จำได้ว่าแรกเริ่มที่เห็นแบรนด์ HP เปิดตัวโน้ตบุ๊กสุดหรูและสุดแพงนามว่า Envy ออกมา ผมรู้สึกอึ้งและทึ่งกับราคาค่าตัวที่ค่อนข้างสูงมาก อีกทั้งเมื่อทาง HP ออกมาบอกว่าโน้ตบุ๊กเครื่องนี้จะมาพร้อมหน้าจอ LED แบบใหม่ซึ่งมีความคมชัดสูงมาก (และอาจเป็นหน้าจอโน้ตบุ๊กที่ดีที่สุดในโลก ณ ตอนนี้) ก็ยิ่งสร้างความสนใจและความอยากได้ให้ผมอย่างมาก แต่แล้วสุดท้ายฝันของผมก็กลายเป็นจริง เมื่อตอนนี้ HP Envy มาตั้งอยู่ตรงหน้าผมแล้ว ผลการทดสอบจะเป็นอย่างไรมาติดตามพร้อมๆ กันเลยครับ
Design of HP Envy13
จากภาพมุมกว้างจะเห็นว่า HP Envy13 เป็นโน้ตบุ๊กที่บางมาก (ประมาณ 0.8 นิ้ว) โดยวัสดุที่ใช้จะเป็นอะลูมิเนียมผสมแมกนีเซียมที่มีการเก็บรายละเอียดมาอย่างดี ทำให้น้ำหนักเครื่องสูงถึงประมาณ 1.69 กิโลกรัม
เมื่อเปิดฝาพับออกมา สิ่งแรกที่ดูจะสะดุดตามากที่สุดก็คือแป้นคีย์บอร์ดที่เป็นลักษณะ Chicklet Keyboard คล้ายคีย์บอร์ด MacBook อีกทั้งสิ่งที่สังเกตได้อย่างชัดเจนก็คือจอภาพแบบ Diagonal LED HD ที่ถูกติดฟิล์มกันรอยไว้ ซึ่งผมบอกตรงๆ เลยครับว่าหน้าจอของ Envy บางได้ใจจริงๆ
ถัดลงมาจะเป็น Mouse Pad ขนาดใหญ่ที่สามารถใช้งานได้คล้ายกับเทคโนโลยีของ MacBook มาก เช่น หากเราต้องการคลิกเราก็สามารถกดลงไปที่ตัว Pad ได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องเลื่อนนิ้วไปกดที่ด้านล่างเหมือนโน้ตบุ๊กทั่วไป อีกทั้ง Mouse Pad ตัวนี้ยังรองรับระบบ Multi-Touch ด้วย
ลองพลิกเครื่องมาดูรายละเอียดด้านล่างของตัวเครื่องกันบ้าง จะพบว่า HP Envy13 เป็นโน้ตบุ๊กที่ไม่สามารถเปลี่ยน/เพิ่ม ฮาร์ดดิสก์หรือแม้กระทั้งหน่วยความจำได้เอง เพราะจากภาพจะเห็นว่าด้านล่างของตัวเครื่องจะไม่มีอะไรนอกเสียจากขั้วเสียบแบ็ตเตอรี่ก้อนที่ 2 และตัวก้อนแบ็ตเตอรี่ที่ 1 ซึ่งสามารถถอดออกได้
I/O Design
คราวนี้เราลองมาดูรายละเอียดของช่อง Input/Output รอบๆ โน้ตบุ๊กเครื่องนี้ดูบ้าง โดยเริ่มจากด้านขวาของเครื่อง จากซ้ายมือจะเป็นไฟแสดงสถานะฮาร์ดดิสก์ ถัดมาจะเป็นช่องเสียบหูฟัง ซึ่งสามารถตั้งเป็นช่อง Line in หรือ Mic in ได้ ต่อมาอีกจะเป็นช่อง USB 2.0 จำนวน 2 ช่อง และช่อง HDMI 1.3 จำนวน 1 ช่อง และสุดท้ายจะเป็นช่องระบายความร้อนจากภายใน
มาที่ด้านซ้ายของเครื่องบ้าง โดยเริ่มจากด้านขวามือจะเป็น Card Reader ซึ่งรองรับแค่ MMC และ SD Card เท่านั้น ถัดมาจะเป็นช่องเสียบ Adapter ซึ่งมีไฟแสดงสถานะอยู่ข้างๆ ด้วย (สีส้มคือกำลังชาร์จไฟ สีขาวคือแบ็ตเตอรี่เต็ม) และสุดท้ายก็คือช่องไหลผ่านอากาศเพื่อระบายความร้อนครับ
Hybrid Graphic Processor Unit
ตามที่ HP เคยกล่าวไว้ตอนงานเปิดตัวว่าโน้ตบุ๊ก Envy13 จะใช้ถูกออกแบบมาเพื่อผู้ใช้ที่เน้นการพกพาและต้องการใช้โน้ตบุ๊กเพื่อความบันเทิงเป็นหลัก เพราะฉะนั้นตัว Envy13 จึงมาพร้อมกราฟฟิกชิปถึง 2 ตัวอันได้แก่ ATI Mobility Radeon HD 4330 (High Performance Mode) และการ์ดจอจาก Intel Mobile Series 4 (Power Save Mode)
การเปลี่ยนโหมดใช้งานทำได้ไม่ยาก เพียงคลิกขวาและเลือก Switchable Graphics แล้วเลือกใช้งานตามต้องการ โดยในโหมด High Performance จะเป็นโหมดที่เรียกพลังจากกราฟฟิก ATI Mobility Radeon HD 4330 ออกมาใช้ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานสามารถรับชมภาพยนตร์จาก Blu-Ray Disc หรือเล่นเกมได้ ส่วน Power Save Mode จะเหมาะแก่ตอนที่ผู้ใช้ไม่ได้เสียบ Adapter ไว้ซึ่งแน่นอนว่าจะประหยัดไฟมาก แต่ผู้ใช้ก็ต้องแลกมาด้วยประสิทธิภาพที่เพียงทำได้แค่เล่นอินเทอร์เน็ท รับชมวิดีโอความละเอียดไม่เกิน 720p ได้เท่านั้น
Software Bundle
HP Envy13 จะมาพร้อมชุดซอฟท์แวร์ HP MediaSmart ซึ่งตัวโปรแกรมจะประกอบไปด้วยโปรแกรมบันเทิงต่างๆ ที่ทาง HP ให้มาอย่างเต็มที่ โดยโปรแกรมเด่นๆ ของชุด HP MediaSmart ก็คงจะอยู่ที่ โปรแกรม DVD Player ซึ่งสามารถเล่นแผ่น Blu-Ray พร้อมทั้งใช้คุณสมบัติ BD-Live ได้ด้วยถ้าท่านผู้ใช้ต่ออินเตอร์เน็ทอยู่
CPU & Memory Details
สำหรับในส่วนของการทดสอบประสิทธิภาพ สิ่งแรกที่ควรทำก่อนเลยก็คือมาดูสเป็กของซีพียูกันก่อน ซึ่ง HP Envy13 จะมาพร้อมซีพียู Intel Mobile Core2Duo L9600 ซึ่งมีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 2.13GHz โดยซีพียูใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ ULV (Ultra Low Voltage) หรือซีพียูกินไฟต่ำนั่นเอง ในส่วน Memory Cache L1 จะอยู่ที่ 2x32 KBytes และ L2 แคชก็ได้ให้มาเต็มๆ ถึง 6MB เลยทีเดียว ด้านเมนบอร์ดที่ใช้ใน Envy13 จะเป็นของ Quanta และในส่วนของ Northbridge Chipset จะเป็นของ Intel รุ่น GS45 และ Southbridge จะเป็น ICH9-M ที่ถือเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดที่มาพร้อมกับโน้ตบุ๊กตระกูล Core2Duo แล้ว
ถัดมาเรื่องของหน่วยความจำจะพบว่า Envy13 มาพร้อมหน่วยความจำ DDR3 ขนาด 3GB เป็นแบบ Dual Channel โดยมี FSB อยู่ประมาณ 1066MHz ที่ค่า CL 7-7-7-20
สุดท้ายลองตั้งโหมดเป็น Power Save ดูจะพบว่าความเร็วของโน้ตบุ๊กเครื่่องนี้จะตกลงไปอยู่ที่ 798 MHz โดยมีค่าไฟที่ลดลงถึง 0.925 V อีกทั้งจำนวนตัวคูณ (Multipilier), Bus Speed และ CPU FSB ก็ลดลงลงมาด้วย
Performance & Benchmark
และแล้วก็ถึงหัวข้อการทดสอบประสิทธิภาพกันแล้วซึ่งในหัวข้อนี้ทางทีมงานจะทำการทดสอบทั้งหมดผ่านระบบปฏิบัติการ Windows 7
3DMark 05 บนกราฟฟิกชิป ATI Mobility Radeon HD 4330 สามารถทำคะแนนไปได้ 2,903 คะแนน ที่ความละเอียด 1280x768 ซึ่งภาพที่ปรากฏระหว่างทดสอบก็ลื่นพอใช้ครับ
3DMark 05 บนกราฟฟิกชิปจาก Intel สามารถทำคะแนนได้ 1,223 คะแนนที่ความละเอียด 1280x768 เช่นกัน แต่ภาพกราฟฟิกระหว่างทดสอบค่อนข้างกระตุกมาก
3DMark 06 บนกราฟฟิกชิป ATI Mobility Radeon HD 4330 สามารถทำคะแนนได้ที่ 1,568 คะแนน ที่ความละเอียด 1280x768 เช่นกัน ซึ่งความลื่นของภาพกราฟฟิกระหว่างการทดสอบนั้นค่อนข้างกระตุกทีเดียว
สำหรับการทดสอบ 3DMark 06 ด้วยกราฟฟิกชิปจาก Intel สามารถทำคะแนนไปได้เพียง 784 คะแนนเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าความลื่นของภาพกราฟฟิกระหว่างทดสอบนั้นอยู่ในเกณฑ์ไม่ดีเท่าที่ควร
มาที่การทดสอบด้วยโปรแกรมอย่าง 3DMark Vantage จะพบว่าคะแนนที่ได้จะอยู่ที่ 3,675 คะแนน ซึ่งก็อยู่ในเกณฑ์พอใช้สำหรับการทำงานด้าน Multimedia ซึ่งแน่นอนว่าเจ้า Envy13 สามารถแสดงผลไฟล์ Hi-Def ได้ทุกประเภท เพียงแต่ว่าการประมวลผลค่อนข้างช้าเท่านั้นเองครับ
ที่นี้หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะสงสัยว่าผลการทดสอบเกมหายไปไหน ผมขอบอกกันตรงๆ เลยครับว่าตัว HP Envy13 มันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เล่นเกม 3 มิติแบบหนักๆ เพราะเท่าที่ผมพยายามทดสอบด้วยเกมจำนวนมากไล่ตั้งแต่ Lost Planet Extreme Condition, Resident Evil 5, Dirt2, Borderland หรือแม้แต่เกม Call of Duty Modern Warfar ตัวโน้ตบุ๊กเครื่องนี้อาจไม่สามารถตอบสนองความต้องการส่วนนั้นได้ดีมากนัก แต่ถ้าเป็นเกมออนไลน์อย่าง Point Blank หรือ Kart Raider ผมว่า HP Envy13 ยังคงพอเล่นได้อยู่ครับ
Video Encode Test
สำหรับการทดสอบถอดรหัสไฟล์วิดีโอ DVD MPEG2 (VOB Files) ความยาว 20.43 mins, บนระบบ PAL ไปเป็นไฟล์ MPEG 4 ด้วยโปรแกรม Xilisoft Video Converter ก็สามารถเวลาอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้คือ 7 นาที 59 วินาที
HDD Benchmark
สำหรับฮาร์ดดิสก์ที่ถูกบรรจุอยู่ใน Envy13 ก็คือ TOSHIBA MK2529GSG ขนาด 250GB นั่นเอง ซึ่งจากการทดสอบด้วยการอ่านข้อมูลจะพบบว่าฮาร์ดดิสก์มีค่าอ่านข้อมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 32.4MB ต่อวินาที โดยมีค่าการเข้าถึงข้อมูล (Access time) อยู่ที่ 19.3ms
Webcam Test
สำหรับ Webcam ที่ติดมากับ HP Envy13 จะมีเซ็นเซอร์รับภาพเพียงแค่ VGA เท่านั้น แต่ทั้งนี้ทาง HP เขาได้เคลมมาว่า Webcam ตัวนี้ถึงจะมีเซ็นเซอร์แค่ VGA แต่เขาได้ติดตั้ง ระบบ Low Light ซึ่งสามารถทำให้เราสามารถถ่ายภาพและวิดีโอในที่ๆ มีแสงน้อยได้ ซึ่งจากการทดสอบก็พบว่าอยู่ในเกณฑ์พอใช้เท่านั้นครับ
Wireless Benchmark
ตัว HP Envy13 เลือกใช้ตัวรับ-ส่ง WiFi จาก Intel ในรุ่น 5100AGN โดยการทดสอบรับสัญญาณ WiFi ที่ห่างจากตัวโน้ตบุ๊กประมาณ 15 เมตรพร้อมคลื่นสัญญาณรบกวนรอบข้างมากมาย ซึ่งปกติ WiFi ทั่วไปจะมีอัตรารับสัญญาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 35-40% เท่านั้น แต่สำหรับ HP Envy13 แล้วตัวรับส่งสัญญาณค่อนข้างดีมาก ทำให้สามารถรับสัญญาณ WiFi อยู่ที่ 40-50% ได้ในขณะที่มีการแกว่งของสัญญาณก็อยู่ในเกณฑ์พอใช้
Blu-Ray Drive + DVD-RW Test
Blu-Ray Drive ถือว่าเป็นจุดขายที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับตัว HP Envy13 นี้ ซึ่งในส่วนของคุณภาพด้วยการทดสอบกับแผ่นภาพยนตร์ Blu-Ray แบบ Single Layer (17.84GB) จะพบว่าตัว Blu-Ray Drive นี้มีความเร็วในการอ่านแผ่น Blu-Ray อยู่ที่ 2x ซึ่งจากกราฟของโปรแกรมทดสอบจะพบว่ามีความนิ่งในการอ่านที่ดีมาก ส่วนการอ่าน CD และ DVD ก็ทำได่ดีไม่แพ้กันโดยความเร็วในการอ่านและเขียนแผ่น DVD และ CD ก็อยู่ในเกณฑ์ดีเช่นกัน แต่อาจจะมีความเร็วในการอ่านและเขียนต่ำไปสักเล็กน้อย
Speaker Test
มาที่เรื่องของคุณภาพเสียงจากลำโพงภายในตัว HP Envy13 กันบ้าง ซึ่งต้องบอกกันตรงๆ เลยครับว่าลำโพงทั้ง 2 ข้างที่ติดตั้งอยู่บริเวณด้านล่างของตัวโน้ตบุ๊กนั้นมีความชัดเจนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเสียงกลางและแหลมที่ทำได้ค่อนข้างดีมาก อีกทั้งถึงแม้ตัวโน้ตบุ๊กจะไม่ได้ติดตั้ง Subwoofer มาให้แต่ตัวลำโพงทั้ง 2 ข้างก็สามารถสร้างสนามเสียงต่ำให้ออกมาให้ได้ยินบ้าง
Battery Test
แบตเตอรี่ที่ HP ให้มาสำหรับ Envy13 จะมีให้ด้วยกัน 2 ก้อน ได้แก่ แบตเตอรี่ขนาด 4 เซลล์ และแบบ 6 เซลล์ ซึ่งมีขนาดความยาวและสูงเท่ากับตัวโน้ตบุ๊กตามภาพประกอบด้านบนซึ่งประสิทธิภาพที่ได้ก็เป็นไปตามการทดสอบดังต่อไปนี้
1 Unit - Power Save Mode
การทดสอบในส่วนนี้จะปรับความสว่างของหน้าจอให้อยู่ที่ 50% เปิด WiFi, Bluetooth และใช้งานลำโพงด้วย เวลาที่ใช้งานได้จะอยู่ที่ 3 ชั่วโมง 55 นาที
1 Unit - Charge Mode
สำหรับการชาร์จไฟคืนจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 36 นาทีเท่านั้น
2 Units - Power Save Mode
การทดสอบในส่วนนี้จะปรับความสว่างของหน้าจอให้อยู่ที่ 70% เปิด WiFi และ Bluetooth สำหรับเวลาที่สามารถใช้งานได้จะอยู่ที่ 12 ชั่วโมง 12 นาที เรียกได้ว่านานสุดยอดมาก!!
2 Units - High Performance Mode
สำหรับการทดสอบส่วนนี้จะเป็นการเปิดใช้ทุกอย่างสุดหมด อีกทั้งยังเปิดใช้กราฟฟิกชิป ATI Mobility Radeon HD 4330 และต่อพ่วง Blu-Ray Drive ผ่าน USB 2.0 เพื่อใช้ชมภาพยนตร์ความยาว 1 ชั่วโมง 40 นาทีซึ่งตัวแบ็ตเตอรี่สามารถใชังานได้ 3 ชั่วโมง 20 นาที
2 Unit - Charge Mode
สุุดท้ายลองทดสอบชาร์จไฟเข้าแบ็ตเตอรี่ทั้ง 2 ยูนิตพบว่าใช้เวลาชาร์จจนแบ็ตเตอรี่ทั้ง 2 ก้อนเต็มอยู่ที่ 6 ชั่วโมง 51 นาทีเท่านั้น เรียกได่ว่าเร็วเกินคาดจริงๆ
Tempurature
อุณหภูมิระหว่างการใช้งานปกติ
อุณหภูมิระหว่างการใช้งานแบบ Full Load
สรุป
อย่างแรกต้องยอมรับก่อนเลยครับว่า HP Envy13 เป็นโน้ตบุ๊กตระกูล Ultra Low Voltage (ULV) ที่นับว่ามีราคาสูงที่สุด (89,900 บาท) ในตอนนี้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะวัสดุขบวนการผลิต และ Bundle ต่างๆที่ให้มา ซึ่งเป็นเหตุทำให้ตัวสินค้ามีความหรูหรามากกว่าแบรนด์อื่น อย่างตัวบอดี้โน้ตบุ๊กก็ใช้วัสดุที่เป็นอะลูมิเนียมผสมแมกนีเซียมทำให้มีความแข็งแรงมาก เรื่องของแบ็ตเตอรี่ที่สามารถใส่ได้ 2 ก้อนทำให้สามารถใช้งานได้ถึง 12 ชั่วโมงเต็มๆ ในโหมด Power Save และประมาณ 3 ชั่วโมงกว่าๆ สำหรับการรับชมภาพยนตร์ จาก Blu-Ray Disc อีกทั้งเรื่องของจอภาพ LED ที่ผมขอการันตีครับว่า สว่าง สดใส และคมชัดมาก เพราะขนาดตั้งความละเอียดต่ำกว่า Native ของหน้าจอ ภาพที่ได้ยังคมชัดเลย
แต่ทั้งนี้ถ้าผมมองในแง่ของผู้บริโภคทั่วๆ ไปที่มักเลือกซื้อโน้ตบุ๊กที่เน้นเรื่องประสิทธิภาพกับความคุ้มค่ามากกว่าความหรูหราผมว่า HP Envy13 คงจะไม่สามารถตอบสนองในจุดนี้ได้ดีนัก เพราะจากการทดสอบส่วนใหญ่จะพบว่าการทำงานของตัวเครื่องค่อนข้างช้าตามสไตล์ชิปประมวลผลแบบ ULV (ที่เน้นจุดขายเพื่อพกพาและใช้งานได้นานแบบ Intel ATOM มากกว่า) ซึ่งถ้านำไปใช้งานทั่วไป เช่น เล่นอินเทอร์เน็ต พิมพ์เอกสาร ตัดแต่งภาพด้วย Adobe Photoshop, illustator หรือใช้งานโปรแกรมตัดต่อวิดีโอคุณภาพ HD 720p ก็สามารถทำได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ถ้าจะนำไปใช้ในงานตัดต่อ Multimedia ระดับ Full Hi-Def หรือนำไปใช้เล่นเกมหนักๆ ผมว่า HP Envy13 คงไม่สามารถตอบโจทย์เหล่านั้นได้ดีนักถ้าเทียบกับราคาจ่าย 9 หมื่นบาท ทอน 100 บาท
ขอชม
- วัสดุที่ใช้ผลิตตัวบอดี้มีความแข็งแรง
- Adapter มีขนาดเล็ก
- เครื่องมีความบางค่อนข้างมาก พกพาไปไหนสะดวก
- สามารถใส่แบตเตอรี่ได้ถึง 2 ก้อนทำให้การใช้งานสามารถใช้ได้สูงสุดถึง 12 ชั่วโมง
- ออกแบบระบบระบายความร้อนได้ดี ทำให้ไม่มีความร้อนแผ่ออกมาระหว่างใช้งานมากนัก
- ไดร์ฟ Blu-Ray External ไม่จำเป็นต้องใช้ Adapter ต่อไฟเพิ่มแต่สามารถจัดการเรื่องพลังงานสำหรับ USB 2.0 ที่ติดตั้งมาในตัวได้อย่างยอดเยี่ยม
- จอภาพมีคุณภาพ ความคมชัดและสดใสอยู่ในเกณฑ์ดีมาก
- คีย์บอร์ดเป็น Chicklet Keyboard
- Software HP MediaSmart ใช้งานได้ดีเยี่ยม
- ใช้การเริ่มระบบแบบ Graphics User Interface จาก HP ซึ่งสามารถใช้งานเครื่อง เช่น ฟังเพลง ดูรูปภาพ เล่น Skype ได้โดยไม่ต้องเข้าวินโดว์
ขอติ
- พอร์ตเชื่อมต่อ USB 2.0 รอบๆ เครื่องมีน้อยเกินไป
- พอร์ตเชื่อมต่อจอภาพมีเพียง HDMI อย่างเดียว (ไม่มี D-Sub และ DVI มาให้)
- เมื่อใส่แบ็ตเตอรี่ครบ 2 ก้อน น้ำหนักของเครื่องค่อนข้างมาก
- Mouse Pad สไตล์ Mac ใช้งานค่อนข้างติดขัด โดยเฉพาะการคลิกแบบกดลงไปที่ตัว Pad และ Scroll อยู่ในตำแหน่งที่แปลกจากปกติ ต้องฝึกความคุ้นเคยเล็กน้อยก่อนใช้งาน
- ไม่สามารถอัปเกรดฮาร์ดดิสก์หรือหน่วยความจำได้ด้วยตัวเอง
- กล้อง Webcam ไม่คมชัดเมื่อถ่ายที่มีแสงน้อย
- จำเป็นต้องใช้ Windows ที่ทาง HP ให้มาเท่านั้น
- ราคาตัวเครื่องสูงมาก
Company Related Links :
HP