมูลสมบัติของชาติที่ถูกลักขโมยไป ถือเป็นการเหยียบย่ำจิตใจและราวกับถูกสะกิดรอยแผลในอดีตที่โดนรุกรานจากชาติตะวันตก ทว่า ในครั้งนั้น คริสตี้ก็ยังจัดประมูลต่อไปจนแล้วเสร็จ 
 
    
     ทัศนะของเดวิด ต่อกรณีดังกล่าว ก็คือ 
     
    
     "ผมอยากจะย้ำว่า การจัดประมูลของคริสตี้ในแต่ละครั้งนั้น เราจะจัดขึ้นภายใต้กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการประมูลของประเทศนั้นเสมอ เช่น ในประเทศอินเดีย มีกฎหมายระบุว่า ห้ามนำชิ้นงานศิลปวัตถุที่มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี ออกจากประเทศเด็ดขาด ดังนั้น แม้จะมีลูกค้าบอกกับคริสตี้ว่า อยากให้นำวัตถุโบราณที่ตัวเขามีไว้ในครอบครองออกประมูล แต่ถ้าเราตรวจสอบแล้วพบว่า งานชิ้นนั้น มีอายุเก่ากว่า 100 ปี เราก็ต้องปฏิเสธ
 
    
     "ส่วนในกรณีของรัฐบาลจีนในครั้งนั้น ต้องเรียนให้ทราบว่า คริสตี้ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวชิ้นงาน เพราะฉะนั้น ปัญหาอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาระหว่างเจ้าของชิ้นงานกับประเทศที่ร้องเรียน คริสตี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เพราะคริสตี้ เป็นเพียงผู้แทนของเจ้าของชิ้นงาน เป็นเอเย่นต์ในการดำเนินการขายงาน เป็นเพียงตัวแทนในการนำชิ้นงานต่างๆ ออกประมูลเท่านั้น" 
 
  
       ครั้นถามว่า การประมูลงานศิลปะและวัตถุโบราณ ที่ตัวเขาและบริษัทคริสตี้ต่างร่วมกันดำเนินการเป็นเอเย่นต์เปิดประมูลมาตลอดระยะเวลายาวนานนั้น ถือเป็นการกระทำที่ลดทอนคุณค่าของงานศิลปะหรือไม่? ก็ในเมื่อศิลปะและความงามที่แท้จริง ย่อมไม่สามารถตีค่าตีราคาเป็นเม็ดเงินได้
 
 
    เดวิด ตอบคำถามนั้นด้วยการถามกลับ 
 
    
     “แล้วคุณค่าที่แท้จริงของงานศิลปะคืออะไร? ผมว่า บางที ของชิ้นหนึ่ง ถ้ามันอยู่กับตัวเรา เราก็อาจจะไม่รู้ว่ามันมีค่าแค่ไหน ต่อเมื่อคุณเอามันออกไปสู่สายตาคนอื่น นั่นอาจทำให้คุณมองเห็นคุณค่าของมันมากขึ้น แล้วถ้าคุณมองว่าการประมูลเป็นการลดทอนคุณค่างานศิลปะ? แล้วอะไรคือทางเลือกอื่นล่ะ ที่จะบอกให้คุณรู้ถึง ‘คุณค่า’ ของศิลปะนั้นๆ”



 
 
     มูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่สะพัดอยู่ในการประมูลระดับโลกแต่ละครั้ง...จึงน่าจะเป็นตัวชี้วัดได้ดีที่สุดว่ายังมีผู้คนมากมายแค่ไหน ที่พร้อม ‘ทุ่ม’ ไม่อั้น เพื่อให้ได้สิ่งที่มิอาจประมาณค่า ไปไว้ในครอบครอง

 
     เพราะเหตุนั้น จึงไม่แปลกที่เดวิดจะย้ำว่า เขาเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่าการประมูลคือการสืบต่อลมหายใจของเหล่าศิลปวัตถุอันล้ำค่าของโลกให้ยังคงมีลมหายใจ มีชีวิตโลดแล่น...ไม่สูญสลายไปกับกาลเวลา
 
                                            ........
                                    เรื่องโดย : นางสาวยิปซี
                                    ภาพเดวิด วาเรน โดย : วรงค์กรณ์ ดินไทย
 
*หมายเหตุ
ขอขอบคุณ คุณณงลักษณ์ จารุวัฒน์ ผู้รับหน้าที่แปลภาษาในการสัมภาษณ์ครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น