ในที่สุดโทรศัพท์มือถืออินเตอร์แบรนด์ก็ได้บรรจุฟังก์ชันทีวีโมบายล์ ที่สามารถดูฟรีทีวีได้แบบไม่ต้องเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ต โดยซัมซุงถือเป็นเจ้าแรกที่กรุยทางไปก่อนเพื่อน รวมถึงเป็นรุ่นแรกของแบรนด์ซัมซุงเองด้วย ซึ่งมาภายใต้ชื่อรุ่นว่า "Star TV" ที่นำเอาฟังก์ชันซัมซุงสตาร์รุ่นแรกมาต่อยอดด้วยการเพิ่มเติมฟังก์ชันทีวีเข้ามา แต่ไม่ได้ลดฟังก์ชันเด่นก่อนหน้านี้ลงแต่อย่างใด ทำให้รุ่นนี้จัดเป็นทัชโฟนที่ครบเครื่องด้านมัลติมีเดียเครื่งหนึ่งเลยทีเดียว
Feature on Samsung Star TV S5233T
เมื่อเปิดเข้ามาดูฟีเจอร์ภายใน"ซัมซุงสตาร์ ทีวี" แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างไปจากรุ่นสตาร์บุกเบิกแต่อย่างใด โดยยังใช้อินเตอร์เฟสแบบ 'Touch Wiz' เวอร์ชัน 1.0 ที่มาพร้อมกับฟังก์ชันโมบายล์ วิตเจ็ตอยู่ในแถบ 'Side bar'ทางด้านข้าง ซึ่งสามารถลากไอคอนต่างๆออกมาวางไว้ทางหน้าจอหลักได้อย่างอิสระ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของซัมซุงไปแล้ว และรุ่นนี้ยังมีหน้าจอหลักมาให้ใช้งานอยู่ทั้งหมด 3 หน้า เพื่อเพิ่มพื้นที่วางไอคอนได้มากขึ้น 3 เท่า เหมือนเคย แต่รุ่นนี้จะต่างกับรุ่นแรกตรงที่ต้องใช้นิ้วมือสัมผัสหน้าจอเพียงอย่างเดียว เนื่องจากไม่มีปากกาสไตลัสติดมาให้ใช้นั่นเอง
ไล่มาดูกันต่อในส่วนของ "เมนู" ซึ่งรุ่นนี้ใส่มาให้ใช้ทั้งหมด 12 เมนู เหมือนเดิม เพียงแต่มีการโยกย้าย 'เมนูคอมมิวนิตี้' ให้เข้าไปรวมกลุ่มกับเมนู 'แอปพลิเคชัน' แล้วใส่เมนู 'โมบายล์ทีวี' มาแทนที่เท่านั้น
โดยทั้ง 12 เมนู ประกอบไปด้วย บันทึกข้อมูลการใช้งาน(Call Log), สมุดโทรศัพท์(Phonebook), เพลง(Music), เบราว์เซอร์(Browser), ข้อความ(Messages), ไฟล์ส่วนตัว(My Files), ออแกไนเซอร์(Organizer), กล้องถ่ายรูป(Camera), โมบายล์ทีวี(Mobile TV), แอปพลิเคชัน(Applications) การเตือน(Alarms) และการตั้งค่า(Settings)
นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชัน "รายชื่อรูปถ่าย"(Photo Contacts) ใส่มาให้ใช้งานกันเหมือนเดิม ซึ่งสามารถค้นหาหมายเลขที่อยู่ในเครื่อง พร้อมกับโชว์ภาพถ่าย โดยข้อมูลรายละเอียดการใช้งานมีบอกไว้ทางหน้าจอว่า รายชื่อที่ใช้บ่อยจะถูกลงทะเบียนโดยอัตโนมัติ สามารถใช้งานโดยการสไลด์ขึ้น-ลง
Mobile TV
มาดูกันที่ฟีเจอร์เด่นซึ่งถูกเพิ่มเข้ามาใหม่ จนเป็นชื่อรุ่นเฉพาะของเครื่องรุ่นนี้กันก่อนเลยดีกว่า ฟีเจอร์ที่ว่าคือ "Mobile TV" โดยฟีเจอร์นี้ถูกแยกให้เป็นเมนูเฉพาะออกมาต่างหาก เมื่อเรียกใช้งานจะพบรูปร่างหน้าอินเตอร์เฟสที่เข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน ตรงกลางเป็นหน้าจอแสดงผลรายการโทรทัศน์ ฝั่งซ้ายหน้าจอเป็นฟังก์ชันปรับระดับเสียง (เร่งได้ตั้งแต่ระดับ 0-14) ฝั่งขวาเป็นฟังก์ชันเปลี่ยนช่องสถานี ส่วนด้านล่างเป็นแถบตัวเลือกไล่จาก หมายเลขสถานี, รายการสถานี, สถานีที่ชอบ และเพิ่มเติม(ตามลำดับ)
การค้นหาช่องสถานีโทรทัศน์ทำได้ง่ายๆ โดยให้เลือกที่ 'รายการสถานี' จากนั้นเลือก 'อัปเดต' ตัวเครื่องจะทำการค้นหาสถานีที่สามารถรับสัญญาณได้ทั้งหมดบริเวณนั้น สำหรับประเทศไทยรับสัญญาณได้เฉพาะช่องฟรีทีวี (ช่อง 3, 5, 7, 9, NBT และThaiPBS) และเมื่อค้นหาเสร็จจะแสดงเป็นรายชื่อออกมาให้เลือกใช้งานในลำดับต่อไป หากต้องการบันทึกสถานีนั้นเก็บไว้สามารถสร้างรายการเก็บไว้ได้ คล้ายๆกับเพล์ลิสต์ในเครื่องเล่นเพลง โดยเลือกที่ 'สถานีที่ชอบ' แล้วกดสร้าง หลังจากนั้นระบบจะแสดงให้เลือกว่าต้องการบันทึกสถานีไหนบ้าง ให้เลือกโดยการทำเครื่องหมายด้านหน้าชื่อ ซึ่งสามารถเพิ่มเติมสถานีภายหลังได้ และสามารถจัดเรียงสถานีตามลำดับตัวอักษรจากชื่อได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชันบันทึกภาพจากช่องสถานีที่เปิดรับชมอยู่ได้โดยตรง ทั้งการจับเป็นภาพนิ่ง และบันทึกเป็นภาพเคลื่อนไหว สำหรับผู้ที่ต้องการนำมาย้อนดูภายหลัง เริ่มบันทึกได้โดยเลือกที่ 'เพิ่มเติม' จะปรากฎฟังก์ชันให้เลือกรูปแบบการบันทึก ใครใคร่บันทึกภาพนิ่งให้เลือก 'จับภาพ' ใครใคร่บันทึกภาพเคลื่อนไหวให้เลือก 'บันทึก' ซึ่งหลักการใช้งานทำได้ง่ายไม่ยุ่งยาก เมื่อบันทึกเรียบร้อยแล้วไฟล์ต่างๆจะถูกนำไปเก็บไว้ที่ 'ไฟล์ TV ส่วนตัว' โดยรูปภาพจะบันทึกในรูปแบบไฟล์นามสกุล JPEG และวิดีโอบันทึกในรูปแบบไฟล์นามสกุล MP4
ส่วนการ "ตั้งค่า" มีให้เลือกปรับดังต่อไปนี้ พื้นที่ มีให้เลือกทั้งหมด 32 ประเทศเลยทีเดียว, โหมดเล่น มีให้เลือกว่าจะเล่นวิดีโอและเสียง หรือเสียงเท่านั้น, ความสว่างมีให้เลือกปรับ 5 ระดับ, สถานีที่ชอบ มีให้เลือกสถานีทั้งหมด หรือจะเลือกใช้งานตามที่ได้สร้างเพล์ลิสต์เอาไว้, ช้อความเข้า(ปิด, ถามทุกครั้ง), ปิดทีวีอัตโนมัติ (ปิด, 10 นาที, 30 นาที 1 ชั่วโมง และ 2 ชั่วโมง), แหล่งเก็บสำหรับบันทึกไฟล์มีให้เลือกระหว่างตัวเครื่อง กับการ์ดหน่วยความจำ
Smart Unlock
ฟีเจอร์ถัดมา คือ "สมาร์ทอันล็อก(Smart Unlock)" ถ้ายังจำกันได้ฟีเจอร์นี้ ถือเป็นฟีเจอร์เด่นรวมถึงถูกนำมาใส่ในรุ่นสตาร์เป็นรุ่นแรก และรุ่นนี้ก็ยังมีให้ใช้งานอยู่เช่นกัน ซึ่งฟีเจอร์นี้เป็นฟังก์ชันทางลัดที่ช่วยอำนวยความสะดวกพาเข้าฟังก์ชันต่างๆ ตามที่ได้กำหนดไว้ได้อย่างง่ายดาย และรวดเร็ว เพียงแค่ลากปลายนิ้วเขียนตัวอักษรที่กำหนดไว้ไปที่หน้าจอ เครื่องก็จะทำตามคำสั่งทันที แต่จะใช้งานได้ก็ต่อเมื่อหน้าจอล็อกอยู่เท่านั้น และเลือกใช้งานได้เพียงฟังก์ชันเดียว
ก่อนการใช้งานผู้ใช้ต้องเข้าไปเซ็ตค่าเพื่อทำการตกลงกับฟังก์ชันก่อนว่า จะใช้ตัวอักษรใดเป็นรหัสในการสื่อสารระหว่างกัน ซึ่งการเซ็ตค่าทำได้โดยการเข้า เมนู > การตั้งค่า > สมาร์ทอันล็อก เมื่อเข้ามาในฟังก์ชันให้กดคำสั่ง "เปิด" เพื่อเปิดใช้งานการปลดล็อกก่อน จากนั้นจะมีฟังก์ชันให้เลือกปรับค่าอยู่ด้วยกัน 3 หมวดหลัก ได้แก่ 1. ปลดล็อกโทรศัพท์ เป็นการปลดล็อกโทรศัพท์เท่านั้น 2. โทรด่วน เป็นการกำหนดรายชื่อบุคคลที่ต้องติดต่อบ่อยๆ 3. แอปพลิเคชัน เป็นการกำหนดการเข้าแอปพลิเคชัน ซึ่งมีให้เลือกอยู่ด้วยกัน 5 หมวดย่อย ได้แก่ โทร, เครื่องเล่นเพลง, ข้อความ, เบราว์เซอร์ และจาวา
***หมายเหตุ สามารถกดย้อนกลับไปดูวิธีการใช้งานได้ที่นี่
Note
ถึงแม้ว่าจะไม่มีปากกาสไตลัสติดมาให้ใช้งาน แต่รุ่นนี้ยังรองรับการจดบันทึกด้วยลายมือของผู้ใช้เหมือนเช่นเดิม โดยการใช้ปลายนิ้วเป็นสื่อกลางป้อนคำสั่งแทน ซึ่งระบบป้อนคำสั่งยังคงมีให้เลือกหลายรูปแบบเหมือนเดิม ได้แก่ ปุ่มกดตัวเลข, คีย์บอร์ดแนวนอน(เมื่อผู้ใช้งานเอนตัวเครื่องในแนวนอน), เขียนด้วยลายมือ (เขียนด้วยลายมือเต็มหน้าจอ, กล่องเขียนด้วยลายมือ 1, กล่องเขียนด้วยลายมือ 2) โดยระบบป้อนคำสั่งรองรับการใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 6 ภาษา(เดิม 5 ภาษา) ได้แก่ ภาษาอังกฤษ, อินโดนีเซีย, เวียตนาม, ภาษาไทย, จีน และมาเลเซีย(ที่เพิ่มเข้ามาใหม่) รวมถึงมีการปรับปรุงให้สามารถรองรับการเขียนด้วยลายมือทั้งภาษาไทย และอังกฤษ จากเดิมที่รองรับการเขียนภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
Camera
ถัดมาไปดูกันที่เมนูกล้อง (Camera)กันบ้าง ซึ่งกล้องรุ่นนี้ยังคงมาพร้อมกับความละเอียด 3.2 ล้านพิกเซล ไม่มีแฟลชมาให้ใช้งาน รวมถึงไม่มีออโต้โฟกัสขณะจับภาพ เหมือนกับสตาร์รุ่นแรกทุกประการ เมื่อลองเปิดเข้าไปไล่ดูฟังก์ชันภายในพบว่าทุกอย่างยังคงรูปแบบเดิม ทั้งหน้าตาอินเตอร์เฟสการใช้งานต่างๆที่ยังออกแบบมาให้ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน ฟังก์ชันการปรับเปลี่ยนโหมด ที่มีให้เลือกใช้งานทั้งหมด 3 โหมดด้วยกัน ได้แก่ โหมดถ่ายภาพนิ่ง โหมดซีน(Scn) และโหมดวิดีโอ รวมถึงการตั้งค่าภายในที่ถอดแบบจากของเดิมมาแบบยกชุดเช่นกัน
***หมายเหตุ สามารถดูรายละเอียดฟังก์ชันกล้องทั้งหมดได้ที่นี่
Music
"เครื่องเล่นเพลง"ของรุ่นนี้ได้แยกออกเป็นเมนูโดดเดี่ยวเหมือนกับสตาร์รุ่นแรก หน้าตาอินเตอร์เฟสการใช้งาน ฟังก์ชันภายในต่างๆ และการตั้งค่าของเครื่องเล่นเพลงยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเมื่อเรียกใช้เมนูหน้าจอแรกที่ปรากฏ คือ ฟังก์ชันตัวเลือกใช้งานเรียงรายอยู่ ได้แก่ แทร็กทั้งหมด, รายการเพลง, นักร้อง, อัลบั้ม, ประเภท และผู้แต่ง โดยสามารถเลือกเพิ่มเติม หรือปิดการใช้งานบางฟังก์ชันได้ดังนี้ เลือกการตั้งค่า > กดแถบเมนูเพลง จากนั้นจะปรากฏรายการต่างๆออกมาให้เลือก (ถ้าติ๊กเครื่องหมายถูก แสดงว่าต้องการเลือกให้ฟังก์ชันนั้นแสดงผล) และในส่วนของการคั้งค่านี้เองยังสามารถตั้งได้ว่า จะให้มีเปิดการเล่นบนพื้นหลังหรือไม่
ส่วนการปรับค่าต่างๆสามารถทำได้สะดวกผ่านหน้าเครื่องเล่นเพลงได้เลยเ ประกอบไปด้วย อีควอไลเซอร์ที่มีให้ปรับกว่า 9 รูปแบบ ได้แก่ ปกติ, ร็อก, ป๊อป, แด๊นซ์, คลาสิก, แจ๊ส, ไวด์, ไดนามิก และเซอราวด์, การทำงานแบบเล่นวนซ้ำ(เล่นวน 1 รอบ เล่นแบบวนซ้ำไปเรื่อยๆ และเล่นวนซ้ำเฉพาะเพลงที่เลือก) สุดท้ายปรับการสลับเล่นเพลงแบบสุ่ม
FM Radio
ถัดมาดูที่ "วิทยุ FM" กันบ้าง ซึ่งยังคงต้องอาศัยการเชื่อมต่อเข้ากับหูฟังสมอล์ทอล์กที่ให้มาอยู่ดี ถึงแม้ว่าจะมีเสาอากาศรับสัญญาณติดมาให้ใช้ก็ตาม เนื่องจากเสารับสัญญาณนั้นถูกออกแบบมาให้ใช้เฉพาะฟังก์ชันทีวีเท่านั้น ส่วนรูปร่างหน้าตาการใช้งานยังคงในรูปแบบเดิม ที่ฟังก์ชันการใช้งานอยู่บนพื้นที่หน้าเดียวกันทั้งหมด ประกอบไปด้วย ส่วนบนมีให้เลือกใช้งานฟังก์ชัน "AF" กับช่องทางการรับฟังเสียง (ลำโพง/หูฟัง) ถัดลงมาเป็นตัวเลขบอกคลื่นความถี่ทศนิยม 2 ตำแหน่ง ด้านล่างเป็นชุดปุ่มควบคุมสำหรับเลือกหาสถานี หรือจะกดให้ค้นหาคลื่นความถี่แบบอัตโนมัติ ด้วยการเลือกที่เพิ่มเติม > เลือกค้นหา
"การตั้งค่า" ของวิทยุมีให้เลือกปรับค่าได้เหมือนเดิมเช่นกัน คือ มีให้เลือกปรับการเล่นแบ็กกราวด์ เป็นการเซ็ตค่าให้วิทยุทำงานอยู่แม้จะกลับออกไปยังหน้าหลัก, แสดงชื่อสถานี ว่าจะให้แสดงชื่อหรือไม่ และเปลี่ยนความถี่ใหม่อัตโนมัติ ซึ่ง "วิทยุ FM" นี้ ถูกบรรจุรวมไว้ในเมนู "แอปพลิเคชัน(Applications)" อีกที ไม่ได้แยกออกมาเป็นเมนูเดี่ยวภายนอก แต่ผู้ใช้สามารถเรียกใช้งานได้ง่ายๆผ่านแถบวิตเจ็ตด้านหน้าจอหลักได้เช่นเดียวกัน
โดยเมนู "แอปพลิเคชัน (Applications)" ของรุ่นสตาร์ยังคงเป็นศูนย์รวมความหลากหลายด้านแอปฯ ซึ่งได้ใส่เข้ามาให้ใช้งานกันหลากหลาย ประกอบไปด้วย คอมมิวนิตี้, วิทยุ FM, เกมส์และอื่นๆ, เครื่องบันทึกเสียง, บลูทูธ, การตั้งเวลา, การจับเวลา และRSS Reader
Internet
ด้านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต รองรับ EDGE, GPRS class 12 ไม่รองรับระบบ 3G เหมือนเดิม หลังทดลองใช้งานผ่านเบราว์เซอร์ที่ติดตั้งมาให้กับตัวเครื่อง พบว่าสามารถตอบสนองการใช้งานได้ดีไม่ค่อยหน่วงเท่าไรนัก ไม่แตกต่างจากรุ่นเดิมแม้แต่น้อย สามารถแสดงผลแนวนอนเมื่อผู้ใช้พลิกตะแคงเครื่องได้ราบรื่น ตัวอักษรแสดงผลดูง่ายสบายตา ถือว่ายังคงรักษาระดับมาตรฐานได้คงที่
Design of Samsung Star TV S5233T
ด้านการออกแบบยังคงถอดแบบมาเหมือนกับ "ซัมซุง สตาร์" ต้นแบบแรกสุด ที่ถูกออกแบบอย่างราบเรียบ ด้วยรูปทรงสี่เหลี่ยมแท่งตัดขอบโค้งมน การประกอบเครื่องยังทำได้อย่างปราณีตดูแน่นหนาเหมือนเดิม ใช้พลาสติกเป็นวัสดุประกอบทั้งหมด ตัวเครื่องมีขนาดกะทัดรัดพอเหมาะพอดีมือ ไม่ได้ปรับปรุงให้มีความบางลง หรือว่าทำให้ใหญ่หนาขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นมิติตัวเครื่องจึงใกล้เคียงกับของเดิม ที่มีขนาด 105 x 53 x 11.9 ม.ม. น้ำหนัก 92 กรัม
ด้านหน้า : พื้นผิวทางส่วนนี้มีลักษณะเป็นมันวาว ไล่จากส่วนบนสุดจะพบลำโพงวางเด่นอยู่ตรงกึ่งกลาง ซึ่งเป็นทั้งลำโพงสนทนา และลำโพงของเครื่องเล่นเพลง ถัดลงมาเป็นยี่ห้อ "SAMSUNG" วางพาดอยู่ตรงกึ่งกลางเช่นเดียวกัน ถัดมาทางด้านล่างเป็นจอแสดงผลแบบทัชสกรีน WQVGAtouchscreen 262K ขนาด 3.0 นิ้ว (240 x 400 พิกเซล)
ใต้จอแสดงผล มีชื่อรุ่นบอกว่าเป็น "Mobile TV" สีเงินวาดพาดอยู่ตรงกึ่งกลาง ด้านล่างเป็นปุ่มควบคุมไล่จากซ้ายไปขวา ได้แก่ ปุ่มรับสาย-โทรออก, ปุ่มย้อนกลับ และปุ่มวางสาย (กดค้างเปิด-ปิดเครื่อง) วางเรียงตามลำดับอยู่ด้านล่างสุดของเครื่อง
ด้านหลัง : พลิกมาดูด้านหลังของเครื่องจะพบกับกล้องถ่ายภาพพร้อมกระจกส่องถ่ายภาพตัวเอง โดยมีข้อความการันตีความละเอียด "3.2 MEGA PIXELS" วางอยู่ซ้ายสุด ซึ่งทั้งหมดถูกออกแบบให้อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางไว้มุมบนซ้ายของเครื่อง ถัดมาตรงกึ่งกลางด้านบนมีสัญลักษณ์รูป "สามเหลี่ยมหัวกลับ" แสดงให้รู้ว่าให้เปิดฝาหลังโดยการเลื่อนเข้าหาตัว ส่วนทางด้านล่างมียี่ห้อ "SAMSUNG" วางพาดอยู่ โดยพื้นผิวบริเวณนี้ยังคงถูกออกแบบอย่างเก๋ไก๋ด้วยลวดลายจุดเหมือนเดิม ซึ่งช่วยลดการลื่นไหลหลุดออกจากมือได้พอสมควร
เมื่อเปิดฝาหลังออก ไล่จากส่วนบนจะพบกับที่ใส่ซิมการ์ด ถัดมาเป็นช่องวางแบตเตอรี่ชนิด Li-Ion 1,000 mAh ส่วนช่องใส่เมมโมรีการ์ดนั้นถูกซ่อนอยู่ด้านล่างช่องใส่ซิมการ์ดอีกทีหนึ่ง ซึ่งหากจะใช้งานต้องถอดแบตฯออกก่อนจึงจะสามารถใส่เมมโมรีการ์ดได้ โดยรองรับหน่วยความจำแบบ microSDHC สูงสุดถึง 16 GB (รุ่นเดิมได้สูงสุด 8 GB)
ด้านขวา : ถูกออกแบบให้มีปุ่มล็อกหน้าจอไว้ตรงกลางเครื่อง(กด 1 ครั้งล็อกเครื่อง และกดค้างเพื่อปลดล็อกเครื่อง) ถัดลงมาด้านล่างเป็นปุ่มกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ-วิดีโอ (กดค้างเข้าฟังก์ชันถ่ายภาพ) ส่วนล่างสุดเป็นช่องสำหรับร้อยสายคล้องมือ-คอ
ด้านซ้าย : ด้านบนสุดเป็นปุ่มปรับระดับเพิ่ม-ลดเสียงในเมนูเพลง และขยายภาพเข้า-ออกในเมนูกล้อง ถัดลงมาใกล้กันเป็นช่องเชื่อมต่อสำหรับโอนถ่ายข้อมูล ชารจ์แบตฯ และต่อกับชุดหูฟัง ซึ่งใช้งานร่วมกันที่ช่องนี้เพียงช่องเดียว โดยมีพลาสติกหุ้มปิดมิดชิดพร้อมสัญลักษณ์บอกอยู่บนฝา
ด้านบน และด้านล่าง : ด้านบนมุมบนด้านซ้ายมีเสาอากาศรับสัญญารายการโทรทัศน์ซ่อนอยู่ (รับได้แต่คลื่นทีวี รับคลื่นวิทยุไม่ได้) ซึ่งตำแหน่งนี้ของรุ่นแรกจะเป็นช่องใส่ปากกาสไตลัส ส่วนทางด้านล่างมีเพียงรูไมโครโฟนสำหรับสนทนาและบันทึกเสียงอยู่ริมด้านขวาเครื่องเท่านั้น
บทสรุป
"Samsung Star TV" ยังคงความเด่นของสตาร์รุ่นแรกไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งฟีเจอร์เด่นในรุ่นก่อนหน้ายังคงถูกใส่มาให้ใช้กันต่อในรุ่นนี้ รูปลักษณ์ที่ถอดแบบเดียวกันมาทุกกระเบียดนิ้ว มีเพียงฟังก์ชันทีวีเท่านั้นที่รุ่นนี้มีเพิ่มเติมเข้ามาให้ใช้งานครบครันขึ้น ด้านการตอบสนองถือว่าสอบผ่านแม้ว่ารุ่นนี้จะไม่ให้ปากกาสไตลัสมาใช้งาน แต่การใช้นิ้วสัมผัสทำได้ค่อนข้างดีทีเดียว อย่างไรก็ตามการตอบสนองยังไม่ถึงกับลื่นไหลไวทันใจสั่น มีหน่วงให้เห็นบ้างเล็กน้อย
การเชื่อมต่อยังคงไม่มีไว-ไฟ มาให้ใช้งาน และไม่รองรับระบบ 3G เหมือนเดิม เสียงที่ขับผ่านลำโพงทำได้ชัดใสทั้งเป็นลำโพงภายนอก รวมถึงเสียงขณะสนทนาระหว่างกัน โดยเสียงที่ขับออกมาทางลำโพงด้านหน้าเหมือนจะมีการปรับปรุงให้มีความดังเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โทนเสียงยังออกแหลมแบบแข็งๆไม่ค่อยมีมิติเหมือนเดิม แต่ได้เรื่องความใสเข้ามาช่วยกู้หน้าไว้ได้ ส่วนสีสันของภาพถ่ายยังคงเหมือนกันรุ่นที่ผ่านมาเช่นกัน เนื่องจากฟังก์ชันทุกอย่างเหมือนกันหมด
ฟีเจอร์เด่นอย่างทีวีโมบายต้องบอกว่าซัมซุงเริ่มต้นได้สวยงาม ฟังก์ชันภายในมีดีไม่ต่างเฮ้าส์แบรนด์ นอกจากจะรับสัญญาณภาพได้ตามปกติแล้ว ยังสามารถบันทึกได้ทั้งภาพนิ่ง และวิดีโอเคลื่อนไหวเพื่อนำมาเปิดดูรายการย้อนหลังได้อีกด้วย การจับสัญญาณขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมบริเวณนั้น ทีมงานลองนำไปเปิดชมในที่มุมอับพบว่า ยังสามารถรับสัญญาณภาพได้ค่อนข้างดี แต่ไม่ถึงกับชัดเมื่อเทียบกับเปิดในที่โล่งแจ้ง การจับสัญญาณขณะชมบนยานพาหนะถือว่าสอบผ่าน พบสัญญาณแกว่งเล็กน้อยในอัตราเร่งที่ไม่สูงมาก เช่น บนรถประจำทาง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และความเร็วของยานพาหนะด้วย
ด้านความอึดของแบตฯนั้น ถ้าไม่เปิดใช้งานหนักมาก 2 วันสามารถอยู่ได้สบายๆ แต่ถ้าเปิดใช้งานหนักๆอยู่ได้แค่วันต่อวันเท่านั้น และถ้าเปิดใช้ฟังก์ชันทีวีแบบต่อเนื่องด้วยแล้ว โอกาสแบตฯหมดไวก็มีมากขึ้นไปด้วย ซึ่งทีมงานได้ทดลองดูทีวีโดยเปิดเสียงจนสุดฟังผ่านลำโพงด้านหน้าตัวเครื่อง สามารถดูต่อเนื่องได้ประมาณ 3 ชั่วโมง และลองดูทีวีแบบเปิดเสียงฟังในหูฟังโดยเร่งเสียง 50% พบว่าสามารถรับชมได้ประมาณ 3 ชั่วโมง 30 นาที ที่สำคัญไม่มีแบตฯสำรองติดมาให้ใช้ยามฉุกฌฉินด้วย ดังนั้นผู้ใช้วรจะวางแผนการใช้งานให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น
ขอชม
- ฟังก์ชันทีวี ที่ใส่เข้ามาเพิ่มเติมมีลูกเล่นให้เลือกหลากหลาย จับสัญญาณเยี่ยม
- ถึงแม้ว่ารุ่นนี้จะไม่มีปากกาสไตลัสมาให้ แต่การใช้นิ้วสัมผัสก็สามารถตอบสนองได้ดีไม่แพ้กัน
- ลำโพงเสียงที่ขับผ่านทางด้านหน้าอย่างเดียว ยังคงทำหน้าที่ได้แจ่มชัดเหมือนเดิม
ขอติ
- ยังคงไม่มีช่องต่อหูฟังมาตรฐานขนาด 3.5 มิลลิเมตรมาให้ใช้งาน
- ฟังก์ชันเล่นวิทยุยังคงต้องอาศัยสายอากาศจากหูฟัง
- ฟังก์ชันกล้องยังไม่มีการปรับปรุงอะไรใหม่ เช่น ออโต้โฟกัสที่ยังไม่มีมาให้ใช้เหมือนเดิม
Company Related Links :
Samsung