วันนี้ทีมงานไซเบอร์บิซได้รับแล็ปท็อปรุ่นฮิตจากเดลล์มาทดสอบให้ผู้อ่านได้รับชมกันอีกครั้งกับ Dell Inspiron 14R รหัส 5437 ที่ในครั้งนี้เป็นรุ่นปรับปรุงประสิทธิภาพใหม่โดยใช้ซีพียู Haswell (แฮสเวล) เป็นส่วนขับเคลื่อนหลักพร้อมหน้าจอสัมผัสและแบตเตอรีที่มากขึ้นกว่ารุ่นเก่าทั้งหมด
การออกแบบและสเปก
เดลล์ออกแบบ Inspiron เพื่อจับกลุ่มวัยรุ่นถึงวัยทำงานแรกรุ่น โดยบอดี้ทั้งหมดออกแบบในลักษณะ Brushed-aluminum ผสมพลาสติก
ในส่วนหน้าจอมีขนาด 14 นิ้วแบบ LED Backlit รองรับระบบสัมผัส 10 จุดพร้อมกัน มาพร้อมเทคโนโลยี Truelife ความละเอียด 1,366x768 พิกเซล น้ำหนักตัวเครื่องอยู่ที่ 2.3 กิโลกรัม หนาประมาณ 27.9-32.9 มิลลิเมตร และกล้องหน้าความละเอียด 1 ล้านพิกเซล สามารถทำวิดีโอคอลล์ที่ความละเอียด 720p ได้
ด้านคีย์บอร์ดเป็นคีย์บอร์ดมาตรฐานมาพร้อมคีย์ไทยและทัชแพดขนาดใหญ่รองรับ Gesture ร่วมกับ Windows 8 ส่วนปุ่มมัลติมีเดียและปุ่มเปิดปิดฟังก์ชันต่างๆ จะติดตั้งอยู่แถว F1 ทั้งหมด (คีย์สีน้ำเงิน) โดยเมื่อต้องการใช้ปุ่มฟังก์ชันเหล่านี้ ผู้ใช้ต้องกดปุ่ม Fn ค้างไว้
มาดูด้านหลังของแล็ปท็อปซึ่งถือเป็นจุดเด่นของ Dell Inspiron ก็คือสามารถถอดแบตเตอรี ฝาหลังส่วนล่างออกเพื่ออัปเกรด แรม ฮาร์ดดิสก์ และชุด Wireless LAN ได้ตามต้องการ โดยแบตเตอรีที่เดลล์ให้มาในรุ่นนี้มีขนาด 6 เซลล์ 65 WHr
ส่วนช่องเชื่อมต่อรอบๆ ตัวเครื่อง ด้านซ้ายจากซ้ายมือสุดของภาพคือ ช่องใส่สายล็อคเครื่องป้องกันขโมย ถัดมาเป็นช่องเชื่อมต่ออะแดปเตอร์ไฟบ้าน ช่องระบายความร้อน พอร์ต HDMI ช่องเสียบสายแลน พอร์ต USB3.0 2 ช่องและสุดท้ายช่องเชื่อมต่อหูฟัง/Headset ขนาด 3.5 มิลลิเมตร
มาดูที่ด้านขวาของเครื่องเริ่มจากซ้ายมือสุดของภาพเป็นพอร์ต USB 2.0 1 ช่อง และถาด DVD+/-RW
ส่วนด้านหน้าของเครื่อง ด้านซ้ายมือจะเป็นไฟแสดงสถานะการทำงานต่างๆ ตรงกลางเป็นช่องการ์ดรีดเดอร์รองรับ SD/MMC/MMC+/MS/MS Pro/MSXC และสังเกตด้านใต้ของเครื่องซ้ายขวาจะเป็นช่องลำโพงแบบสเตอริโอ
มาถึงสเปกของ Dell Inspiron 14R สำหรับซีพียูเดลล์เลือก Intel Core i5 4200U (2 Cores 4 Threads) ความเร็ว 1.60GHz รองรับ Turbo Boost ความเร็วสูงสุด 2.6GHz ซีพียูเป็นสถาปัตยกรรมใหม่ Haswell แบบ 64 บิต รองรับฟีเจอร์ Intel SpeedStep, Rapid Storage และระบบป้องกันขโมยบนซีพียู Anti-Theft Technology
ในส่วนแรมสำหรับรุ่นทดสอบนี้เดลล์ให้มา 6GB แบบดูอัล DDR3L ความเร็ว 1,600MHz (ทีมงานคาดว่ารุ่นที่วางขายจะให้แรมเริ่มต้นที่ 4GB)
ด้านกราฟิกเนื่องจากเป็นซีพียูในกลุ่มประหยัดพลังงาน (Ultra Low Voltage) ทำให้กราฟิกที่ติดตั้งมากับซีพียูเป็นรุ่น HD Graphics 4400 แทนรุ่น 5000 แต่ในส่วนฟีเจอร์ที่รองรับจะคล้ายกันคือ รองรับชุดคำสั่งกราฟิกใหม่ DirectX 11.1, OpenCL 1.2 และ OpenGL 4.0
สำหรับสเปกเครื่องอื่นๆ เริ่มจาก Wireless LAN จะใช้ Dell Wireless 1705 ส่วนพอร์ตแลน RJ45 รองรับความเร็วสูงสุด 10/100Mbps ฮาร์ดดิสก์ให้มาเริ่มต้น 500GB แต่รุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบใช้ฮาร์ดดิสก์ความจุ 750GB (WD Blue SATA 6Gb/s 5,400 รอบต่อนาที) และระบบปฏิบัติการที่ติดตั้งมาให้เป็น Microsoft Windows 8
ฟีเจอร์เด่น
Battery Option ในขณะที่ฮาร์ดแวร์ด้านแบตเตอรีเลือกใช้แบตขนาด 6 เซลล์ ด้านซอฟต์แวร์ก็มาพร้อมความสามารถในการปรับแต่งส่วนบริโภคพลังงานได้หลากหลายตั้งแต่ Dell Intelligent Display และ Extended Battery Life ที่ช่วยยืดอายุแบตเตอรีให้ใช้งานได้นานขึ้น โดยการควบคุมแสงสว่างหน้าจอไปถึงการเลือกใช้ความเร็วของซีพียูในการประมวลผลซอฟต์แวร์ต่างๆ นอกจากนั้นเดลล์ยังให้ฟีเจอร์ช่วยในการจัดการ Life Cycle ของแบตเตอรีให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมาด้วย
Dell Audio นอกจากลำโพงแบบสเตอริโอที่ให้มาแล้ว เดลล์ยังให้ซอฟต์แวร์จัดการเสียงมาให้ สามารถปรับ EQ และรูปแบบการใช้งานลำโพงได้ตามต้องการ
ทดสอบประสิทธิภาพ
3DMark 05 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 6,682 คะแนนบนความละเอียดหน้าจอ 1,366x768 + Shader Model 3
PCMark 7 คะแนนรวมที่ได้คือ 2,749 คะแนน แบ่งเป็นคะแนน Lightweight score = 1,425 คะแนน Productivity score = 939 คะแนน Creativity score = 5,455 คะแนน Entertainment score = 2,607 คะแนน Computation score = 13,668 คะแนน และ System storage score = 1,505 คะแนน
Cinebench R11.5 ในส่วนของการทดสอบด้วยการให้ซีพียูวาดภาพ 3 มิติผลคะแนนที่ได้คือ ในการใช้ซีพียูวาดคะแนนจะอยู่ที่ 2.45pts ส่วน OpenGL มีคะแนนอยู่ที่ 13.96 fps
HD Tach 3.0 ความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 85.8 MB/s ที่ Random access 28.3ms
ส่วนการรับชมภาพยนตร์คุณภาพ Blu-Ray 1080p สามารถทำได้ลื่นไหลและใช้ซีพียูไปประมาณครึ่งเดียวของทุกคอร์ ทำให้สามารถเปิดใช้งานซอฟต์แวร์อื่นๆ ระหว่างชมภาพยนตร์ได้อย่างไม่มีปัญหาติดขัด
ส่วนการทดสอบเล่นเกม 3 มิติใช้ 3 เกมหลักทดสอบได้แก่ Final Fantasy XIV ตัว Official Benchmark, Resident Evil 6 และ Street Fighter 4 พบว่าถึงแม้จะปรับต่ำอย่างไร HD Graphics 4400 ก็ให้ประสิทธิภาพแค่ใช้ได้ไม่ต่างกับ HD Graphics 4000 เกมทุกเกมกระตุก ยกเว้น Street Fighter 4 ที่พอเล่นได้
สุดท้ายกับการทดสอบแบตเตอรี 6 เซลล์ที่ได้ผลลัพท์น่าประทับใจอย่างมาก เพราะทีมงานสามารถใช้งาน Inspiron 14R ได้ยาวนานถึง 7-8 ชั่วโมง ถึงแม้จะเปิดซอฟต์แวร์ใช้งานอย่างหนักไม่ว่าจะเป็นฟัง Tunein Radio ตลอดการทดสอบ เล่นอินเตอร์เน็ตผ่าน USB Aircard และ WiFi สลับกัน รวมถึงหน้าจอที่ตั้งความสว่างไว้ประมาณ 60-70% ตลอดการทดสอบ ผลลัพท์ที่ได้น่าพอใจอย่างมาก
จุดขาย
- ตัวเครื่องสามารถอัปเกรด แรม ฮาร์ดดิสก์ได้ตามต้องการ
- หน้าจอสัมผัสได้ ตอบสนองไว
- แบตเตอรีใช้ได้นาน 7-8 ชั่วโมง ผลจาก Haswell CPU
- ได้ Windows 8 64 บิตแบบลิขสิทธิ์มาใช้
ข้อสังเกต
- ทัชแพดใช้ไม่ลื่นไหล (คาดว่าอาจเป็นที่ตัวเครื่องรุ่นทดสอบ หรือฮาร์ดแวร์ไม่สามารถทราบได้)
- วัสดุงานประกอบเป็นไปตามราคาเกินไป บางชิ้นเป็นรอยง่ายมาก
ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?
ด้วยความสามารถของซีพียู Haswell ทั้งเรื่องแบตเตอรีที่ประหยัดขึ้นไปถึงประสิทธิภาพด้านการประมวลผลส่งผลให้ Dell Inspiron 14R เป็นแล็ปท็อปที่ใช้งานประเภทออฟฟิซได้ดีขึ้นกว่า Inspiron รุ่นเก่าๆ ทั้งหมด เหมาะสำหรับผู้อ่านที่กำลังมองหาแล็ปท็อปมาใช้งานออฟฟิซเป็นหลัก Inspiron 14R เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะประสิทธิภาพเทียบกับราคา (เริ่มต้นตั้งแต่ 17,990-24,990 ตามสเปก) แล้วถือว่าใช้ได้
แต่ถ้าเน้นพกพาไปใช้งานนอกสถานที่ Dell Inspiron 14R อาจเป็นตัวเลือกที่ไม่ดีเพราะด้วยน้ำหนักที่มากถึง 2 กิโลกรัม (ยังไม่รวมอะแดปเตอร์ชาร์จไฟ) และความหนาตัวเครื่องที่มาก พกพาไปไหนมาไหนอาจไม่สะดวกนัก
ส่วนขาเกมเห็นสเปก HD Graphics 4400 แล้วคิดว่าจะดีกว่ารุ่นเก่า ขอให้คิดใหม่ครับ เพราะกราฟิกชิปรุ่นนี้เน้นใช้งานทั่วไปเท่านั้น (เช่นรองรับ การประมวลผลไฟล์วิดีโอขนาด 4K เป็นต้น) ซึ่งเล่นเกมถึงแม้จะรองรับชุดคำสั่งกราฟิกใหม่แต่ก็ทำผลงานได้ไม่ดีเลย
Company Related Link :
DELL
CyberBiz Social