xs
xsm
sm
md
lg

Review : Dell Vostro V13 ร่างอวตารของ Adamo

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คีย์บอร์ดค่อนข้างนิ่มสบายมือทีเดียว
หลายท่านคงจำโน้ตบุ๊กสุดบาง 0.65 นิ้วนามว่า Adamo จาก Dell กันได้ โดยโน้ตบุ๊กรุ่นดังกล่าวเคยเป็นที่กล่าวขานกันมากเมื่อตอนเปิดตัวใหม่ๆ ด้วยน้ำหนักและความบางที่สามารถเทียบเท่า MacBook Air ได้อีกทั้งราคาค่าตัวที่สูงลิ่วเหยียบแสนบาท ทำให้พ่อแม่พี่น้องคนไทยหลายคนคงได้แต่มองดูเท่านั้น

แต่วันนี้เมื่อ Dell เกิดใจดียอมคลอดโน้ตบุ๊กร่างอวตาร Adamo ออกมาใหม่ในรุ่น Vostro V13 (วอสโทร วี13) ที่มีรูปร่างและการออกแบบคล้ายคลึง Adamo เป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่แตกต่างคือ Vostro V13 มีราคาที่คนทั่วไปสามารถจับต้องได้ (ราคาอยู่ที่ 14,990 - 27,990 บาท) ผมว่างานนี้อาจทำให้หลายคนเกิดความสนใจขึ้นได้อย่างแน่นอน



ซึ่งสำหรับ Dell Vostro V13 ยังได้แบ่งกลุ่มตลาดและราคาออกเป็น 3 รุ่นได้แก่ Core 2 Duo SU7300 ความเร็ว 1.3GHz ซึ่งเป็นรุ่นท็อปสุด และเป็นรุ่นที่เราได้รับมาทดสอบในวันนี้ โดยมีราคาอยู่ที่ 27,990 บาท ส่วนรุ่น Core 2 Solo SU3500 ความเร็ว 1.4GHz และ Celeron 743 ความเร็ว 1.2GHz จะมีราคาอยู่ประมาณ 14,000-20,000 บาทต้นๆ ซึ่งถือเป็นรุ่นราคาประหยัดที่สุด

โดยถ้าพูดถึงภาพรวมคร่าวๆ ภายใน Dell Vostro V13 ก็คือ ตัวเครื่องจะได้รับการตีตรา Centrino 2 จาก Intel มาเนื่องจากทั้งซีพียูและระบบ WiFi จะเป็นของอินเทลทั้งหมด ส่วนคุณสมบัติอื่นๆ ที่ Dell Vostro V13 มีก็คือ รองรับระบบ Bluetooth 2.1, รองรับ Gigabit Ethernet (10/100/1000 NIC) และสามารถใส่อุปกรณ์ที่เป็น 34 mm ExpressCard ได้อีกด้วย

Design Of Design of Dell Vostro V13




Dell Vostro V13 จะเป็นโน้ตบุ๊กที่อยู่ในกลุ่ม ULV (Ultra Low Voltage) โดยวัสดุที่ใช้ผลิตในส่วนบอดี้จะเป็นอลูมินั่มคุณภาพดี ส่วนบานพับจะเป็นสังกะสี ซึ่งนับว่าแข็งแรงและดูดีมาก




มาในส่วนของความบางจะอยู่ที่ 0.65 นิ้ว (16.5 มม.) และมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 1.59 กิโลกรัม ด้าน Optical Drive ต่างๆ จะไม่มีมาให้ ทำให้ผู้ใช้ที่ต้องการใช้งานต้องหามาต่อผ่านพอร์ต USB 2.0 เอง



ในส่วนด้านล่างของตัวโน้ตบุ๊กเมื่อพลิกขึ้นมาจะพบว่าไม่มีช่องให้ท่านผู้อ่านสามารถอัพเกรดหน่วยความจำหรือแม้แต่ถอดเปลี่ยนฮาร์ดดิสก์ได้เลย แต่จะพบเพียงแค่ช่องถ่ายเทความร้อนรวมถึงหัวน็อตสำหรับยึดโครงโน้ตบุ๊กเท่านั้น

Input and Output Ports



ที่นี้มาในส่วนของช่องเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ รอบเครื่อง โดยช่องเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ นั้นจะถูกออกแบบมาให้อยู่ด้านหลังเครื่อง ไล่จากซ้ายจะเป็นพอร์ต Ethernet (RJ-45), Combo USB/eSATA, USB 2.0, D-Sub (VGA Analog) output, และสุดท้ายช่องเชื่อมต่อ Adapter



มาที่ด้านข้างของตัวเครื่องด้านขวามือจะเป็นช่องเสียบ Express Card ขนาด 34 มม. และช่องเสียบ Card Reader แบบ 5 in 1 ส่วนด้านซ้ายของตัวเครื่องจะไม่มีพอร์ตหรือช่องใส่อุปกรณ์เสริมในตัวเครื่องแต่อย่างใด



คราวนี้ลองมาดูบริเวณด้านหน้าของตัวเครื่องกันบ้างซึ่งเราจะเห็นว่าจากซ้ายจะเป็นไฟแสดงสถานะการทำงานของเครื่องและไฟแสดงสถานะการทำงานของฮาร์ดดิสก์ ส่วนด้านขวามือสุดจะเป็นช่องเสียบหูฟังและไมโครโฟน



สุดท้ายผมว่าหลายๆ คนที่อ่านรีวิวมาถึงย่อหน้านี้อาจเกิดความสงสัยได้ว่าลำโพงนั้นอยู่ไหน ผมขอเรียนตามตรงเลยครับว่า ทีแรกผมก็งงเหมือนกันจนต้องเปิดเพลงทดสอบ ถึงได้ทราบว่าลำโพงของ Dell Vostro V13 นั้นถูกซ่อนอยู่หลังแผงคีย์บอร์ดบริเวณภาพประกอบด้านบนครับ ซึ่งตัวลำโพงได้ให้มาแบบ Mono ไม่ใช่ Stereo

Performance And Benchmark

CPU & Memory Details



สำหรับซีพียูที่ทาง Dell เลือกใช้กับ Vostro V13 รุ่นท็อปที่ทางเราได้มานั้นจะเป็นซีพียูตระกูล Core 2 Duo รหัส SU7300 ความเร็ว 1.2GHz ซึ่งใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ 45 นาโนเมตร อีกทั้งยังเป็นซีพียูในตระกูล ULV (Ultra Low Voltage) ซึ่งเมื่อใช้งานแบบ High Performance จะบริโภคไฟอยู่ที่ 1.038v ส่วนเมื่อใช้โหมด Power Save จะบริโภคไฟอยู่ที่ 0.9v เท่านั้น

ที่นี้มาดูในส่วนของ Chipset ที่ทาง Dell เลือกใช้ในรุ่น Vostro V13 จะเป็น Chipset ของ Intel รุ่น GS45 ส่วน Southbridge จะเป็น ICH9-M และสุดท้ายในส่วนของหน่วยความจำจะใช้ชิปจาก Hyumdai และเป็นหน่วยความจำแบบ DDR3 แผงเดียวขนาด 4GB โดยมีค่า Timing อยู่ที่ 6-6-6-15 และบริโภคไฟอยู่ประมาณ 1.5v

Graphic Chip Details



เนื่องจากโน้ตบุ๊กเครื่องนี้เน้นการพกพาและใช้งานทั่วๆ ไปมากกว่าเน้นด้านความบันเทิง ทำให้ทาง Dell เลือกใช้กราฟฟิกชิป Intel Graphics Media Accelerator (GMA) 4500MHD ที่มีหน่วยความจำเพียง 32MB โดยคุณสมบัติของกราฟฟิกชิปนี้จะอยู่ที่การรองรับการถอดรหัสไฟล์ Hi-Def ที่ 720p ส่วน 1080p หรือการรับชมภาพยนตร์จาก Blu-Ray จะไม่สามารถทำได้บนกราฟฟิกชิปนี้ โดยรับชมตัวอย่างได้จากภาพประกอบด้านล่าง ซึ่งผมได้ทดสอบการเล่นไฟล์ mkv 1080p ที่เข้ารหัสภาพแบบ MPEG4-AVC + DTS HD Master ไว้ โดยจะเห็นว่าเฟรมเรทที่ได้ระหว่างทดสอบจะอยู่ที่ประมาณ 18-24 fps เท่านั้น (ภาพหนืดมาก) อีกทั้งถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าการเล่นไฟล์ Hi-Def 1080p จะบริโภคทรัพยากรซีพียูมากถึง 84-99% เลยทีเดียว

LED-backlit HD Resolution



สำหรับหน้าจอ LED 13 นิ้วของ Dell Vostro V13 จะรองรับความละเอียดที่ 1366x768 pixels อีกทั้งยังเป็นจอแบบด้านอีกด้วย

Benchmark

*สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพทั้งหมดจะทำการทดสอบผ่านระบบปฏิบัติการณ์ Windows 7 - 64bit



3DMark 05 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 877 คะแนนบนความละเอียดหน้าจอ 1280x768 + Shader Model 3 ส่วนเมื่อเปลี่ยน Shader Model เป็นเวอร์ชั่น 2 คะแนนที่ได้ก็เพิ่มขึ้นมาอีกไม่มาก โดยจะอยู่ที่ประมาณ 890 คะแนน



3DMark 06 คะแนนทดสอบที่ได้คือ 635 คะแนนโดยแบ่งเป็นคะแนน Shader Model 2 = 205 คะแนน, HDR/Shader Model 3 = 242 คะแนน ส่วนคะแนนประมวลผลซีพียูอยู่ที่ 1,139 คะแนน



PCMark Vantage สามารถทำคะแนนได้ที่ 2,816 คะแนน โดยถ้าดูจากผลคะแนนทั้งหมดแล้วจะพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ซึ่งถ้าผู้ใช้เน้นเรื่องการทำงานทั่วไปไม่เน้นเรื่อง Multimedia แบบ Hi-End หรือ Gaming มากนัก Dell Vostro V13 ก็สามารถตอบโจทย์เหล่านั้นได้ในเกณฑ์ที่ดีเลยล่ะครับ



Cinebench R10 x64 ในส่วนของการทดสอบด้วยการให้ซีพียูวาดภาพ 3 มิติด้วยเอนจิ้นของ Maxon ผลคะแนนที่ได้คือ ในการใช้ซีพียูหัวเดียววาดจะอยู่ที่ 1,592 คะแนน ส่วนเมื่อใช้เป็นแบบ Multi-Core คะแนนที่ได้จะอยู่ 2,455 คะแนน

Web Browser Test with FireFox 3.6



สำหรับการทดสอบการโหลดหน้าเพจ รวมถึงการใช้คำสั่งต่างๆ บน Web Browser FireFox 3.6 สามารถทำคะแนนได้ที่ 1,680 คะแนน ซึ่งก็ถือว่าลื่นไหลพอสมควร

Network Test


สำหรับการเชื่อมต่อระบบแลนผ่าน Dell Vostro V13 สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 1Gbps ทำให้การเคลื่อนย้ายไฟล์ขนาด 38GB ทำเสร็จได้ด้วยเวลาไม่ถึง 10 นาทีที่ความเร็วการส่งข้อมูล 75-90 MB/s

Wireless Test



สำหรับการทดสอบการรับส่งข้อมูลของ WiFi โดย Intel WiFi Link 5100 AGN ที่ระยะทางประมาณ 15 เมตรจะเห็นว่าอยู่ในเกณฑ์พอใช้ โดยความเข้มของสัญญาณก็ไม่ได้แกว่งมากมายนัก ถ้าเทียบกับอุปกรณ์รับส่งสัญญาณ WiFi ราคาไม่กี่ร้อยบาทที่ผมใช้อยู่

HDD Test



สำหรับฮาร์ดดิสก์ที่ Dell Vostro V13 เลือกใช้จะเป็นของ Seagate ซึ่งมีรอบหมุนอยู่ที่ 7,200 รอบ และมีอัตราการรับ-ส่งข้อมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 87.7 MB/s ส่วนอัตราความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลจะอยู่ที่ 17.1ms

Video Encode Test



สำหรับการทดสอบถอดรหัสไฟล์วิดีโอ DVD MPEG2 (VOB Files) ความยาว 20.43 mins, บนระบบ PAL ไปเป็นไฟล์ MPEG 4 ด้วยโปรแกรม Xilisoft Video Converter ก็สามารถทำเวลาที่ 13 นาที

Full Load Temperature



Note: สำหรับอุณหภูมิ Idle ส่วนใหญ่จะอยู่ประมาณ 35-36 องศาเซลเซียสถึงถ้าสัมผัสแล้วจะพบวว่าไม่มีความร้อนแผ่ออกมาให้รู้สึกเลย แต่ถ้าเมื่อใช้งานถึง Full Load เมื่อไหร่ความร้อนจะเริ่มแผ่ออกมาบริเวณที่รองมือด้านขวา (บริเวณข้างขวาของ Touch Pad) ค่อนข้างชัดเจน

Battery Test



สำหรับการทดสอบการใช้งานเครื่องในโหมด Battery ผมได้ทำการตั้งค่า Power Management เป็น Power Save ไว้ และตั้งความสว่างหน้าจออยู่ที่ 80% พร้อมเปิดฟังเพลง MP3 + 3D Visualization ตลอดการทดสอบ ซึ่งเวลาที่สามารถใช้งานได้จะอยู่ที่ 2 ชั่วโมง 19 นาที


สำหรับการชาร์จแบ็ตเตอรี่จนเต็ม 100% จะใช้เวลาอยู่ที่ 1 ชั่วโมง 33 นาที

บทสรุป

สำหรับ Dell Vostro V13 เป็นโน้ตบุ๊กตระกูล ULV ที่ผมว่ามีการออกแบบดีไซน์ที่ดูแข็งแรงและสวยงามตามมาตรฐานของ Dell มาก และอีกสองข้อที่ผมรู้สึกประทับใจแต่ไม่ได้กล่าวในหัวข้อการทดสอบ ก็คือข้อแรกตัว Adapter มีการออกแบบมาให้บาง ทำให้เก็บและพกพาได้สะดวกมาก ส่วนข้อที่สองก็คือปุ่มคลิกบริเวณ Touchpad มีความนิ่มและแม่นยำมาก (นิ่มกว่าปุ่มคลิกของเมาส์บางยี่ห้อเสียอีก)

ส่วนในเรื่องของการพกพาหรือความเป็น Mobility ผมว่าเจ้า Vostro V13 สอบผ่านนะครับเพราะด้วยน้ำหนักเครื่องที่เบา อีกทั้งความหนาของตัวเครื่องก็ไม่ถึง 1 นิ้ว ทำให้ผมสามารถพกใส่กระเป๋าเสื้อผ้าออกไปผจญภัยตามสถานที่ต่างๆ ได้โดยไม่รู้สึกเมื่อยหลังหรือมือแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ก็มีที่ติอยู่จุดหนึ่งตรงที่มุมของเครื่องค่อนข้างออกเหลี่ยมเล็กน้อย ทำให้ถ้าใส่ในกระเป๋าผ้าบางๆ บางทีมุมโน้ตบุ๊กอาจแทงทะลุออกมาได้

ที่นี้มาในประเด็นของเรื่องราคาและความคุ้มค่ากันบ้าง ซึ่งผมคิดว่าด้วยการออกแบบของ Dell วัสดุที่ใช้ผลิต รวมถึงความแข็งแรง และหน้าตาคล้ายๆ Adamo สุดแพง ผมว่าราคาระดับ 14,000-27,990 บาทกำลังอยู่ในระดับที่ดี พอยอมรับได้เลยครับ ซึ่งแน่นอนว่า Dell Vsotro V13 อาจจะไม่ใช่โน้ตบุ๊กที่มีประสิทธิภาพและคุณสมบัติดีที่สุด แต่ Dell Vsotro V13 มีข้อดีตรงที่การออกแบบและการพกพาที่ผมว่า Dell เขาตั้งใจผลิตออกมาจับกลุ่มพวกนักธุรกิจและนักเดินทางที่ต้องการโน้ตบุ๊กที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเน็ตบุ๊กแต่ต้องการพกพาสะดวกสบายเหมือนเน็ตบุ๊กก็เป็นได้ครับ

ขอชม
- ใช้วัสดุและการออกแบบที่ดูแข็งแรงและดูดี (ในสายตาของผม)
- น้ำหนักและความหนาของเครื่องอยู่ในระดับพกพาสะดวกมาก (16.5 มม./1.59 กก.)
- Touchpad และปุ่มคลิกใช้งานได้ดีเยี่ยม
- Adapter มีความบางและน้ำหนักเบามาก
- ออกแบบได้ใกล้เคียง Adamo มาก
- ฮาร์ดดิสก์มีรอบหมุนที่สูงถึง 7,200 รอบต่อนาที
- มีการติดตั้ง eSATA มาให้ด้วย
- หน้าจอเป็น LED มีความสว่างและคมชัดมาก

ขอติ
- ประสิทธิภาพของกราฟฟิกชิปอยู่ในเกณฑ์ธรรมดาไม่สามารถเล่นเกมหรือชมภาพยนตร์ระดับ Full HD ได้
- ลำโพงภายในเป็น Mono
- แบ็ตเตอรี่อยู่ได้เพียงแค่ 2 ชั่วโมงกว่า (รุ่นขายจริงอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ใหม่)
- ไม่มี Optical Drive ภายในมาให้
- USB ให้มาเพียง 2 พอร์ตเท่านั้น
- เวลาใช้งาน Full Load อาจสัมผัสได้ถึงความร้อนที่แผ่ออกมาบริเวณที่รองมือด้านขวา

Company Relate Link :
DELL
ช่องเสียบหูฟังและไมโครโฟน
อีกหนึ่งมุมที่แสดงถึงความบางได้เป็นอย่างดี
ด้านล่างของโน้ตบุ๊กจะเป็นช่องถ่ายเทอากาศ
ไฟแสดงสถานะต่างๆ ของเครื่อง
ส่วนไฟฮาร์ดดิสก์และไฟแสดงสถานะเปิด-ปิดเครื่องจะอยู่ส่วนนี้
โน้ตบุ๊กเครื่องนี้ให้ Windows 7 มาด้วย
น้ำหนักเบาจนผมถือมือเดียวแล้วเหวี่ยงได้เลย
หน้าตาของ Adapter สุดบาง
เห็นรูปทรงแล้วนึกถึง Adamo ทันที
กล้อง Webcam ความละเอียด 1.3MP
Touchpad ที่ใช้งานได้ยอดเยี่ยมมาก
หน้า BIOS 1
หน้า BIOS 2
หน้า BIOS 3
หน้า BIOS 4
หน้า Boot Screen
กำลังโหลดความคิดเห็น