ในตลาดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สวมใส่ได้ (Wearable Device) ต้องยอมรับว่านาฬิกาข้อมืออัจฉริยะกำลังเป็น 1 ในตลาดที่มีโอกาสในการเติบโต และเมื่อซัมซุง ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่ให้ความสำคัญกับตลาดนี้ มีการเพิ่มไลน์สินค้าให้ครอบคลุมการใช้งานทางด้านสุขภาพมากขึ้น
Gear Fit ถือเป็นผลิตภัณฑ์ในยุคที่ 2 ของซัมซุง ออกมาทำตลาดพร้อมกับ Gear 2 และ Gear Neo เพียงแต่ Fit จะชูความโดดเด่นไปที่เป็นอุปกรณ์ที่ทำมาใช้ควบคู่ไปกับชีวิตประจำวัน ที่เน้นกิจกรรมการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพเป็นหลัก แต่ก็ยังนำพาความสามารถที่เป็นสมาร์ทวอทช์เข้าไปด้วยเช่นกัน
การออกแบบและสเปก
จุดหลักที่น่าสนใจของ Gear Fit คือออกแบบมาให้เหมาะกับการใส่ใช้งานทุกที่ทุกเวลา ในรูปแบบของนาฬิกาข้อมือที่มีจอสัมผัสแบบโค้งรับกับข้อมือ ที่สำคัญคือสามารถถอดเปลี่ยนสายได้ เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานในชัวิตประจำวันได้ยาวนานขึ้น พร้อมๆกันนี้ทางซัมซุงก็ได้มีการนำสายที่มีการออกแบบจากดีไซน์เนอร์ชื่อดังเข้ามาวางจำหน่ายด้วยเช่นกัน แต่เบื้องต้นจะมีให้เลือก 3 สี คือ เทา ดำ และส้ม
ตัวหน้าจอของ Gear Fit มีขนาด 1.84 นิ้ว โดยเป็นหน้าจอแบบ Curved Super AMOLED โดยมีปุ่มเปิด-ปิดหน้าจออยู่ด้านข้าง และเมื่อหงายขึ้นมาจะพบกับเซ็นเซอร์วัดอัตราการเต้นหัวใจ (Heart Rate Sensor) และภายในยังมีเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหว และวัดก้าวอีกด้วย
นอกจากนี้ จะมีแถบสำหรับเชื่อมต่อกับแท่นชาร์จ ซึ่งเมื่อเชื่อมต่อแล้วก็สามารถใช้งานไมโครยูเอสบี ที่เป็นหัวแบบมาตรฐานเสียบชาร์จได้ทันที (ในจุดนี้ภายในกล่องจะไม่มีแถบทั้งสาย และอะแดปเตอร์ชาร์จให้ ทำให้เมื่อมีการออกมาวางจำหน่ายคู่กับ Galaxy S5 ทางซัมซุงจึงเลือกให้สายแบบไมโครยูเอสบีธรรมดา ไม่ใช่ยูเอสบี 3.0)
ในแง่ของการเชื่อมต่อ ตัว Gear Fit จะใช้การเชื่อมต่อผ่านบลูทูธ 4.0 LE ร่วมกับแอปพลิเคชันอย่าง Gear Fit Manager ซึ่งน่าเสียดายที่เมื่อเชื่อมต่อกับ Gear Fit แล้วจะไม่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ยูเอสบีอื่นๆ ที่ใช้ช่องสัญญาณซ้ำกันได้อีก (อย่างอุปกรณ์วัดการเต้นหัวใจ แต่สามารถเชื่อมต่อกับหูฟังบลูทูธได้ปกติ)
แน่นอนว่าเมื่อออกแบบมาให้รองรับกับการออกกำลังกาย ตัว Gear Fit จึงมาพร้อมกับระบบกันน้ำ กันฝุ่นมาตรฐาน IP 67 ที่เป็นมาตรฐานเดียวกับใน Galaxy S5 เพียงแต่น่าเสียดายที่มาตรฐานดังกล่าวไม่สามารถนำลงไปใส่ว่ายน้ำในสระได้ จึงสามารถใช้งานได้เฉพาะการออกกำลังกายบนบกเท่านั้น
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
ฟังก์ชันพื้นฐานที่มีให้มาใน Gear Fit จะมีตั้งแต่หน้าจอบอกเวลา ที่สามารถตั้งให้บอกวันที่ และจำนวนก้าวที่เดินไปในแต่ละวันได้ เมื่อเลื่อนหน้าจอไปก็จะพบฟังก์ชันอย่าง การนับก้าว การออกกำลังกาย การวัดอัตราการเต้นหัวใจ ตัวจับเวลา นับเวลาถอยหลัง วัดการนอน การแจ้งเตือน รีโมทควบคุมมีเดีย การตั้งค่า ค้นหาอุปกรณ์ และดูว่ามีการเชื่อมต่อ Gear Fit ผ่านแอปฯอะไรบ้าง
เมื่อกดเข้าไปดูเพิ่มในส่วนของการแจ้งเตือน ก็มีจะมีการแสดงผลแอปฯที่มีการแจ้งเตือน และซิงค์ข้อมูลไว้อย่างเฟซบุ๊ก จีเมล ทวิตเตอร์อินสตาแกรม ข้อความ และอื่นๆตามที่ติดตั้งไว้ในเครื่อง ซึ่งเมื่อมีการแจ้งเตือนจะสามารถอ่านข้อความได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่สามารถตอบกลับได้ ซึ่งในตัว Gear Fit จะมีปุ่มกดให้แสดงคอนเทนต์บนหน้าจอโทรศัพท์ เมื่อกดแล้วที่สมาร์ทโฟนก็จะขึ้นหน้าดังกล่าวทันที
ถัดมาในส่วนของการตั้งค่า จะมีการแสดงสถานะการเชื่อมต่อบลูทูธ ปริมาณแบตเตอรี ตั้งนาฬิกา เปลี่ยนภาพพื้นหลังหน้าจอ ตั้งค่าจอภาพอย่างการหมดเวลา ความสว่าง ข้างข้อมือที่สวม การหมุนหน้าจอให้แสดงผลแนวตั้งหรือแนวนอน ขนาดตัวอักษร รวมไปถึงการให้หน้าจอติดอัตโนมัติเมื่อยกแขนขึ้นมาดู การเชื่อมต่อบลูทูธ เข้าสู่โหมดห้ามรบกวน ตั้งค่าปุ่มลัด (กดสองครั้ง เพื่อเข้าฟังก์ชันใน Gear Fit ที่ตั้งไว้) ตั้งการล็อกนาฬิกาให้ใส่รหัสก่อนใช้งาน
ในส่วนของการตั้งโปรไฟล์จะมีให้เลือกเพศ วันเกิด ส่วนสูง น้ำหนัก การแสดงผลระยะทางเป็นกิโลเมตร หรือไมล์ ส่วนการตั้งค่าปุ่มลัดจะเลือกได้ว่าให้เข้าสู่ การนับก้าว การออกกำลังกาย อัตราการเต้นของหัวใจ การนอนหลับ ตัวตั้งเวลา การจับเวลา ค้นหาอุปกรณ์ ตั้งค่า
ทีนี้มาดูแยกย่อยไปในการนับก้าว เมื่อกดเข้ามาส่วนใหญ่จะเป็นการนับก้าวตลอดเวลา ถ้าต้องการหยุดก็ให้กดพักได้ และจะมีการแสดงผลจำนวนก้าวที่เดินในวันนี้ เป็นระยะทางเท่าใด เผาผลานพลังงานไปกี่กิโลแคลอรี นอกจากนี้ยังสามารถกดย้อนไปดูประวัติการเดิน รีเซ็ตจำนวนก้าวได้
ถัดมาในส่วนของการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ เมื่อกดแล้วตัวเครื่องจะใช้เวลาสักพักในการวัดอัตราการเต้น แต่ทั้งนี้การใส่นาฬิกาต้องอยู่ในตำแหน่งที่กำหนดไว้ด้วย เมื่อวัดเสร็จแล้วถ้าทำการซิงค์กับสมาร์ทโฟน ก็จะเก็บข้อมูลให้สามารถดูย้อนหลังได้
ส่วนของการออกกำลังกายจะมีให้เลือก 4 แบบ คือ การวิ่ง การเดิน ขี่จักรยาน และการเดินเขา ยกตัวอย่างการใช้งานเพื่อขี่จักรยาน ตัวนาฬิกาจำเป็นต้องเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนในเพื่อใช้ในการบันทึกพิกัด ซึ่งถ้าไม่มีก็จะวัดได้เพียงระยะเวลาที่ขี่ และดูการเต้นของหัวใจในจังหวะนั้นๆ
แต่ถ้ามีการเชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนขณะปั่นด้วยก็จะมีการบันทึกเส้นทางที่ปั่น ความเร็วเฉลี่ย ความเร็วสูงสุด ระยะเวลาต่อกิโลเมตรเฉลี่ย ระยะเวลาต่อกิโลเมตรสูงสุด รวมไปถึงอัตราการเต้นหัวใจเฉลี่ย และอัตรการเต้นของหัวใจสูงสุด แต่ทั้งนี้เท่าที่ทดลอง เมื่อใช้งานเสร็จแล้วที่ตัวกราฟบนสมาร์ทโฟนกลับไม่มีการบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจในขณะที่ออกกำลังแต่อย่างใด
สุดท้ายส่วนของการนอนหลับ เมื่อใส่ Gear Fit นอนเมื่อกดเริ่มตัวนาฬิกาจะคอยบันทึกเวลาการนอน และคอยตรวจจับการเคลื่อนไหวว่านอนหลับสนิทหรือไม่ มีการเคลื่อนไหวกี่นาที คิดเป็นกี่เปอเซนต์ ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวถ้าในอนาคตมีการพัฒนาตัวแอปพลิเคชันให้วิเคราะห์ข้อมูลได้มากกว่านี้ก็น่าจะกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพียงแต่ตอนนี้ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ยังน้อยอยู่
อีกเครื่องมือที่น่าสนใจคือการจับเวลา สามารถใช้เพื่อจับเวลาในแต่ละรอบ โดยการกดที่หน้าจอ และอีกโหมดคือนับเวลาถอยหลังได้ โดยทำการตั้งเวลาไว้และกดเริ่ม
นอกจากนี้ก็จะมีเครื่องมือการควบคุมมีเดีย ที่สามารถใช้สั่งเล่น/หยุด เพลง ภาพยนตร์ เลื่อนไปข้างหน้า ถอยหลังกลับ และปรับระดับเสียงได้ทันที ช่วยให้ในกรณีที่ฟังเพลงอยู่ต้องการเปลี่ยนเพลงก็ไม่ต้องหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมา หรือถ้าดูหนังหยุดแล้วต้องการหยุดโดยที่ไม่ต้องการหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาก็สามารถสั่งหยุดได้
ส่วนการค้นหาอุปกรณ์ เมื่ออยู่ในระยะที่เชื่อมต่อกับบลูทูธ สามารถกดที่ตัว Gear Fit เพื่อให้ตัวสมาร์ทโฟนส่งเสียงออกมาได้ กรณีที่ลืมวางไว้แล้วหาเครื่องไม่เจอ
ทีนี้มาดูถึงข้อมูลภายในตัวแอปฯของสมาร์ทโฟน หลักๆแล้วจะมีอยู่ 2 ส่วนคือ Gear Fit Manager ที่ตัวแอปฯ สามารถเลือกพื้นหลังเพื่อกดเปลี่ยนจากในแอปฯได้ รวมไปถึงเลือกรูปแบบการแสดงผล การจัดเรียงฟังก์ชันต่างๆภายใน Gear Fit และกำหนดการแจ้งเตือนต่างได้ด้วย
ส่วนใน S Health ถ้าทำการเชื่อมต่อกับ Gear Fit ก็จะมีการซิงค์ข้อมูลเข้าไปรวมอยู่ด้วย อย่างการนับก้าว ตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งถ้าขยันก็สามารถเข้าไปใส่รายละเอียดอื่นๆอย่างอาหารที่ทานเข้าไป บันทึกน้ำหนักในแต่ละวัน เพื่อใช้ควบคุมปริมาณแคลลอรี่ที่ได้ในแต่ละวัน
นอกจากนี้ ยังสามารถเข้าไปดูรายละเอียดการเดินในแต่ละวัน แต่ละชั่วโมงว่ามีการเดินช่วงไหนกี่ก้าว ระยะทางกี่กิโลเมตรได้ด้วย หรือในส่วนของการออกกำลังก็สามารถกดเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจากที่บอกไว้ก็จะมีแผนที่ระบุไว้ด้วย
ส่วนการนอนจะมีบอกระยะเวลาการนอนหลับทั้งหมด คิดเป็นระยะเวลาหลับสนิทกี่ชั่วโมง และระยะเวลาเฉลี่ยการนอนในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งสามารถกดเข้าไปดูการขยับตัวในแต่ละชั่วโมงย้อนหลังได้ด้วย
จุดขาย
- นาฬิกาข้อมมืออัจฉริยะ เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนตระกูล Galaxy เพื่อใช้ในการดูข้อมูลแจ้งเตือนได้
- รองรับการนับก้าว และวัดอัตราการเต้นของหัวใจ
- สามารถปรับเปลี่ยนธีมได้ และสายได้
ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่
- ถ้าต้องการใช้บันทึกระยะทาง หรือแผนที่ ต้องใช้งานคู่กับสมาร์ทโฟน เพราะไม่มี GPS ในตัว
- เวลาใส่นอนถ้ามีการตั้งเปิดหน้าจอแบบอัตโนมัติไว้ เมื่อมีการขยับตัวจะทำให้หน้าจอติดและสว่างขึ้นมารวบกวนการนอน
- การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ สามารถดูได้ขณะออกกำลังเท่านั้น ไม่สามารถกดดูรายละเอียดย้อนหลังได้
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป
โดยรวมแล้วถ้ามีการใช้งานสมาร์ทโฟนตระกูล Galaxy อยู่ และต้องการอุปกรณ์สวมใส่มาใช้งานเพื่อดูแลรักษาสุขภาพ Gear Fit ถือเป็น 1 ในอุปกรณ์ที่น่าสนใจ เพราะสามารถใช้งานเบื้องต้นได้ค่อนข้างครบ เพียงแต่ว่าในมุมของตัวแอปฯ เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาเพื่อให้วิเคราะห์ข้อมูลได้มากกว่านี้เพิ่มเติมในอนาคต รวมไปถึงถ้ามีการพัฒนาแอปฯที่สามารถนำมาใช้งานบน Gear Fit มากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจในการใช้งาน
ในแง่ของระยะเวลาการใช้งานทางซัมซุงเคลมว่าในการชาร์จ 1 ครั้ง จะสามารถใช้งานได้ราว 2-3 วัน หรือถ้าใช้งานไม่มากก็จะอยู่ได้ถึง 5 วันนั้น ก็พบว่าทำได้ตามที่เคลมไว้ เพราะถ้าใช้เฉพาะการแจ้งเตือน ดูเวลา และนับก้าวทั่วไป เท่าที่ลองก็สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง แต่ถ้ามีกิจกรรมออกกำลังกายด้วยก็จะทำให้เวลาในการใช้งานลดลง เพราะจะมีการวัดอัตราชีพจรตลอดเวลา
สุดท้าย ในการใช้งานเพื่อออกกำลัง ก็ต้องมีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า อัตราการเต้นของหัวใจมีความสำคัญอย่างไรในการออกกำลัง เพื่อให้สามารถใช้งานตัว Gear Fit ให้ได้ประโยชน์สูงสุด แต่ถ้าคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ก็มองผ่านแก็ตเจ็ตไฮเทคตัวนี้ไปก็ได้
Company Related Links :
Samsung
ตอนนี้ CyberBiz ของเราได้เปิด Instagram เพิ่มอีก 1 ช่องทาง ผู้อ่านทุกท่านสามารถไปกดติดตามได้ครับที่ http://instagram.com/cbizonline
CyberBiz Social