ในยุคของ IoT (Internet of Things) เมื่ออุปกรณ์ทุกอย่างสามารถเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตได้แล้ว คอมพิวเตอร์เองก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีขนาดใหญ่อีกต่อไป เพราะด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน เมื่อหน่วยประมวลผลมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ขนาดเล็กลง กินไฟน้อยลง ก็ทำให้ผู้ผลิตสามารถผลิตพีซีขนาดจิ๋วออกมาได้
อินเทล ในฐานะของผู้ผลิตซีพียู ก็เล็งเห็นถึงโอกาสดังกล่าวในการทำ Intel Compute Stick หรือคอมพ์จิ๋วออกมา เพื่อเป็นต้นแบบให้ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์รายอื่นได้เห็น และร่วมกันผลิตออกมาจำหน่ายในท้องตลาด เหมือนเช่นตอนที่อินเทลทำ Intel NUC (Next Unit of Computing) ออกมา และผู้ผลิตรายอื่นก็เริ่มทำตาม
จุดเด่นหลักของ Intel Compute Stick ก็คือเป็นอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อกับจอภาพ หรือโทรทัศน์ ที่มีพอร์ต HDMI และแสดงผลออกมาเป็น Windows 8.1 with Bing ให้ใช้งานได้ทันที โดยสามารถต่อพ่วงกับไฟจากตัวจอ และเชื่อมเมาส์ คีย์บอร์ด เพื่อใช้งานได้ทันที
การออกแบบและสเปก
ด้วยการที่อินเทลต้องการออกแบบให้ตัว Intel Stick มีขนาดเล็ก เหมาะกับการนำไปต่อกับจอโทรทัศน์ หรือ จอภาพต่างๆได้ทุกที่ ทุกเวลา ทำให้การออกแบบออกมามีลักษณะเหมือนแฮนดี้ไดร์ฟ หรือแอร์การ์ดทั่วๆไป ทำให้มีขนาดอยู่ที่ 103.4 x 37.6 x 12.5 มิลลิเมตร
โดยที่ตัวของ Compute Stick จะใช้สีดำเป็นพื้น มีโลโก้ Intel แปะอยู่กึ่งกลาง โดยมีพอร์ตหลักเป็น HDMI 1.4a ไว้ต่อกับจอภาพ หรือ โทรทัศน์ ถัดมาก็จะมีช่องเสียบยูเอสบี 1 พอร์ต และช่องใส่ไมโครเอสดีการ์ด
แน่นอนว่าในการใช้งานจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับพลังงานไฟฟ้า ด้วยการที่อินเทลใส่พอร์ตไมโครยูเอสบีมาให้ ทำให้สามารถนำสายยูเอสบีมาเชื่อมต่อได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นการนำไฟจากจอ หรือจากอแดปเตอร์ก็ได้เช่นเดียวกัน
ในการใช้งานกรณีที่เชื่อมต่อกับโทรทัศน์ เมื่อเปิดโทรทัศน์ตัว Compute Stick ก็จะติดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เพราะมีไฟเข้า แต่ถ้าไม่ติดก็สามารถกดปุ่มเปิดเครื่องได้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ ในกล่องยังมีอุปกรณ์ที่แถมมาให้ กรณีที่หลังทีวีไม่มีพื้นที่เพียงพอก็สามารถต่อกับสายเชื่อม HDMI ได้ เช่นเดียวกับอะแดปเตอร์ชาร์จที่แถมมา ถ้าตัวจอภาพไม่มีพอร์ตยูเอสบีให้เชื่อมต่อ
สำหรับระบบปฏิบัติการที่ติดตั้งมาให้ใน Compute Stick คือ Windows 8.1 with Bing 32 bit โดยมีสเปกภายในเป็น Intel Atom Z3735F QuadCore 1.3 GHz RAM DDR3 2 GB ROM 32 GB รองรับการเชื่อมต่อผ่านไวไฟ 802.11 b/g/n และบลูทูธ 4.0
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
ด้วยคอนเซปต์ของอินเทล ที่ออก Compute Stick มาเป็นอุปกรณ์เพื่อเชื่อมต่อกับจอภาพให้กลายเป็นจอแสดงผลคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่ง โดยไม่จำกัดว่าการใช้งานต้องใช้แค่ภายในบ้าน แต่ยังสามารถนำไปใช้กับภายนอก รวมถึงไปองค์กรได้ด้วย
โดยคอนเซปต์หลักที่อินเทลวางไว้ก็คือ การนำ Compute Stick ไปเชื่อมต่อกับจอโทรทัศน์ขนาดใหญ่เพื่อใช้ภายในบ้านให้กลายเป็นโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ ถัดมาก็คือการนำไปใช้กับจอแสดงผลภายนอก อย่างจอโฆษณา หรือบิลบอร์ดต่างๆ
รวมไปถึงการนำมาใช้ในองค์กร ให้กลายเป็น Thin Client เพราะตัว Compute Stick สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเพื่อนำมาใช้ในการทำงานที่ไม่ได้ต้องการคอมพิวเตอร์สเปกสูงมากนัก ซึ่งถ้ามองโดยรวมก็จะช่วยประหยัดทั้งในแง่ของพื้นที่ และพลังงาน
เบื้องต้น Inte; Compute Stick จะมีให้เลือกด้วยกัน 2 ระบบปฏิบัติการคือ วินโดวส์ 8.1 ที่มาพร้อมบิงก์ (Windows 8.1 with Bing) และระบบลินุกซ์อย่าง อูบุนตู (Ubintu) เพียงแต่ที่นำมาจำหน่ายตามช่องทางต่างๆจะเป็นรุ่นของวินโดวส์เป็นหลัก เพราะถือว่าใช้งานได้ง่าย
โดยถ้ามองถึงการใช้งานแล้ว Windows 8.1 with Bing จะแตกต่างกับ 8.1 ปกติ ตรงที่ ค่าตั้งต้นของเสิร์ชเอนจิ้นใน Internet Explorer จะเป็น Bing (แน่นอนว่าสามารถเปลี่ยนได้ทีหลัง) กับอีกส่วนหนึ่งคือเป็นวินโดวส์ เวอร์ชัน 32 บิต เพราะถือว่าเป็นวินโดวส์ที่ผู้ผลิตสามารถนำไปใช้ได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านไลเซนต์ จึงจำกัดให้ใช้กับเครื่องที่สเปกไม่สูงมากนักเป็นหลัก
อีกฟีเจอร์หนึ่งที่อินเทลมีการติดตั้งมาให้ได้ใช้งานกันเลยก็คือ Intel HD Graphics Control Panel ที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปตั้งค่าการแสดงผลต่างๆได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอ การแสดงผล 3มิติ ปรับแต่งค่าต่างๆ วิดีโอ พลังงาน และตั้งโปรไฟล์ได้
แน่นอนว่าเมื่อทำการเชื่อมต่อกับจอภาพ ก็จะสามารถเลือกความละเอียด (ตามสเปกหน้าจอ) สามารถตั้งหมุนหน้าจอได้ กรณีนำไปใช้กับการแสดงผลจอภาพในแนวตั้ง ปรับสเกลภาพให้ได้ขนาดตามต้องการ รวมไปถึงการเข้าไปตั้งค่าสีอื่นๆได้
ขณะที่ในแง่ของการใช้งาน Intel Compute Stick จะเหมาะกับการใช้งานทั่วๆไป อย่างเล่นอินเทอร์เน็ต ดูหนังได้ถึงความละเอียด 1080p ฟังเพลง หรือใช้งานพวก Microsoft Office แต่ไม่เหมาะนำไปใช้กับการทำภาพความละเอียดสูง ตัดต่อวิดีโอ หรือแม้กระทั่งเล่นเกมที่สเปกสูงๆ เพราะด้วยประสิทธิภาพของตัวเครื่อง ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับการใช้งานแบบนั้น
ทั้งนี้เมื่อทำการทดสอบด้วยโปรแกรมทดสอบ PCmark8 Home Conventional ได้ 1,120 คะแนน Creative Conventional ได้ 880 คะแนน Work Conventional 1,502 คะแนน ส่วนคะแนน Storage ไม่สามารถวัดผลได้ เพราะที่ใส่มาเป็น SSD 32 GB เท่านั้น
ส่วน 3Dmark Fire Strike ไม่สามารถวัดคะแนนได้ Sky Driver 358 คะแนน Cloud Gate 892 คะแนน Ice Storm 9,645 คะแนน จะเห็นได้ว่า การทำงานด้านกราฟิกจะค่อนข้างถูกจำกัดให้ใช้งานได้แบบทั่วๆไปเท่านั้น
สุดท้ายการทดสอบด้วยโปรแกรมอย่าง Geekbench ได้คะแนน SIngle-Core 773 คะแนน ส่วน Multi-Core ได้ 2,195 คะแนน
จุดขาย
- คอมพ์ขนาดจิ๋ว สามารถนำติดตัวไปใช้งานได้ทุกที่
- สามารถต่อกับจอโทรทัศน์ เพื่อเปิดดูหนัง ฟังเพลง เล่นเน็ตได้ทันที
- กรณีที่จอโทรทัศน์มีพอร์ต USB สามารถใช้ไฟจากช่องดังกล่าวเพื่อเปิดใช้งานได้ทันที
ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่
- ประสิทธิภาพไม่สูงมากนัก จึงเหมาะกับใช้งานทั่วๆไป
- พอร์ตยูเอสบีที่ให้มา 1 พอร์ต ไม่เพียงพอกับการใช้งาน จำเป็นต้องต่อกับ USB Hub
- กรณีต่อกับ Externa Harddiskl ควรต่อกับพอร์ตที่มีไฟเลี้ยงเฉพาะ ไม่งั้นไฟอาจไม่พอ และทำให้เสียได้
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป
ก่อนอื่นต้องมองว่า Intel Compute Stick ถือเป็นอุปกรณ์เสริมที่จะมาเปลี่ยนจอโทรทัศน์ให้กลายเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งแทนที่จะมองว่า เป็นพีซีประสิทธิภาพสูง เพราะด้วยสเปกของตัวเครื่องที่ให้มา ที่ต้องการเน้นประหยัดพลังงานด้วย ทำให้มีข้อจำกัดในการใช้งานค่อนข้างเยอะ
ดังนั้นในการใช้งานนอกจากต้องมีจอโทรทัศน์แล้ว ยังต้องมองหา USB HUB ไว้สำหรับต่อเมาส์ คีย์บอร์ด รวมไปถึงช่องเสียบแฮนดี้ไดร์ฟ หรือฮาร์ดดิสก์พกพาด้วย เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หรือจะไปเลือกใช้งานคู่กับคีย์บอร์ดและเมาส์ไร้สายผ่านบลูทูธแทนก็ได้
ในแง่ของการเชื่อมต่อ ด้วยการที่เครื่องมีการใส่ตัวรับสัญญาณไวเลสมาให้อยู่แล้ว ถือว่าพร้อมให้ใช้งาน ถ้ามองง่ายๆ ต่อกับจอโทรทัศน์เปิดดูซีรีส์ผ่านอินเทอร์เน็ต เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์กนิดหน่อย ก็ถือว่าเหมาะกับการซื้อไปติดตั้งใช้งานก็จะเหมาะกับผู้บริโภคทั่วไป
Company Related Links :
Intel
————————————————————————————
อีกหนึ่งช่องทางติดตามไซเบอร์บิซ ออนไลน์ ผ่านทางแอปพลิเคชัน LINE คลิกเพิ่มเพื่อนที่ปุ่ม Add Friends ด้านล่างจากสมาร์ทโฟนหรือเข้าไลน์ค้นหาไอดี @opu3945f
————————————————————————————