แบรนด์เอเซอร์ (Acer) ถือเป็นผู้ผลิตโน้ตบุ๊กและคอมพิวเตอร์ที่มีการปรับตัวไปตามยุคสมัยและเทรนด์ของโลกได้ดีมากแบรนด์หนึ่ง โดยเฉพาะตลาดโน้ตบุ๊กที่เอเซอร์ได้ชุปชีวิตโน้ตบุ๊กพลังวินโดวส์ 8 เพื่อมาต่อกรกับตลาดแท็บเล็ตที่เติบโตสูงมากด้วยการจับทำไฮบริดโน้ตบุ๊กที่สามารถแปลงร่างเป็นแท็บเล็ตได้จนมีชื่อเสียงหลายรุ่น โดยเฉพาะ Iconia W510 กับเสียงตอบรับที่ดีมากจนขายขาดตลาดทั้งต่างประเทศและในประเทศไทยเอง
มาวันนี้เอเซอร์ก็ขอต่อยอดความสำเร็จจาก W510 อีกครั้งกับน้องเล็กคนใหม่ Acer Aspire Switch 10 (หรือเรียกสั้นๆ ว่า Acer Switch 10) กับการปรับเปลี่ยนดีไซน์เน้นเล็ก น้ำหนักเบา พกพาสะดวกรวมถึงปรับสเปกภายในให้ทันสมัยขึ้น
การออกแบบ
การออกแบบของ Switch 10 ก็ยังเป็นไปตามรุ่นพี่ W510 คือตัวเครื่องถูกออกแบบมาเป็นไฮบริดได้ทั้งโน้ตบุ๊กและแท็บเล็ต โดยในชุดจะมีทั้งส่วนหน้าจอแท็บเล็ตและฐานที่เป็นทั้งคีย์บอร์ดและฮาร์ดดิสก์เสริม ส่วนหน้าจอเป็นแบบสัมผัส 5 จุดพร้อมกันขนาด 10.1 นิ้ว พื้นผิวจอแบบ Native Damage Resistance (Gorilla Glass 3) ความละเอียด 1,366x768 พิกเซล ตัวเครื่องสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้ถึง 4 รูปแบบหลัก ได้แก่ 1.Notebook (ใช้งานแบบโน้ตบุ๊กเน้นพิมพ์งาน) 2.Pad (ดึงออกจากฐานใช้แบบแท็บเล็ต) 3.Display และ 4.Tent (ทั้ง 2 รูปแบบใช้สำหรับการรับชมภาพยนตร์ ปรับองศาการมองได้หลายระดับ)
นอกจากนั้นการประกอบหน้าจอยังใช้เทคโนโลยี Zero Air Gap ที่ช่วยลดแสงสะท้อนในแต่ละมุมมองที่รับชมโดยเฉพาะภายใต้แสงอาทิตย์ร่วมกับซอฟต์แวร์ LumiFlex ที่ช่วยปรับสีสันและความสว่างของหน้าจอให้อัตโนมัติโดยจะทำงานควบคู่กับเซ็นเซอร์ตรวจวัดแสง
ด้านวัสดุที่ใช้ผลิตทำจากอลูมิเนียม พื้นผิวสัมผัสเป็นลายขนแปรงสีเทาช่วยให้จับกระชับไม่ลื่นหลุดมือง่าย โดยการพิมพ์ลายและลงสีทางเอเซอร์เครมว่าใช้เทคโนโลยีใหม่ NIL (nano-imprint technology) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วยให้การขึ้นรูปลักษณ์ของโน้ตบุ๊กทำได้หลากหลายขึ้น
ส่วนขนาดตัวเครื่องเอเซอร์ได้ปรับปรุงให้ Switch 10 มีความทันสมัยและโฉบเฉี่ยวมากขึ้นด้วยความบางส่วนแท็บเล็ต (เฉพาะหน้าจอหลังดึงออกจากฐาน) เพียง 8.9 มิลลิเมตร หนัก 1.17 กิโลกรัม หน่วยประมวลผลและแบตเตอรีทั้งหมดถูกติดตั้งอยู่ในหน้าจอแท็บเล็ต ส่วนฐานคียบอร์ดจะมีเพียงฮาร์ดดิสก์ขนาด 500GB ติดตั้งพร้อมพอร์ต USB เท่านั้นไม่มีแบตเตอรีก้อนที่สองติดตั้งมาให้เหมือนรุ่นก่อน
และด้วยการที่ตัวเครื่องเป็นไฮบริดสามารถแยกออกจากฐานได้ เพื่อความง่ายในการประกบติดกับฐานและปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานต่างๆ ทางเอเซอร์ได้เลือกใช้บานพับแบบ Snap Hinge โดยจะใช้แรงดูดจากแม่เหล็กในการดูดติดระหว่างส่วนแท็บเล็ตกับหน้าจออย่างแน่นหนาซึ่งจะช่วยให้ขั้วไฟฟ้าสัมผัสกันสนิทขึ้นด้วย
กลับมาดูเรื่องปุ่มคำสั่งและช่องเชื่อมต่อต่างๆ แบบละเอียดอีกครั้ง โดยจะเริ่มจากส่วนของแท็บเล็ตกันก่อน บริเวณเหนือหน้าจอขึ้นไปจะเป็นกล้องหน้าความละเอียด 2 ล้านพิกเซลพร้อมไมโครโฟน ถัดลงมาใต้จอภาพเหนือโลโก้ Acer จะเป็นปุ่มวินโดวส์สำหรับเรียกหน้า Start Screen และใช้สลับหน้าต่างแอปพลิเคชันที่ติดตั้งจาก Windows Store
ส่วนช่องด้านข้างโลโก้ Acer ทั้งสองช่องคือลำโพงสเตอริโอ
มาถึงด้านข้างตัวเครื่องเริ่มจากด้านซ้ายจะเป็นช่องหูฟัง 3.5 มิลลิเมตร ปุ่มเปิด-ปิดตัวเครื่องรวมถึงทำหน้าที่เป็นปุ่มสแตนบาย Sleep/Awake ตัวเครื่อง ถัดไปท้ายสุดจะเป็นปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง
ส่วนด้านขวาเริ่มจากซ้ายสุดจะเป็นช่องเชื่อมอะแดปเตอร์ชาร์จไฟบ้าน พอร์ต MicroUSB (มีสายแปลงจาก MicroUSB เป็น USB Host มาให้) ช่องใส่การ์ดความจำ MicroSD สำหรับเพิ่มความจุและสุดท้ายกับช่องไมโครโฟน
มาดูในส่วนของฐานคีย์บอร์ดหรือจะเรียกว่า Docking Station เมื่อถอดแยกจากส่วนแท็บเล็ตแล้ว พื้นที่หลักของส่วนนี้จะเป็นแป้นคีย์พิมพ์ภาษาไทยติดมาให้พร้อมทัชแพดแบบมัลติทัชใช้งานเหมือนโน้ตบุ๊กทั่วไป
ส่วนภายในจะมีฮาร์ดดิสก์ความจุ 500GB ติดตั้งมาให้ พร้อมพอร์ต USB 1 พอร์ตติดตั้งอยู่ด้านข้าง โดยเมื่อผู้ใช้นำฐานคีย์บอร์ดเชื่อมต่อกับแท็บเล็ต ฮาร์ดดิสก์และคีย์บอร์ดจะดึงไฟจากส่วนแท็บเล็ตมาใช้งานคล้ายเราเชื่อมต่อฮาร์ดแวร์กับพอร์ตยูเอสบี โดยการเชื่อมต่อระหว่างแท็บเล็ตกับฐานคีย์บอร์ดสามารถทำได้ตลอดเวลาแม้ตัวเครื่องจะเปิดใช้งานอยู่ก็ตาม
ในชุด Acer Switch 10 จะมีสองส่วนหลักคือ ส่วนแท็บเล็ตและฐานคีย์บอร์ด+ฮาร์ดดิสก์
สุดท้ายเมื่อส่วนของแท็บเล็ตและฐานคีย์บอร์ดเชื่อมต่อกันแล้ว รูปแบบการใช้งานจะถูกปรับเปลี่ยนเป็นโน้ตบุ๊กตระกูลเน็ตบุ๊กอย่างสมบูรณ์แบบ ผู้ใช้สามารถนำเมาส์ คีย์บอร์ดทั้งมีสาย ไร้สายหรือจะเชื่อมต่อ USB HUB (เพราะให้พอร์ต USB มาน้อย) ไปถึงอุปกรณ์ USB ต่างๆ ที่รองรับวินโดวส์ 8 ก็สามารถทำได้เหมือนโน้ตบุ๊กทั่วไปทั้งหมด
สเปก
มาดูในส่วนของสเปกภายในกันบ้าง อย่างเกริ่นไปแล้วว่าแผงวงจรเมนบอร์ดและชิปประมวลผลทั้งหมดจะบรรจุอยู่ในส่วนหน้าจอแท็บเล็ตเท่านั้น ฐานคีย์บอร์ดจะไม่มีหน่วยประมวลผลใดๆ เป็นเหตุให้หน้าจอแท็บเล็ตจะมีน้ำหนักมากกว่าฐาน โดยหน่วยประมวลผลที่เอเซอร์เลือกใช้กับ Switch 10 เป็น Intel Atom Z3740 บนสถาปัตยกรรมรุ่นใหม่ 22 นาโนเมตรของอินเทลในชื่อ Bay Trail ที่ออกแบบมาเพื่อไฮบริด 2 in 1 โน้ตบุ๊ก-แท็บเล็ตราคาประหยัดโดยเฉพาะ พร้อมความเร็วที่มากกว่า Atom ตัวเดิมถึง 2 เท่าและประหยัดพลังงานกว่า
โดยหน่วยประมวลผล Atom Z3740 ใน Switch 10 รุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบจะทำงานแบบ Quad-cores (4 Cores 4 Threads) ความเร็วสูงสุด 1.33GHz มาพร้อมแรมขนาด 2GB แบบ DDR3 กราฟิกชิปใช้ Intel HD รุ่น 7 พร้อมแรม 1GB แชร์มาจากแรมระบบ
ส่วนฮาร์ดดิสก์จะแยกเป็นสองส่วนได้แก่ หน่วยเก็บข้อมูล eMMC ในแท็บเล็ตขนาด 64GB แต่เหลือให้ใช้งานจริงประมาณ 51.5GB เพราะถูกแยกไปเก็บไฟล์สำรองวินโดวส์ลิขสิทธิ์ ส่วนฮาร์ดดิสก์ที่อยู่ภายในฐานคีย์บอร์ดเมื่อเชื่อมต่อรวมกับแท็บเล็ตแล้วจะกลายเป็นไดร์ฟ D ตามค่า Default มีพื้นที่เหลือให้ใช้งานจริง 465GB
สุดท้ายในส่วนวินโดวส์ที่ติดตั้งมาพร้อมกับตัวเครื่องจะเป็นวินโดวส์ 8.1 ลิขสิทธิ์รุ่นล่าสุดแบบ 32 บิต พร้อม Office Home & Student 2013 มาให้ใช้งานอย่างสมบูรณ์
ฟีเจอร์เด่น
ตามธรรมเนียมของเอเซอร์ยุคใหม่หัวใจวินโดวส์ 8 จะต้องมาพร้อม Built-in แอปพลิเคชันของเอเซอร์จากโรงงานตั้งแต่แอปฯ จัดการเอกสาร ไฟล์เพลง ไปถึงระบบ Acer Portal ที่อนุญาตให้ลูกค้าเอเซอร์สามารถสร้างพื้นที่เก็บข้อมูลส่วนตัวบนคลาวด์ได้ โดยการทำงานจะสามารถเชื่อมต่อร่วมกับสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตและอุปกรณ์ของเอเซอร์ทั้งหมดได้ง่ายดาย
และที่ขาดไม่ได้ก็คือ Acer Recovery Management ที่เป็นตัวช่วยในการสำรองข้อมูลระบบไปถึงไดร์วเวอร์และแอปฯ ต่างๆ ไว้เวลาเครื่องมีปัญหาต้อง Format และติดตั้งวินโดวส์ใหม่ ผู้ใช้ก็ยังสามารถเรียกคืนไฟล์ข้อมูลต่างๆ ที่สำรองไว้ได้
ฟีเจอร์เด่นสุดท้าย ด้วยการที่ตัวเครื่องสามารถถอดแยกมาใช้งานแบบแท็บเล็ตถือไปไหนมาไหนได้ ทางเอเซอร์ก็ได้ติดตั้งเซ็นเซอร์ Orientation Sensor (ไม่ใช่เรื่องใหม่ในตลาดสมาร์ทโฟน-แท็บเล็ตทั่วไปเพราะมีมานานแล้ว แต่สำหรับแท็บเล็ตวินโดวส์ 8 ต้องถือเป็นเรื่องแปลกใหม่เพราะเพิ่งเริ่มมีให้เห็นช่วงแท็บเล็ตวินโดวส์กำลังทำตลาด) ที่ช่วยตรวจจับว่าเราใช้แท็บเล็ตในแนวไหนอยู่ ทำให้เวลาเราเอียงเครื่องเพื่อใช้งานในแนวตั้ง หน้าจอจะหมุนตามพร้อมปรับสัดส่วนใหม่ เหมาะอย่างยิ่งสำหรับอ่านหนังสือหรือชมเว็บไซต์ที่มีหน้ายาวมาก
ทดสอบประสิทธิภาพ
ด้วยสเปกของตัวเครื่องคงทำให้ทีมงานไม่สามารถทดสอบประสิทธิภาพได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยผลคะแนนที่ได้จาก PC Mark 8 อยู่ที่ 1,238 คะแนน การประมวลผลรับชมไฟล์ภาพยนตร์ 1080p ทำได้ลื่นไหล การเล่นเว็บไซต์ต่างๆ ทำได้ดีตามวัตถุประสงค์หลักของ Switch 10 คือเน้นงานเอกสาร ตกแต่งภาพเล็กน้อยไปถึงใช้ดูกราฟหุ้นแบบเรียลไทม์หรือใช้งานในเชิงธุรกิจติดตัวไปได้ทุกที่ทุกเวลา สิ่งเหล่านี้ Switch 10 ทำได้ดีไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
ส่วนผู้อ่านหลายท่านที่ทิ้งคำถามไว้ให้ทีมงานหาคำตอบว่าสเปกระดับนี้จะสามารถใช้งาน Adobe Photochop CC ตัวใหม่ล่าสุดได้หรือไม่ คำตอบที่ได้คือใช้งานได้ครับ ตกแต่งภาพระดับ 18 ล้านพิกเซลในรูปแบบ RAW File ก็สามารถทำได้แต่อาจจะไม่รวดเร็วนัก ต้องให้เวลาซีพียูประมวลผลสักครู่ แต่โดยรวมถ้าใช้แค่ตัดรูป ย่อรูปจากไฟล์ JPEG รวมถึงตกแต่งภาพเล็กๆ น้อยๆ ส่วนนี้ทำงานได้ลื่นไหลพอสมควรครับ ความละเอียดหน้าจอกับพื้นที่ใช้งานที่ได้ถือว่าโอเคไม่น่าเกลียดเหมือนสมัยเน็ตบุ๊กหน้าจอ 1,024x600 พิกเซล
สำหรับการเล่นเกมถ้าเป็นเกมที่มาจาก Windows Store แทบทุกเกมสามารถเล่นบน Acer Switch 10 ได้ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นเกม 3 มิติกราฟิกสูง จากสเปกเครื่องแล้วคงไม่สามารถเล่นได้ดีนักเพราะถึงแม้จะเข้าเกมได้แต่ท่านจะต้องพบกับอาการภาพกระตุกจนรำคาญ
ความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลของ eMMC
ความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลของ HDD ในฐานคีย์บอร์ด
มาถึงการทดสอบการเข้าถึงข้อมูลจาก eMMC flash storage ภายในแท็บเล็ตมีความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 73.3MB ต่อวินาที ส่วนฮาร์ดดิสก์จานหมุนเสริมภายในฐานคีย์บอร์ดจะมีความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลอยู่เฉลี่ย 35.6MB ต่อวินาที ถือว่าเป็นไปตามมาตรฐาน
ในส่วนแบตเตอรีขนาด 22 Wh (แต่ในแอปฯ เช็คแบตเตอรีบอกว่ามี 24 Wh) ปราศจากแบตเสริมเหมือนรุ่นพี่ สำหรับการทดสอบใช้งานทั่วไปด้วยการรับชมคลิปวิดีโอจากยูทูป ฟังเพลง พิมพ์งานผ่าน Word และเล่นเว็บไซต์ แบตเตอรีสามารถใช้งานได้ยาวนาน 7-8 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้งานที่มีการประมวลผลสูงจะใช้ได้ต่อเนื่อง 5-6 ชั่วโมงเท่านั้น ถือเป็นอานิสงส์ของอะตอมตัวใหม่ที่ประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?
ข้อดี
- ฮาร์ดแวร์และการออกแบบทำออกมาได้ดี งานประกอบแข็งแรงสมราคา
- สามารถปรับรูปแบบการใช้งานได้หลากหลาย
- อะตอมรุ่นใหม่ประหยัดพลังงานมากขึ้น
- มาพร้อมวินโดวส์ 8.1 และ Office Home & Student 2013 ลิขสิทธิ์
- สามารถ Standby เครื่องทั้งวันทั้งคืนได้โดยปราศจากอาการเครื่องค้าง
- ฐานคีย์บอร์ดมีทั้งทัชแพด ฮาร์ดดิสก์เสริมขนาด 500GB พร้อม USB ทำให้ใช้งานในรูปแบบโน้ตบุ๊กได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ข้อสังเกต
- ถึงแม้ Acer Snap Hinge จะทำให้แท็บเล็ตและฐานคีย์บอร์ดยึดติดอย่างแน่นหนาและเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้หลากลาย แต่ถ้าใช้งานไปนานๆ โอกาสที่หน้าสัมผัสระหว่างขั้วต่อเชื่อมข้อมูลระหว่างฐานคีย์บอร์ดกับตัวแท็บเล็ตจะไม่สนิทกันมีสูงและทีมงานก็พบอาการคีย์บอร์ดและฮาร์ดดิสก์ติดๆ ดับๆ เมื่อเคลื่อนย้ายตัวเครื่อง
- ไม่สามารถใส่ซิม 3G ได้
สำหรับราคาเปิดตัว Acer Switch 10 อยู่ที่ 15,990 บาท เทียบกับประสิทธิภาพและการใช้งานต้องบอกว่าเอเซอร์เปิดตัวลูกผสมโน้ตบุ๊ก-แท็บเล็ตได้เด็ดเหมือนรุ่นพี่ Iconia ทั้งเรื่องราคาและประสิทธิภาพ ผู้อ่านท่านใดที่กำลังมองหาแท็บเล็ตเพื่อต้องการใช้งานแบบโน้ตบุ๊ก โดยเฉพาะพิมพ์งาน ตกแต่งรูปเล็กๆ น้อยๆ และไม่ติดว่าต้องเป็นแอนดรอยด์หรือแอปเปิลไอโอเอสแท็บเล็ต Acer Switch 10 ให้ความคุ้มค่าคุ้มราคาอย่างมากถึงขนาดทำให้วินโดวส์ 8 น่าใช้ขึ้นเยอะ แต่จะสมบูรณ์กว่านี้ถ้าเอเซอร์จะมีรุ่น 3G วางจำหน่ายในอนาคตเพื่อตอบโจทย์การเป็นลูกผสมโน้ตบุ๊ก-แท็บเล็ตทุกที่ทุกเวลาได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
Company Related Link :
Acer
CyberBiz Social