การ์มิน อัสซุส นูวี M20 ถือเป็นสมาร์ทโฟนรุ่นแรกที่ผลิตออกมาพร้อมกับแผนที่นำทางจีพีเอส แบบติดตั้งอยู่ภายในตัว ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของบริษัทผลิตอุปกรณ์นำทางจีพีเอสชื่อดังอย่าง "การ์มิน (Garmin)" และบริษัทผู้ผลิตคอมฯและอุปกรณ์พกพาอย่าง "อัสซุส (Asus)" ที่ผลิตสมาร์ทโฟนอยู่เดิม ที่สำคัญคือทั้ง 2 บริษัทอยู่ประเทศไต้หวันเช่นเดียวกัน
Feature On Garmin Asus Nuvi M20
เริ่มต้นกันที่ยูสเซอร์ อินเตอร์เฟส ที่ทางการ์มิน อัสซุส พัฒนาเข้ามาเพื่อครอบทับวินโดวส์ โมบายเดิมๆนั้น ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถใช้นิ้วในการสัมผัสเพื่อสั่งงานได้ง่ายขึ้น หน้าจอไล่จากด้านบนประกอบไปด้วย การแสดงผลเครือข่ายที่ใช้ วัน เดือน ปี และเวลา ส่วนกลางจะเป็นไอคอนลัดสำหรับใช้งานโปรแกรมต่างๆ
ส่วนล่างที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ประกอบไปด้วย Call สำหรับเรียกใช้งานโหมดโทรศัพท์ Search สำหรับค้นหาสถานที่ในการนำทาง และ View Map เพื่อเปิดโปรแกรม Garmin Mobile XT ขึ้นมาดูแผนที่นั่นเอง
นอกจากนี้ทางอัสซุสยังได้มีการออกแบบหน้าจอ Settings เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าไป ปรับแต่งได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็น Home Screen ที่สามารถเลือกจัดตำแหน่งรวมไปถึงเพิ่มไอคอนโปรแกรมที่ต้องการใช้งานเข้าไปได้ด้วย นอกจากนี้การตั้งค่าการเชื่อมต่อ เสียง ระบบนำทางต่างๆก็ยังมีให้ตามปกติ ส่วน Advance Setting จะเป็นการเข้าหน้าจอตั้งค่าทั่วไปของวินโดวส์ โมบายตามปกติ ในส่วนของ Tools เป็นการตั้งค่าต่างๆสำหรับโปรแกรมนำทาง
ระบบนำทางขนานแท้ ต้นตำรับ GARMIN
ใครที่เคยมีประสบการณ์กับ GARMIN Mobile XT มาแล้ว ระบบนำทางบนเจ้า garmin-asus nuvifone m20 ก็ไม่ต่างกัน เป็นระบบนำทางสไตล์ GARMIN ขนานแท้และดั้งเดิม มีออปชั่นให้ปรับแต่งการทำงานมากมายและครอบคลุมทุกความต้องการ การค้นหาสถานที่ปลายทางทำได้ง่ายและยืดหยุ่น ฐานข้อมูล POI ขนาดใหญ่จัดหมวดหมู่ได้อย่างเหมาะสม ปั๊มน้ำมัน ปั๊มแก๊สแอลพีจี ปั๊มเอ็นจีวี แยกประเภทเอาไว้ชัดเจน การวางแผนการเดินทางทำได้อย่างสะดวก การคำนวณเส้นทางทำได้รวดเร็ว แม้จะมีเพี้ยนๆอยู่บ้างก็ตาม เสียงนำทางชัดเจนดี นำทางได้ถูกต้อง ขานเส้นทางในระยะที่เหมาะสม แต่เสียงค่อนข้างเบาไปนิด ถ้าเปิดดังสุดก็เสียงแตก อันเป็นข้อจำกัดด้านฮาร์ดแวร์ ส่วนเรื่องกราฟิกแผนที่ แน่นอนว่าละเอียดและชัดเจน ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน
เราเริ่มต้นกับ nuvifone m20 ด้วยการค้นหาสถานที่ปลายทาง โดยแตะที่ปุ่ม Search รูปแว่นขยายตรงด้านล่างของหน้าจอหลัก การค้นหาสามารถทำได้ประมาณ 10 วิธี ได้แก่ Home ปุ่มซอฟต์คีย์ที่เราสามารถกำหนดสถานที่ล่วงหน้าได้, ค้นหาจากที่อยู่, ค้นหาจากประเภทและชื่อสถานที่, ค้นจาก Favorites ที่เรา add เอาไว้ล่วงหน้า, ค้นจาก History ที่ระบบ add ให้เราโดยอัตโนมัติในระหว่างที่เราค้นหาสถานที่ที่น่าสนใจ, ค้นหาจาก Contact ในกรณีที่เราเก็บข้อมูลที่อยู่เอาไว้ครบถ้วน, จากรูป Panoramio ที่ดาวน์โหลดมาจากอินเทอร์เน็ต, จากตัวแผนที่โดยตรง, ค้นหาเขตหรืออำเภอ และค้นหาทางแยก
การป้อนข้อมูลเข้าสู่ระบบ สามารถกระทำได้ 2 วิธี คือ ใช้ On-Screen Keyboard หรือใช้ Stylus เขียนผ่านระบบ Hand-Writing Recognition สำหรับ On-Screen Keyboard นั้นจะมีขนาดค่อนข้างเล็ก ต้องใช้ Stylus ช่วยจึงจะสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก โดยมีระบบทำนายคำเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก ช่วยให้การป้อนข้อมูลไม่ลำบากจนเกินไปนัก
ในการค้นหาสถานที่ปลายทางจากที่อยู่ สิ่งแรกที่เราต้องทำคือต้องกำหนดจังหวัดที่จะทำการค้นหา และหน่วยที่เล็กที่สุดที่เราจำเป็นต้องรู้คือชื่อถนน ส่วนเลขที่บ้านเป็นออปชั่นเสริม เมื่อได้ POI ซึ่งเป็นชื่อถนนมาแล้ว จากจุดนี้เราสามารถค้นหาสถานที่ใกล้เคียงต่อไปได้เลย ไม่ต้องย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ ตรงนี้คือความยืดหยุ่นของระบบที่ทำให้การค้นหาสถานที่ปลายทางเป็นเรื่องง่ายมากๆ
สำหรับการค้นหาสถานที่ปลายทางจากประเภทและชื่อของสถานที่ สิ่งแรกที่ต้องทำคือกำหนดจุดอ้างอิง ว่าจะให้เครื่องค้นหา POI ที่อยู่ใกล้กับจุดปัจจุบัน, ใกล้ถนนปัจจุบัน, ใกล้เส้นทาง หรือเฉพาะภายในเขตจังหวัดนั้นๆก็ได้ เมื่อกำหนดจุดอ้างอิงแล้วก็เริ่มค้นหาสถานที่ปลายทางได้ ในระหว่างการค้นหา เราสามารถใส่คีย์เวิร์ดเพื่อให้เครื่องแสดงเฉพาะสถานที่ที่มีคีย์เวิร์ดเป็นส่วนประกอบออกมาได้ และเมื่อเจอ POI ที่ต้องการแล้ว เราก็ยังสามารถหาสถานที่ใกล้เคียงต่อไปได้อีก เช่นเดียวกับการค้นหาสถานที่ปลายทางจากที่อยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นของระบบค้นหาของ GARMIN รุ่นใหม่
อย่างที่กล่าวเอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า ฐานข้อมูล POI ของ nuvifone m20 เป็นฐานข้อมูลที่มีความละเอียดและถูกจัดหมวดหมู่เอาไว้อย่างดี ทำให้ผู้ใช้ไม่สับสนและสามารถค้นหาสถานที่ปลายทางพบได้อย่างง่ายดาย หมวดต่างๆถูกจัดเรียงเอาไว้ดังนี้ Food, Lodging, Fuel, Attractions, Parking, Recreation, Entertainment, Shopping, Auto Services, Transportation, Community, Bank/ATM, Other, Hospital และ Man-made Places (รายชื่อทางแยก) น่าเสียดายที่ชื่อหมวดต่างๆเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด คนที่มีปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษอาจลำบากนิดหน่อย แต่ชื่อ POI เป็นภาษาไทย ไม่เป็นอุปสรรคในการค้นหาด้วยเสิร์ชเอนจิ้น
สำหรับการค้นหาสถานที่ปลายทางจาก Favorites และ History คงไม่ต้องอธิบายอะไร เพราะน่าจะเข้าใจกันดีอยู่แล้ว ส่วนการค้นหาจาก Contacts นั้น ถ้าเรากรอกข้อมูลที่อยู่ใน Contacts ครบ เราสามารถให้เครื่องคำนวณเส้นทางไปยัง Contacts นั้นๆได้โดยตรง สำหรับเมืองไทยคงจะยังไม่ได้ใช้ความสามารถตรงนี้กันเพราะปัญหาเลขที่บ้าน เต็มที่ก็คือพาไปถึงถนนที่ระบุไว้เท่านั้น
Panoramio Photos อันนี้เป็นสิ่งน่าสนใจ จะเรียกว่าเป็นฟีเจอร์หรือความสามารถพิเศษก็คงจะได้ คือการค้นหาสถานที่ปลายทางโดยการคลิกที่รูป ซึ่งดาวน์โหลดมาจากอินเทอร์เน็ต ภายใต้เงื่อนไข “ใกล้กับจุดอ้างอิง” เช่น ถ้าเราอยู่ตรงศูนย์สิริกิติ์ฯ เมื่อเข้าสู่โหมดการค้นหานี้ เครื่องจะทำการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและดาวน์โหลดรูปสถานที่ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับศูนย์สิริกิติ์ฯ มาแสดงให้เราเห็น ถูกใจชอบใจรูปไหนก็คลิกที่รูป เครื่องจะพาเราไปยังจุดที่อยู่ในรูปทันที ความสามารถนี้ยอดเยี่ยมมากจริงๆ
นอกจากนี้แล้วก็ยังมีการค้นหาสถานที่ปลายทางจากแผนที่ (Browse Map), ค้นหาเขตหรืออำเภอทั่วประเทศไทย (Cities) และค้นหาทางแยก (Intersections) ด้วย ซึ่งไม่มีอะไรซับซ้อน
การวางแผนเส้นทาง nuvifone m20 ช่วยให้เราวางแผนเส้นทางได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เพราะหลังจากคำนวณเส้นทางได้แล้ว เราสามารถค้นหาสถานที่ที่อยู่ “ใกล้เส้นทาง” ได้ ไม่ว่าจะค้นหาด้วยที่อยู่, ประเภทสถานที่ หรือชื่อสถานที่ก็ได้ทั้งนั้น งานนี้คนใช้แก๊สไม่ต้องกลัวแก๊สหมดกลางทางแน่นอน
การคำนวณเส้นทาง nuvifone m20 สามารถคำนวณเส้นทางได้อย่างถูกต้อง เน้นพาเข้าเมืองเป็นหลัก แต่บางครั้งก็มีเพี้ยนๆออกมาให้เห็น เช่น นำเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 1 ที่ยังสร้างไม่เสร็จ หรือตรงแยกคลองเตย ก็ไม่พาเรากลับรถเพื่อไปยังตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ต้องขับเลยไปเพื่อเข้าซอยทางลัด ปัญหาเหล่านี้คาดว่าเกิดขึ้นจากข้อมูลแผนที่เป็นหลัก ไม่น่าใช่ความผิดของซอฟต์แวร์นำทาง ถ้าอัปเดตแผนที่แล้ว ปัญหาเหล่านี้คงจะน้อยลง
การนำทาง nuvifone m20 สามารถนำทางได้อย่างยอดเยี่ยม เสียงนำทางมีความชัดเจน และขานเส้นทางได้ในระยะที่เหมาะสม คือที่ระยะ 1 กิโลเมตร, 350 เมตร และ 80 เมตรตามลำดับ มีบวกลบนิดหน่อยซึ่งสัมพันธ์กับความเร็วรถ อย่างไรก็ตามเสียงค่อนข้างเบาไปนิด แล้วถ้าเปิดเสียงดังสุด ก็ออกอาการลำโพงแตก ฟังไม่ได้ศัพท์ อันเป็นข้อจำกัดทางด้านฮาร์ดแวร์
ในส่วนของกราฟิกแผนที่นั้น ถือว่ามีรายละเอียดแผนที่สูงมาก ครบทุกซอยที่ผ่านไป รวมถึงโลโก้สถานที่ต่างๆ เส้นทางแนะนำ ถนนหลัก และถนนรอง แยกสีได้อย่างชัดเจน ดูเข้าใจง่าย ส่วนเรื่องความละเอียดกราฟิกนั้น ไม่เคยอยู่ในคอนเซ็ปต์ของ GARMIN มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว เพราะเป็นเรื่องรองที่ไม่เกี่ยวกับการนำทางสักเท่าไหร่ เลิกฝันถึงกราฟิกสวยๆไปได้เลย นึกถึงสภาพการใช้งานจริงๆ เราคงฟังเสียงนำทางเป็นหลัก ตามองดูที่ถนน และเหลือบดูเส้นทางบนหน้าจอนิดหน่อยเท่านั้น กราฟิกละเอียดๆสวยๆคงไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามในเรื่องการนำทาง มีจุดให้ติงอยู่นิดหนึ่งก็คือ สัญญาณ GPS หลุดง่ายไปนิด บางครั้งขับเฉี่ยวๆสะพานก็หลุดแล้ว ถ้าจะจับสัญญาณได้นิ่งกว่านี้อีกสักหน่อยจะเยี่ยมมากๆ
หน้าจอการใช้งานโหมดโทรศัพท์นั้น ตัวเลขมีขนาดใหญ่ทำให้สามารถใช้นิ้วกดได้อย่างง่ายดาย หน้าจอขณะใช้สายอยู่จะมีเมนูลัดสำหรับเปิดลำโพง ปิดเสียง พักสาย เปิดสมุดจด เข้าไปดูรายชื่อผู้ติดต่อ และประวัติการใช้งานได้ด้วย ส่วนหน้าจอขณะมีสายเรียกเข้า จะมีปุ่มกดรับ-กดตัด ไว้ที่ส่วนล่างของหน้าจอ ซึ่งถ้าไม่สะดวกยังสามารถใช้ปุ่มกดที่ตัวเครื่องได้เช่นเดียวกัน
Program And Setting
โปรแกรมที่มีมาให้ส่วนใหญ่เป็นไปตามมาตรฐานของวินโดวส์ โมบาย ที่น่าสนใจคือมีเบราวเซอร์อย่างโอเปร่า ติดมาให้ด้วย ส่วนโปรแกรมอ่าน RSS ก็ใช้เป็น Newstation ที่ใช้งานไม่ยากนัก ส่วนการใช้งานภาษาไทยนั้นเป็นของ Thai-G ซึ่งผู้ใช้ไม่ต้องกลัวว่าเวลาทำการล้างเครื่องแล้วจะหายไป เพราะทางการ์มินอัสซุสได้บรรจุลงไปอยู่ในตัวรอมเรียบร้อย เรียกได้ว่า Hard Reset ขึ้นมาก็พร้อมใช้ได้ทันที
ส่วนของ Settings เป็นการตั้งค่าตามปกติของวินโดวส์ โมบาย ทั่วๆไป จึงไม่ขออธิบายในส่วนของรายละเอียดมากนัก ที่น่าสนใจคือโปรแกรม Wi-Fi Sharing ที่ช่วยทำให้ตัวเครื่องสามารถส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านการเชื่อมต่อ EDGE/GPRS เข้าไปที่คอมฯได้ผ่านไวเลสแลน ช่วยให้ผู้ใช้สามารถแชร์อินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดายมากขึ้น
สำหรับสเปกภายในของเครื่องรุ่นนี้จะใช้หน่วยประมวลผล Qualcomm MSM7200A 528MHz ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นยอดนิยมสำหรับสมาร์ทโฟนในขณะนี้ก็ว่าได้ ROM ขนาด 256MB RAM 288MB ที่ให้มาเพียงพอต่อการใช้งานทั่วๆไป รอมที่ทีมงานนำมาทดสอบจะเป็นเวอร์ชัน 4.8.1WWE
Design of Garmin Asus Nuvi M20
เรื่องของดีไซน์ต้องยอมรับว่าการเข้าร่วมกับการ์มิน ทำให้อัสซุสเปลี่ยนไป การออกแบบดูดี ทันสมัยมากขึ้น ตัวเครื่องถูกออกแบบมาให้มีหลากสี ในทรงสี่เหลี่ยมขนาดเล็กพอเหมาะกับมือที่ 95.3 x 52.5 x 12.8 มม. วัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นพลาสติกคุณภาพสูงทำให้มีน้ำหนักเบาอยู่ที่ 99 กรัม เท่านั้นเอง
ด้านหน้าประกอบไปด้วย ช่องสนทนา และกล้องสำหรับใช้งานวิดีโอคอล วางอยู่ทางมุมขวา ถัดลงมาเป็นหน้าจอ TFT ทัชสกรีนกว้าง 2.8 นิ้ว ความละเอียด 480 x 640 พิกเซล ล่างหน้าจอมีตัวอักษรบ่งบอกว่าเป็น "nuvifone" ถัดลงมาเป็นส่วนของปุ่มควบคุมประกอบไปด้วย ปุ่มรับสาย ปุ่มควบคุม 5 ทิศทาง และปุ่มวางสาย (กดค้างสำหรับปิดเครื่อง และ กดแบบปกติสำหรับเปิดหน้าจอ)
ด้านหลังถูกออกแบบมาเป็นสีพื้นเรียบๆ ที่ส่งผลให้บริเวณกล้องสีเงินดูโดดเด่นขึ้นมา เมื่อสังเกตดีๆจะพบว่าในส่วนรอบๆของกล้องนั้นจะมีลวดลายคล้ายตะแกรง เป็นที่อยู่ของลำโพงนั่นเอง โดยตรงโลหะสีเงินข้างๆกล้องมีระบุความละเอียด 3 ล้านพิกเซลติดอยู่ ส่วนมุมล่างเป็นที่อยู่ของแบรนด์ "Garmin Asus" นั่นเอง
วิธีกาเรปิดฝาหลังของเครื่องรุ่นนี้ออกจะแปลกไปบ้างตรงที่ใช้การสไลด์ออกทางด้านข้างแทนที่จะแงะขึ้นหรือลง เท่าที่ทดลองใช้มาพบว่าหลังจากเปิดฝาหลังเข้าออกบ่อยๆจะเกิดอาการฝาหลวมได้ง่ายมาก ทำให้ผู้ใช้ต้องระวังในจุดนี้พอสมควร แต่ทั้งนี้ผู้ใช้ทั่วไปคงไม่มีความจำเป็นต้องเปิดฝาหลังมากนัก เนื่องจากภายใน มีเพียงแค่ช่องใส่ซิมการ์ด และปุ่มซอฟต์ รีเซ็ตเท่านั้น ส่วนแบตเตอรี่ที่ให้มาเป็น Li-ion ความจุ 920 mAh
ด้านซ้าย ถูกทำให้โดดเด่นด้วยโลหะสีเงินพาดเป็นแนวยาว ซึ่งมีปุ่มปรับระดับเสียงซ่อนอยู่ด้านบน และตรงกลางเป็นช่องสำหรับยึดกับฐานติดภายในรถยนต์ ซึ่งถ้าผู้ใช้ต่อเข้ากับไฟรถก็สามารถใช้เป็นที่ชาร์จได้ทันที ด้านขวา ถูกปล่อยให้เป็นพื้นที่โล่งซะส่วนใหญ่ มีเพียงตัวอักษร "nuvifone" อยู่มุมบน ปุ่มล็อกเครื่อง และช่องเสียบปากกาสไตลัสอยู่มุมล่างเท่านั้น
ด้านบนไม่มีพอร์ตสำหรับเชื่อมต่อใดๆทั้งสิ้น ส่วนด้านล่างมีช่องไมค์สนทนา และพอร์ต มินิยูเอสบีสำหรับชาร์จแบต เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ และช่องเสียบหูฟัง
บทสรุป
แม้จะออกตัวมาเป็นสมาร์ทโฟนที่เน้นไปในเรื่องของการนำทางเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามอัสซุสยังไม่ทิ้งความเป็นโมบิลิตี้ในการใช้งานของสมาร์ทโฟนในตระกูลวินโดวส์ โมบาย ทำให้สามารถใช้งานได้ครอบคลุมไปในทุกๆด้าน
Nuvi M20 รองรับการเชื่อมต่อในระบบ GSM ที่ 900/1800/1900 MHz ส่วน 3G ที่ 900/2100 MHz ทั้งยังให้ความสามารถในการเชื่อมต่อมาแบบครบครัน ไม่ว่าจะเป็น ไวไฟ 802.11b/g บลูทูธ 2.0 ถือว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่ครบเครื่องตัวหนึ่งเลยก็ว่าได้
ในเรื่องของมัลติมีเดีย กล้องความละเอียด 3 ล้านพิกเซลพร้อมออโต้โฟกัสถือว่ากล้อมแกล้ม ในระดับราคานี้ ส่วนการเล่นเพลง หรือ วิดีโอ ทำได้ตามปกติของวินโดวส์โฟนอยู่แล้ว ที่น่าเสียดายคือตัวเครื่องไม่สามารถเพิ่มห่วยความจำได้ ทำให้สามารถใช้ได้เพียง 4GB เท่านั้น
การใช้งานโทรศัพท์ เสียงสนทนาดังชัดเจนตามมาตรฐาน ระยะเวลาในการเปิดใช้งานทั่วไป อยู่ได้ประมาณ 2-3 วัน ขึ้นอยู่กับการใช้งาน แต่ถ้าในกรณีที่มีการเปิดใช้งานระบบนำทางพร้อมกันไปด้วยนั่น จะทำให้ระยะเวลาในการใช้งานลดลงเหลือประมาณ 1 วันเท่านั้น
การเปิดราคาเครื่องรุ่นนี้ของอัสซุส ที่ 15,900 บาท ถือว่าช่วยทำให้ผู้เล่นรายอื่นในตลาดสมาร์ทโฟนต่างต้องหันมาแข่งกันในเรื่องของราคามากขึ้น เพราะด้านฟีเจอร์ และลูกเล่นต้องยอมรับว่าเท่าเทียมกันเกือบหมดแล้วในปัจจุบัน
ขอชม
- ตัวเครื่องมีขนาดเล็ก กระทัดรัด มาพร้อมกับอุปกรณ์ติดตั้งภายในรถยนต์
- ซอฟต์แวร์นำทาง ถูกบรรจุมาอยู่ใน ROM ของเครื่องทำให้ไม่ต้องกังวลเมื่อมีการล้างเครื่อง
- ฟีเจอร์การเชื่อมต่อครบครัน ตามสมัยนิยม
ขอติ
- หน้าจอมีขนาดเล็ก ไม่เหมาะกับการใช้นำทางอย่างจริงจัง
- ฝาหลังเกิดอาการหลวมเมื่อใช้งานไปสักระยะหนึ่ง
Company Related Links :
Garmin Asus