ในตลาดแท็บเล็ตขนาด 7 นิ้ว ต้องยอมรับว่าเอซุส ทำการบ้านมาได้ค่อนข้างดี เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยวางจำหน่ายทั้ง FonePad และ Nexus 7 สร้างยอดขายไปจนขึ้นมาติดอยู่ในระดับท็อบของแบรนด์พีซีที่หันมาทำตลาดแท็บเล็ตแอนดรอยด์
การต่อยอดของ FonePad 7 ในรุ่นนี้ก็ได้มีการปรับการออกแบบตัวเครื่องให้จับใช้งานได้สะดวกขึ้น พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ภายใน เข้าไปพร้อมๆกับนำฟังก์ชันเด่นๆที่พัฒนไว้ใช้งานกับโน้ตบุ๊กอย่างระบบเสียง ที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ มาร่วมใช้งานด้วย บนจุดขายที่สำคัญคือใช้เป็นโทรศัพท์ได้ด้วย ในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป
การออกแบบและสเปก
จุดเด่นสำคัญของ FonePad 7 คือการออกแบบตัวเครื่องให้มีความโค้งมน สร้างความโดดเด่นด้วยลวดลายที่ฝาหลังทั้งสีดำ และขาว ที่ให้พื้นผิวสะท้อนแสงเล็กน้อย กับขนาดที่ถือว่าพอดีมือ ด้วยขนาดรอบตัว 120 x 196.8 x 10.5 มิลลิเมตร น้ำหนัก 328 กรัม
ด้านหน้า - ที่โดดเด่นที่สุดคือหน้าจอ IPS ขนาด 7 นิ้ว ความละเอียด 1,280 x 800 พิกเซล โดยมีลำโพงพร้อมกับระบบเสียง Sonic Master อยู่ขอบบนและล่าง เพื่อช่วยเพิ่มพลังเสียง ลักษณะเดียวกับลำโพงของ HTC One ที่เรียกว่า BoomSound โดยมีกล้องหน้าความละเอียด 2 ล้านพิกเซล ไว้ให้ใช้งานวิดีโอคอลล์ และเซ็นเซอร์ตรวจวัดแสงอยู่ข้างๆกัน บริเวณลำโพงฝั่งที่มีกล้องจะใช้เป็นลำโพงโทรศัพท์ด้วย
ด้านหลัง - อย่างที่บอกไว้ว่าด้านหลังตัวเครื่องจะมีขอบมุมเครื่องที่โค้ง กับฝาหลังที่ให้ความเงาเล็กน้อย ซึ่งในส่วนนี้จะมีเพียงกล้องความละเอียด 5 ล้านพิกเซล และสัญลักษณ์เอซุส และอินเทล เพื่อบ่งบอกว่าแท็บเล็ตรุ่นนี้ใช้หน่วยประมวลผลของอินเทลเท่านั้น ตัวเครื่องไม่สามารถถอดฝาหลังได้ โดยมีขนาดแบตเตอรีอยู่ที่ 4,270 mAh
ด้านซ้าย - จะมีเพียงช่องใส่ไมโครซิมการ์ด ที่ต้องใช้เข็มในการจิ้มถาดซิมออกมา ด้านขวา - มีทั้งปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง ปรับระดับเสียง และช่องใส่ไมโครเอสดีการ์ด ซึ่งเสียดายที่ไม่มีฝาปิดมาให้ เวลากระแทกโดน หรือจับไม่ดีอาจทำให้การ์ดหลุดได้
ด้านบน - มีช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มม. ด้านล่าง - เป็นช่องเสียบไมโครยูเอสบีสำหรับชาร์จ และเชื่อต่อกับคอมพิวเตอร์ พร้อมช่องไมโครโฟนสนทนาโทรศัพท์อยู่ข้างๆกัน
อุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องจะมีตัวเครื่อง คู่มืออธิบาย เข็มจิ้มซิมการ์ด สายยูเอสบี และอะแดปเตอร์เท่านั้น ไม่มีหูฟังติดมาให้ด้วย
สำหรับสเปกของ Asus Fonepad 7 (K00E) มาพร้อมกับหน่วยประมวลผล Intel Atom Z2560 ที่เป็นดูอัลคอร์ 1.6 GHz ตัวเครื่องให้ RAM มา 1 GB พร้อมพื้นที่เก็บข้อมูลภายใน 8 GB / 16 GB (ตัวเครื่องที่ได้รับมาทดสอบเป็นรุ่น 16 GB) รองรับการใส่ไมโครเอสดีการ์ดเพิ่มเติม
ด้านการเชื่อมต่อ รองรับการใช้งาน 3G 850/900/1700/1900/2100 MHz ให้ความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุด 42 Mbps อัปโหลดสูงสุด 5.76 Mbps การเชื่อมต่อไวไฟ บนมาตรฐาน 802.11 a/b/g/n สามารถใช้เป็นไวไฟฮ็อตสป็อตได้ บลูทูธ 3.0 ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เวอร์ชัน 4.2.2 Jelly Bean
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
สำหรับอินเตอร์เฟสการใช้งานของ FonePad ก็แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากรุ่นเดิมมากนัก โดยเอซุส ยังคงจุดเด่นหลักๆของแอนดรอยด์อย่างการปรับแต่งหน้าจอหลักด้วยตนเองได้อยู่ โดยที่แถบล่างหน้าจอจะมีไอค่อนลัดสำหรับเรียกใช้งานแอปพลิเคชันอยู่ 6 ตัว ที่ผู้ใช้สามารถเลือกตั้งด้วยตนเองก็ได้ หรือถ้าเป็นตามที่ตั้งมาก็จะมีโทรศัพท์ รายชื่อ ข้อความ กล้อง สมุดจด และเว็บเบราว์เซอร์
แต่ก็ไม่ใชว่าไม่มีอะไรทีเพิ่มขึ้นจากแอนดรอยด์พท้นฐานปกติ เพราะในหน้าหลัก ถ้ากดปุ่มโฮมค้างไว้แล้วลาก จะสามารถเรียกใช้งานไอค่อนลัดอย่างปฏิทิน เครื่องคิดเลข สมุดจด อัลบั้มภาพ เว็บเบราว์เซอร์ หรือจะใช้แทนการปิดเสียง เรียกเมนูค้นหา โทรศัพท์ และเข้าสู่หน้าจอตั้งค่าก็ได้เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ก็ยังมีโหมดเรียกใช้งานแอปฯด่วนแบบที่แยกหน้าต่างออกมาใช้งานพร้อมกันด้วย จากลูกศรชี้ขึ้นที่อยู่บริเวณมุมซ้ายล่าง โดยจะเป็นการเปิดแท็บของแอปฯอย่างเครื่องคิดเลข เข็มทิศ พจนานุกรม เครื่องเล่นวิดีโอ นาฬิกานับถอยหลัง นาฬิกาจับเวลา ซึ่งสามารถเปิดได้พร้อมกันสูงสุด 6 แท็บ และแน่นอนว่าสามารถลากไปวางส่วนไหนของจอก็ได้
ส่วนของแถบการแจ้งเตือน จะมีไอค่อนลัดสำหรับตั้งค่าการเชื่อมต่อไวไฟ บลูทูธ อินเทอร์เน็ต ปรับเสียง จีพีเอส โหมดเครื่องบิน โหมดการอ่าน การส่งต่อหน้าจอ การหมุนหน้าจอ การซิงค์ข้อมูล ให้เลือกกดได้ทันที พร้อมๆกับไอค่อนเรียกหน้าการเชื่อมต่อไวไฟ ปรับโหมดเสียง Audio WiZard และ MiraCast ที่เป็นการแชร์หน้าจอไปยังอุปรณ์ที่รองรับในเครือข่ายเดียวกัน
โดยแอปพลิเคชันที่มีติดมาให้ในเครื่อง จะประกอบไปด้วย แอมะซอนคินเดิล เครื่องเล่นเพลง ตัวจัดการไฟล์ ตัวล็อกแอปฯ ปรับแต่งระบบเสียง เว็บเบราว์เซอร์ โซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ อีเมล บริการต่างๆจากกูเกิล แอปฯปรับสีหน้าจอ รวมภาพออกมาเป็นอัลบั้ม สมุดจดโน้ต ที่เก็บข้อมูลบนระบบคลวาด์ กล้องถ่ายภาพ ตัวช่วยประหยัดพลังงาน พจนานุกรม โหมดสำหรับผู้ปกครอง เป็นต้น
ในส่วนของการตั้งค่า ก็เป็นไปตามมาตรฐานของแอนดรอยด์ 4.2.2 ที่มีหัวข้อเข้าไปเลือกตั้งการเชื่อมต่อไวไฟ บลูทูธ การใช้งานดาต้า โทรศัพท์ ระบบเสียง หน้าจอ พื้นที่เก็บข้อมูล แบตเตอรี จัดการแอปพลิเคชัน จัดการพลังงาน การเปิดใช้งานโลเคชัน ความปลอดภัย การล็อกหน้าจอ บัญชีผู้ใช้ วันเวลา และรายละเอียดตัวเครื่อง
Splendid เป็นแอปที่เอาไว้ปรับอุณหภูมิสีของหน้าจอ ค่า Hue และ ความอิ่มแสง ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกปรับได้ตามความต้องการ โดยสามารถเลื่อนรูปตัวอย่างเพื่อปรับให้ตรงกับสภาพความสมจริงที่สุดก็ได้เช่นเดียวกัน
ระบบอื่นๆที่ให้มาก็จะมีแอปฯ สำรองข้อมูล ที่จะช่วยเก็บข้อมูลแอปฯลงไปบันทึกไว้ในไมโครเอสดีการ์ด เผื่อกรณีที่มีการอัปเดตเครื่อง หรือล้างเครื่องแล้วต้องการให้ข้อมูลคงอยู่ AO ลิงก์ เป็นระบบแชร์มัลติมีเดียไฟล์ภายในเครือข่าย โดยเป็นการดึงความสามารถของ DLNA มาใช้งาน
App Locker เป็นแอปฯที่ช่วยป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นๆ หรือช่วยป้องกันเด็กๆ ไม่ให้ใช้งานแอปฯที่ไม่เหมาะสม โดยผู้ใช้จะสามารถกำหนดรหัสผ่านไว้เพื่อป้องกันได้ทันที
หน้าจอเครื่องเล่นเพลงที่ให้มาจะมีการแสดงผลปกอัลบั้ม รวมไปถึงการดึงข้อมูลเพลงจากฐานข้อมูลมาให้ด้วย โดยจะมีแถบควบคุมอยู่ที่ด้านล่าง ซึ่งผู้ใช้สามารถฟีดแบคเพลงได้ว่าชอบหรือไม่ชอบ หรือถ้าต้องการแชร์เพลงไปยังโซเชียลเน็ตเวิร์กก็ได้เช่นเดียวกัน
ตัว Story จะเป็นเหมือนสมุดภาพ ที่ให้ผู้ใช้เลือกเลย์เอาท์ของหนังสือ เพื่อนำภาพที่ประทับใจมาวางเพื่อจัดรูปแบบสร้างความสวยงาม ซึ่งนำแผนที่มาใส่ประกอบไปด้วย และเขียนข้อความอธิบายได้ เหมาะสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการสร้างโฟโต้บุ๊กส่วนตัว
Super Note เป็นแอปฯ ที่เอซุสเลือกมาให้ใช้สำหรับเขียน หรือจดบันทึก ซึ่งจะสามารถใช้การป้อนข้อมูลได้ทั้งการ พิมพ์ผ่านคีย์บอร์ดเสมือนบนหน้าจอ หรือเลือกใช้นิ้ววาดก็ได้ นอกจากนี้ยังสามารถแทรกภาพถ่าย บันทึกเสียง วิดีโอ เวลา เข้าไปรวมได้เพื่อสะดวกในการบันทึกเรื่องราวต่างๆ
โหมดประหยัดพลังงานที่ให้มาในเครื่องจะมีให้เลือก 3 แบบ คือ โหมดประหยัดพลังงานพิเศษ ที่จะตัดการเชื่อมต่อเครือข่ายออกไปด้วย ถัดมาคือ โหมดที่ดีที่สุด โหมดนี้จะยังคงการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไว้ และสุดท้ายคือโหมดกำหนดเอง ที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปเลือกได้ว่า จะให้มีการซิงค์อีเมล ปรับความสว่างหน้าจอขณะใช้งานอ่านหนังสือ เล่นวิดีโอ ฟังเพลง ใช้เว็บเบราว์เซอร์ โทรศัพท์ การแจ้งเตือนแบบพุช เป็นต้น
ในส่วนของโหมดโทรศัพท์ เนื่องจากตัว FonePad ถือเป็นแท็บเล็ตที่โทรออกได้ ซึ่งทางเอซุส ก็ได้มีการนำระบบเดาเลขหมายมาให้ใช้ด้วย ประกอบกับหน้าจอขนาดใหญ่ใช้งานง่าย การรับสายทำได้โดยการลากจุดตรงกึ่งกลางไปทางขวา หรือถ้าต้องการตัดสายก็ให้ลากไปทางซ้าย ขณะสนทนาจะมีไอค่อนลัดสำหรับเปิดลำโพง ปิดไมค์ พักสาย เพิ่มสาย จดบันทึก และบันทึกการสนทนาได้
Flipboard เป็นแอปฯที่ให้มาเพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารที่ชื่นชอบจากหัวข้อต่างๆ ส่วนอีกอันที่น่าสนใจคือแอปฯอ่านอีบุ๊กต่างๆ เหมือนเปิดใช้งานโหมดอ่านหนังสือ จะมีการปรับความสว่างหน้าละ และพื้นหลังให้กลายเป็นสีซีเปีย เพื่อให้อ่านได้สบายตาด้วย
การใช้งานเว็บไซต์ จะมีมาให้ทั้งเว็บเบราว์เซอร์ของแอนดรอยด์ และโครม ซึ่งด้วยขนาดหน้าจอที่ใหญ่ ช่วยให้สามารถอ่านเว็บได้อย่างสบายๆ ความเร็วในการตอบสนองถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี ไม่มีอาการกระตุกหรือค้างเวลาซูม หรือขยายหน้าเว็บให้เห็นเท่าไหร่
โหมดกล้องถ่ายภาพ แม้ว่าจะให้กล้องหลักมาแค่ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล แต่ก็มีลูกเล่นในโหมดกล้องมาให้ใช้งานกันพอสมควร อย่างเช่นโหมดสีต่างๆ หรือฉากที่เหมาะสมอย่าง HDR โหมดบิ้วตี้ พาโนราม่า กลางคืน ลบวัตถุในภาพ เลือกช็อตที่ดีที่สุด และภาพเคลื่อนไหวแบบ GIF
ส่วนของการตั้งค่ากล้องก็จะมีให้ปรับทั้งสมดุลแสงขาว ค่าความไวแสง ระดับแสง ตั้งเวลาชัตเตอร์ เปิดโหมดถ่ายภาพต่อเนื่อง เลือกโหมดโฟกัส การตรวจจับใบหน้า เสียงชัตเตอร์ ตั้งค่าหน้าจอแสดงผล ให้เพิ่มความสว่างหน้าจออัตโนมัติ เลือกโชว์ภาพหลังถ่ายเป็นต้น
เมื่อถ่ายภาพเสร็จ จะมีโหมดให้เข้าไปปรับแต่งภาพ ซึ่งจะมีทั้งการครอบภาพในสัดส่วนต่างๆ สร้างเลเยอร์ ปรับแสง สี ก่อนที่จะแชร์ขึ้นโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ทันที
คีย์บอร์ดที่ให้มาถ้าใช้งานเฉพาะภาษาอังกฤษถือว่าโอเค แต่ด้วยระบบเดาคำศัพท์ ทำให้การใช้งานภาษาไทยค่อนข้างเพี้ยน จนบางทีไม่สามารถพิมพ์ข้อความต่อได้ ดังนั้นแนะนำให้โหลดคีย์บอร์ดตัวอื่นในเพลย์สโตร์มาใช้ดีกว่า
เมื่อทดลองเล่นเกมอย่าง Asphalt 8 ภาพที่ได้ถือว่าลื่นไหล ไม่ต่างกับเครื่องสเปกสูงราคาแพงรุ่นอื่นๆในท้องตลาด ดังนั้นในการใช้ต้อง FonePad 7 เชื่อว่ารองรับการใช้งานกราฟิกหนักๆได้สบายๆ
ในส่วนของผลการทดสอบ FonePad 7 ผ่านโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพบนแอนดรอยด์อย่าง Quadrant Standart และ Antutu ได้คะแนน 5,928 คะแนน และ 17,871 คะแนน ตามลำดับ หน้าจอรองรับการสัมผัส 10 จุดพร้อมกัน
ทดสอบการใช้งาน HTML 5 ผ่าน Vellamo ได้ 1,819 คะแนน ส่วนประสิทธิภาพตัวเครื่องได้ 607 คะแนน ทดสอบกราฟิกผ่าน Nenamark1 Nenamark2 60.6 fps An3dBench 7,798 คะแนน และ An3dBenchXL 39,224 คะแนน
ขณะที่การทดสอบด้วยโปรแกรม Passmark PerformanceTest Mobile ได้คะแนน System 2,920 คะแนน CPU 8,996 คะแนน Disk 4,061 คะแนน Memory 3,480 คะแนน 2D Graphics 2,472 คะแนน และ 3D Graphics 954 คะแนน
ส่วนการทดสอบ CF-Bench และ 3D Mark ดูรายละเอียดได้จากรูปด้านล่าง
จุดขาย
- แท็บเล็ตขนาด 7 นิ้ว จอ HD โทรศัพท์ได้
- ราคาไม่สูงเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพที่ได้
- โหมดอ่านหนังสือช่วยให้สามารถใช้งานได้แบบไม่ปวดตา
- ขนาดกำลังพอเหมาะกับการถือใช้งาน ไม่ใหญ่ หรือ เล็กจนเกินไป
ข้อสังเกต/ตอบจุดขายหรือไม่
- คุณภาพของกล้องยังไม่ค่อยคมชัดเท่าที่ควร
- วัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นพลาสติก ทำให้ดูบอบบางพอสมควร
- รุ่น 8 GB อาจมีพื้นที่เหลือให้ใช้งานไม่เพียงพอ ทำให้ต้องเพิ่มไมโครเอสดีการ์ดเอา
- ช่องใส่ไมโครเอสดีการ์ดไม่มีฝาปิด อาจหลุดหายได้ง่ายๆ
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป
ถ้ามองถึงในแง่ของภาพรวม FonePad 7 จะเหมือนเป็นรุ่นที่ออกมาโดยการอัปเดตฮาร์ดแวร์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น พร้อมๆกับการปรับแต่งระบบภายในให้มีความเสถียรมากขึ้น อาการแอปฯเด้งที่เคยมีให้เห็นในรุ่นก่อนหายไปทั้งหมด จึงเชื่อว่าจะกลายเป็นอีก 1 รุ่นที่ได้รับความนิยมของเอซุสแน่นอน
เมื่อมองไปถึงราคาจำหน่ายในรุ่น 8 GB ที่ 6,900 บาท และ 16 GB ที่ 8,500 บาท ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าของ FonePad 7 เพราะกับราคาไม่ถึง 1 หมื่นบาทแต่ได้แท็บเล็ตแอนดรอยด์ขนาด 7 นิ้ว ที่สามารถตอบสนองการใช้งานได้แทบทั้งหมด และยิ่งใช้เป็นโทรศัพท์ได้ด้วยจึงถือเป็นข้อได้เปรียบสำคัญของ FonePad 7 ในเวลานี้
Company Related Links :
ASUS