xs
xsm
sm
md
lg

Review : HP Envy4 Sleekbook ฉีกจากยุคสมัยเดิมๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




ไลน์สินค้าใหม่ของเอชพีในคราวนี้ถือเป็นการเดิมพันครั้งใหม่ของเอชพี ในตลาดคอมพิวเตอร์พกพา หลังจากประสบปัญหาอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา เนื่องมาจากการประกาศแยกหน่วยธุรกิจของบริษัท ทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในแบรนด์ ซ้ำร้ายเจอผลกระทบจากน้ำท่วม ทำให้สินค้าเข้าสู่ตลาดช้าออกไปด้วย

HP Envy 4 Sleekbook เป็นหนึ่งในรุ่นที่เอชพี หวังออกมาแก้เกมในตลาดโน้ตบุ๊กระดับราคา 2 หมื่นบาทขึ้นไป ซึ่งด้วยตัวซับแบรนด์ของ Envy ที่เอชพีสร้างขึ้นมาก่อนหน้านี้ ก็ทำให้ผู้บริโภครับรู้ถึงประสิทธิภาพเครื่องได้ในระดับหนึ่ง การมาครั้งนี้จึงถือเป็นการเข้ามาตอกย้ำภาพลักษณ์แบรนด์ Envy ให้เด่นขึ้นด้วยดีไซน์ และประสิทธิภาพของตัวเครื่อง แถมยังตอกย้ำคุณภาพเสียงด้วย Beats Audio

การออกแบบ



ความรู้สึกแรกสัมผัสของ Envy 4 Sleekbook เปรียบเสมือนจับโน้ตบุ๊กระดับไฮเอนด์ ที่มีความหรูหรา น่าดึงดูดอยู่ในตัว จากวัสดุที่เป็นอะลูมิเนียมรอบตัวเครื่อง ทำให้ตัวเครื่องดูแข็งแรง ผสมผสานไปกับดีไซน์ที่มีการปรับปรุงใหม่ให้ดูบางขึ้น ไม่บอบบางเป็นพลาสติกเหมือนสมัยก่อน โดยตัวเครื่องมีขนาดอยู่ที่ 339 x 235 x 19 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1.8 กิโลกรัม

เอชพีพยายามเล่นสีตัวเครื่องให้ออกเป็น 2 โทน คือ สีดำตัดแดง อย่างที่นำมารีวิว และอีกรุ่นหนึ่งคือสี ดำตัดน้ำเงิน ซึ่งด้วยการออกแบบใหม่นี้ จะทำให้ลายนิ้วมือไม่ติดไปยังพื้นผิวมากนัก โดยบริเวณฝาตัวเครื่องจะมีเพียงโลโก้เอชพี สีเงินอยู่ที่มุมซ้ายล่างเท่านั้น ส่วนบริเวณอื่นจะปล่อยโล่งให้ความรู้สึกที่เรียบหรูนั่นเอง



เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาจะพบกับหน้าจอขนาด 14 นิ้ว ที่เอชพีใช้ชื่อเทคโนโลยีในการแสดงผลว่า HD BrightView LED-backlit ให้ความละเอียดหน้าจอสูงสุด 1,366 x 768 พิกเซล ซึ่งบริเวณขอบบนหน้าจอไล่ตั้งแต่ฝั่งขวาจะมีสัญลักษณ์ของ beats audio ตรงกลางมีกล้องวิดีโอคอลล์ ที่ใช้ชื่อเทคโนโลยีว่า TrueVisionHD และมุมขวาระบุชื่อรุ่น Envy



ขณะเดียวกันล่างหน้าจอตรงกึ่งกลางยังมีโลโก้ของเอชพีติดอยู่ ถัดลงมาเป็นข้อต่อระหว่างหน้าจอและตัวเครื่อง ซึ่งยึดเฉพาะมุมฝั่งซ้าย และขวาเท่านั้น ซึ่งตรงกลางระหว่างข้อต่อจะเป็นแผงลำโพง โดยมีปุ่มเปิดเครื่องอยู่ฝั่งซ้าย และสัญลักษณ์ beats ตอกย้ำอยู่ฝั่งขวา



ถัดลงมาในส่วนของคีย์บอร์ดใช้คีย์บอร์ดขนาดมาตรฐาน ที่มีการฝั่งไฟไว้ใต้ปุ่มทำให้สามารถใช้งานตอนกลางคืนได้ด้วย ทั้งนี้ในส่วนของปุ่ม F1 - F12 ที่อยู่ข้างบน จะถูกเปลี่ยนรูปแบบการกดปกติ ไม่เป็นปุ่มควบคุมเครื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปรับความสว่างหน้าจอ ควบคุมการใช้งานมัลติมีเดีย เพิ่มลดเสียง เปิด-ปิดไวเลสเป็นต้น ถ้าต้องการใช้งาน F ต่างๆก็ต้องกดพร้อมกับปุ่ม Fn แทน

ในส่วนของเมาส์แพด ตัวเครื่องใส่ระบบให้รองรับการใช้งานแบบมัลติทัชมาด้วย แต่ทั้งนี้ยังมีการแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับเป็นปุ่มคลิกเมาส์ซ้าย-ขวา ตามปกติ ความเร็ว และความลื่นไหลในการใช้งานทำได้ค่อนข้างดี ไม่มีอาการหนืดๆให้เห็น



หลังเครื่องซึ่งไม่เข้าใจว่าจะทำให้ส่วนนี้เป็นสีๆไปทำไม เพราะเวลาใช้งานจริงๆพื้นที่ส่วนนี้ก็ถูกวางลงไปบนโต๊ะ แต่ทั้งนี้ก็ถือว่าทำได้แปลกแหวกแนวดี และอย่างที่บอกไปว่าจะมีรุ่นที่เป็นสีน้ำเงินด้วย ดังนั้นก็ถือเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคเลือกใช้งานเล็กๆ อย่างไรก็ตามเนื่องจากใช้การปิดฝาหลังแบบทั้งแผ่น ทำให้รอบๆเต็มไปด้วยช่องไขน็อต โดยมีช่องระบายอากาศวางเป็นแนวยาวอยู่ส่วนท้ายเครื่องเท่านั้น ที่เหลือก็จะเป็นการใส่รายละเอียดต่างๆของเครื่อง



ที่น่าสนใจ และถือเป็นจุดที่เพิ่มความหรูหราให้แก่เครื่องคือขอบหลังของเครืองที่มีการสลักอักษร HEWLETT - PACKARD ที่แฝงไปด้วยความขลัง บนพื้นที่สีดำเรียบๆ และเป็นการตอกย้ำแบรนด์ของเอชพี ให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง




ขณะที่พอร์ตรอบๆตัวเครื่องทางฝั่งซ้ายประกอบไปด้วยช่องเสียบสายแลนที่ถ้าไม่ใช้งานจะมีสปริงเด้งใหกลับมาแนบกับตัวเครื่อง พอร์ต HDMI พอร์ตยูเอสบี ช่องอ่านการ์ด และไฟแสดงสถานะการทำงาน ส่วนฝั่งขวา เป็นช่องเสียบสายชาร์จ พอร์คยูเอสบีอีกหนึ่งพอร์ต ช่องเสียบหูฟัง ไมโครโฟน และช่องล็อกโน้ตบุ๊กตามมาตรฐาน

ในส่วนของการเชื่อมต่อไร้สายจะมีทั้ง ไวเลส มาตรฐาน 802.11 b/g/n บลูทูธ รองรับเทคโนโลยี Intel Wireless Display (WIDI)

ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ



สำหรับฟีเจอร์ที่ให้มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 7 ที่น่าสนใจเป็นอันดับแรกคงหนีไม่พ้น HP Support Assistant ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถบำรุงรักษาการใช้งานเครื่องได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันยังมีข้อมูลและการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นให้ได้เข้าไปอ่านหาความรู้กัน




เบื้องต้นของส่วนนี้เลยคือระบบการอัปเกรดระบบปฏิบัติการและไดร์ฟเวอร์ต่างๆของตัวเครื่อง ถัดมาถือการปรับปรุงระบบให้ใช้งานได้ดีอย่างต่อเนื่อง จากการตั้งเวลาในการเข้าไปลบแคช หรือข้อมูลที่ฝั่งในระบบซึ่งไม่จำเป็นต้องเก็บไว้



นอกจากนี้ยังสามารถใช้เข้าไปเพื่อดูข้อมูลรายละเอียดของตัวเครื่องได้ ในกรณีที่ซื้อเครื่องใหม่ และต้องการเช็คสเปกภายในตัวเครื่องตัวซอฟต์แวร์นี้ก็ช่วยได้เหมือนกัน



ขณะที่ HP Security Assistant ถือเป็นระบบที่ช่วยเข้ามาจัดการในแง่ของการป้องกันความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการเตือนให้อัปเกรดแอนตี้ไวรัส การสำรองข้อมูล การจัดการบัญชีผู้ใช้ และรหหัสผ่าน



HP SimplePass ถือเป็นระบบที่ใช้เพื่อจดจำรหัสผ่านในการเข้าใช้งานเว็บไซต์ต่างๆ โดยเบื้องต้นในการใช้งานระบบนี้ ตัววินโดวส์จะบังคับให้มีการตั้งรหัสผ่านในการปลดล็อกเครื่องเสียก่อน หลังจากนั้นถึงเข้าใช้งานได้ โดยภายในผู้ใช้สามารถบันทึกรหัสอย่างอีเบย์ อเมซอน อีเมล การเข้าใช้งานเครือข่ายสังคมต่างๆได้



โดยในส่วนของการตั้งค่า ผู้ใช้สามารถนำเข้าข้อมูลจากเครื่องรุ่นเก่าที่เคยใช้ หรือจะส่งออกข้อมูลไปใช้กับเครื่องอื่นก็ได้ เสมือนเป็นการบันทึกข้อมูลตัวตนในการเข้าใช้งานให้พกติดตัวไปได้ด้วย



ระบบ CoolSense ถือเป็นระบบการควบคุมการทำงานของพัดลม และระบบระบายอากาศที่เอชพีภูมิใจนำเสนอ เนื่องจากตัวเครื่องจะทำการตรวจสอบสภาพอากาศรอบเครื่อง และปรับความแรงของพัดลม เพื่อควบคุมความร้อนของตัวเครื่อง



Launch Box ถือเป็นระบบที่รวมไอค่อนลัดในการใช้งานต่างๆ ขึ้นมาไว้บนแถบล่างของวินโดวส์ ให้เข้าไปเลือกใช้งานได้ โดยจะแบ่งเป็น 3 กล่องหลักๆคือ โปรแกรมของวินโดวส์ ไลฟ์ต่างๆ ถัดมาคือโปรแกรมของเอชพีที่แนะนำให้ใช้ และมีลงอยู่ในเครื่อง สุดท้ายคือผู้ใช้สามารถเลือกโปรแกรมต่างๆที่ใช้งานบ่อยๆเข้ามาไว้ได้



โดยในการตั้ง Launch Box จะสามารถเลือกโปรแกรมเข้ามาใช้งานได้ 8 แอปพลิเคชัน โดยใช้การลากจากฝั่งซ้ายมาไว้ทางฝั่งขวา เลือกลบได้โดยการกดปุ่มกากบาทด้านหลัง



HP Power Manager เป็นระบบควบคุมการใช้พลังงาน โดยมี 3 รูปแบบให้ได้เลือกใช้กันคือ ประหยัดพลังงาน ค่าที่แนะนำ และประสิทธิภาพสูง ซึ่งตัวโปรแกรมจะเข้าไปจัดการปรับแต่งระบบอย่างการปรับความสว่างหน้าจอ จำกัดความเร็วในการประมวลผล เพื่อให้ใช้งานแบตเตอรีได้ยาวนานขึ้นเป็นต้น



สุดท้าย HP Recovery Manager โปรแกรมที่ช่วยเหลือในส่วนของการเรียกข้อมูลกลับคืน โดยประยุกต์การทำงานร่วมกับระบบ System Recovery ของไมโครซอฟท์ที่มากับวินโดวส์ 7 แต่ที่พิเศษคือสามารถสำรองข้อมูลไดร์ฟเวอร์ต่างๆในตัวเครื่องได้ด้วย



โดยเมื่อเลือกเข้ามาภายใน Drivers and Applications Reinstall จะมีรายละเอียดของไดร์ฟเวอร์ต่างๆ ที่จำเป็นกับตัวเครื่องให้เลือกลงใหม่ได้ทันที

ตรวจสอบสเปก



สำหรับสเปกภายในของเครื่อง HP Envy 4 Sleekbook มาพร้อมกับหน่วยประมวลผล 2nd Gen Intel Core i3-2367M ซึ่งถือเป็นรุ่นราคาเริ่มต้น แต่จากข้อมูลภายในเว็บไซต์ระบุว่าโมเดลดังกล่าวสามารถใช้หน่วยประมวลผลรุ่นใหม่ๆอย่าง 3rd Gen ได้ โดยเครื่องรุ่นนี้เป็นซีพียูความเร็ว 1.4 GHz ทำงานแบบ 2 Core 4 Threads เมื่อใช้งานเครื่องทั่วๆไป ความเร็วจะปรับลงมาอยู่ที่ราว 799 MHz



ขนาดของ L1 D-Cache อยู่ที่ 32 KB x2 เช่นเดียวกับ L1 I-Cache ส่วน L2 Cache อยู่ที่ 256 KB x2 และ L3 Cache อยู่ที่ 3 MB ตัวเมนบอร์ดเป็นรุ่น 1894 ใช้ชิปเซ็ต Sandy Bridge โดยมี Southbridge ID1E57 ขณะที่ RAM ที่ให้มาเป็น DDR3 ขนาด 2 GB 800MHz โดยใช้การ์ดจอออนบอร์ด Intel HD 3000

ทดสอบประสิทธิภาพ



PCMark05 แบ่งเป็น CPU 4,122 คะแนน Memory 4,710 คะแนน Graphics 3,093 คะแนน ส่วนคะแนนฮาร์ดดิสก์ไม่สามารถประมวลผลออกมาได้ ทำให้ไม่ได้คะแนนรวม



PCMarkVantage ได้คะแนนรวม 3,781 คะแนน แบ่งเป็น Memories 2,507 คะแนน TV and Movie 2,823 คะแนน Gaming 2,765 คะแนน Music 3,707 คะแนน Communications 3,337 คะแนน Productivity 3,328 คะแนน และ HDD 3,378 คะแนน



PCMark07 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 1,560 คะแนน แบ่งเป็น Lightweight 1,283 คะแนน Productivity 873 คะแนน Creativity 2,986 คะแนน Entertainment 1,635 คะแนน Computation 5,013 คะแนน System Storage 1,396 คะแนน ส่วน Secondary Storage ไม่สามารถคำนวนได้



3DMark 06 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 3,083 คะแนนโดยแบ่งเป็นคะแนน Shader Model 2 = 1,069 คะแนน, HDR/Shader Model 3 = 1,288 คะแนน ส่วนคะแนนประมวลผลซีพียูจะอยู่ที่ 1,669 คะแนน ที่ความละเอียด 1,280x768 พิกเซล



3DMark Vantage ได้คะแนนรวม P1194 คะแนน แบ่งเป็น GPU 961 คะแนน และ CPU 4,392 คะแนน



Cinebench R11.5 x64 ในส่วนของการทดสอบด้วยการให้ซีพียูวาดภาพ 3 มิติผลคะแนนที่ได้คือ ในการใช้ซีพียูวาดคะแนนจะอยู่ที่ 1.26 pts ส่วนกราฟิกแบบ OpenGL จะอยู่ที่ 7.59 fps



HDTune Pro ทดสอบอัตราการรับส่งข้อมูลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 77.2 MB/s ใช้เวลาในการเข้าถึงข้อมูล 20ms โดยใช้ฮาร์ดดิสก์ของฮิตาชิ ความจุ 500 GB



HDTach ได้ความเร็วในการอ่านข้อมูลสูงสุดที่ 204.6 MB/s เฉลี่ยอยู่ที่ 83.3 MB/s และมีอัตราการเข้าถึงข้อมูลอยู่ที่ 19.5 ms

x264 HD BENCHMARK 3.0 ในส่วนของการทดสอบการถอดรหัสไฟล์วิดีโอความละเอียด 720p จะได้ค่าดังต่อไปนี้




ทดสอบการใช้งานแบตเตอรี ด้วยการเปิดใช้รับชมภาพยนตร์ความละเอียดสูง เปิดเสียงดังสุด และใช้ความสว่างหน้าจอสูงสุด สามารถใช้งานต่อเนื่องได้ราว 3 ชั่วโมง แต่กลับกันถ้าใช้งานทั่วๆไป สามารถอยู่ได้ราว 4-5 ชั่วโมง



ขณะที่ความร้อนของตัวเครื่อง เมื่อเปิดใช้งานระบบ Cool Sense และใช้งานเครื่องในการประมวลผลหนักๆ ซีพียูจะร้อนสูงสุดอยู่ที่ราว 75 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิการใช้งานเฉลี่ยจะอยู่ราว 50 องศาเซลเซียส



คะแนนจาก Windows 7 Score ได้รวมที่ 4.5 คะแนน




Game Benchmark ในการทดสอบกับเกมสเปกสูงๆ อย่าง Final Fantasy XIV ได้ 521 คะแนน และ Resident Evil ได้ 21.2 FPS ซึ่งจากคะแนนดังกล่าว แนะนำว่านำเครื่องมาใช้ทำงาน และใช้งานทั่วไปดีกว่า นำมาเล่นเกมที่ใช้ประสิทธิภาพเครื่องสูงๆ ไม่งั้นเกิดอาการหงุดหงิดแน่นอน

ความคุ้มค่า

การกลับมาครั้งนี้ของเอชพี ถือว่าทำผลิตภัณฑ์ออกมาได้น่าสนใจ ทั้งในแง่ของการออกแบบที่ตอกย้ำความเป็นแบรนด์ Envy และจากคุณภาพของตัวเครื่องที่ดูดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในระดับราคาที่ไม่สูงมากนัก และเชื่อว่าถ้ามีการนำสินค้ารุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดเร็วขึ้นจะเรียกความนิยมในตลาดกลับมาก็ไม่ใช่เรื่องยาก

ข้อสังเกต

การทำราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 24,900 บาท แต่ใช้หน่วยประมวลผล 2nd Gen Core i3 ทำให้ประสิทธิภาพในการใช้งานค่อยข้างต่ำ เหมาะกับการใช้งานแนวนักธุรกิจ จัดการเอกสาร ท่องเว็บไซต์ ที่รองรับการใช้งานมัลติมีเดียได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เหมาะกับการใช้งานหนักๆอย่างทำรูปภาพความละเอียดสูงๆ หรือ ตัดต่อวิดีโอคลิป

สรุป

HP Envy Sleekbook ถือเป็นหนึ่งในโมเดลของโน้ตบุ๊กที่น่าสนใจในตลาด เพียงแต่ต้องเลือกใช้งานในรุ่นที่ประสิทธิภาพสูงหน่อย เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานได้ครบเครื่อง เพราะจากความสามารถของ i3 ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานที่ค่อนข้างเยอะ ถ้าให้ดีเลือกเป็น i5 หรือ i7 จะคุ้มค่ากว่า เพราะถ้ามองในแง่ดีไซน์และการออกแบบแล้วดีขึ้นกว่าสมัยก่อนค่อนข้างมาก

Company Related Links :
HP













กำลังโหลดความคิดเห็น