Adamo เปิดตัวมาพร้อมกับความเป็นโน้ตบุ๊กที่บางที่สุดในโลก โดดเด่นที่ดีไซน์และรูปลักษณ์ที่สวยงามน่าใช้งาน แต่ทั้งนี้ Adamo ก็มาพร้อมกับราคาที่แพงมหาโหดในระดับเกือบแสนบาท ไปจนถึงแสนกว่าๆ แม้ว่าในสหรัฐฯจะมีการออกโปรโมชันให้ราคาเทียบเท่ากับแมคบุ๊กแอร์แล้วก็ตาม แต่เดลล์ประเทศไทยยังคงราคาอยู่เช่นเดิม
ความบางของ Adamo เมื่อเทียบจากส่วนที่หนาที่สุดของเครื่องจะอยู่ที่ 16.5 มิลลิเมตร ส่วนแมคบุ๊กแอร์ อยู่ที่ 19.4 มิลลิเมตร แต่ถ้าเทียบกันถึงส่วนที่บางที่สุด แมคบุ๊กแอร์ยังคงได้เปรียบอยู่เนื่องจากว่าบริเวณขอบของเครื่องอย่างแมคบุ๊กแอร์ และ MSI X-slim ถูกดีไซน์ให้เพรียวบางนั่นเอง
Adamo ถูกวางออกมาให้เป็นสินค้าในระดับหรูหรา เน้นภาพลักษณ์เป็นสำคัญ ดังนั้นกลุ่มคอนซูเมอร์มีสิทธิได้มองข้ามเครื่องรุ่นนี้ไปจากปัจจัยทางด้านราคาเป็นสำคัญ เพราะในต่างประเทศถึงกับมีผู้ให้คำนิยามเครื่องรุ่นนี้ว่า "เหมาะสำหรับนักธุรกิจระดับสูง หรือผู้ใช้ที่ต้องการภาพลักษณ์ในการใช้งานเป็นหลัก"
Design Of Dell Adamo
ตัวเครื่องของ Adamo ทำมาจากแผ่นอลูมิเนียม อัลลอยด์ แผ่นเดียวนำมาเจาะช่อง เช่นเดียวกับเครื่องรุ่นใหม่ของค่ายผลไม้ที่ผลิตออกมาก่อนหน้านี้ โดยมีจำหน่ายทั้งหมด 2 สีคือ สีขาวไข่มุก (Pearl) และ สีดำ (Onyx) ขนาดรอบตัวอยู่ที่ 331 x 242 x 16.39 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 1.8 กิโลกรัม
ฝาหน้าของตัวเครื่องจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่มีลวดลายคลื่น และ พื้นพลาสติกที่มีความเงาสูง ตรงกลางมีแถบอลูมิเนียมสีเงินวางพาด โดยมีตัวอักษรสลักอยู่ภายในคือ "DELL" ทางฝั่งซ้าย และ "Adamo" ทางฝั่งขวา ซึ่งขณะเปิดใช้งานจะมีไฟ LED บอกสถานะ อยู่บริเวณส่วนล่างด้วย
เปิดหน้าจอขึ้นมาจะพบกับ หน้าจอ LED ขนาด 13.4 นิ้ว สัดส่วน 16:9 ความละเอียด 1,366 x 768 พิกเซล ที่ทางเดลล์เรียกว่า Edge to Edge Glass Display โดยความบางของหน้าจออยู่ประมาณ 5 มิลลิเมตรเท่านั้นเอง ด้วยความที่หน้าจอมีลักษณะเป็นกระจก ช่วยลดการสะท้อนของแสงลงได้ ด้านบนของจอเป็นกล้องเว็บแคมความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล ส่วนด้านล่างมีสัญลักษณ์ DELL อยู่ตรงกึ่งกลาง
บริเวณข้อต่อระหว่างหน้าจอกับตัวเครื่อง ดูแล้วมีความแน่นหนาดี เนื่องจากมีลักษณะเป็นแบบสลักยึดระหว่างหน้าจอกับตัวเครื่อง ไม่ได้ใช้เป็นแบบข้อพับทั่วๆไป ถัดลงมาเป็นแถบปุ่มควบคุม ประกอบไปด้วย ปุ่มเปิดเครื่องอยู่ตรงกลาง ถัดมาทางด้านขวาเป็นแถบควบคุมการเล่นเพลง และปรับเพิ่ม-ลดระดับเสียง ที่เป็นแบบสัมผัสโดยมีไฟ LED บอก
ถัดลงมาเป็นคีย์บอร์ดที่สังเกตได้ว่ามีปุ่มมีขนาดใหญ่กว่าปกติทั่วไป ความรู้สึกสบายในการใช้งาน โดยในคีย์บอร์ดจะมีไฟ Backlit ที่สามารถปรับความสว่างได้ตามความต้องการของผู้ใช้งาน นอกจากนี้ยังมีโหมดปรับความสว่างของไฟคีย์บอร์ดแบบอัตโนมัติอีกด้วย
ในส่วนของทัชแพด ลักษณะตามมาตรฐานทั่วไป เพียงแต่บริเวณที่สัมผัสเป็นอะลูมิเนียม ทำให้ใช้งานแรกๆอาจจะไม่คุ้นเคย แต่เมื่อทดลองใช้กลับพบว่าสามารถรับสัมผัสและตอบสนองได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่าเมื่อไม่ใช้งานสามารถสั่งปิดทัชแพดได้เช่นเดียวกัน
ทางใต้เครื่องก็มีความหรูหราไม่แพ้กัน เนื่องจากมีการสลักลวดลายคลื่นลงบนอลูมิเนียมเช่นเดียวกับบริเวณฝาหน้าของเครื่อง โดยบริเวณกลางเครื่องจะมีแผ่นโลหะแปะอยู่ ภายในมีตราสัญลักษณ์เดลล์ พร้อมชื่อรุ่น adamo และ ขนาดตัวเครื่อง thirteen พร้อมกับโลโก้ของวินโดวส์ และอินเมลอยู่บริเวณมุมล่างทั้ง 2 ฝั่ง
นอกจากนี้บริเวณมุมเครื่องทั้ง 4 มุม จะมีลักษณะคล้ายจุกยางช่วยยกตัวเครื่องให้นูนสูงขึ้นมาจากพื้นโต๊ะ ถือเป็นการช่วยระบายความร้อนได้ระดับหนึ่ง ข้อสังเกตที่สำคัญคือเครื่องรุ่นนี้ผู้ใช้ไม่สามารถเปิดฝาหลังได้ด้วยตนเอง ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะแกะเครื่องมาใส่แรมเพิ่ม หรือแม้แต่เปลี่ยนแบตเตอรี่เลย
อีกส่วนที่หน้าสนใจของเครื่องรุ่นนี้คือที่ชาร์จไฟ ถูกดีไซน์ออกมาให้เข้ากับตัวเครื่องเป็นอย่างดี ตัวเต้าสามารถเสียบใช้กับไฟบ้าน 220v ได้ทันที ทำให้เวลาพกพาเครื่องไปที่ไหน การเพิ่มที่ชาร์จขนาดเล็กอีกสักอันคงไม่ลำบากมากนัก
Input and Output Ports
สำหรับพอร์ตเชื่อมต่อส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณด้านหลังเครื่อง ซึ่งเป็นส่วนที่มีความหนามากที่สุดก็ว่าได้ โดยไล่จากมุมซ้ายในรูปภาพ จะพบกับรูระบายอากาศ ที่เกิดจากการเจาะช่องของแผ่นอลูมิเนียม ถัดมาเป็นพอร์ตแลน พอร์ต e-SATA (สามารถใช้เสียบยูเอสบีได้) พอร์ตยูเอสบีอีก 2 พอร์ต พอร์ตสำหรับต่อออกทีวี (มีสายต่อให้เลือกทั้ง VGA/DVI/HDMI) รูเสียบสายชาร์จ และช่องระบายอากาศทางฝั่งขวา
ส่วนทางด้านขวา จะพบกับช่องเสียบหูฟังขนาด 3.5 มิลลิเมตรอยู่บริเวณมุมบน ส่วนมุมล่างของเครื่องจะมีช่องสำหรับใส่ซิมการ์ดในการใช้งาน 3G ซึ่งเครื่องที่ได้มาทดสอบยังไม่สามารถใช้งานได้ วิธีแกะถาดใส่ซิมคล้ายๆกับบนโทรศัพท์มือถือยี่ห้อผลไม้ คือต้องใช้เหล็กหรือไม้ปลายแหลมเสียบเข้าไปเพื่อให้ถาดเด้งออกมา
ทางด้านซ้าย และด้านหน้าไม่มีพอร์ตอะไรเป็นพิเศษ ส่วนบริเวณที่เปิดหน้าจอมีลักษณะเป็นแม่เหล็กยึดติดกับตัวเครื่อง ทำให้ไม่สามารถเปิดใช้งานได้ด้วยมือเพียงข้างเดียว
สำหรับการเชื่อมต่อเครือข่ายไร้สายจะมีทั้งไวเลส ที่รองรับมาตรฐาน 802.11a/b/g/n และบลูทูธ ส่วนเครือข่าย 3G จะเป็นออปชันเสริมในการเลือกซื้อ
สำหรับการทดสอบประสิทธิภาพจะอยู่ในหน้าถัดไป
Performance And Benchmark
ในส่วนของประสิทธิภาพนั้น Adamo มีสเปกให้เลือกกัน 2 รุ่นด้วยกันคือ Admire ที่มีซีพียู 1.2GHz พร้อมแรม 2GB SSD 128GB และ Desire ที่มีซีพียู 1.4GHz พร้อมแรม 4GB SSD 256GB โดยในรุ่น Desire จะมีส่วนของการเชื่อมต่อ 3G เพิ่มเข้ามาให้ด้วย ทั้ง 2 รุ่นมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ วิสต้า เซอร์วิส แพค 1 แบบ 64 บิต โดยรุ่นที่ทีมงานทำมารีวิวให้ชมจะเป็นรุ่น Admire
เมื่อตรวจสอบผ่านโปรแกรม CPU-Z พบว่า Adamo ใช้ซีพียู Intel Core 2 Duo U9300 @ 1.2GHz ที่ใช้เทคโนโลยี 45 นาโนเมตร, คอร์สปีดสูงสุดอยู่ที่ 1600MHz ส่วน FSB อยู่ที่ 800MHz, L1 D-Cache 32KB x2, L1 I-Cache 32KB x2และ L2 Cache ขนาด 3MB
ด้านเมนบอร์ดจะเป็นเมนบอร์ดที่ทางโรงงานเดลล์ผลิตขึ้นเอง โดยใช้ชิปเซ็ต Intel GS45/82801IM (ICH9-M) ที่รองรับการใช้งานภาพยนตร์ความละเอียดสูง ส่วนของหน่วยความจำเป็น DDR3 800MHz ขนาด 2GB
เมื่อทดสอบผ่านโปรแกรม PCMark05 คะแนนออกมาอยู่ที่ 3708 คะแนน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับเดียวกับโน้ตบุ๊กพรีเมียมที่ไม่ค่อยเน้นการใช้งานด้านกราฟิก ถ้าสังเกตจากคะแนนของฮาร์ดดิสก์แบบ SSD จะพบว่าพุ่งขึ้นไปอยู่ในระดับ หมื่นต้นๆเลยทีเดียว
ในส่วนของหน่วยประมวลผลภาพหรือการ์ดจอ โดยดูจากโปรแกรม GPU-Z พบว่าใช้การ์ดจอของ Intel GM45 หน่วยความจำของการ์ดจออยู่ที่ 32MB ซึ่งในการใช้งานจริงจะไปแบ่งมาจากหน่วยความจำหลัก(แชร์แรม)
เมื่อทดสอบจากโปรแกรม 3DMark06 ที่ความละเอียด 1280 x 768 ผลออกมาอยู่ที่ 621 คะแนนที่ได้แม้จะไม่เทียบเท่ากับโน้ตบุ๊กระดับพรีเมียมที่มีการ์ดจอแยก แต่ถือว่าอยู่ในระดับปกติของการ์ดจอออนบอร์ด ซึ่งในการทำงานจริงสามารถเล่นภาพยนตร์ความละเอียด 720p ได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ยังไม่สามารถรองรับการใช้งานแบบ 1080p ได้ ส่วนการใช้งานด้านกราฟิกทั่วๆไปสามารถทำได้
มาถึงจุดเด่นที่สุดของอุปกรณ์ภายในเครื่องรุ่นนี้ คงหนีไม่พ้นฮาร์ดดิสก์แบบ SSD (Solid-State Drive) ของ ซัมซุง ที่ความจุ 128GB ความเร็วสูงสุดในการอ่านข้อมูลอยู่ที่ 120.6MB/s ส่วนอัตราการเข้าถึงข้อมูลอยู่ที่ประมาณ 0.4ms ซึ่งถือว่ารวดเร็วตามสไตล์ของฮาร์ดดิสก์แบบนี้ ซึ่งจุดนี้ทำให้ความเร็วในการย้ายไฟล์ข้อมูลรวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย
ในส่วนของภาครับสัญญาณไวเลสของ Intel WiFi Link 5300 ที่รองรับมาตรฐาน 802.11a/b/g/n รับสัญญาณจากเราท์เตอร์ในระยะประมาณ 10 เมตร กราฟแสดงค่า 100% ตลอดเวลา ดังนั้นในการรับ-ส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายไร้สายถือว่าทำได้ดีตามมาตรฐาน
Speaker
สำหรับลำโพงของเครื่องรุ่นนี้จะอยู่บริเวณด้านหลังเครื่องหรือช่องระบายอากาศนั่นเอง ทำให้เสียงที่ได้ไม่ดังเท่าที่ควร เนื่องจากทิศทางของเสียงจะหันออกไปด้านหลังเครื่อง แต่ทั้งนี้ด้วยความที่เป็นเครื่องระดับพรีเมียมทั้งที คุณภาพของเสียงถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี เสียงสเตอริโอมีมิติชัดเจน
Battery and Heat
แบตเตอรี่ของ Adamo ในสเปกระบุมาว่าเป็น ลิเธียมโพลิเมอร์ แบบ 6 เซลล์ซึ่งผู้ใช้ไม่สามารถเปลี่ยนได้ด้วยตนเอง ทางทีมงานจับมาทดสอบใช้งานตามปกติโดยเปิดความสว่างหน้าจอ 50% เสียง 50% เล่นอินเทอร์เน็ตพร้อมฟังเพลงไปด้วย สามารถใช้งานได้ประมาณ 3 ชั่วโมงนิดหน่อย แต่เชื่อว่าถ้าไม่เปิดเพลงฟังไปด้วยน่าจะอยู่ได้ถึง 4 ชั่วโมงเลยทีเดียว
หลังจากนั้นทดสอบใช้งานแบบเต็มประสิทธิภาพ โดยเปิดความสว่างหน้าจอและเสียงเต็มที่ ใช้งานโดยการเปิดภาพยนตร์ความละเอียดสูง สามารถใช้งานได้ประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที ส่วนเวลาในการชาร์จใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
ในส่วนของความร้อนขณะใช้งานอยู่ที่ประมาณ 46 องศาเซลเซียส ซึ่งเมื่อใช้งานหนักๆ ความร้อนสูงสุดจะอยู่ที่ 62 องศาเซลเซียส ส่วนความร้อนของซีพียูสูงสุดที่ 59 องศาเซลเซียส แต่ด้วยความที่เครื่องเป็นอะลูมิเนียม ซึ่งนำความร้อนได้ดี ทำให้เมื่อใช้งานเป็นเวลานานบริเวณช่องระบายอากาศด้านหลังเครื่องจะมีความร้อนสูงจนรู้สึกได้
สำหรับ Rate และ Basic Information จากวินโดวส์ วิสต้า แสดงผลตามรูปด้านบนนี้ครับ
บทสรุป
Adamo จะถือว่าเป็นเครื่องที่น่าสนใจขึ้นมาทันที เมื่อมีการปรับลดราคาเช่นเดียวกันในสหรัฐฯ ให้ลงมาอยู่ราวๆ 5-6 หมื่นบาท สำหรับในประเทศไทยผู้ที่สนใจเครื่องรุ่นนี้จำเป็นต้องสั่งจองกับทางเดลล์ประเทศไทยเอง เนื่องจากไม่มีวางขายตามหน้าร้านเช่นเดียวกับเครื่องภายใต้แบรนด์ "Alienware" ที่ทางเดลล์เป็นผู้ทำตลาด
ในด้านของประสิทธิภาพของ Intel Core 2 Duo ไม่น่าจะทำให้ผู้ใช้งานผิดหวัง แต่เนื่องจากเครื่องรุ่นนี้ไม่ได้มากับการ์ดจอแยก ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานด้านกราฟิกถูกลดทอนลงไป เหลือเพียงแค่การใช้งานพื้นฐานทั่วๆไป ตามมาตรฐานนักธุรกิจที่มีรายได้สูง และต้องการภาพลักษณ์ในการใช้งานเป็นสำคัญ
ด้านระยะเวลาการใช้งานถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทางเดลล์ให้ความสนใจมาโดยตลอด เนื่องจากความเป็นโมบายล์คอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กและสะดวกในการพกพา จึงควรที่จะใช้งานบนแบตเตอรี่ได้ยาวนาน แม้ทางเดลล์เคลมมาว่าอยู่ที่ประมาณ 5 ชั่วโมง แต่ในการใช้งานจริงอาจจะได้เพียง 3-4 ชั่วโมงตามสภาวะการใช้งานของผู้ใช้เองอยู่ดี
ขอชม
- ดีไซน์สวยงามพร้อมความบางที่ไม่เป็นสองรองใคร ช่วยเพิ่มภาพลักษณ์ของผู้ใช้
- คีย์บอร์ดขนาดใหญ่ ที่ง่ายต่อการใช้งาน
- ระยะเวลาการใช้งานบนแบตเตอรี่ในเครื่องประสิทธิภาพสูง
ขอติ
- ราคาสูง
- ไม่มีช่องการ์ดรีดเดอร์
- แม้ว่าเครื่องจะมีขนาดบางแต่น้ำหนักยังอยู่ที่เกือบๆ 2 กิโลกรัม
สำหรับราคาเปิดตัวของ Dell Adamo Pearl 1.2GHz จะอยู่ที่ 95,000 บาทไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
Company Relate Link :
DELL
กำลังโหลดความคิดเห็น