xs
xsm
sm
md
lg

Review: Dell Latitude E6430u ละติจูดอัลตร้าบุ๊กสไตล์ เบา-บางลง แข็งแรงเหมือนเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ถ้าจะถามว่าโน้ตบุ๊กในกลุ่มธุรกิจ-องค์กรของเดลล์รุ่นไหนน่าสนใจที่สุด ชื่อของ Latitude คงติดอันดับต้นๆ เพราะด้วยวัสดุ การผลิตกับความแข็งแรงของบอดี้ทำออกได้ดีโดยตลอด ถึงแม้หน้าตาและน้ำหนักจะไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้ที่ต้องเดินทางไปไหนมาไหนบ่อยๆ ก็ตาม

แต่ในวันนี้เมื่อสินค้าในไลน์อัลตร้าบุ๊กกลับมาคึกคักอีกครั้ง เดลล์ก็ขอเพิ่มไลน์สินค้าในกลุ่ม Latitude เข้าไปอีกหนึ่งรุ่นกับ Latitude E6430u หรือจะเรียกว่าเป็น Latitude อัลตร้าบุ๊ก บาง-เบาที่ยังคงบอดี้แมกนีเซียมพันธุ์แกร่งไว้เหมือนเดิม


การออกแบบ




ความโดดเด่นของ Latitude E6430u ก็คือการลดน้ำหนักตัวลงเหลือ 1.69 กิโลกรัมพร้อมความบางเพียง 20.9 มิลลิเมตรกับวัสดุรอบตัวเครื่องทั้งหมดเป็น magnesium alloy มีความแข็งแรงสูง งานประกอบสามารถใช้งานกับสภาพอากาศที่เลวร้ายรวมถึงป้องกันการตกกระแทกได้ระดับหนึ่งตามแบบฉบับของโน้ตบุ๊กตระกูลนี้ - ได้รับการรับรอง MIL-STD-810G (United States Military Standard)



มาที่หน้าจอจะมีขนาด 14 นิ้ว ความละเอียด 1,366x768 พิกเซลเป็น Anti-Glare LED-backlight พร้อมกล้อง HD Webcam และไมโครโฟนที่มาพร้อมระบบตัดเสียงรบกวน




ในส่วนคีย์บอร์ดเป็นคีย์มาตรฐานแบบโน้ตบุ๊กทั่วไป มาพร้อม TrackPoint บริเวณกลางคีย์บอร์ดพร้อมไฟส่องสว่างใต้คีย์สำหรับใช้งานกลางคืน อีกทั้งตัวคีย์บอร์ดสามารถกันน้ำเข้าได้

ส่วน Trackpad บริเวณด้านล่างคีย์บอร์ดไม่สามารถคลิกซ้าย-ขวาบนแพดได้แบบเดียวกับโน้ตบุ๊กรุ่นใหม่ๆ แต่จะมีการแยกปุ่มคลิกซ้ายและขวาไว้ด้านล่างทำให้การใช้งานร่วมกับวินโดวส์ 8 จะทำได้ไม่ลื่นไหลนัก



สำหรับส่วนควบคุมเสียงจะติดตั้งอยู่บริเวณปุ่มปิด-เปิดเครื่อง พร้อมลำโพงสเตอริโอ 2 ข้างให้เสียงดังฟังชัด



มาที่ด้านหลังของ E6430u จะมีช่องระบายความร้อน และยางรองกันลื่น 4 มุมพร้อมโลโก้ Windows 8 Pro ส่วนด้านล่างจะเป็นช่องใส่แบตเตอรี โดยแบตเตอรีที่ให้มากับ E6430u จะเป็นแบตเตอรี Li-polymer 3 เซลล์ (36Whr) ที่มาพร้อมเทคโนโลยี Express Charge สามารถอัปเกรดเป็นแบตเตอรี 6 เซลล์ได้

อีกทั้งเมื่อถอดแบตเตอรีออกจะเห็นช่องใส่ซิมใหญ่ปกติเพื่อให้โน้ตบุ๊กสามารถใช้งาน DATA Internet ได้ แต่จากการทดสอบทีมงานไม่สามารถใช้งานได้และไม่พบฮาร์ดแวร์เกี่ยวกับตัวอ่านซิมการ์ดโทรศัพท์ใดๆ ในระบบเลย

พอร์ตเชื่อมต่อรอบตัวเครื่อง



ด้านซ้ายของตัวเครื่อง จากซ้ายสุดของภาพจะเป็น A/C Port สำหรับเสียง Adapter ชาร์จไฟ - พอร์ต D-Sub สำหรับเชื่อมต่อกับโปเจคเตอร์และจอภาพแบบเก่า - USB 3.0 1 พอร์ต - headphone/Microphone Combo port ขนาด 3.5 มิลลิเมตร 1 พอร์ต - สวิตซ์ปิด-เปิด Wireless LAN



มาที่สันเครื่องนอกสุดจะเป็นที่อยู่ของช่องระบายความร้อนขนาดใหญ่พร้อมพอร์ต Conbo eSATA/USB 1 พอร์ต และ HDMI ขนาบข้างอยู่



ส่วนด้านขวามือจะประกอบด้วยจากซ้ายสุดเป็น ช่องอ่านการ์ดความจำ SD Card - USB 3.0 ที่สามารถจ่ายไฟให้กับสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตได้ - พอร์ต Ethernet RJ45 (รองรับความเร็ว 10/100/1000 Gigabit) และสุดท้ายเป็น Security Lock slot

สเปก




Dell Latitude E6430u รุ่นที่ทีมงานได้รับมาทดสอบ มาพร้อมหน่วยประมวลผล Intel Core i5 3427U 2 คอร์ 4 Threads ความเร็ว 1.80GHz โดยเมื่ออยู่ในสถานะ Turbo Boost จะมีความเร็วสูงสุดที่ 2.8GHz

ในส่วนแรม DDR3 ที่ให้มาจะมีขนาด 8GB (อัปเกรดได้สูงสุด 16GB) กราฟิกออนชิป Intel HD Graphics 4000 แชร์แรมกราฟิกจากระบบมา 2GB มาพร้อมปฏิบัติการ Windows 8 Pro เป็นส่วนขับเคลื่อนหลัก



สำหรับสเปกอื่นๆ ใน Dell Latitude E6430u ด้านหน่วยเก็บข้อมูลจะใช้เป็น SSD จากซัมซุงความจุ 120GB พร้อมเทคโนโลยี Intel Rapid Start และ Smart Connect ส่วนชิปไวเลสที่ทางเดลล์เลือกใช้จะเป็นรุ่น Centrino Ultimate-N 6300 พร้อมบลูทูธ 4.0

จุดขาย


Dell SmartSettings ตามแบบฉบับของ Latitude จะต้องแถมปุ่มลัดปรับการแสดงผลภาพสำเร็จรูป โดยจะแบ่งเป็น Outdoor Mode Presentation Mode และ Video Mode



Dell Battery สำหรับใช้ดูพลังงานแบตเตอรีคงเหลือพร้อมเมนูปรับแต่งการใช้พลังงาน มีให้เลือกตั้งแต่ Standard ใช้งานปกติ ExpressCharge ระบบชาร์จแบบเร่งด่วน Adaptive ระบบจะปรับใช้พลังงานอย่างเหมาะสมให้เหมาะแก่การใช้งานแต่ละรูปแบบ และ Primarily AC Use หรือต่อใช้ไฟบ้าน


MaxxAudio Dell Latitude E6430u เรียกใช้บริการส่วนประมวลผลเสียงจาก MAXXAudio มาหลายรุ่น ซึ่งฟีเจอร์เด่นของซอฟต์แวร์นี้ก็คือ DSP ปรับเสียงที่สามารถเลือกให้ตรงกับการใช้งานและยังมาพร้อมส่วนควบคุมการปรับเสียงเบส (MaxxBass) และไดนามิกของเสียงได้อย่างละเอียดที่สามารถใช้งานได้จริง


Dell Backup and Recovery หรือซอฟต์แวร์สำหรับใช้แบ็คอัพและเรียกคืนทั้งวินโดวส์เมื่อระบบล่ม รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับใช้อัปเดตซอฟต์แวร์ระบบด้วย

ทดสอบประสิทธิภาพ

**การทดสอบในครั้งนี้ไม่สามารถรันโปรแกรม PCMark 7 เนื่องจากปัญหาของระบบไม่เข้ากับซอฟต์แวร์**


3DMark 05 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 8,089 คะแนนบนความละเอียดหน้าจอ 1,366x768 + Shader Model 3


3DMark 06 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 5,715 คะแนนโดยแบ่งเป็นคะแนน Shader Model 2 = 1,871 คะแนน, HDR/Shader Model 3 = 2,474 คะแนน ส่วนคะแนนประมวลผลซีพียูจะอยู่ที่ 3,245 คะแนน ที่ความละเอียด 1,280x768 พิกเซล


Cinebench R11.5 x64 ในส่วนของการทดสอบด้วยการให้ซีพียูวาดภาพ 3 มิติผลคะแนนที่ได้คือ ในการใช้ซีพียูวาดคะแนนจะอยู่ที่ 2.56pts ส่วนกราฟิกแบบ OpenGL จะอยู่ที่ 16.97fps


HD Tach 3.0 มาที่การทดสอบฮาร์ดไดร์ฟหลักจะมีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 284.8 MB/s ที่ Random access 0.1ms


ในส่วนการทดสอบรับชมภาพยนตร์นามสกุล mkv เข้ารหัสแบบ Blu-ray พบว่าซีพียูทำงานไม่หนักมาก ทำให้สามารถเปิดซอฟต์แวร์อื่นๆ เล่นควบคู่ไปด้วยได้อย่างสบายๆ


สำหรับการทดสอบเล่นเกมจากการทดสอบด้วยชุดทดสอบ Final Fantasy XIV เดิมๆ พบว่า Dell Latitude E6430u ได้คะแนนผลทดสอบที่ดีกว่าอัลตร้าบุ๊กรุ่นอื่นๆ แต่ก็ยังไม่ลื่นไหลพอจะเล่นเกมที่คุณภาพกราฟิกสูงๆ ได้อยู่ดี


สุดท้ายกับการทดสอบฟังเพลงจากลำโพงสเตอริโอที่ติดตั้งมากับโน้ตบุ๊กพบว่าเสียงที่ได้ออกโทนกลางๆ เสียงดัง ฟังชัด และตัวลำโพงยังรองรับเสียงเบสที่สามารถปรับขึ้นได้จากซอฟต์แวร์ MaxxAudio โดยเพิ่มเบสมากๆ แล้วเสียงไม่แตกแต่อย่างใด

ตอบจุดขายหรือไม่/ฟันธง! ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไป?

ในตอนนี้ทีมงานยังไม่ทราบราคาขายในไทยสำหรับ Dell Latitude E6430u ทำให้ไม่สามารถฟันธงเรื่องความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่เสียไปได้ แต่ถ้าดูจากการทดสอบและวัสดุประกอบทั้งหมด ทีมงานยังคงเชื่อเรื่องความแกร่งในแบบฉบับเดลล์ Latitude อยู่ โดยเฉพาะโครงสร้างบอดี้ที่เรียกว่าแข็งแรงหายห่วงเหมาะกับผู้ใช้ที่เดินทางไปไหนมาไหนบ่อยๆ แถมสเปกซีพียูและแรมที่ให้มาก็มากพอที่จะใช้งานซอฟต์แวร์หนักๆ ได้ระดับหนึ่ง รวมถึงการออกแบบกับความบางและน้ำหนักที่น้อยลงจากรุ่นก่อนหน้ามากพอสมควร

ส่วนปัญหาและข้อบกพร่องคงตกไปอยู่ที่เรื่องของหน้าจอที่ไม่สามารถสัมผัสได้ ทำให้เมื่อใช้ร่วมกับวินโดวส์ 8 แล้วใช้งานได้ไม่ลื่นไหลเหมือนกับอัลตร้าบุ๊กรุ่นอื่นๆ ที่วางขายในท้องตลาดปัจจุบัน อีกทั้งหน้าจอ Anti-Glare ไม่มีกระจกหรือวัสดุกั้นการกด-สัมผัสและกระแทก ทำให้เวลาใช้งานต้องระวัดระวังอย่าเผลอให้วัสดุใดๆ ไปกระแทกหรือสัมผัสกับจอโดยตรง

Company Related Link :
Dell






กำลังโหลดความคิดเห็น