xs
xsm
sm
md
lg

Review : WD My Cloud คลาวด์สตอเรจส่วนตัวทุกที่ทุกเวลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักบริการคลาวด์สตอเรจยอดฮิตอย่าง Dropbox, Box หรือ Google Drive ที่มีหลักการทำงานคือเป็นบริการรับฝากไฟล์ข้อมูลเก็บไว้ในพื้นที่ส่วนตัวบนเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการ (คลาวด์สตอเรจ) ที่ผู้ใช้สมัครสมาชิกไว้และเราสามารถดาวน์โหลดไฟล์เหล่านั้นออกไปยังอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์และคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นได้ทุกที่ทั่วโลกเพียงแค่มีอินเตอร์เน็ต

โดย WD (Western Digital) My Cloud ก็มีหลักการทำงานที่คล้ายกัน แต่มีสิ่งที่แตกต่างกันคือ My Cloud เป็นคลาวด์สตอเรจส่วนตัวที่มีฮาร์ดดิสก์บรรจุอยู่ภายในพร้อมความสามารถในการทำเป็นฮาร์ดดิสก์ส่วนกลางผ่านระบบเครือข่ายในวงแลนเดียวกัน และเป็นคลาวด์สตอเรจผ่านอินเตอร์เน็ตใช้ได้ทุกที่ทั่วโลก มีขนาดความจุให้เลือกตั้งแต่ 2-4TB และไม่ต้องเสียค่าเช่าคลาวด์สตอเรจรายเดือน/ปีเหมือนผู้ให้บริการผ่านระบบออนไลน์ด้วย

สำหรับ WD My Cloud รุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบจะเป็นรุ่นน้องเล็กสุด จากทั้งหมด 4 รุ่น ไล่ลำดับตามการใช้งาน (ใช้คนเดียวถึงระดับอังค์กรแบบใส่ฮาร์ดดิสก์เพิ่มได้เอง) เริ่มจากรุ่นที่ทดสอบครั้งนี้ My Cloud (มาในคราบฮาร์ดดิสก์พกพาขนาดใหญ่) ราคาประหยัด เพิ่มความจุฮาร์ดดิสก์ไม่ได้, My Cloud Mirror, My Cloud EX2 และ My Cloud EX4

การออกแบบและสเปก



ด้านการออกแบบและรูปทรงเครื่องจะคล้ายฮาร์ดดิสก์พกพาตระกูล My Book (รูปทรงได้แรงบันดาลใจจากหนังสือ) ความสูงอยู่ที่ 170.60 มิลลิเมตร กว้าง 49 มิลลิเมตร ลึก 139.30 มิลลิเมตร น้ำหนัก 960 กรัม ภายในสำหรับรุ่นความจุขนาด 3TB ที่ทีมงานได้รับมาทดสอบจากการคาดเดาน่าจะใช้ฮาร์ดดิสก์ WD Red ที่ออกแบบสำหรับ NAS (Network Attached Storage) ในการขับเคลื่อนหลัก



นอกจากนั้น WD My Cloud รองรับการเชื่อมต่อฮาร์ดดิสก์เสริมภายนอกผ่านพอร์ต USB 3.0 ส่วนระบบการทำงานมีความเป็น NAS Storage สมบูรณ์แบบเพราะ My Cloud มาพร้อมหน่วยประมวลผลภายในแบบดูอัลคอร์ ขับเคลื่อนด้วยระบบปฏิบัติการ Linux สามารถทำงานเป็นคลาวด์สตอเรจได้เองเพียงเชื่อมต่อ LAN (รองรับความเร็วระดับ Gigabit) เข้ากับเราท์เตอร์อินเตอร์เน็ตเท่านั้น ไม่ต้องพึ่งพาคอมพิวเตอร์ในการสร้างเซิร์ฟเวอร์เหมือนสมัยก่อน



ส่วนด้านบน ด้านล่างและด้านหลังของตัวเครื่องจะมีการเจาะช่องเพื่อใช้ระบายความร้อนไว้ สามารถเปิดทิ้งไว้ทั้งวันทั้งคืนได้เพราะตัวเครื่องมีระบบจัดการการใช้พลังงานอัตโนมัติ

ฟีเจอร์เด่น



สำหรับการใช้งานครั้งแรกหลังเชื่อมต่อ WD My Cloud เข้ากับเราท์เตอร์อินเตอร์เน็ตแล้ว ผู้ใช้สามารถเข้าใช้งานครั้งแรกผ่าน URL: http://wd.com/setup/wdmycloud ระบบจะให้ติดตั้งซอฟต์แวร์ควบคุมและพาเข้าสู่หน้า Setup ระบบตามภาพประกอบด้านบน



อย่างที่เกริ่นไปแล้วข้างต้นว่า WD My Cloud สามารถใช้งานได้ 2 รูปแบบ ใช้งานในบ้านผ่านวงแลนเดียวกันจะทำงานเป็น Network Harddisk ส่วนอีกรูปแบบจะเป็นคลาวด์ผ่านอินเตอร์เน็ต เพราะฉะนั้นถ้าต้องการใช้งานส่วนตัวหรือ Home Use เราท์เตอร์ที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อควรมีช่องแลนแบบ Gigabit ถ้าต้องการใช้ผ่านระบบไร้สาย เราท์เตอร์และอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมควรรองรับมาตรฐาน Wireless N หรือ AC และที่สำคัญอินเตอร์เน็ตที่มีขาอัปโหลดมากกว่า 1Mbps หรือถ้าต้องการทำคลาวด์สตอเรจเก็บมัลติมีเดียไฟล์ควรมีความเร็วขาอัปโหลดมากกว่านั้น ถ้าเป็นอินเตอร์เน็ต FTTx จะดีมาก



ส่วนการทำ Cloud Access ใช้งานแบบ Dropbox เพื่อใช้ฝากไฟล์สามารถทำผ่านหน้าพาเนล Setup ได้ทันที โดยผู้ใช้สามารถกำหนด Username และ Password ในการเข้าถึงข้อมูลได้ รวมถึงสามารถกำหนด Username และ Password ในส่วน Home Network แยกต่างหาก และถ้ามีผู้ใช้ My Cloud หลายคนก็ยังสามารถตั้งสิทธิ์ในการเข้าถึงโฟลเดอร์ต่างๆ ได้ด้วย



โดยเมื่อตั้งค่าทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ WD My Cloud จากเว็บไซต์ Western Digital (มีให้เลือกใช้ทั้ง Mac Windows Android และ iOS) สำหรับใช้เข้าถึงข้อมูลได้ โดยตัวซอฟต์แวร์จะทำการตรวจจับอัตโนมัติว่าตอนนี้ผู้ใช้ My Cloud เชื่อมต่อผ่านวงแลนในบ้านอยู่หรือไม่ ถ้าเชื่อมต่อวงแลนในบ้านอยู่ก็สามารถเข้าใช้งานได้ทันที แต่ถ้าอยู่นอกบ้านก็สามารถใช้งานแบบคลาวด์สตอเรจ (อารมณ์เดียวกับ Dropbox) ได้ด้วยการใช้ Username และ Password ที่ลงทะเบียนในระบบไว้ล็อกอินเข้าไปใช้งาน ซึ่งทุกครั้งก่อนใช้งานแบบคลาวด์สตอเรจต้องระลึกอยู่เสมอว่าที่บ้านหรือที่ทำงานต้องเปิดอินเตอร์เน็ตและเราท์เตอร์ทิ้งไว้ด้วย



นอกจากนั้นระหว่างที่คนในบ้านกำลังโหลดข้อมูลจาก My Cloud ผ่านวงแลนอยู่นั้น ผู้ใช้ที่อยู่นอกบ้านก็สามารถดาวน์โหลดข้อมูลจาก My Cloud ผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ตทั้ง WiFi สาธารณะ 3G/4G LTE ได้พร้อมกัน



สุดท้ายสำหรับคนที่กลัวข้อมูลจะสูญหายจากความไม่ตั้งใจระหว่างใช้งานทาง WD ก็ได้ติดตั้ง Safepoint สำหรับสร้างไฟล์สำรองข้อมูลไว้และ Recovery กลับมาเมื่อเกิดความผิดพลาดได้

ส่วนผู้ใช้ที่ชื่นชอบการทำ DLNA ร่วมกับ Smart TV หรือต้องการเลือกใช้ My Cloud ในการเป็นฮาร์ดดิสก์ส่วนกลางสำหรับสำรองข้อมูลระบบทั้งบน Mac หรือ PC ก็สามารถทำได้เพราะตัว My Cloud ทุกรุ่นรองรับอยู่แล้วตั้งแต่รุ่นเล็กสุดไปรุ่นใหญ่สุด โดยรุ่นใหญ่จะรองรับ FTP, RAID 0-1 และ P2P เพิ่มเติมเพื่อเน้นการใช้งานแบบหนักหน่วงและงานแบบองค์กรที่ใช้หลายยูสเซอร์ด้วย

ทดสอบประสิทธิภาพและสรุป

มาถึงการทดสอบประสิทธิภาพ ถึงแม้ WD My Cloud รุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบจะเป็นน้องเล็กสุด แต่ประสิทธิภาพไม่เป็นสองรองใคร สามารถรองรับการใช้งานภายในบ้านพร้อมกัน 4-5 คนได้สบายๆ ถ้าเราท์เตอร์และอินเตอร์เน็ตรับไหว ส่วนเรื่องการใช้คลาวด์สตอเรจการการทดลองกับอินเตอร์เน็ตบ้านความเร็วดาวน์โหลด 12Mbps อัปโหลด 1.5Mbps ถือว่าทำได้ดี ไฟล์เพลงขนาด 2-10Mbps ไฟล์เอกสาร ภาพประกอบที่ไม่ได้มีขนาดเกิด 20-30MB สามารถรับส่งได้ลื่นไหล อยู่ที่ไหนทั่วโลกก็เรียกใช้กันได้สบายๆ ยิ่งเวลาไปเที่ยวต่างประเทศแล้วอยากส่งรูปให้ที่บ้านดึงขึ้น Smart TV สามารถทำได้อย่างไรรอยต่อจริงๆ ยิ่งลองใช้ร่วมกับ FTTx ยิ่งทำงานได้เร็วขึ้นจนแทบจะเริ่มบริการคลาวด์สตอเรจทุกเจ้าที่ต้องเสียค่าสมาชิกรายเดือนไปเลยทีเดียว

แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่า WD My Cloud จะมีข้อดีเพียงอย่างเดียว ข้อสังเกตที่ทีมงานพบเจอตลอดการทดสอบร่วม 2 อาทิตย์ก็คือ เวลาไม่มีผู้ใช้เรียกข้อมูลจาก My Cloud เป็นเวลานานจนเกิดการสแตนบายระบบ My Cloud มักจะเกิดปัญหาไม่เชื่อมต่อจนต้องทำการปิดสวิตซ์และเปิดใหม่ระบบถึงกลับมาทำงานได้ตามปกติอีกครั้ง

สำหรับราคา WD My Cloud จะเริ่มต้นที่ 5,190 บาทเป็นต้นไป โดยในรุ่นน้องเล็กสุดจะเหมาะแก่ผู้ใช้ประเภทบุคคลและใช้งานภายในครอบครัวเป็นหลัก รวมถึงผู้ใช้ที่อยากทำมีเดียสตรีมมิ่งภายในบ้านร่วมกับอุปกรณ์มัลติมีเดียและสมาร์ทดีไวซ์ WD My Cloud สามารถตอบโจทย์เหล่านั้นได้ดีเช่นกันเพราะตัวระบบรองรับในสิ่งที่ NAS Storage ควรจะเป็นได้ทั้งหมดแล้วตั้งแต่รุ่นเล็กไปถึงรุ่นใหญ่

Company Related Link :
Western Digital

ตอนนี้ CyberBiz ของเราได้เปิด Instagram เพิ่มอีก 1 ช่องทาง ผู้อ่านทุกท่านสามารถไปกดติดตามได้ครับที่ http://instagram.com/cbizonline

CyberBiz Social






กำลังโหลดความคิดเห็น