xs
xsm
sm
md
lg

Review : Intel Sandy Bridge Notebook เร็ว แรง อึด ด้วยซีพียู Core i (Mobile) ยุคที่ 2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




หลังจากที่ทางทีมงานผู้จัดการไซเบอร์ได้ลงบทความพรีวิวโน้ตบุ๊กขุมพลัง Sandy Bridge หรือ Intel 2nd Generation (Sandy Bridge) ไปแล้วเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มาวันนี้ทางทีมงานก็พร้อมจะเผยแพร่บทความรีวิวฉบับเต็มก่อนวันเปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในอาทิตย์หน้านี้


วิดีโอพรีวิว Intel Sandy Bridge Notebook ที่ทางทีมงานจัดทำขึ้นเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยตัวโน้ตบุ๊กที่ทางทีมงานได้รับจากอินเทลมานั้นจะเป็น Engineering Sample หรือเครื่องที่นำไว้ให้สื่อหรือวิศวกรทดสอบ ไม่ใช่เครื่องที่วางจำหน่ายจริง เพราะฉะนั้นในส่วนของการทดสอบทางทีมงานจะเน้นไปที่การทดสอบประสิทธิภาพของตัวเครื่องมากกว่าจะเจาะเน้นไปที่การวิพากษ์วิจารณ์คุณสมบัติและราคาเสียมากกว่า แต่ทั้งนี้ก่อนจะไปรับชมในส่วนของการทดสอบประสิทธิภาพทางทีมงานจะขอพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักหน้าตาของโน้ตบุ๊ก Engineering Sample กันก่อนครับ



สำหรับโน้ตบุ๊ก Sandy Bridge (Notebook) Engineering Sample ตัวที่ทีมงานได้รับมาทดสอบนี้จะมีขนาดลำตัวและน้ำหนักค่อนข้างมาก โดยในส่วนของหน้าจอจะมีขนาดประมาณ 20 นิ้ว (ความละเอียด 1,600x900 pixles) รูปลักษณ์ผิววัตถุจะเป็นพลาสติกเกือบทั้งหมด ซึ่งถ้ามองจากลักษณะรูปร่างหน้าตาแล้วหลายท่านอาจรู้สึกว่าตัวโน้ตบุ๊ก Engineering Sample จะมีหน้าตาคล้ายโน้ตบุ๊กของ Gateway, ASUS หรือ HP อย่างมาก (ลองเดากันเองนะครับว่ารูปร่างเหมือนแบรนด์ใดในสามข้อนี้)



ในส่วนของคีย์บอร์ดจะเป็นแบบ Full Size มีไฟสถานะการทำงานต่างๆ อยู่ด้านบนคีย์บอร์ดและมี Num Pad ติดตั้งมาให้พร้อมโลโก้ Core i7 ตัวใหม่





สำหรับพอร์ตเชื่อมต่อและ Optical Drive ต่างๆ จากด้านขวามือเริ่มจากซ้ายจะประกอบด้วย พอร์ต USB จำนวน 2 พอร์จ, ไดร์ฟ Blu-Ray/DVD R/RW และสวิตซ์ปิด-เปิดตัวเครื่อง

ถัดมาที่บริเวณด้านหลังจะเป็นช่องระบายความร้อนจากพัดลมด้านใน และในด้านซ้ายมือของตัวเครื่องจะประกอบด้วย จากซ้าย ช่องล็อคสายคล้องป้องกันขโมย, ช่องเชื่อมต่อ Adapter แปลงไฟ, พอร์ตแลน RJ-45, ช่อง D-Sub สำหรับต่อออกจอมอนิเตอร์, พอร์ต HDMI, SATA/USB พอร์ต, ช่องเสียบไมโครโฟนและหูฟังอย่างละ 1 ช่อง, USB พอร์ต 1 ช่องและสุดท้ายช่อง Card Reader อีก 1 ช่อง

Specifications



สำหรับในส่วนของสเปกโน้ตบุ๊ก Sandy Bridge นี้จะมาพร้อมซีพียู Intel Core i7 2820QM ความเร็ว 2.3GHz แต่เมื่อเปิดใช้งาน Intel Turbo Boost 2.0 จะมีความเร็วสูงสุดที่ซีพียูสามารถทำได้อยู่ที่ 3.30 - 3.4GHz ส่วนเรื่องของแกนทำงานจะอยู่ที่ 4 แกน 8 Threads และชุดคำสั่งที่ซีพียูรองรับได้แก่ MMX, SSE 1-4.2, EM64T, VT-x, AES และ AVX (Intel Advanced Vector Extensions)

มาในส่วนของเมนบอร์ดรวมทั้งชิปเซ็ทที่ติดตั้งมากับตัวโน้ตบุ๊กตัวนี้จะใช้เป็นของอินเทลทั้งหมด และในส่วนของหน่วยความจำ (แรม) จะเป็นของ Hynix DDR3 ความจุ 2GB จำนวน 2 ตัวรวมเป็น 4GB ทำงานแบบ Dual Channel





สำหรับในส่วนของฮาร์ดดิสก์ทางอินเทลได้เลือกใช้ SSD ความจุ 160GB ซึ่งทำงานบนพอร์ต SATA II ความเร็ว 3GB/s เป็นอีกหนึ่งตัวขับเคลื่อนหลัก ส่วนกราฟิกชิปที่มาพร้อมกับซีพียูบน Die ตัวเดียวกันอย่าง Intel HD Graphics 3000 จะเป็นกราฟิกชิปที่รองรับชุดคำสั่ง DirectX 10.1 รวมถึงมีหน่วยความจำซึ่งแชร์มาจากระบบรวมกันเป็นจำนวน 1.6GB และสุดท้ายในส่วนของระบบไร้สายทางอินเทลได้เลือกใช้ Intel Centino Wireless N1030 จากอินเทลเป็นตัวขับเคลื่อนหลักเช่นกัน



มาที่ระบบ WiDi หรือ Wireless Display ที่เป็นเหมือนอีกหนึ่งพระเอกในตระกูล Sandy Bridge เพราะระบบดังกล่าวสามารถนำสัญญาณภาพความละเอียดสูงถึง 1080p + เสียงแบบไม่บีบอัดส่งไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ผ่านกล่องรับสัญญาณ WiDi ที่ทำงานผ่านระบบส่งสัญญาณแบบ Draft-N และซอฟท์แวร์จากอินเทลได้อย่างง่ายดาย

Performance Test


3DMark 05 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 8,721 คะแนนบนความละเอียดหน้าจอ 1024x768 + Shader Model 3


3DMark 06 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 5,229 คะแนนโดยแบ่งเป็นคะแนน Shader Model 2 = 1,727 คะแนน, HDR/Shader Model 3 = 2,095 คะแนน ส่วนคะแนนประมวลผลซีพียูจะอยู่ที่ 4,496 คะแนน


PCMark Vantage สามารถทำคะแนนรวมได้ที่ 14,855 คะแนน แบ่งเป็น Memories Score = 6,494 คะแนน, TV and Movies Score = 6,036 คะแนน, Gaming Score = 10,524 คะแนน, Music Score = 16,620 คะแนน, Communications Score = 15,328 คะแนน, Productivity Score = 19,541 คะแนน และ HDD Score = 27,593 คะแนน


Cinebench R11.5 x64 ในส่วนของการทดสอบด้วยการให้ซีพียูวาดภาพ 3 มิติผลคะแนนที่ได้คือ ในการใช้ซีพียูวาดคะแนนจะอยู่ที่ 4.77pts ส่วนกราฟิกแบบ OpenGL จะอยู่ที่ 12.12pts


Hyper Pi 32M สำหรับการทดสอบในโปรแกรมคำนวณค่า Pi ที่ 32 ล้านชุด จะใช้เวลาในการคำนวณทั้งหมดอยู่ที่ 26.43 นาที


HD Tach 3.0 มาที่การทดสอบฮาร์ดไดร์ฟแบบ SSD ผ่านพอร์ต SATA II จากอินเทลจะมีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 216.7 MB/s และความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลอยู่ที่ 0.0ms ซึ่งก็เป็นไปตามมาตราฐานความเร็วของฮาร์ดไดร์ฟประเภทนี้


x264 HD BENCHMARK 3.0 ในส่วนของการทดสอบการถอดรหัสไฟล์วิดีโอความละเอียด 720p จะได้ค่าดังต่อไปนี้

encoded 1442 frames, 77.49 fps, 3899.02 kb/s
encoded 1442 frames, 64.33 fps, 3899.02 kb/s
encoded 1442 frames, 65.04 fps, 3899.02 kb/s
encoded 1442 frames, 63.45 fps, 3899.02 kb/s
encoded 1442 frames, 23.04 fps, 3965.17 kb/s
encoded 1442 frames, 21.82 fps, 3956.78 kb/s
encoded 1442 frames, 19.68 fps, 3955.90 kb/s
encoded 1442 frames, 19.76 fps, 3965.43 kb/s


Windows 7 Score


Full HD 1080p Movie Test การทดสอบการรับชมภาพยนตร์ Full HD 1080p จากไฟล์ที่เข้ารหัส MPEG4AVC บนเสียง DTS HD Master บิตเรท 1,000+ พบว่าโน้ตบุ๊ก Sandy Bridge สามารถเล่นไฟล์ Full HD เหล่านั้นได้ทั้งหมด อีกทั้งยังกินทรัพยากรของซีพียูไม่เกิน 13-20% ซึ่งสามารถเปิดโปรแกรมอื่นๆ ร่วมกับการรับชมภาพยนตร์คุณภาพสูงได้สบาย




Intel QuickSync Video with Intel HD Graphics 3000 Test มาที่การทดสอบในส่วนของการแปลงไฟล์วิดีโอความละเอียดสูง 1080p (ความยาว 9 นาที) จากฟอร์แม็ต MP4 H.264 ไปสู่ฟอร์แม็ต MP4 สำหรับ iPad โดยเปิดใช้คุณสมบัติ Intel QuickSync Video ใน Sandy Bridge ซึ่งผลที่ได้จะใช้เวลาแปลงไฟล์ทั้งสิ้นเพียง 4.23 นาทีเท่านั้น จากปกติที่ควรจะอยู่ที่ประมาณ 8-10 กว่านาที


Adobe Programs Test with GPU Acceleration มาที่การทดสอบโปรแกรมในกลุ่มของ Adobe CS5 เพื่อวัดประสิทธิภาพในส่วนของ GPU Acceleration (Intel HD Graphics 3000) กันบ้าง โดยจากการทดสอบกับโปรแกรม Photoshop, Premiere และ After Effect พบว่าความเร็วในการใช้งานอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี ไม่ค่อยมีอาการสะดุด หรือค้างขณะเปลี่ยนหน้าต่างในแต่ละโปรแกรมให้เห็น อีกทั้งการใช้โปรแกรม Photoshop ร่วมกับ GPU Acceleration ก็ทำงานได้อย่างลื่นไหล ถึงแม้รูปที่นำมาใช้ปรับแต่งจะมีขนาดใหญ่ถึง 14MP ก็ตาม

EVEREST Ultimate Edition






Games & Extreme Test



สำหรับการทดสอบในส่วนของการเล่นเกม ซึ่งเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนและเหล่าเกมเมอร์เป็นจำนวนมาก เพราะเนื่องจากทางอินเทลพยายามชูเรื่องประสิทธิภาพสำหรับกราฟิกชิปบน Die เดียวกับซีพียูอย่าง Intel HD Graphics โดยจากการทดสอบกับเกมที่วางจำหน่ายในปัจจุบันอย่าง Call of Duty Black Ops หรือ Need For Speed Hot Persuit พบว่า สามารถเข้าเล่นเกมได้ แต่ไม่สามารถเล่นได้เนื่องจากเฟรมเรทตกค่อนข้างมาก ถึงแม้จะปรับรายละเอียดของกราฟิกลงไปที่ค่าต่ำสุดแล้วก็ตาม แต่ทั้งนี้เมื่อทางทีมงานลองทดสอบกับเกมที่มีสเปกต่ำลงมาหรือเกมที่วางจำหน่ายก่อนหน้านี้ 2-3 ปี อย่าง Call of Duty Modern Warfare, Gears of War หรือ Starcraft 2 พบว่าสามารถเล่นได้ในระดับพอใช้ เฟรมเรทอยู่ระดับ 20-30fps ด้วยการตั้งค่ากราฟิกกลางๆ ค่อนไปทางต่ำ


วิดีโอสาธิตการทดสอบ Multi Tasking ขั้นระห่ำ

เนื่องจากโน้ตบุ๊ก Sandy Bridge ตัวนี้ถูกติดตั้งซีพียู Core i7 ที่มีการทำงานรวมทั้งแกน และ Threads อยู่ที่ 8 แกน ทำให้ทางทีมงานอยากลองทดสอบระบบ Multi Tasking แบบดุดันดูบ้าง ด้วยการทดสอบการรันโปรแกรมในกลุ่ม Adobe, เกม Call of Duty Modern Warfare, Video Converter, Web Browser และวิดีโอฟอร์แม็ต MP4 H.264 แบบความละเอียดสูง 1080p พร้อมๆ กันทั้งหมด โดยจะมีการเรียกหน้าต่างแต่ละโปรแกรมขึ้นมาผ่านปุ่ม Windows + Tab ซึ่งผลที่ออกมาพบว่า การทำงานของโปรแกรมทั้งหมดที่เปิดรันไว้ทั้งหมดสามารถทำได้อย่างราบลื่นดี ไม่มีอาการเครื่องค้าง และใช้เวลาในการเปลี่ยนหน้าต่างไม่นานมากนัก แต่ทั้งนี้ในส่วนของการเล่นเกมอาจมีกระตุกอยู่บ้างถ้ารันโปรแกรม Video Converter โดยใช้ความสามารถของซีพียูเต็ม 8 แกนไว้พร้อมกัน ทำให้ทางทีมงานต้องลดจำนวนแกนในการประมวลผลสำหรับโปรแกรมดังกล่าวลง ซึ่งก็ทำให้อาการกระตุกของเกมลดน้อยลง

ซึ่งสุดท้ายสำหรับภาพรวมของการทดสอบนี้พบว่าโน้ตบุ๊กที่มาพร้อมซีพียู Intel Sandy Bridge Core i7 2820QM + Intel HD Graphics 3000 สามารถตอบสนองการทำงานแบบ Multi Tasking ได้อยู่ในระดับดีมากๆ อีกทั้งยังสามารถทลายข้อจำกัดของปัญหาขอขวดในการส่งข้อมูลไม่ทัน อย่างที่เกิดขึ้นในครั้งอดีตได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ทั้งนี้ในเรื่องของการใช้เล่นเกม หรือจะ Multi Tasking เกมหลายๆ เกมไปมา นั้นยังไม่สามารถทำได้ ซึ่งตรงจุดนี้อาจมีสาเหตุมาจากปัญหาขอขวดในเรื่องของกราฟิกชิป HD 3000 ด้วยที่อาจมีค่าสเปกต่ำเกินไป ทำให้เกิดปัญหาขอขวดในการส่งและประมวลผลข้อมูลซึ่งต้องพึ่งพาซีพียูเป็นแรงผลักดันอีกแรง แต่ทั้งนี้ด้วยการที่อินเทลเลือกใช้ SSD มาเป็นหนึ่งในเครื่องทดสอบก็อาจมีผลเรื่องความเร็วที่มากขึ้นด้วย

Battery Test

สุดท้ายสำหรับการทดสอบแบ็ตเตอรี่ว่าจะสามารถจุไฟต่อการชาร์จหนึ่งครั้งได้กี่ชั่วโมง สำหรับโน้ตบุ๊กเครื่องนี้จะสามารถใช้ทำงานในโหมด High Performance จนแบ็ตเตอรี่หมดอยู่ที่ 3 ชั่วโมง 16 นาที ส่วนในโหมด Power Save เปิดความสว่างหน้าจอ 80% จะอยู่ที่ 5 ชั่วโมงครึ่ง - 6 ชั่วโมง และสำหรับการชาร์จพลังงานจะใช้เวลา 1 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งผลเวลาที่ออกมาอยู่ในเกณฑ์น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับโน้ตบุ๊กรุ่นใหญ่ขนาดนี้

สรุป



ถึงแม้ตัวโน้ตบุ๊ก Intel Sandy Bridge จะอาจไม่โดดเด่นในเรื่องกราฟิกชิปสำหรับขาเกมเมอร์นัก แต่สำหรับขา Home Entertainment และผู้ที่ทำงานด้านกราฟิก แอนิเมชันอาจรู้สึกถูกใจเมื่อได้สัมผัสครั้งแรก เนื่องจากความเร็วของตัวเครื่องค่อนข้างสูง และเมื่อผนวกกับฮาร์ดไดร์ฟ SSD จากอินเทลที่บรรจุอยู่ด้านในก็ยิ่งเสริมประสิทธิภาพของตัวเครื่องในสูงขึ้นกว่าเดิมอีกมาก

อีกทั้งในส่วนของคุณสมบัติใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามาอย่าง Intel AVX (Advanced Vector Extensions), Intel QuickSync Video หรือ WiDi ที่เพิ่มเข้ามาก็ยิ่งช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพของตัว Sandy Bridge มากขึ้น ในขณะที่เรื่องการจัดสรรพลังงานของตัวเครื่องได้ถูกปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น ทำให้ถึงแม้ตัวซีพียูและระบบตัวเครื่องจะมีประสิทธิภาพสูง และผู้อ่านหลายท่านอาจคาดคิดว่าต้องบริโภคพลังงานมาก ทำให้แบ็ตเตอรี่อยู่ได้ไม่นาน แต่สำหรับ Sandy Bridge ถึงแม้ซีพียูที่ใช้จะเป็น Core i7, RAM DDR3 2x2GB Dual Channel และเปิดโหมดการทำงานแบบ High Performance เล่นเกมบ้างสลับดู Youtube ความละเอียดสูง 1080p บ้าง แต่แบ็ตเตอรี่กลับอยู่ได้นานถึง 3 ชั่วโมงกว่าๆ และถ้าตั้งในโหมด Power Save ใช้พิมพ์งาน เล่นอินเทอร์เน็ตเล็กๆ น้อยๆ จะสามารถอยู่ได้นานถึง 5-6 ชั่วโมง ซึ่งสามารถใช้งานโน้ตบุ๊กต่อการชาร์จหนึ่งครั้งได้ตลอดวันเลยทีเดียว

ขอชม
- Intel Sandy Bridge มีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง น่าพอใจ อย่างการทำ Multi Tasking สามารถทำได้ลื่นไหลขึ้นมาก (เปรียบเทียบกันเฉพาะโน้ตบุ๊ก) ปัญหาขอขวดเนื่องจากซีพียูส่งข้อมูลไม่ทันกำลังจะหมดไป
- คุณสมบัติ Quick Sync Video ช่วยทำให้การแปลงไฟล์วิดีโอทำได้รวดเร็วขึ้นมาก เหมาะแก่ยุคนี้ที่คนส่วนใหญ่ชอบใช้ Multimedia Protable อย่าง iPod Touch, iPad
- Turbo Boost 2.0 เร่งประสิทธิภาพซีพียูได้สูงขึ้นมาก
- Intel HD Graphics บน Die เดียวกับซีพียูช่วยขยายมาตราฐานกราฟิกชิปออนบอร์ดให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
- การจัดสรรพลังงานของระบบและซีพียูถูกปรับแต่งให้ดีขึ้น ประหยัดไฟมากขึ้น

ขอติ
- Intel HD Graphics ที่เปืดตัวออกมาในตอนนี้ยังมีประสิทธิภาพไม่สูงพอจะเล่นเกมใหม่ๆ ในอนาคต
- Intel WiDi (Wireless Display) ต้องใช้กับอุปกรณ์ที่รองรับ ซึ่งถือเป็นมาตราฐานใหม่ และต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่าระบบดังกล่าวจะสามารถใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- มีการคาดการณ์ว่าราคาเปิดตัวช่วงแรกสำหรับกลุ่มโน้ตบุ๊กอาจจะสูง

Company Relate Link :
Intel


















กำลังโหลดความคิดเห็น