xs
xsm
sm
md
lg

Review : Jawbone Up 3 อีกระดับของไลฟ์สไตล์แทร็กเกอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online




หนึ่งในตลาดที่ดูแล้วมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในกลุ่มผลิตภัณฑ์ไอทีคงหนีไม่พ้น Wearable Device โดยเฉพาะในส่วนของอุปกรณ์ที่เป็น Lifestyle Tracker เนื่องจากผู้บริโภครุ่นใหม่ หันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น

Jawbone ในฐานะผู้นำในตลาดนี้ ก็มีการออกรุ่นใหม่ออกมาเพื่อดึงดูดให้ตลาดมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะรุ่นล่าสุดที่เป็น Up3 ที่มีการใส่เซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มเข้ามา เพียงแต่ไม่ได้ใช้หลักการแบบสแกน แต่ใช้การวัดจากคลื่นไฟฟ้าที่ส่งผ่านเซ็นเซอร์เพื่อตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจแทน

การออกแบบและสเปก



Jawbone Up 3 (สีดำ) รวมไปถึง Up 2 (สีเทา) ด้วยถูกออกแบบมาให้เหมาะกับการใส่ติดตัวตลอดเวลามากยิ่งขึ้น ด้วยการที่ทำให้เล็กลงถึง 45% และเบาลงจากรุ่น Up 24 ขณะเดียวกันก็มีการทำลวดลายให้เหมือนเป็นเครื่องประดับชิ้นหนึ่ง มากกว่าสายรัดข้อมือทั่วๆไป



โดย Up 3 จะมีให้เลือกด้วยกัน 2 สีในช่วงแรกคือ ดำ และ เงิน มีให้เลือกขนาดเดียวคือรอบวงประมาณ 140 - 190 มิลลิเมตร ขนาดรอบตัวอยู่ที่ 220 x 12.2 x 3-9.3 มิลลิเมตร น้ำหนัก 29 กรัม วัสดุที่ใช้จะเป็นยาง TPU และ อะลูมิเนียมอะโนไดซ์ ที่มีส่วนผสมของนิกเกิลไม่เกิน 0.5%



ภายในของ Up 3 จะมีแผงวงจรการเชื่อมต่อผ่านบลูทูธ 4.0 และชิ้นส่วนที่เป็นเซ็นเซอร์รับการเคลื่อนไหวแบบ 3 ทิศทาง ตัวเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นของหัวใจ การนำคลื่นไฟฟ้าจากผิวหนังมาวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อหาอุณหภูมิผิวหนัง อุณภหภูมิาภายนอก



นอกจากนี้ ก็จะมีไฟแอลอีดีแสดงสถานะ มีทั้งสีฟ้า ในการเข้าสู่โหมดนอน สีส้ม สำหรับเวลาที่มีการเคลื่อนไหว และสีขาว สำหรับการแจ้งเตือนต่างๆ ทั้งนี้ที่ตัว Up 3 สามารถกดสลับได้ระหว่างการนอน และเคลื่อนไหวเท่านั้น ที่เหลือต้องตั้งค่าผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน



สำหรับแบตเตอรีที่ใส่มาภายในจะเป็น Lithium-Ion Polymer 38 mAh สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องราว 7 วัน ต่อการชาร์จแบตจนเต็มผ่านสายชาร์จแม่เหล็ก ในระยะเวลาประมาณ 60 นาที (แนะนำให้ชาร์จครั้งแรก 100 นาที)

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ



จุดที่น่าสนใจและเพิ่มขึ้นมาใน Up 3 จริงๆคือเรื่องของเซ็นเซอร์ที่จะตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจ ออกซิเจน และข้อมูลชีวภาพต่างๆที่สามารถวิเคราะห์ได้จากทั้งผิวหนัง และการไหลเวียนของกระแสโลหิตใน บริเวณข้อมือที่สวมใส่อยู่

โดยทาง Up 3 พยายามนำเสนอการตรวจจับ rHR (Rest Heart Rate) หรืออัตราการเต้นของหัวใจในขณะที่ร่างกายพักผ่อน จนถึงจังหวะที่ตื่นนอน เพราะจะถือเป็นค่าที่ควรรู้ที่สุด ในการรักษาสภาพร่างกายให้สมบูรณ์ และมีสุขภาพแข็งแรง



แน่นอนว่า ด้วยการที่ตัว Up 3 ไม่มีจอที่สามารถแสดงผลรายละเอียดอะไรได้ นอกจากโหมดที่จับการเคลื่อนไหวอยู่ ดังนั้นในการใช้งานจึงจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนผ่านแอปพลิเคชัน Up รุ่นใหม่ ที่เป็นไอค่อนสีม่วง (รุ่นที่ใช้กับ Up 24 และ Up move จะเป็นสีฟ้า)



สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาสำหรับ Up 3 ก็คือส่วนแสดงสถานะของ rHR ที่จะเพิ่มขึ้นมาที่บริเวณมุมขวาบน รวมถึงหน้าแสดงผลการนอนของผู้ใช้ ที่จะมีกราฟแสดงว่าในช่วงเวลาใด อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่เท่าใด ในขณะที่รุ่นอื่นๆอย่าง Up 2 ที่เป็นรุ่นรองลงมาจะไม่มีแถบนี้



ทีนี้ ถ้ามาดูรายละเอียดการนอนในแต่ละวันในแอปพลิเคชัน จะมีระบุให้ดูทั้งกราฟว่าช่วงใดนอนหลับแบบใดบ้าง ระยะเวลานอนทั้งหมด คิดเป็นกี่เปอเซนต์ของเป้าหมายที่วางไว้ ถัดลงมาก็จะย่อยรายละเอียดว่านอนแบบใดกี่นาที ตื่นกี่ครั้ง เป็นเวลากี่นาที ใช้เวลาก่อนหลับกี่นาที

เช่นเดียวกับแถบการวัด REM Sleep หรือช่วงเวลาที่หลับฝัน สมองมีการจัดเรื่องความคิด เมื่อนอนแล้วอยู่ในช่วงนี้เยอะจะทำให้สมองมีความปลอดโปร่ง มีความคิดสร้างสรรเพิ่มมากยิ่งขึ้น จากปกติที่จะมีแถบวัดบอกแค่ Light Sleep กับ Deep Sleep ที่เป็นนอนหลับปกติ และหลับลึกเท่านั้น

นอกจากนั้นก็จะมีกราฟอัตราการเต้นของหัวใจอย่างที่บอก และกราฟแท่งเทียบระยะเวลานอนย้อนหลัง 7 วัน กับ rHR ในแต่ละวันบอก อย่างไรก็ตามถ้าลืมเริ่มกดบันทึกผู้ใช้สามารถกดย้อนหลังได้จากปุ่มรูปพระจันทร์เสี้ยวที่มุมขวาบน เพื่อเลือกช่วงเวลาได้ทันที



เมื่อมาดูในส่วนของ Activity หรือในช่วงเวลากลางวัน ก็จะมีระบุให้ดูว่าช่วงไหนมีการขยับร่างกาย (เดิน) เป็นกราฟให้ดูในแต่ละช่วงเวลา และจะมีการคำนวนระยะที่เดินทั้งหมดต่อวัน จำนวนก้าว คิดเป็นกี่เปอเซนต์ของเป้าหมายที่ตั้งไว้

โดยจะมีการระบุรายละเอียดย่อยลงไปอย่าง เวลาที่มีการเคลื่อนไหวทั้งหมด (Active Time) กี่นาที เผาผลานแคลอรีไปเท่าใด แบ่งเป็นจากระบบเผาผลานของร่างกายตามปกติ และจากที่ออกกำลังเท่าใดบ้าง รวมถึงระยะเวลาเคลื่อนไหวติดต่อกันนานที่สุด ระยะเวลานั่งอยู่กับที่ และเช่นเดียวกันคือสามารถดูเป็นกราฟย้อนหลัง 7 วันได้

ในกรณีที่ใช้งานคนเดียวแล้วอาจจะไม่เกิดการกระตุ้นให้เดิน Jawbone ก็มีการสร้างคอมมูนิตีขึ้นมาสำหรับผู้ที่ใช้งาน Up ด้วยกัน ด้วยการเพิ่มเป็นเพื่อน หลังจากนั้นสามารถท้าทาย (Challange) เพื่อให้ทำภารกิจได้อย่าง นับระยะเดินรวมกัน 3 วัน ใครเดินมากกว่าชนะ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวมากยิ่งขึ้น



ที่พิเศษในส่วนของ Activity ก็คือผู้ใช้สามารถเพิ่มระยะเวลาการออกกำลังกายเข้าไปได้ ทั้งกดเลือกเป็นนาฬิกาจับเวลา (Stop Watch) หรือออกกำลังไปแล้วมากดบันทึกย้อนหลัง ซึ่งจะมีประเภทกีฬาให้เลือกอย่างการเดิน ยกเวท วิ่ง วิดพื้น คาดิโอ ขี่จักรยาน และอื่นๆเป็นต้น พร้อมกับเลือกระดับของการออกกำลังกาย เพื่อนำมาคำนวนแคลอรี่ที่ใช้ไป และสามารถเลือกดูการขยับร่างกายเฉพาะช่วงเวลาดังกล่าวได้ด้วย



จุดเด่นที่สำคัญที่สุดของ Jawbone Up เลยคือระบบ Smart Coach ที่จะคอยให้คำแนะนำทั้งในแง่ของการออกกำลัง คอยเตือนให้มีการออกกำลังอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการกระตุ้นให้นอนในช่วงเวลาที่เหมาะสม ด้วยการท้าทายผู้ใช้ว่าจะสามารถทำได้หรือไม่

รวมไปถึงกรณีที่ ในช่วงวันใดที่มีการเดินน้อยผิดปกติ หรือนอนน้อย นอนแล้ว rHR สูง ก็จะมีคำแนะนำออกมาอย่างให้นอนเร็วขึ้น นอนในห้องที่มืดสนิทไม่มีเสียงรบกวน ซึ่งถ้าผู้ใช้มีการบันทึกข้อมูลของอาหารที่ทานเข้าไประบบก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์แก่ผู้ใช้เพิ่มเติมด้วย

โดยวิธีการบันทึกข้อมูลอาหาร จะใส่ได้จากการกดเครื่องหมาย + ที่มุมขวาล่างในหน้าหลักของแอป หลังจากนั้นเลือกเพิ่มอาหาร และเข้าไปเลือกประเภทอาหารด้วยการค้นหาจากลิสต์เดิม หรือถ้ารู้ปริมาณแคลอรี่ที่รับประทานเข้าไปก็สามารถกรอกใส่เองได้ เพียงแต่ในจุดนี้จะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด

นอกเหนือจากใส่ข้อมูลอาหารแล้ว ผู้ใช้ยังสามารถเลือกใส่อารมณ์ในแต่ละวัน หรือน้ำหนัก ในกรณีที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นเพิ่มหรือลดน้ำหนักก็สามารถเลือกตั้งค่าไว้ได้



อย่างไรก็ตามในการใช้งานครั้งแรก ผู้ใช้ควรเข้าไปตั้งค่าในส่วนของเป้าหมายทั้งการเดิน ระยะเวลานอนหลับ รวมไปถึงถ้าต้องการลดน้ำหนักก็สามารถใส่น้ำหน้าที่ต้องการลดลงไปได้ และควรใส่รายละเอียดทั้งอาหาร น้ำหนักในแต่ละวันให้ครบ

นอกจากนี้ ถ้าเป็นผู้ที่ใช้สมาร์ทโฟนในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว และมีการเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันออกกำลังกายอื่นๆ ก็สามารถกดเข้าไปเพื่อซิงค์ข้อมูลมาเพื่อให้ Up สามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลผลเพิ่มเติมได้ด้วย






สิ่งเหล่านี้คือฟีเจอร์เกี่ยวกับการแทร็กไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตในแต่ละวันของผู้ใช้งาน แต่ Up 3 ยังมีโหมดพิเศษอย่างการปลุก ที่จะเลือกปลุกในช่วงที่เป็น Light Sleep โดยสามารถกำหนดช่วงเวลาล่วงหน้าก่อนได้ นอกจากนี้ก็ยังมีตั้งแจ้งเตือนให้เคลื่อนไหวเมื่อนิ่งเกินกี่นาที ตั้งให้มีการแจ้งเตือนให้นอน ทานยา ทานข้าว ออกกำลัง หรืออื่นๆ เหมือนเป็นนาฬิกาปลุกติดข้อมือก็ได้เช่นเดียวกัน



ทั้งนี้ จุดที่น่าเสียดายของ Up 3 เลยคือไม่ได้มีการซิงค์ข้อมูลการแจ้งเตือนจากสมาร์ทโฟนไปยังข้อมือ เนื่องจากตัว Up 3 ไม่มีจอ ทำให้ทำได้เพียงแค่สั่นแจ้งเตือนเท่านั้น แต่ถ้าในอนาคตสามารถเลือกตั้งให้ Up 3 สั่นเวลามีสายเข้า หรือการแจ้งเตือนอื่นๆเพิ่มเข้ามา ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้มากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน

จุดขาย

- การตามติดชีวิตประจำวัน และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อแนะเป็นแนวทางให้แก่ผู้ใช้
- ระบบปลุกในช่วง Light Sleep ให้สดชื่นเวลาตื่นนอน
- การวัด rHR และ REM Sleep ที่แตกต่างจากรายอื่น

ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่

- สายมีให้เลือกเพียง 2 สี และไม่สามารถถอดเปลี่ยนเฉพาะสายได้
- ไม่สามารถใส่ว่ายน้ำได้จากแรกดันน้ำ แต่กันละอองน้ำ ใส่อาบน้ำได้
- ราคาค่อนข้างสูง Up 3 ราคาจำหน่ายอยู่ที่ 7,990 บาท

ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป

ถ้ามองไปในกลุ่มอุปกรณ์ที่เป็นไลฟ์แทร็กเกอร์ หรืออุปกรณ์วัดก้าวเดิน การนอน เชื่อว่าชื่อของ Jawbone น่าจะเป็น 1 ในอันดับแรกๆของผู้ที่ใช้งานอยู่แล้ว การมาของ Up 3 ที่เพิ่มความสามารถในการวัด rHR และ REM Sleep ก็ยิ่งช่วยเพิ่มความโดดเด่นให้แก่ผลิตภัณฑ์ขึ้นไปอีก

หรือถ้าไม่ได้ต้องการอุปกรณ์ที่ติดตามละเอียดขนาดนั้น Jawbone ก็มีตัวเลือกอย่าง Up 2 ให้เลือกในระดับราคาที่ต่ำลงมา และได้ความสามารถของแอปพลิเคชันที่ใกล้ไม่แตกต่างกัน ในเรื่องของ Smart Coach

Company Related Links :
Jawbone
Up2 และ Up 3
————————————————————————————
อีกหนึ่งช่องทางติดตามไซเบอร์บิซ ออนไลน์ ผ่านทางแอปพลิเคชัน LINE คลิกเพิ่มเพื่อนที่ปุ่ม Add Friends ด้านล่างจากสมาร์ทโฟนหรือเข้าไลน์ค้นหาไอดี @opu3945f

เพิ่มเพื่อน
————————————————————————————








กำลังโหลดความคิดเห็น