xs
xsm
sm
md
lg

ความเสมอภาคบนความแตกต่างระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย /อ้วน อารีวรรณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

jatung_32@yahoo.com

เป็นเรื่องเป็นราวกันไปสำหรับประเด็น “สิทธิสตรี” กับการถูกคุกคามทางเพศ จนมีเสียงเรียกร้องเรื่อง “สิทธิบุรุษ” มากขึ้น ..

ถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาคะ

เพราะผู้หญิงทุกคนก็ไม่ได้เข้าใจในความหมายของคำว่า “สิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย” หรือ “ความแตกต่างระหว่างเพศ” หรือ “มิติหญิงชาย” หรือ “สิทธิสตรี-สิทธิมนุษยชน” และอ้วนก็มั่นใจว่ามีผู้ชายบางคนที่เข้าใจและตระหนักในความหมายของคำเหล่านี้..อยู่เช่นกัน

ขอกล่าวถึงคำว่า “สิทธิความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย” ก่อนนะคะ

คำนี้ได้บัญญัติขึ้นในกฎหมายสูงสุดของประเทศ คือ รัฐธรรมนูญ เป็นครั้งแรกในพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 แต่ก็อยากบอกว่าเป็นการ “ตีพิมพ์” ขึ้นมาแบบชั่วคราวมากกว่า เพราะไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อ “สิทธิสตรี” เลย อีกทั้งหลังจากนั้นคำๆ นี้ก็ได้หายไป และกลับมาใหม่ในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2517 และหายไปอีกครั้ง แล้วกลับมาใหม่ในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2534 และมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ในรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 จนถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2550

ถามว่า สิทธิความเป็นมนุษย์ที่เสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย สำคัญตรงไหน อย่างไร และจำเป็นแค่ไหน ทำไมต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย ?

ก่อนอื่น เราต้องทราบว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบนิติรัฐ นั่นคือ มีกฎหมายเป็นโครงสร้างที่สำคัญในการกำหนดบทบาทหน้าที่ของรัฐ ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการดูแลสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทย ให้เป็นไปตามหลักกฎหมาย

แต่ความเป็นคน หรือความเป็นมนุษย์ มีมาก่อนกฎหมายจริงไหมคะ ?

เราถึงได้มีคำพูดที่ว่า “คนสร้างระบบ และระบบสร้างคน” หรือ “ชนชั้นใดออกกฎหมาย กฎหมายก็ย่อมเอื้อประโยชน์กับชนชั้นนั้น” ส่งผลให้เกิดแนวคิดที่ว่า

“เมื่อเพศชายเป็นผู้ออกกฎหมาย กฎหมายก็ย่อมเอื้อประโยชน์กับเพศชาย” จริงไหมคะ ?

ที่ผ่านมา ผู้หญิงเองไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างที่ถือว่าเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับผู้ชาย อ้วนไม่ได้บอกว่า ผู้หญิงถูกปฎิบัติอย่างเป็นสัตว์เลี้ยงนะคะ เพียงแต่ผู้หญิงถูกปฏิบัติอย่างเป็นมนุษย์ชนชั้น 2 ในเรื่องสิทธิต่างๆ เช่น กฎหมายลักษณะครอบครัวในเรื่องเหตุหย่า หรือกฎหมายอาญาในเรื่องข่มขืนฯ ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติฯ อย่างหนึ่ง และเพิ่งจะมีการแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ให้ไปเป็นไปตามหลักเกณฑ์ “ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน” ในรัฐธรรมนูญ ไม่ถึงสามปีนี้เอง

คำว่า “เลือกปฏิบัติ” มาจากคำว่า “Discrimination” ซึ่งหมายถึง การแบ่งแยก กีดกัน หรือการจำกัดใดๆ เพราะเหตุแห่งเพศ และการกระทำดังกล่าวมีผล หรือมีความประสงค์ที่จะทำให้สิทธิของผู้หญิง ไม่ว่าจะสมรสหรือไม่สมรส ต้องเสื่อมเสียไป ไม่เสมอภาคกับผู้ชายในเรื่องเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิทธิความเป็นพลเมือง

เมื่อกล่าวถึงขั้นนี้แล้ว ก็ต้องขออนุญาตอธิบายเรื่อง “สิทธิมนุษยชน” สักนิด เนื่องจากได้พาดพิงไว้บ้าง ในตอนที่แล้ว

“สิทธิมนุษยชน” ที่เราต้องทราบคือ สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนยอมรับว่า มนุษย์ทุกคนต่างเป็นเจ้าของชีวิตและร่างกายของตนเอง ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจึงมีสิทธิหรืออำนาจในชีวิตและร่างกายของตน แม้แต่บิดามารดาผู้ให้กำเนิด ยังต้องมีหน้าที่ที่จะต้องเคารพต่อสิทธิในชีวิตร่างกายของบุตรในฐานะเป็นมนุษย์นั้น โดยการไม่ทำร้าย หรือทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตร่างกายของบุตรในฐานะที่เค้าเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ถ้ามีการกระทำดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมาย

ดังนั้น การที่มนุษย์ทุกคนเป็นเจ้าของชีวิตและร่างกายของตนเอง ย่อมส่งผลให้คนอื่นๆ ไม่สามารถทำร้ายหรือทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตร่างกายของเราได้ การที่บุคคลอื่นกระทำต่อชีวิตและร่างกายของอีกคน ในลักษณะที่ส่งผลให้บุคคลที่เป็นเจ้าของชีวิตและร่างกายไม่ต้องการ หรือไม่ยินยอม ย่อมเป็นการคุกคามทางเพศได้ และไม่จำต้องเป็นเฉพาะผู้หญิงกับผู้ชายเท่านั้น การคุกคามทางเพศระหว่างผู้ชายกับผู้ชายหรือระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิงก็สามารถเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ชายที่มายืนจ้องดูผู้ชาย ขณะยืนปัสสาวะในห้องน้ำสาธารณะ ก็ถือว่า เป็นการคุกคามทางเพศได้เช่นกัน

กลับมาที่ ทำไม ? การเกิดเป็นผู้หญิง จึงต้องถูกปฏิบัติในแบบที่เรียกว่า เป็นมนุษย์ชนชั้น 2ถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ลดน้อยลง หรือได้รับการปฏิบัติจากสังคมหรือค่านิยมวัฒนธรรมประเพณี ที่กดทับหรือเพิ่มภาระให้กับการใช้ชีวิตในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง

และฝ่ายผู้ชายเองก็อาจรู้สึกว่า ตนก็ได้รับการปฏิบัติจากสังคมหรือค่านิยมวัฒนธรรมประเพณี ที่กดทับหรือเพิ่มภาระให้กับการใช้ชีวิตของตนเองได้เช่นกัน

ปัญหาคือ ไม่มีเพศใดเพศหนึ่งเข้าใจในข้อเท็จจริงว่า อะไรคือคุณค่าที่ควรกระทำ หรืออะไรคือความถูกต้องดีงามที่ควรจะเป็น ภายใต้สถานการณ์ที่สับสนวุ่นวาย ถือได้ว่าเป็นช่วงผันแปร หรือเปลี่ยนผ่าน หรือผสมผสานระหว่างค่านิยมวัฒนธรรมประเพณีของไทย กับค่านิยมวัฒนธรรมที่เป็นแนวคิดทางโลกตะวันตก

แต่ความจริง ทุกสิ่งอย่างขึ้นอยู่กับการที่ชีวิตของแต่ละคน ได้ถูกหล่อหลอมมาจากหลายสิ่งหลายอย่าง ที่มีทั้งความแตกต่างและคล้ายคลึงกัน โดยมีจุดเริ่มต้นที่ครอบครัว เพราะมนุษย์แต่ละคนย่อมถูกหล่อหลอมความเป็นคน ความเป็นเพศ แม้กระทั่งภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกัน ก็ในช่วงเวลาที่เริ่มรู้ความกันทั้งนั้น

คงไม่มีใคร เกิดมาวันเดียว

รู้แล้ว ฉันเป็นใคร... หรือรู้แล้ว ฉันเป็นผู้ชาย… หรือฉันเป็นผู้หญิง

ครอบครัวต่างหาก ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างเพศ และเชื่อมโยงมาที่โรงเรียนเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล ประถม มัธยม ตามลำดับ

ลองถามตัวเองสิคะ ใครเป็นคนจับคุณใส่กางเกง ใครเป็นคนจับคุณนุ่งกระโปรง ใครเป็นคนบอกให้เราต้องพูด “ครับ” และใครเป็นคนบอกให้เราต้องพูด “ค่ะ”

เรามาเริ่มต้นเรียนรู้ “ความแตกต่างระหว่างเพศ” และการปฏิบัติตัวต่อคนเพศเดียวกันและคนต่างเพศกัน ในช่วงเวลาเหล่านั้นใช่ไหมค่ะ

พอเราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เราก็เริ่มเรียนรู้จากสิ่งที่เราประสบพบเห็น ประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ตามวัย จากเพื่อน จากสถานการศึกษา จากสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมทั้งสื่อต่างๆ ที่มีอิทธิพลกับชีวิตในช่วงเวลานั้นๆ เมื่อเราพบเห็นอะไรบ่อยๆ ได้กระทำซ้ำๆ จนเกิดความเคยชิน กลายเป็นการยอมรับ มีการเปลี่ยนแปลงที่กลายเป็นค่านิยมใหม่ๆ ขึ้นในชุมชน ในสังคม

คำว่า “มิติหญิงชาย” มีความสำคัญที่ต้องกล่าวถึง เพราะความแตกต่างกันที่กลายสภาพเป็นความแตกต่างเชิงโครงสร้างทางสังคม ทำให้ผู้ชายสามารถใช้อำนาจเหนือกว่าผู้หญิง และเข้าควบคุมจัดการต่อสิ่งต่างๆ ที่มีความสำคัญในอำนาจ หน้าที่การงาน ทรัพย์สินเงินทอง และอื่นๆ ได้มากกว่าผู้หญิง จนเกิดปัญหาความไม่เสมอภาคทางเพศขึ้น

และเกิดการแบ่งแยกงานกันทำตามเพศระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น ผู้หญิงควรรับผิดชอบต่องานบ้านและการดูแลลูกเท่านั้น และในงานอาชีพบางอย่างมีความเหมาะสมกับผู้หญิง เช่น งานบริการ งานเลขานุการ เป็นต้น ส่วนตำแหน่งงานในระดับบริหารที่มีความสำคัญต่อองค์กร ไม่เหมาะสมกับผู้หญิงเท่ากับผู้ชาย ทั้งๆ ที่ ในแง่ความเป็นมนุษย์ที่มีมันสมอง มีความรู้ มีความคิด และมีความฉลาด ของผู้หญิงก็มีไม่แตกต่างจากผู้ชายสักเท่าไร

โดยส่วนใหญ่ผู้หญิงจะแตกต่างจากผู้ชาย ในแง่ความแข็งแรงทางกายภาพ หรือสรีระ นอกจากนี้ เรายังพบว่าผู้หญิงกับผู้ชาย มีความแตกต่างกันในแง่ของ “วิธีคิด” เพราะโดยส่วนใหญ่ผู้ชายมักถนัด เรื่องมิติสัมพันธ์ เช่น การอ่านแผนที่ พูดง่ายๆ คือ ผู้ชายถนัดคิดจินตนาการเป็นภาพ โดยที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ เป็นเพศที่มีอารมณ์และความรู้สึกอ่อนไหว และถนัดเรื่องของภาษา การใช้คำพูด

ต้องบอกก่อนนะคะ ที่กล่าวเป็นเพียงส่วนใหญ่ ไม่ใช่ทั้งหมดของแต่ละเพศ ดังนั้นอาจมีผู้ชายบางคนที่ถนัดการใช้ภาษาก็ได้ แต่ขอให้รู้ว่า ถ้าคุณเป็นผู้ชายแบบนั้น คุณก็มีความถนัดเช่นเดียวกับผู้หญิงส่วนใหญ่ และในทางกลับกัน ก็ย่อมมีผู้หญิงที่ถนัดในแบบที่ผู้ชายส่วนใหญ่ถนัดได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้น “ความเสมอภาคบนความแตกต่างระหว่างหญิงชาย” คือ การที่เราต้องยอมรับความจริง ในแง่ที่มีความแตกต่างระหว่างเพศที่เป็นธรรมชาติ อันเกิดจากสภาพทางกายวิภาค บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์เหมือนกัน เราย่อมมีความต้องการในสิทธิขั้นพื้นฐานเหมือนกัน และเราย่อมต้องการความรัก และการถูกยอมรับเช่นเดียวกันด้วย

แต่การที่คุณผู้ชายสามารถยอมรับกับสภาพความเป็นจริงที่ผู้ชายหลอกลวง มีกิ๊ก คบผู้หญิงหลายคนได้ แต่เกิดความไม่พึงพอใจในผู้หญิงสมัยนี้ ที่ทำตัววิ่งเข้าหาผู้ชายก่อน หลอกลวง มีกิ๊ก คบผู้ชายหลายคน ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า คุณยอมรับใน “สิทธิของผู้ชาย” ในแบบที่คุณพึงพอใจเท่านั้น

อ้วนไม่ได้ต้องการให้เกิดสถานการณ์ของการแข่งขันกันทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมกันอย่างไร้สาระ หรือทำลายความเป็นสังคมที่ควรต้องการความดีงามที่เท่าเทียมกัน ทั้งที่เราสามารถยึดถือหลักการ “ใจเขา ใจเรา” กันได้

เราจึงควรสร้างสรรค์สังคมที่ให้ความสำคัญกับ “หลักความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์” เคารพในความแตกต่างระหว่างเพศ คำนึงถึง “สิทธิสตรี” และ “สิทธิบุรุษ” บนพื้นฐานของ “สิทธิมนุษยชน” ยอมรับและช่วยเหลือคนที่อ่อนแอ, อ่อนด้อยกว่าเรา ให้เขาได้รับสิทธิที่ควรจะพึงมีพึงเป็น เพื่อทำให้สังคมเกิดดุลยภาพที่สมบูรณ์งดงาม เกิดเป็นความสมดุลระหว่างความอ่อนโยนกับความเข้มแข็ง แล้วโลกนี้จะได้น่าอยู่ยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น