ในยุคที่ข้อมูลมีเดียไฟล์มีขนาดใหญ่ขึ้นและโมบายดีไวซ์ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ตเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน การเก็บไฟล์ในเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือฮาร์ดดิสก์พกพาเป็นเรื่องที่ไม่สะดวกเพราะอุปกรณ์ไร้สายเข้าถึงได้ยาก เพราะฉะนั้นทางออกของปัญหาก็คือ พึ่งพาการเก็บข้อมูลไว้กับ NAS (Network Attached storage) หรืออุปกรณ์เก็บข้อมูลบนเครือข่ายที่เน้นเรื่องความจุเป็นสำคัญ โดยปัจจุบัน NAS ถูกย่อส่วนมาให้สามารถติดตั้งภายในบ้าน ใช้งานง่ายและสามารถเข้าถึงข้อมูลแบบไร้สายเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้ใช้อุปกรณ์ไอทียุคใหม่ได้
โดยขนาดและความสามารถของ NAS ในปัจจุบันก็มีมากมายหลากหลายราคา แต่วันนี้ทีมงานไซเบอร์บิซจะขอนำเสนอ NAS ที่โดดเด่นในเรื่องการเป็นมีเดียเซิร์ฟเวอร์และมีระบบปฏิบัติการในตัวเองกับ Synology DiskStation DS415play
การออกแบบ
การออกแบบ Synology DiskStation DS415play จะเหมือน HOME Nas Storage (รองรับฮาร์ดดิสก์ 4 ลูก)ทุกรุ่น บอดี้ออกแบบเป็นกล่องสี่เหลี่ยมสีดำขนาด 203x165x233.3 มิลลิเมตร น้ำหนักไม่รวมฮาร์ดดิสก์อยู่ที่ 2.03 กิโลกรัม
ด้านหน้ามีตัวเครื่องมีไฟแสดงสถานะการทำงานของฮาร์ดดิสก์ทั้ง 4 ลูก ไฟแสดงสถานะการทำงานของระบบ พอร์ต USB 2.0 และสวิตซ์ปิดเปิดเครื่อง
ด้านหลังจะเป็นที่อยู่ของพัดลมระบายความร้อนขนาด 92x92 มิลลิเมตรจำนวน 2 ตัวเพื่อใช้ระบายความร้อน ส่วนด้านล่างใต้พัดลมลงมาจะเป็นพอร์ต USB 2.0 จำนวน 2 พอร์ต พอร์ตแลน RJ-45 สำหรับเชื่อมต่อกับเราท์เตอร์ พอร์ต USB 3.0 จำนวน 2 พอร์ตและช่องเชื่อมต่ออะแดปเตอร์ไฟบ้าน
สำหรับช่องใส่ฮาร์ดดิสก์จำนวน 4 ลูกจะอยู่บริเวณด้านหน้า เพียงผู้ใช้ดึงหน้ากากพลาสติกออกจะพบช่องใส่แบบ Hot Swap (ดึงออกใส่ฮาร์ดดิสก์ดันเข้าช่องแล้วใช้งานได้ทันที)
**ในทดสอบในครั้งนี้ทีมงานเลือกใช้ฮาร์ดดิสก์ WD Red จาก Western Digital ความจุลูกละ 6TB จำนวน 4 ลูก เต็มความจุ 24TB เท่าที่ DS415play จะรองรับ**
สเปก
มาถึงเรื่องสเปกของ DiskStation DS415play ด้วยความเป็น NAS แบบ Media Server ภายในจึงมีการติดตั้งซีพียู Intel Atom Dual-Core ความเร็ว 1.6GHz พร้อมแรม DDR3 1GB และส่วนควบคุม DiskStation Manager มาให้ เพื่อให้ตัวเครื่องรองรับการถอดรหัสไฟล์วิดีโอ H.264 (AVC), MPEG-4 Part 2, MPEG-2, VC-1 ได้ในตัว รวมถึงสามารถติดตั้งแอปพลิเคชันเพิ่มเติม เช่น แอปฯ โหลด Bittorent แอปฯ ควบคุมกล้องวงจรปิดแบบ IP Camera เป็นต้น
ในส่วนสเปก Storage Management ตัวเครื่องรองรับฮาร์ดดิสก์ขนาด 3.5 นิ้ว พอร์ตเชื่อมรองรับ SATA III/SATA II และรองรับการเชื่อมต่อ RAID 0, 1, 5, 6, 10 JBOD
ด้านยูสเซอร์รองรับบัญชีผู้ใช้มากสุด 2,048 บัญชี 256 กลุ่ม แชร์โฟลเดอร์ได้สูงสุด 256 โฟลเดอร์ ส่วนควบคุมภายในมาพร้อม Add-on Packages มากมาย เช่น Antivirus, Cloud Sync, iTunes Server, Mail Server, DLNA และอีกมากมายครอบคลุมทุกการใช้งาน
การใช้งานและฟีเจอร์เด่น
หลักการทำงานของ Synology DiskStation DS415play จะเหมือนกับ NAS หลายแบรนด์ที่อยู่ในท้องตลาดคือเป็นได้ทั้งมีเดียเซิร์ฟเวอร์ DLNA, File Center หรือเซิร์ฟเวอร์กลางไว้เก็บงานต่างๆ แทนที่ฮาร์ดดิสก์พกพา
โดยการใช้งานและเข้าถึง DS415play จะทำผ่านระบบเน็ตเวิร์คภายในบ้าน กล่าวคือการใช้งาน DS415play ครั้งแรกจะต้องเชื่อมต่อสายแลนจากเราท์เตอร์อินเตอร์เน็ตมาเสียบเข้าช่องแลนด้านหลังของ NAS จากนั้นตัวเครื่องกับเราท์เตอร์จะค้นหาแจกจ่าย IP จนรู้จักกันแบบอัตโนมัติ ตอนนี้ถ้าผู้อ่านเชื่อมต่อ WiFi หรือต่อสายแลนกับเราท์เตอร์ที่มี DS415play เชื่อมต่ออยู่ เมื่อเข้าสู่บราวเซอร์และพิมพ์ http://find.synology.com ระบบจะพาเข้าสู่หน้าส่วนควบคุมของ DS415play ทันที ซึ่งครั้งแรกที่เข้าใช้งานจะต้องทำการตั้งค่าระบบและติดตั้งส่วนควบคุมตามรูปประกอบด้านบนก่อน จากนั้นเมื่อตั้งค่าเสร็จสิ้นแล้วระบบจะสร้าง Shortcut ไว้บน Desktop เพื่อให้การเข้าใช้งานทำได้ง่ายขึ้น
เข้าใช้งาน DiskStation Manager ผ่านคอมพิวเตอร์
เข้าใช้งาน DiskStation Manager ผ่านบราวเซอร์ในแอนดรอยด์แท็บเล็ต
เมื่อการตั้งค่าทุกอย่างเสร็จสิ้นและเข้าใช้งานเรียบร้อยแล้วส่วนแรกที่ผู้ใช้ต้องเจอก็คือหน้าเดสก์ท็อปของ DiskStation Manager (สามารถเข้าสู่หน้านี้ได้ด้วยการพิมพ์ http://quickconect.to/***ชื่อ User ของตัวเอง***) ที่มีหน้าตาคล้ายเดสก์ท็อปบนวินโดวส์อย่างมาก โดย DiskStation Manager สามารถเข้าได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์พีซี แมค สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต และการจัดการไฟล์ข้อมูล แชร์ไฟล์ไปถึงตั้งกลุ่มแชร์ไฟล์ต่างๆ ภายใน NAS ทั้งหมดจะต้องทำผ่าน File Station บนหน้าเดสก์ท็อปนี้
Control Panel ถือเป็นส่วนสำคัญในการปรับแต่งทุกส่วนของ DS415play และทาง Synology ก็ให้มาครบครันทั้ง Terminal และส่วนสำคัญคือระบบ Update & Restore ก็มีมาให้ รวมถึง Log Center หรือส่วนเก็บ Log File บอกการทำงานของระบบทั้งหมดว่าวันไหน เวลาไหนมีใครเข้ามาปรับแต่งหรือใช้งาน DS415play ส่วนไหนบ้างก็มีให้ด้วยเช่นกัน
และนอกจากนั้นในหน้าเดสก์ท็อปทาง Synology ยังให้แถบแจ้งเตือน (Notifications) สำหรับแจ้งผู้ใช้พร้อมเสียงออกลำโพงที่ติดตั้งอยู่ภายใน NAS ว่าตอนนี้ระบบกำลังเจอปัญหาหรือทำสิ่งใดเสร็จสิ้นแล้วให้ผู้ใช้ทราบด้วย
อีกส่วนที่น่าสนใจและถือว่า Synology ทำการบ้านมาดีมากก็คือฟีเจอร์ EZ-Internet ที่จะช่วยให้ผู้ใช้ที่ต้องการเข้าถึง NAS เครื่องนี้จากทุกที่ทั่วโลกผ่านสัญญาณดาต้าอินเตอร์เน็ตสามารถทำได้ง่ายขึ้น เพราะตัว Wizard นี้จะทำการ Forward Port และตั้ง DDNS ให้อัตโนมัติ โดยครั้งแรกที่ใช้งานระบบจะตรวจสอบเราท์เตอร์อินเตอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกับ DS415play ก่อน เมื่อค้นพบ ระบบจะทำการตั้งค่าเราท์เตอร์ให้เองและให้ผู้ใช้เป็นคนกำหนด DDNS service ในรูปแบบ ***ชื่อที่ต้องการ***.synology.me
อย่างที่เกริ่นไปข้างต้นแล้วว่า DiskStation DS415play รุ่นนี้จะมาพร้อมสโตร์ Package Center ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถหาแอปฯเสริมมาใช้งานร่วมกับระบบปฏิบัติการได้
โดยตัว Package ที่โดดเด่นสุดก็คือ Download Station ที่เป็นตัวช่วยในการดาวน์โหลดไฟล์ต่างๆ รวมถึง Torrent File ก็สามารถดาวน์โหลดได้ด้วย
อีกทั้งตัว Download Station ยังสามารถกำหนดช่วงเวลาสำหรับดาวน์โหลดไฟล์รวมถึงกำหนดความเร็วในการดาวน์โหลด อัปโหลดในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างอิสระ ใครที่ต้องอัปโหลดหรือดาวน์โหลดไฟล์ขนาดใหญ่บ่อยครั้ง Download Station และ DS415play ช่วยคุณได้โดยไม่ต้องเปิดคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ให้กินไฟ
และที่ขาดไม่ได้สำหรับ NAS ยุคใหม่ก็คือความสามารถในการรองรับการเข้าถึงไฟล์จากหลายดีไวซ์ได้ โดยเฉพาะสมาร์ทดีไวซ์ที่ปัจจุบันเข้ามามีบทบาทกับ NAS อย่างมาก ซึ่งสำหรับ Synology DiskStation DS415play จะมีแอปฯ บนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตจำนวน 9 ตัวที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ ไล่ตั้งแต่ตัวจัดการไฟล์ทั้งอัปโหลดและดาวน์โหลด แอปฯ รูปภาพ สมุตโน้ต คลาวด์ แอปฯฟังเพลง วิดีโอ แอปฯ ควบคุม Download Station และแอปฯดูกล้องวงจรปิด IP Camera ที่เชื่อมต่อกับ DS415play
ทดสอบประสิทธิภาพและสรุป
มาถึงการทดสอบประสิทธิภาพกับฮาร์ดดิสก์ WD Red 6TB จำนวน 4 ลูก เลือกต่อ RAID แบบสองลูกเก็บข้อมูลอีกสองลูกไว้สำรองข้อมูล โดยภาพรวม Synology DiskStation DS415play กับการใช้เป็นทั้งมีเดียเซิร์ฟเวอร์และใช้เก็บข้อมูลต่างๆ ถือว่าสอบผ่านใช้งานได้ง่ายและประสิทธิภาพดี โดยเฉพาะการติดตั้งครั้งแรก ระบบ Wizard ออกแบบมาให้ไม่ยุ่งยากซับซ้อน การ Forward Port เพื่อให้สามารถใช้งานได้ทุกที่ทุกเวลา สามารถใช้ Wizard ช่วยเหลือในการตั้งค่าต่างๆได้โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องระบบเครือข่ายใดๆ เพราะขั้นตอนเหล่านี้ระบบจะปรับแต่งรวมถึงติดต่อสื่อสารกับอินเตอร์เน็ตเราท์เตอร์ของคุณเอง
ในส่วนระบบปฏิบัติการ ชุดควบคุมในชื่อ DiskStation Manager ส่วนนี้ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องชื่นชมทีมงานออกแบบที่ทำให้เข้าถึงได้ง่ายทุกกลุ่ม เพราะภายในตัว DiskStation Manager ผู้ใช้สามารถสั่งงานผ่านภาพและไอคอนกราฟิกเหมือนวินโดวส์ แถมยังมีส่วนแจ้งเตือนเวลาระบบมีปัญหาพร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้น
และจุดเด่นหนึ่งที่ยังไม่ได้กล่าวถึงก็คือความสามารถของระบบปฏิบัติการภายในที่สามารถถอดไฟล์วิดีโอแบบ FullHD ได้อย่างรวดเร็ว ยกเว้นไฟล์วิดีโอบางประเภทที่ระบบไม่รองรับ แต่ก็สามารถยิงไฟล์ที่ไม่รองรับนั้นผ่าน DLNA เข้าสู่สมาร์ทดีไวซ์ให้ถอดรหัสแทนและรับชมผ่านอุปกรณ์มีเดียไร้สายหรือมีสายต่างๆ ได้ตามต้องการ แถมด้วยการที่สเปกของ DS415play มาพร้อมซีพียูที่รวดเร็วและรองรับการทำงานแบบ Multitask ทำให้การเล่นมีเดียไฟล์พร้อมกับทำงานอื่นๆ บน NAS เช่น ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์และดูไฟล์รูปไปพร้อมกัน สามารถทำได้ลื่นไหลมาก
เรียกได้ว่าตลอดการทดสอบ Synology DiskStation DS415play สามารถตอบสนองการใช้งานทั้งในแบบที่ NAS ควรจะเป็นไปถึงการทำมีเดียเซิร์ฟเวอร์หรือสร้าง Cloud Storage ในบ้านไปถึงการสร้าง Server ส่วนตัว สิ่งเหล่านี้ผู้ใช้สามารถเลือกหาได้จาก Synology DiskStation DS415play
แต่ทั้งนี้ถ้าถามถึงความคุ้มค่า ตอนนี้ทีมงานยังไม่ทราบราคาวางจำหน่ายที่แท้จริงว่าอยู่ที่เท่าใด แต่ถ้ามองโดยภาพรวม ก็ถือว่า DS415play เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้อ่านที่กำลังมองหาแหล่งเก็บข้อมูลสำคัญ เช่น นักถ่ายภาพที่มีไฟล์ RAW จำนวนมาก หรือนักทำเพลงที่ต้องเก็บต้นฉบับไว้แก้ไข มีเดียเซิร์ฟเวอร์ในคราบ NAS ตัวนี้น่าจะถูกใจกลุ่มคนเหล่านั้นได้ไม่ยาก
Company Related Link :
Synology
CyberBiz Social