ความหวังของอินเทลที่ต้องการให้อัลตร้าบุ๊กเข้ามากลืนกินสัดส่วนในตลาดไฮเอนด์โน้ตบุ๊ก เริ่มคืบคลานเข้ามามากขึ้นหลังจากที่เหล่าผู้ผลิตคอมพิวเตอร์ เริ่มให้ความสำคัญกับเทรนด์ของโน้ตบุ๊กบาง เบา เดลล์ ถือเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ขอเข้ามาร่วมในตลาดนี้ด้วยผลิตภัณฑ์ที่ปรับการดีไซน์ใหม่ แต่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นเดลล์ได้อย่างครบถ้วน
Dell Xps 13 Ultrabook อาจถือเป็นโน้ตบุ๊กบางเบา รุ่นบุกเบิกของเดลล์ในการเข้าทำตลาดอัลตร้าบุ๊ก โดยผสมผสานการออกแบบแนวอเมริกัน ให้ความรู้สึกที่โฉบเฉี่ยวผสมไปกับความแข็งแรงของตัวเครื่อง รวมกับสเปกที่ถือเป็นมาตรฐานของอัลตร้าบุ๊กในระดับซีพียู Core i7 ทำให้เครื่องรุ่นนี้รองรับการใช้งานได้ครบถ้วนสมบูรณ์แบบ
การออกแบบและสเปก
แม้ว่าเดลล์จะพยายามรักษาเอกลักษณ์ของตนเอง และนำมาใส่ในอัลตร้าบุ๊ก แต่ก็ต้องยอมรับว่า XPS 13 รุ่นนี้ ก็มีกลิ่นอายของผลไม้เข้ามาเจือปนเล็กน้อย จากการดีไซน์ของตัวเครื่องที่ให้บางลงในช่วงปลายเครื่อง แต่เมื่อมองโดยรวม จากการใช้วัสดุ และการประกอบยังถือว่ามีเอกลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ตระกูล XPS อย่างเห็นได้ชัด
ทางเดลล์ให้ข้อมูลว่าวัสดุที่นำมาใช้ในส่วนของโครงเครื่องใช้คาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งเป็นวัสดุเดียวกับกระสวยอวกาศ ที่ทนทานทั้งความร้อน และแรงกระแทก ผสมไปกับอะลูมิเนียมและยางที่ให้ความรู้สึกยืดหยุ่นในส่วนหลังเครื่อง โดยมีขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ 316 x 205 x 6-18 มิลลิเมตร น้ำหนัก 1.36 กิโลกรัม
เบื้องต้นที่บริเวณฝาหน้าจะมีสัญลักษณ์ของเดลล์ติดอยู่ตรงกลาง เปิดหน้าจอขึ้นมาพบกับจอแสดงผลขนาด 13.3 นิ้ว ความละเอียด 1366 x 768 พิกเซล โดยมีกล้องวิดีโอคอลล์ความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล พร้อมกับเซ็นเซอร์วัดแสงหน้าจออยู่ขอบบน ส่วนขอบล่างมีตัวอักษรระบุว่าเป็นรุ่น XPS สีเงินพาดอยู่กึ่งกลาง ทั้งนี้ถ้าสังเกตจะเห็นว่าขอบของหน้าจอถูกลดพื้นที่ลง ทำให้ได้ขนาดหน้าจอที่กว้าง 13 นิ้ว บนโครงเครื่องที่ใกล้เคียงกับ 11 นิ้ว
ข้อต่อระหว่างหน้าจอกับฐานเครื่องจะยึดส่วนกลางเป็นแนวยาว ถัดลงมาเป็นแผงคีย์บอร์ดแบบชิคเคล็ตที่มีปุ่มฟังก์ขันขนาดเล็กกว่าปุ่มปกติราวครึ่งหนึ่ง ส่วนขนาดคีย์บอร์ดที่ให้มาเท่ากับมาตรฐาน โดยมีปุ่มเปิดเครื่องมีลักษณะคล้ายยางอยู่ที่ฝั่งซ้ายบน ปุ่ม PageUp PageDown Home End จะไปรวมอยู่กับปุ่มลูกศรที่มุมขวาล่าง
ทั้งนี้ในแถบของปุ่มฟังก์ชัน โดยปกติจะเป็นปุ่มลัดสำหรับคำสั่งต่างๆ ไล่ตั้งแต่สลับหน้าจอ เปิดไวเลส ดูสถานะแบตเตอรี ปรับเพิ่มความสว่างหน้าจอ ไฟคีย์บอร์ด แถบควบคุมมัลติมีเดีย ปรับระดับเสียง ถ้าต้องการใช้งาน F1-F12 ต้องกดคู่กับปุ่ม Fn ที่มุมขวาล่าง แทนที่ปกติจะสลับกัน
ในส่วนของเมาส์แพด แม้ว่าจะไม่มีการแสดงผลพื้นที่คลิกเมาส์ ซ้าย-ขวา แต่ในการใช้งานสามารถกดลงไปตามตำแหน่งปกติ รวมถึงยังสามารถใช้งานแบบมัลติทัช จากโปรแกรมที่มากับตัวเครื่อง ช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งานได้ดีขึ้น ทั้งนี้หน้าสัมผัสของเมาส์แพดจะรู้สีกคล้ายๆกับเป็นยางผสมพลาสติกทำให้หนืดๆเล็กน้อย
พื้นผัวด้านหลังของตัวเครื่องอย่างที่บอกว่าเป็นพลาสติก ผสมกับยาง ทำให้เกิดความยืดหยุ่น โดยมีแถบพัดลมระบายอากาศวางพาดเป็นแนวหลังตัวเครื่อง ตรงกลางมีแผ่นอะลูมิเนียม ระบุชื่อรุ่น XPS ร่วมกับสัญลักษณ์ของวินโดวส์ 7 และอินเทล ให้ความรู้สึกหรูหราขึ้นเล็กน้อย
พอร์ตการเชื่อมต่อของอัลตร้าบุ๊ก ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าจะมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความบางของตัวเครื่อง ทำให้พอร์ตอย่าง VGA-Out แลน หายไป เหลืออยู่เพียง ช่องเสียบสายชาร์จ พอร์ตยูเอสบี 3.0 และ 2.0 อย่างละพอร์ต ช่องเสียบหูฟัง และพอร์ตมินิดิสเพลย์ไว้เชื่อมต่อหน้าจอแทน ทั้งนี้ที่ฝั่งขวา จะมีปุ่มสำหรับกดเช็คแบตเตอรีตัวเครื่องได้ด้วย
ฟีเจอร์ที่น่าสนใจ
ฟีเจอร์ที่เมื่อเปิดเครื่องในตระกูล XPS ช่วงหลังๆขึ้นมาแล้วพบเจอเลยคือ Dell Stage ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเป็น Dock สำหรับเข้าสู่โปรแกรมต่างๆ แบ่งตามประเภทได้ง่ายขึ้น ไล่ตั้งแต่ ฟังเพลง จัดการรูป ดูวิดีโอ เกม เช็คสภาพอากาศ อ่านอีบุ๊ก จัดการไฟล์ในเครื่อง ช็อตคัตเข้าสู่แอปฯ เรียกเว็บเบราว์เซอร์ ติดต่อบริการหลังการขาย และเรียกระบบรีโมทมัลติมีเดียขึ้นมาใช้
โดยผู้ใช้สามารถเข้าไปปรับขนาดของ Dell Stage เลือกไอค่อนลัดสำหรับการใช้งานได้ด้วยตนเอง ผ่านหน้าจอการตั้งค่า และยังเลือกได้ว่าจะให้เปิดใช้งานพร้อมกับเปิดเครื่อง และส่งข้อมูลการใช้งานให้ทางเดลล์นำไปปรับปรุงด้วยหรือไม่
สำหรับ Stage Remote ถือเป็นการนำเทคโนโลยี DLNA มาปรับเปลี่ยนชื่อให้เป็นของเดลล์เอง ทำให้เครื่องลูกข่ายอื่นๆในเครือข่ายเดียวกัน สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ในตัวเครื่องนี้ได้ตามโฟลเดอร์ที่กำหนดไว้ ส่งผลให้สามารถเล่นไฟล์เพลง ภาพ วิดีโอ ไปยังหน้าจอของเครื่องอื่นได้ทันที
ขณะเดียวกัน ถ้ามีเครื่องลูกข่ายอื่นๆ ที่เปิดใช้งาน DLNA อยู่ อย่างสมาร์ทโฟน หรือ แท็บเล็ต ตัว XPS 13 Ultrabook ที่ลง Dell Stage ก็สามารถเรียกคอนเทนต์ต่างๆในเครื่องเหล่านั้นมาใช้งานได้ด้วยเช่นเดียวกัน ถือเป็นการใส่อินเตอร์เฟสควบคุมให้กับเทคโนโลยี DLNA นั่นเอง
สุดท้ายคือ Dell Data Safe ระบบที่เข้ามาช่วยในการสำรองข้อมูล โดยผู้ใช้สามารถสร้างแผ่น หรือยูเอสบี ที่สำรองข้อมูลการเริ่มต้นใช้งานเครื่องได้ทันที หรือจะตั้งเวลาในการสำรองข้อมูลภายในเครื่อง และสร้างไฟล์สำรองข้อมูลขึ้นเพื่อนำไปใช้กับเครื่องอื่นก็ได้เช่นเดียวกัน
ตรวจสอบสเปก
สำหรับสเปกภายในของเครื่อง Dell XPS 13 Ultrabook มาพร้อมกับขุมพลัง Intel Core i7-2637M ซึ่งขณะที่ได้มาทดสอบยังเป็น Sandy Bridge (2nd Generation) อยู่ แต่เชื่อว่าในอนาคตเดลล์จะใช้โมเดลเดิม แต่เปลี่ยนซีพียูเป็น Ivy Bridge (3rd Generation) มาจำหน่ายต่อ โดยเครื่องรุ่นนี้เป็นซีพียูความเร็ว 1.7 GHz ทำงานแบบ 2 Core 4 Threads เมื่อทำงานหนักๆ เครื่องจะใช้ระบบ Turbo Boots ความเร็วขึ้นไปถึง 2.5 GHz ขณะเดียวกันเมื่อใช้งานเครื่องทั่วๆไป ความเร็วจะปรับลงมาอยู่ที่ราว 800 MHz
ขนาดของ L1 D-Cache อยู่ที่ 32 KB x2 เช่นเดียวกับ L1 I-Cache ส่วน L2 Cache อยู่ที่ 256 KB x2 และ L3 Cache อยู่ที่ 4 MB ตัวเมนบอร์ดเป็นรุ่น DY4RM9 ใช้ชิปเซ็ต Sandy Bridge โดยมี Southbridge ID1C4D ขณะที่ RAM ที่ให้มาเป็น DDR3 ขนาด 4 GB 1333MHz โดยใช้การ์ดจอออนบอร์ด Intel HD 3000
ทั้งนี้เครื่อง XPS 13 Ultrabook ที่วางจำหน่ายจะมีทั้งเครื่องที่เป็น Core i5 และ i7 ซึ่งราคาจะแตกต่างกันตามสเปกภายใน และหน่วยความจำ นอกจากนี้ยังมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 7 Home Premium แบบ 64-Bit ที่มีลิขสิทธิ์มาให้ด้วย ในช่วงราคา 42,900 - 57,900 บาท
ทดสอบประสิทธิภาพ
PCMark05 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 11,017 คะแนน แบ่งเป็น CPU 7,172 คะแนน Memory 8,201 คะแนน Graphics 4,904 คะแนน และที่มากที่สุดคือ HDD 53,754 คะแนน เนื่องมาจากเป็น SSD ความจุถึง 256GB
PCMark07 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 3,550 คะแนน แบ่งเป็น Lightweight 4,270 คะแนน Productivity 3,617 คะแนน Creativity 6,618 คะแนน Entertainment 2,518 คะแนน Computation 7,978 คะแนน System Storage 5,127 คะแนน และ Secondary Storage 5,137 คะแนน
3DMark 06 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 3,339 คะแนนโดยแบ่งเป็นคะแนน Shader Model 2 = 1,075 คะแนน, HDR/Shader Model 3 = 1,374 คะแนน ส่วนคะแนนประมวลผลซีพียูจะอยู่ที่ 2.754 คะแนน ที่ความละเอียด 1,280x768 พิกเซล
Cinebench R11.5 x64 ในส่วนของการทดสอบด้วยการให้ซีพียูวาดภาพ 3 มิติผลคะแนนที่ได้คือ ในการใช้ซีพียูวาดคะแนนจะอยู่ที่ 2.18 pts ส่วนกราฟิกแบบ OpenGL จะอยู่ที่ 9.49 fps
HDTune Pro ทดสอบอัตราการรับส่งข้อมูลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 313.4 MB/s ใช้เวลาในการเข้าถึงข้อมูลเพียง 0.092 ms เท่านั้น
x264 HD BENCHMARK 3.0 ในส่วนของการทดสอบการถอดรหัสไฟล์วิดีโอความละเอียด 720p จะได้ค่าดังต่อไปนี้
SiSoftware Sandra
Processor Arithmetic - มีคะแนนในส่วน Aggregate Arithmetic อยู่ที่ 45GOPS Dhrystone ALU อยู่ที่ 46.33GIPS ส่วนคะแนนใน Whetstone FPU จะอยู่ที่ 28.4GFLOPS
Multi-Core Efficiency - มีคะแนนในส่วน Inter-Core Bandwidth อยู่ที่ 23.62GB/s ส่วนคะแนนใน Inter-Core Latencyจะอยู่ที่ 33ns
Memory Bandwidth - มีคะแนนในส่วน Cache/Memory Bandwidth อยู่ที่ 36GB/s ส่วนคะแนนใน Speed Factor จะอยู่ที่ 11.10
คะแนนจาก Windows 7 Score ได้รวมที่ 5.8 คะแนน
Game Benchmark ในการทดสอบกับเกมสเปกสูงๆ ไล่ตั้งแต่ Haven Benchmark v3.0 ได้คะแนน 212 คะแนน FPS อยู่ที่ 8.4 ขณะที่ Final Fantasy XIV ได้ 414 คะแนน Lost Planet ได้ 7.6 FPS และ Resident Evil ได้ 17.6 FPS
ซึ่งจากคะแนนทดสอบการเล่นเกมโดยรวมแล้ว พบว่าสามารถใช้งานได้ในกรณีที่ปรับความละเอียดลงต่ำสุด จากข้อจำกัดของซีพียู และกราฟิก การ์ดที่เป็นรุ่นอัลตร้าบุ๊ก ทำให้ขาดความลื่นไหลในการใช้งานในส่วนนี้ แต่ถ้ามองในแง่ของการทำงานถือว่าประสิทธิภาพที่ได้ค่อนข้างสูง
ส่วนในเรื่องของการทดสอบแบตเตอรี ทดสอบการใช้งานทั่วไป โดยปรับความสว่างหน้าจอลดลงพอให้ใช้งานได้ เปิดการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องราว 5-6 ชั่วโมง แต่ถ้าปรับความสว่างหน้าจอสูงสูง เปิดเล่นไฟล์ภาพยนตร์ความละเอียดสูง เวลาที่ใช้งานต่อเนื่องจะลดลงเหลือราว 4 ชั่วโมง
โดยในส่วนของอุณหภูมิเครื่อง ถ้าใช้งานปกติจะอยู่ที่ราว 52 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิสูงสุดเวลาประมวลผลหนักๆจะขึ้นไปอยู่ที่ 86 องศาเซลเซียส บางจังหวะเท่านั้น และแน่นอนว่าความเร็วของพัดลมจะสูงขึ้น จนได้ยินเสียงของพัมลมลอดออกมา
ความคุ้มค่า
เวลานี้คงต้องรอดูกันว่าเดลล์จะมีการนำซีพียู Ivy Bridge มาอัปเกรดให้กับเครื่องรุ่นนี้หรือไม่ ถ้ามีการอัปเกรด และปรับราคาลงเล็กน้อย จะทำให้ XPS 13 Ultrabook รุ่นนี้ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของสินค้าในไลน์อัลตร้าบุ๊กในตลาด
เพราะจากดีไซน์ วัสดุที่ใช้ ทั้งคาร์บอนไฟเบอร์ ผสมกับตัวอะลูมิเนียม กับกระจกหน้าจอที่เป็น Gorilla Glass ทำให้ยืนยันได้ถึงความแข็งแรงของตัวเครื่อง ทำให้เป็นอัลตร้าบุ๊กที่คุ้มค่ากับการใช้งานทั่วไปแน่นอน และจากน้ำหนักของตัวเครื่อง ระยะเวลาการทำงานบนแบตเตอรี ที่เข้ามาตอบโจทย์โมบิลิตี้ไลฟ์ได้อย่างสบายๆ
ข้อสังเกต
- ตัวเครื่องออกมาตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาสแรก ทำให้ยังใช้ซีพียูรุ่นเก่าอยู่ แต่ถ้ามีการอัปเกรดเป็นรุ่นใหม่ แม้จะโมเดลเดิม แต่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดี
- จุดที่บางที่สุดอยู่ที่ 6 มิลลิเมตร แต่ในขณะเดียวกันจุดที่หนาที่สุดกลับหนาเกือบๆ 2 เซนติเมตร ทำให้ตัวเครื่องดูเกือบบาง
- จากการใช้ SSD ความจุสูง ทำให้ราคาของเครื่องสูงตามไปด้วย
สรุป
Dell XPS 13 Ultrabook คงมีที่ยืนในตลาดไม่แตกต่างจากอัลตร้าบุ๊กรุ่นอื่นๆในตลาด ที่เข้ามาจับกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่ต้องการเครื่องโน้ตบุ๊กที่พกพาได้ง่าย ประสิทธิภาพสูง มีความเป็นโมบิลิตี้ในการใช้งาน เนื่องจากประสิทธิภาพของตัวเครื่องจะเหมาะกับการทำงาน และใช้งานมัลติมีเดียเล็กน้อย มากกว่าการใช้งานหนักๆอย่างเล่นเกม หรือตัดต่อวิดีโอ
Company Related Links :
Dell