xs
xsm
sm
md
lg

Review : LG Flatron D2342P / IPS236 2 คู่หู 3 มิติ - LED IPS ราคาไม่แรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็มักจะพบกับเทคโนโลยี 3 มิติและเทคโนโลยี IPS บนอุปกรณ์โฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ที่ราคาค่าตัวเริ่มอยู่ในระดับคนทั่วไปยอมรับได้ เช่นในวันนี้ทีมงานผู้จัดการไซเบอร์ก็ได้รับจอมอนิเตอร์จากแบรนด์ LG มาถึง 2 รุ่นได้แก่ รุ่นแรกเป็น LG Flatron D2342P ที่มาพร้อมการรองรับระบบ 3 มิติรูปแบบใหม่ และตัวที่สองเป็น LG Flatron IPS 236 ที่มาพร้อมหน้าจอ IPS

Design and Specifications of LG Flatron D2342P



LG Flatron D2342P เป็นมอนิเตอร์ที่ถูกทาง LG จั่วหัวว่าเป็น LG Cinema 3D โดยใช้เทคโนโลยี 3D FPR (Film Patterned Retarder) ที่ทางแอลจีเป็นผู้พัฒนา ทำให้การแสดงผลภาพ 3 มิติผ่านหน้าจอนี้จะแตกต่างจากระบบ 3 มิติรุ่นก่อนหน้าที่จำเป็นต้องใช้แว่น Shutter Glasses และจอมอนิเตอร์ที่สามารถกวาดภาพได้ 120 เฟรมต่อวินาที ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูงและการใช้งานก็ค่อนข้างยุ่งยากเพราะต้องมีการซิงค์สัญญาณก่อนใช้งานเสมอ



ในส่วนของวัสดุที่ใช้ผลิตส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติกที่ค่อนข้างมันวาว เป็นรอยง่าย เพราะฉะนั้นต้องใช้ความระมัดระวังในการทำความสะอาด ในส่วนข้อต่อระหว่างฐานจอกับตัวจอ จะเป็นล็อค สามารถดึงเข้าออกได้โดยไม่ต้องขันสกรูใดๆ



สำหรับปุ่มกดปรับแต่งค่าต่างๆ จะเป็นบริเวณด้านล่างของจอภาพจะเป็นปุ่มพลาสติกธรรมดา ไม่ใช่ Touch Sensor ตามสมัยนิยม

มาที่เทคโนโลยี 3D FPR ถ้าจะอธิบายอย่างง่ายๆ ก็เปรียบเทคโนโลยีประเภทนี้กับระบบ 3 มิติในโรงภาพยนตร์ กล่าวคือ ในส่วนของจอภาพจะถูกปรับเปลี่ยนให้รองรับกับแว่นสามมิติที่เป็นแบบโพลาไรซ์




แน่นอนว่าการถูกปรับเปลี่ยนจาก Shutter Glasses เป็นแว่นโพลาไรซ์มีข้อดีค่อนข้างมาก เช่น เรื่องของน้ำหนักแว่นที่เบาลง ผลิตง่าย ต้นทุนต่ำ และที่สำคัญการรับชมภาพ 3 มิติผ่านแว่นประเภทนี้จะไม่มีอาการภาพกระพริบให้ปวดตาเหมือนกับแว่น Shutter Glasses รุ่นก่อนหน้า



สำหรับสเปกของ LG Flatron D2342P จะประกอบด้วยหน้าจอรองรับความละเอียดสูงสุดที่ 1080p (1,920x1,080 พิกเซล) ในขนาดหน้าจอ 23 นิ้ว ในส่วนค่าการตอบสนองจะอยู่ที่ 5 มิลลิวินาที โดยมีความสว่างอยู่ที่ 250nits สำหรับการแสดงผล 2 มิติ และ 100nits สำหรับการแสดงผล 3 มิติ พร้อมฟังก์ชันแปลงภาพ 2 มิติเป็น 3 มิติ (ใช้คู่กับซอฟท์แวร์ TriDef 3D)



มาที่พอร์ตเชื่อมต่อ จากซ้ายของภาพจะเป็นต่อหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตร ถัดมาจะเป็นช่อง D-Sub และ DVI-D และสุดท้ายจะเป็นช่อง HDMI ที่รองรับเวอร์ชันสูงสุดที่ 1.4 ซึ่งสามารถส่งสัญญาณภาพและเสียงแบบ 3 มิติพร้อมภาพและเสียงได้

Design and Specifications of LG Flatron IPS236V



สำหรับ LG Flatron IPS236V เป็นจอมอนิเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีพาเนลแบบ IPS (Anti-Glare) โดยในส่วนแหล่งกำเนิดแสงจะเป็น LED Backlighting ทำให้จอมีความบางอยู่ที่ประมาณ 1-2 นิ้ว ในส่วนของขนาดหน้าจอรุ่นที่ให้มาทดสอบจะมีขนาด 23 นิ้ว ที่มาพร้อมความละเอียดสูงสุด 1,920x1,080 พิกเซล โดยอัตรา Contrast Ratio จะอยู่ที่ 5M:1 และความสว่างที่ 250nits ในส่วนของมุมมองในการรับชมจะอยู่ที่ 178 องศา โดยที่แสงและสีสันจะไม่ผิดเพี้่ยนทุกองศาการรับชม



ในส่วนของวัสดุที่ใช้ผลิตส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติกมีความมันวาว ซึ่งต้องระวังเรื่องรอยขนแมวที่เกิดจากการทำความสะอาดอย่างมาก และสำหรับการเชื่อมต่อฐานจอกับตัวจอมอนิเตอร์จะสามารถทำได้ง่ายด้วยสกรูด้านล่าง



ส่วนปุ่มคำสั่งต่างๆ ในตัวจอจะสั่งงานผ่านระบบ Touch Sensor ทั้งหมด



สำหรับพอร์ตเชื่อมต่อด้านหลังของจอภาพจากด้านซ้ายจะเป็นพอร์ต HDMI และ DVI-D ถัดมาจะเป็นช่องเชื่อมต่อหูฟังหรือลำโพงขยายเสียงจากสัญญาณ HDMI และพอร์ต D-Sub ที่บริเวณด้านล่าง

Setup Screen
LG Flatron D2342P




สำหรับหน้าเมนูปรับแต่งระบบจอภาพในรุ่น Flatron D2342P ซึ่งเป็นรุ่นรองรับระบบภาพ 3 มิติ หลักๆ แล้วจะมีฟังก์ชันปรับแต่งที่ไม่ยุ่งยากนัก ซึ่งการปรับแต่งเด่นๆ จะอยู่ในส่วนโหมด 3 มิติที่สามารถเลือกตั้งออปชัน 3 มิติแบบ Manual ได้ตั้งแต่ Side by Side, Top and Bottom และ Line Interlaced โดยเฉพาะเมื่อเชื่อมต่อสัญญาณภาพผ่านสาย HDMI แล้ว ฟังก์ชันภาพส่วนใหญ่จะไม่สามารถปรับแต่งได้แต่อย่างใด

นอกจากนั้นจอภาพยังมาพร้อมฟังก์ชันประหยัดพลังงาน (Super Energy Saving) ที่จะช่วยประหยัดพลังงาน แต่ก็ต้องแลกกับเรื่องการสูญเสียงแสงสว่างไปบ้างเล็กน้อย

LG Flatron IPS236V




ในส่วนหน้าเมนูปรับแต่งจอภาพของ Flatron IPS236V จะประกอบด้วยในส่วนของ SMART+ จะเป็นการปรับแต่งระบบการแสดงผลอย่างอัตโนมัติ ในส่วนของ Mode จะเป็นโหมดตั้งโปรไฟล์แสดงผลสำเร็จรูปตามการใช้งานเช่น Movie สำหรับรับชมภาพยนตร์ TEXT สำหรับพิมพ์งาน PHOTO สำหรับใช้ชมภาพถ่ายหรือตกแต่งรูปและสุดท้าย sRGB จะเป็นการตั้งความเพี้ยนของสีสันแทน

ทดสอบประสิทธิภาพ
LG Flatron D2342P





ก่อนการทดสอบประสิทธิภาพและใช้งานระบบ 3 มิติจากจอ Flatron D2342P ผู้ใช้จำเป็นต้องติดตั้งไดร์วเวอร์ TriDef 3D เสียก่อนถึงจะสามารถใช้งานระบบ 3 มิติกับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้

ซึ่งจากการทดสอบการรับชมภาพ 3 มิติและวิดีโอ 3 มิติผ่านสายสัญญาณ HDMI 1.4 พร้อมด้วยแว่นโพลาไรซ์พบว่าค่อนข้างสบายตากว่า Shutter Glasses อย่างมาก เพราะแว่นมีน้ำหนักเบา ไม่มีกลไกลภายใน อีกทั้งในส่วนของมิติตื้น-ลึกที่สัมผัสได้จากเทคโนโลยี FPR ดูเหมือนจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบจอ 120Hz ที่มาพร้อมแว่น Shutter Glasses โดยเฉพาะอาการปวดตาและมึนหัวจะน้อยกว่าเทคโนโลยีก่อนหน้า อีกทั้งยังไม่เกิดอาการภาพมืดให้เห็นจากการรับชมผ่านจอภาพดังกล่าวด้วย

แต่ทั้งนี้ระบบดังกล่าวอาจมีข้อเสียอยู่ที่ต้องมองให้ได้องศาตรงกับหน้าจอเท่านั้น เพราะถ้าผู้ใช้ตั้งจอต่ำกว่าสายตาลงมา ภาพที่ได้อาจเกิดอาการเหลื่อมซ้อนกันได้ และในส่วนของไดร์วเวอร์ TriDef 3D ที่ยังรองรับเกมหรือซอฟท์แวร์ได้ไม่ครอบคลุมนัก แต่ในทางกลับกันถ้าเชื่อมต่อจอดังกล่าวกับเครื่องเล่นเกมหรือ Blu-Ray รองรับระบบ 3 มิติผ่านสายสัญญาณ HDMI การใช้งานและเชื่อมต่อต่างๆ จะไม่ยุ่งยากและมีความเป็น Plug and Play มากกว่าเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ที่จำเป็นต้องลงไดร์วเวอร์เฉพาะเท่านั้น (ไม่รองรับกับ NVIDIA 3D Vision หรือ 3D Play)

LG Flatron IPS236V



มาที่การทดสอบจอในตระกูล IPS236V ที่มีจุดเด่นอยู่ที่พาเนล IPS โดยจากการทดสอบในเรื่องการตกแต่งภาพความละเอียดสูงต่างๆ พบว่าเม็ดสีต่างๆ ที่แสดงออกมาค่อนข้างสบายตา ออกโทนจืดๆ เล็กน้อย (ไม่เหมาะแก่คนชอบสีสันฉูดฉาด) และคอนทราสต์อยู่ในเกณฑ์กลางๆ ส่วนในเรื่องมุมมองก็เป็นไปตามสเปกของจอ IPS คือมุมมองจะกว้าง สามารถมองจากมุมเฉียง บน ล่าง ได้อย่างไม่มีปัญหา

สรุป

สำหรับจอจาก LG ทั้ง 2 รุ่นหลักๆ แล้วในส่วนของข้อดีคงอยู่ที่ ทั้ง 2 รุ่นมีราคาเปิดตัวที่ไม่แรงมาก โดยจอ LG Flatron D2342P จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นกว่าบาท ส่วนรุ่น IPS236V จะมีสนนราคาอยู่ที่ประมาณ 6 พันบาทปลายๆ และจอมอนิเตอร์ทั้ง 2 รุ่นมาพร้อมพอร์ตเชื่อมต่อ HDMI ที่สามารถนำสัญญาณเสียงเข้ามาในจอและจ่ายผ่านช่องเชื่อมต่อขนาด 3.5 มิลลิเมตรได้ออกสู่ลำโพงขยายเสียงหรือหูฟังได้ทันที

แต่ทั้งนี้ในส่วนของจอ D2342P อาจมีข้อติอยู่เล็กน้อยในเรื่องของ การเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เพื่อแสดงภาพ 3 มิติ ซึ่งนอกจากต้องใช้ผ่านสาย HDMI อย่างเดียวแล้ว ผู้ใช้ยังจำเป็นต้องติดตั้งไดร์วเวอร์ TriDef 3D ก่อนใช้งาน และควรปิดออปชันแสดงภาพ 3 มิติบนตัวกราฟิกการ์ดเสียก่อน ซึ่งการใช้งานอาจดูยุ่งยากและไม่เหมาะแก่ผู้ใช้ทั่วไปเท่าใดนัก ยกเว้นเสียแต่ผู้ใช้จะซื้อมอนิเตอร์ดังกล่าวมาใช้ร่วมกับอุปกรณ์มัลติมีเดีย 3 มิติ เช่น เครื่องเกม PlayStation 3 หรือ Blu-Ray 3D เพราะระบบจอจะปรับเป็น 3 มิติให้อัตโนมัติ ไม่ต้องวุ่นวายลงไดร์วเวอร์เหมือนใช้ร่วมกับคอมพิวเตอร์

ขอชม
- แว่นโพลาไรซ์ 3 มิติที่แถมมาให้กับจอ D2342P มีให้เลือกทั้งแบบ Clip on และแบบแว่นตา ซึ่งมีน้ำหนักเบา
- ทั้งจอมอนิเตอร์ D2342P และ IPS236V มีพอร์ต HDMI มาให้ ซึ่งรองรับสัญญาณเสียงด้วย
- จอมอนิเตอร์ D2342P รองรับอุปกรณ์ 3 มิติทุกชนิดที่สามารถต่อผ่านสาย HDMI
- จอมอนิเตอร์ D2342P มีระบบ Manual 3D ทำให้ตั้งการสร้างภาพ 3 มิติได้เอง
- จอมอนิเตอร์ IPS236V ราคาไม่แรงมาก ในขณะที่คุณภาพอยู่ในเกณฑ์พอใช้

ขอติ
- การใช้งานระหว่างจอมอนิเตอร์ D2342P และคอมพิวเตอร์ต้องใช้ไดร์วเวอร์เฉพาะ และการตั้งค่าต้องใช้ความชำนาญ
- ออปชันแปลงภาพ 2 มิติเป็น 3 มิติในจอมอนิเตอร์ D2342P ต้องใช้ซอฟท์แวร์บนวินโดว์ควบคุมเฉพาะ
- มุมมองในการรับชมภาพ 3 มิติต้องอยู่ในองศาตรงกับจอภาพ ถ้าตั้งจอสูงหรือต่ำไปภาพจะซ้อนกัน
- บอดี้ของจอ IPS236V เป็นรอยง่าย

Company Related Links :
LG





กำลังโหลดความคิดเห็น