xs
xsm
sm
md
lg

Review : HTC Magic สายพันธุ์แอนดรอยด์รุ่นแรกในไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากได้แนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับระบบปฏิบัติการไปบ้างแล้วใน "รู้จักแอนดรอยด์โฟนให้มากขึ้น" ตอนนี้ถึงเวลาที่จะให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกับแอนดรอยด์โฟนตัวนี้มากยิ่งขึ้น ก่อนที่กระแสของ HTC Hero แอนดรอยด์อีกหนึ่งรุ่นของเอชทีซีที่กำลังจะบุกไทยในเดือนสิงหาคมนี้

ด้วยความที่เป็นครั้งแรกของทีมงานเช่นกัน ที่ได้สัมผัสกับระบบปฏิบัติการใหม่นี้อย่างจริงจัง ซึ่งเมื่อได้ทดลองใช้แล้วคิดว่าไม่เสียชื่อของกูเกิลเลยที่ได้ทำระบบนี้ออกมา เนื่องจากอินเตอร์เฟสการใช้งานเบื้องต้นสามารถปรับแต่งให้เข้ากับสไตล์การใช้ของแต่ละบุคคลได้ รวมไปถึงการที่เป็นระบบปฏิบัติการเปิด ทำให้นักพัฒนาสามารถที่จะร่วมมือกันพัฒนาแอปพลิเคชันเข้ามาขายได้เป็นอย่างดี

แต่อย่างที่รับรู้กันว่าเครื่องรุ่น Magic ที่จำหน่ายในประเทศไทยไม่สามารถเข้าไปใช้ Market Place ได้ทำให้ต้องพึ่งพา AIS Market Place รวมไปถึงเว็บ SlideMe ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมแอปพลิเคชันของแอนดรอยด์ชื่อดังในต่างประเทศแทน ดังนั้นในขณะนี้แอปพลิเคชันจึงยังไม่มีความหลากหลายมากนัก

Feature On HTC Magic

จุดเด่นหลักที่สุดของแอนดรอดย์คือความง่ายและความรวดเร็วในการใช้งาน แม้ความเร็วจะยังไม่เทียบเท่ากับไอโฟน แต่เมื่อเทียบกับซิมเบี้ยน หรือ วินโดวส์ โมบาย ที่มีขายอยู่ในปัจจุบันต้องนับว่าการตอบสนองของแอนดรอยด์รวดเร็วกว่าอย่างรู้สึกได้ (เขียนมาถึงตรงนี้คงต้องยอมรับว่ารีวิวนี้เหมือนมารีวิวระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์มากกว่า HTC Magic ยังไงไม่รู้)



มาเริ่มกันที่หน้าจอหลักจะประกอบไปด้วย 3 หน้าต่างด้วยกัน โดยผู้ใช้สามารถนำช็อตคัท เบอร์โทรศัพท์ ตารางนัดหมาย โน้ตย่อ ต่างๆมาแปะที่หน้าจอหลักได้ ส่วนนี้มีหลักการทำงานเหมือนกับ Widget ทั่วๆไป ซึ่งในการจะเพิ่มช็อตคัทเพียงใช้นิ้วกดหน้าจอค้างไว้ก็จะมีตัวเลือกปรากฏขึ้นมาให้เลือกว่าต้องการเพิ่มแอปพลิเคชันอะไร นอกจากนี้ยังสามารถเคลื่อยย้ายได้ด้วยการกดนิ้วค้างไว้เช่นเดียวกัน

Program And Setting



ลูกเล่นแรกที่จะพบคือเวลามีการเตือนสถานะต่างๆไม่ว่าจะเป็น มีสายไม่ได้รับ มีข้อความเข้าใหม่ เชื่อมต่อยูเอสบี ที่แถบสถานะจะมีการแสดงผลบอก โดยถ้าผู้ใช้ต้องการดูรายละเอียดเพียงแค่ใช้นิ้วลากจากบริเวณแถบสถานะลงมา ก็จะเข้าสู่หน้าจอแสดงผลดังกล่าว

ส่วนการเข้าถึงเมนูต่างๆของเครื่อง สามารถใช้นิ้วกดบริเวณด้านล่างหน้าจอ หรือ ใช้นิ้วลากขึ้นมาก็ได้เช่นเดียวกัน ในกรณีที่แอปพลิเคชันในเมนูมีมากกว่าที่จะแสดงผล ผู้ใช้สามารถใช้นิ้วเลื่อนขึ้น-ลง แทนการ Scroll ในวินโดวส์นั้นเอง โปรแกรมแรกที่พบคือนาฬิกาปลุก (Alarm Clock) สามารถเลือกตั้งได้เวลาและวันที่จะปลุกได้ 3 แบบด้วยกัน



สำหรับเบราว์เซอร์ (Browser) จะแสดงผลได้ 2 แบบในแนวตั้งและแนวนอน สามารถใช้นิ้วหรือแทร็กบอลในการควบคุมก็ได้ ส่วนการซูมแม้จะมีปุ่มให้มาสำหรับกดซูมเข้า-ซูมออก แต่ในการใช้งานจริงเครื่องตอบสนองได้ไม่รวดเร็วเท่าที่ควร ดังนั้นถ้าหันกลับมาใช้นิ้วดับเบิลแท็ปแบบเดิมๆในโอเปร่ายังจะรู้สึกดีกว่า ส่วนการแสดงผลเรียกได้ว่าเร็วกว่าเครื่องในตระกูลวินโดวส์ โมบายแน่นอน



ในเบราว์เซอร์สามารถกดปุ่มเมนูเพื่อแสดงแถบเมนูต่างๆ เมนู "GO" สำหรับใช้พิมพ์ URL เว็บไซต์ที่ต้องการเข้า "Bookmark" จะแสดงเว็บไซต์ที่ได้บันทึกไว้ รวมไปถึงเว็บไซต์ที่เข้าเป็นประจำและประวัติการใช้งานด้วย



"New Windows" ใช้สำหรับเปิดหน้าต่างใหม่ขึ้นมา โดยเปิดอ่านได้สูงสุด 8 หน้าต่างด้วยกัน เมื่อกดตรง "More" จะเป็นการเข้าเมนูอื่นๆเช่น ค้นหาคำ เลือกตัวอักษร ดูรายละเอียดหน้าเว็บ ส่งเว็บให้เพื่อน เข้าสู่หน้าต่างดาวน์โหลด และการตั้งค่า ซึ่งในส่วนของการตั้งค่าทั่วไปจะประกอบไปด้วย การตั้งขนาดตัวอักษร กำหนดค่าสำหรับถอดรหัสตัวอักษร ป้องกันหน้าต่างป็อป-อัป ตั้งให้แสดงรูปภาพหรือไม่ ตั้งให้แสดงหน้าเว็บแบบเต็มจอ และรองรับจาวาสคริปต์



นอกจากนี้ยังมีตั้งให้เปิดหน้าต่างใหม่ในการทำงานเบื้องหลัง ตั้งค่าหน้าแรก ส่วนของการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวจะมีให้เลือก ลบ Cache และ history เปิดการรองรับ cookies ลบ cookie ตั้งให้จดจำค่าที่พิมพ์บนหน้าเว็บ และลบค่าดังกล่าว ส่วนการรักษาความปลอดภัย จะมีตั้งให้จำรหัสผ่าน ลบรหัสผ่าน และตั้งให้มีการเตือนรูปแบบรักษาความปลอดภัย สุดท้ายการตั้งค่าขั้นสูง สำหรับเปิดระบบ Gears ซึ่งเป็นระบบสำหรับนักพัฒนาทั้งหลาย และสุดท้ายคือการกลับสู่ค่าเริ่มต้น



ถัดมาจากเว็บเบราว์เซอร์ก็จะเป็นเครื่องคิดเลข (Calculator) ที่ปุ่มตัวเลขมีขนาดใหญ่เพื่อให้ใช้นิ้วกดได้อย่างสะดวก โดยในหน้าต่างคำนวนจะแสดงการแปรค่าทั้งหมดให้ได้เห็น ต่อไปคือ ตารางนัดหมาย (Calendar) เมื่อกดปุ่มเมนูที่จะแสดงรูปแบบการแสดงผลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบตามตารางนัดหมาย รายวัน รายสัปดาห์และรายเดือน สามารถกดเพิ่มเหตุการณ์ต่างๆได้จากปุ่ม New event โดยจะมีให้ใส่ค่าทำอะไร กี่โมง ที่ไหน และรายละเอียดของเหตุการณ์นั้นๆ




มาถึงในส่วนของกล้อง เมื่อแตะที่หน้าจอจะมีเมนูขึ้นมาให้เลือกคือ โหมดถ่ายภาพ ถ่ายวิดิโอ ขนาดของภาพ ปรับ White Balance ตั้งค่าชดเชยแสง และเข้าสู่เมนูการตั้งค่า ในส่วนของเอฟเฟกต์จะมีให้เลือก 3 แบบคือ Grayscale Sepia และ Negative เมนูตั้งเวลาถ่ายได้ 2 ช่วงเวลาคือ 2 วินาที และ 10 วินาที ค่า White Balance ประกอบไปด้วย Incandescent Fluorescent Daylight และ Cloudy



สำหรับการตั้งค่าจะแยกเป็น 2 แบบสำหรับภาพนิ่งและวิดิโอ โดยเริ่มจากในส่วนของวิดิโอก่อนจะประกอบไปด้วย เวลาการแสดงภาพหลังถ่ายเสร็จ นามสกุลไฟล์ที่บันทึก ตั้งจำกัดความยาวของวิดิโอ บันทึกเสียงขณะถ่าย เสียงชัตเตอร์ ปรับแต่งรายละเอียดของภาพ ตั้งเอฟเฟกต์ต่างๆ เลือกจุดโฟกัส และปรับสู่การตั้งค่าเดิม



ในส่วนของการตั้งค่าภาพนิ่งจะประกอบไปด้วยความละเอียดของภาพ นามสกุลไฟล์ที่บันทึก ตั้งให้แสดงวันและเวลาของภาพที่ถ่ายหรือไม่ ตั้งให้ภาพเป็นแบบไวด์สกรีน (3:2) เสียงชัตเตอร์ ปรับแต่งรายละเอียดของภาพ ใส่เอฟเฟกต์ ตั้งค่าโฟกัส แสดงตารางที่หน้าจอถ่ายภาพ และปรับสู่การตั้งค่าเดิม



การถ่ายภาพจะใช้ปุ่มแทร็กบอลแทนชัตเตอร์ของกล้อง เมื่อถ่ายภาพเสร็จแล้วจะขึ้นการแสดงผลแบบในรูป โดยบริเวณด้านขวาจะมีคำสั่งให้เลือกคือ ย้อนกลับไปโหมดถ่ายรูป ลบรูปทิ้ง เข้าไปดูรูปอื่นๆ และส่งรูปภาพต่อ เมื่อเข้าสู่โหมดดูรูปจะมีปุ่มซูมเข้าออกขึ้นมาให้กดบริเวณด้านล่าง(ขณะตั้งเครื่อง) และมุมซ้ายขวาจะมีลูกศรให้กดเพื่อเปลี่ยนรูป



โหมดการใช้งานโทรศัพท์เมื่อกดปุ่มโทรออก หรือ เข้าแอปพลิเคชัน Phone ในเครื่องจะขึ้นหน้าจอปุ่มกดโล่งๆขนาดใหญ่ขึ้นมา เนื่องจากหน้าจอรองรับการใช้นิ้วกดเท่านั้นทำให้ปุ่มต่างๆดูใหญ่เหมาะสมกับการใช้นิ้วกด การแสดงผลตัวเลขก็มีขนาดใหญ่ชัดเจน ในส่วนของหน้าจอขณะกำลังสนทนา ถ้ามีการตั้งค่ารูปถ่ายไว้ก็จะมีแสดงในหน้าจอพร้อมชื่อผู้ติดต่อ

ส่วนเมนูต่างๆในโหมดโทรศัพท์จะประกอบไปด้วย ส่งข้อความสั้นหาเบอร์นั้นๆ สลับสายกรณีที่มีสายซ้อน รวมสายสำหรับการประชุมสาย เพิ่มสายสำหรับการประชุมสาย ปุ่มวางสาย รอสาย ปิดเสียง เปิดลำโพง และเปิดใช้งานหูฟังบลูทูธ



การตั้งค่าอีเมลสามารถเลือกได้ว่าจะให้เป็นแบบ Microsoft Exchange ActiveSync สำหรับเมลในบริการของไมโครซอฟท์ต่างๆ เช่น Hotmail Livemail และการตั้งค่าสำหรับอีเมลในระบบอื่นๆที่ใช้ POP3/IMAP ซึ่งการตั้งค่าในเบื้องต้นเพียงแค่กรอกอีเมลและรหัสผ่านเข้าไป ตัวเครื่องจะทำการตั้งค่าให้อัตโนมัติ



เมื่อเข้าสู่โปรแกรมเล่นเพลงจะเจอหน้าจอหลักที่จะแบ่งหมวดหมู่ของเพลงตาม ศิลปิน อัลบั้ม ชื่อเพลง และตามรายชื่อเพลงที่กำหนดไว้ ส่วนในหน้าจอเล่นเพลงปกติ ในกรณีที่มีรูปปกอัลบั้มก็จะมีการขึ้นแสดง พร้อมกับรายชื่อเพลง และ อัลบั้ม ในส่วนมุมขวาจะเป็นการเข้าสู่ รายชื่อเพลงที่บันทึกไว้ การตั้งค่าการเล่นแบบปกติ หรือสลับเพลง การเล่นซ้ำ เล่นวน ตามปกติทั่วไป ส่วนปุ่มควบคุมเริ่มหยุดและเปลี่ยนเพลงจะอยู่ด้านล่าง

ถ้ากดปุ่มเพิ่ม-ลดเสียงที่อยู่ด้านข้างจะมีแถบแสดงระดับเสียงขึ้นมาให้บนหน้าจอ ส่วนถ้ากดปุ่มเมนูจะเป็นการเรียกเมนูในโปรแกรมเล่นเพลงออกมาซึ่งประกอบไปด้วย การเข้าสู่หน้าจอหลัก โหมดเล่นเพลงแบบสุ่ม เพิ่มเพลงในเพลย์ลิสต์ ตั้งเป็นเสียงเรียกเข้า และลบเพลงที่กำลังฟังอยู่



ในส่วนของ Setting จะประกอบไปด้วยการตั้งค่าการเชื่อมต่อ (Wireless Controls) ตั้งค่าโทรศัพท์ (Call Setting) ปรับแต่งเสียงและหน้าจอ (Sound & Display) ปรับแต่งการซิงค์ข้อมูล (Data synchronization) ตั้งค่าการใช้งาน GPS (Location) การตั้งค่าความปลอดภัยของหน้าจอและซิมการ์ด (Security) ปรับแต่งแอปพลิเคชัน (Applications) ตั้งค่าการใช้หน่วยความจำภายในและภายนอก (SD Card & Phone Storage) กำหนดวันและเวลา (Date & Time) ตั้งค่าภาษา (Locale & Text) และสุดท้ายรายละเอียดตัวเครื่อง (About Phone)




ไล่ดูไปทีละส่วนเริ่มที่ การตั้งค่าการเชื่อมต่อ (Wireless Controls) จะประกอบไปด้วยการตั้งค่าไวเลส บลูทูธ เครือข่ายโทรศัพท์แบบ 2G และ 3G ในจุดนี้ผู้ที่ไม่อยากให้เครื่องใช้งาน GPRS/EDGE ตลอดเวลาสามารถเข้ามาเปลี่ยนค่า APN Type จาก default ให้เป็นค่าอื่น ซึ่งเป็นวิธีการแรกที่ทางเอชทีซีแนะนำให้ผู้ใช้งานในการปรับแต่งค่า แต่ปัจจุบันมีโปรแกรมที่จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแล้วซึ่งจะพูดถึงในภายหลัง



ตั้งค่าโทรศัพท์ (Call Setting) ก็จะเข้าสู่การตั้งค่าทั่วๆไปของโทรศัทพ์ไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการ Voice Mail โอนสาย ระงับการใช้งาน ตั้งค่ากรณีเพิ่มคู่สายขณะสนทนา และการตั้งค่าเครือข่ายของโทรศัพท์มือถือ

ปรับแต่งเสียงและหน้าจอ (Sound & Display) สำหรับปรับแต่งโหมดเงียบ ปรับเสียงเรียกเข้า ปรับเสียงมัลติมีเดีย ตั้งเสียงเรียกเข้า เปิดระบบสั่น ตั้งเสียงเมื่อมีการเตือน เสียงขณะกดปุ่มโทรศัพท์ เสียงขณะทำการเลือก และเสียงเตือนเมื่อใช้งานหน่วยความจำภายนอก ส่วนการตั้งค่าหน้าจอก็จะมีการตั้งค่าเกี่ยวกับการแสดงผลเมื่อเอียงเครื่อง ลูกเล่น Animation ต่างๆ และความสว่างหน้าจอ



ปรับแต่งการซิงค์ข้อมูล (Data synchronization) ในที่นี้จะมีเพียงการซิงค์ผ่าน ActiveSync ของทางเอชทีซีเท่านั้น ยังไม่มีการซิงค์ผ่าน Gmail แต่อย่างใด ตั้งค่าการใช้งาน GPS (Location) จะมีให้เลือกใช้เครือข่ายโทรศัพท์ในการระบุตำแหน่งผ่าน Cell Site และเปิดใช้งานดาวเทียม GPS



ส่วนของ SD Card จะมีบอกขนาดของหน่วยความจำทั้งหมด หน่วยความจำที่ใช้ Safe Remove สำหรับการถอดการ์ด และการฟอร์แมทการ์ด หน่วยความจำภายในก็จะมีบอกพื้นที่สำหรับใช้งาน และล้างเครื่อง กำหนดวันและเวลา (Date & Time) ก็จะเป็นการตั้งค่าวันเวลาทั่วๆไป สุดท้ายคือ รายละเอียดตัวเครื่องที่จะบอกถึงชื่อรุ่น เฟิร์มแวร์ที่ใช้ และเวอร์ชันต่างๆของเครื่อง



ทีนี้มาดูรายละเอียดในเรื่องของการลงโปรแกรม โดยการลงโปรแกรมสำหรับแอนดรอยด์จะทำได้ทั้งหมด 2 ทางคือโหลดผ่าน Market Place อย่าง AIS Market Place และ SlideMe หรือ ลงโปรแกรมจากเมมโมรี่การ์ดผ่านโปรแกรม Appinstaller เบื้องต้นผู้ใช้จำเป็นต้องเข้าไปในส่วนของการตั้งค่าแอปพลิเคชันแล้วติ้กเลือก Unknown Source เพื่อให้เครื่องสามารถรันโปรแกรมที่จะดาวน์โหลดมาได้

ในหน้าจอดังกล่าวถ้าต้องการลบโปรแกรมผู้ใช้สามารถเข้าไปใน Manage Applications เพื่อเลือกโปรแกรมที่ต้องการลบ กดปุ่ม Uninstall ทำตามขั้นตอนไปเรื่อยๆ เมื่อเสร็จเรียบร้อยจะขึ้นหน้าจอว่า Uninstall Finish



สำหรับหน้าจอของ AIS Marker Place จะปรากฏตามรูปด้านบน ผู้ใช้งานสนใจที่จะลงโปรแกรมใดก็เพียงกดเข้าไปที่รายชื่อโปรแกรมนั้นๆ โดยโปรแกรมที่แนะนำให้ติดตั้งในเบื้องต้นคือ เปิด-ปิด EDGE/GPRS ที่ชื่อ APNdroid ที่พัฒนาจากผู้ใช้ในเว็บไซต์ Pdamobiz และทางเอชทีซีนำมาแจกจ่ายให้โหลดกัน ถัดมาคือ ติดตั้งโปรแกรมที่อยู่ในการ์ด หรือ Apps Installer นั่นเอง



ในส่วนของ SlideMe ก็จะมีหน้าตาคล้ายกันคือมีแยกประเภทของโปรแกรม เมื่อกดเข้ามาจะพบกับชื่อโปรแกรมต่างๆ กดต่อไปก็จะเป็นรายละเอียดของโปรแกรม ถ้าต้องการติดตั้งก็เพียงกดที่ Terms & Download ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป



หลังจากอ่านข้อตกลงในการใช้งานและดาวน์โหลดแล้วกดปุ่ม Install เครื่องจำทำการโหลดแอปพลิเคชันดังกล่าวเข้ามาไว้ในเครื่อง และจะมีการเตือนของเครื่องอีกครั้งหนึ่งว่ากำลังจะมีการลงโปรแกรม เมื่อแน่ใจแล้วกด Install ก็เสร็จขึ้นขั้นตอนการลงโปรแกรม



ส่วนถ้าผู้ใช้ต้องการลงโปรแกรมจากภายในเมมโมรี่การ์ด เพียงหาแอปพลิเคชันที่นามสกุลไฟล์เป็น .apk มาใส่ไว้ในเครื่อง เปิดโปรแกรม Apps Installer ขึ้นมาเลือกตามชื่อโปรแกรมที่ต้องการจะลง กด Install แค่นี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว




การเปลี่ยนไปใช้งานคีย์บอร์ดภาษาไทยของ CN Thai Keyboard เพียงกดปุ่มเปลี่ยนภาษาค้างไว้ เครื่องจะแสดงขึ้นมาว่าจะเลือกใช้การป้อนภาษาแบบใด เมื่อเลือกเป็นภาษาไทย ก็จะสามารถใช้งานคีย์บอร์ดภาษาไทยได้ ส่วนเลย์เอาท์ของปุ่มต่างๆในแนวตั้งและแนวนอนดูได้จากในรูป

Design of HTC Magic

มาถึงส่วนที่สำคัญที่สุดของหลายๆคนในการเลือกซื้อมือถือ ซึ่งเชื่อได้ว่าส่วนใหญ่มากกว่าครึ่งจะเลือกมือถือจากดีไซน์เป็นเรื่องหลัก จากมาตรฐานการออกแบบของเอชทีซี เชื่อได้ว่าในเรื่องของวัสดุที่ใชัจะมีคุณภาพสูงเหมาะสมกับราคาของเครื่อง ดีไซน์ของเครื่องรุ่นนี้จะบอกว่าออกแบบมาเรียบๆ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพในการใช้งาน



สำหรับขนาดรอบตัวของเจ้า Magic จะอยู่ที่ 113 x 55.56 x 13.65 มิลลิเมตร ถือว่าไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป น้ำหนักตัวอยู่ที่ 116 กรัม เหมาะสำหรับทั้งผู้ชายและผู้หญิง เครื่องที่วางขายจะมีด้วยกัน 2 สี คือ เครื่องสีขาวตัดกับขอบสีเงิน และเครื่องสีดำตัดกับขอบสีแดง ซึ่งในความรู้สึกของผู้เขียนเชื่อว่า สีขาวสวยกว่ากันเท่าตัว



เริ่มลงลึกกันที่รายละเอียดเริ่มจากส่วนบนของด้านหน้าจะมีลำโพงสนทนาที่ริมทั้ง 2 ฝั่งจะเป็นไฟบอกสถานะการทำงานต่างๆ ถัดลงมาจะเป็นโลโก้ hTC และหน้าจอขนาด 3.2 นิ้ว ความละเอียด 320 x 480 พิกเซล หรือ HVGA โดยหน้าจอจะเป็นแบบ Capacitive ทำให้รับสัมผัสได้จากนิ้วเพียงอย่างเดียวเท่านั้น



ในส่วนของปุ่มสั่งงานทำงานไล่จากแถวบนจะประกอบไปด้วยปุ่มที่เป็นรูปบ้าน ใช้สำหรับเข้าสู่หน้าจอหลัก ปุ่มเมนู ปุ่มย้อนกลับ และปุ่มที่เป็นรูปแว่นขยายไว้ใช้สำหรับค้นหาจากกูเกิล เสิร์ชนั่นเอง ถัดลงมาก็จะเป็นปุ่มรับสาย ปุ่มวางสาย (ใช้ปิดเครื่องเมื่อกดค้าง และ ปิดหน้าจอเมื่อกดแล้วปล่อย) ส่วนตรงกลางจะเป็นที่อยู่ของแทร็กบอลสารพัดประโยชน์



ทางด้านซ้ายจะมีปุ่มเพิ่ม-ลดระดับเสียงอยู่เท่านั้น ส่วนทางด้านขวาและด้านบนจะเรียบๆไม่มีปุ่มใดทั้งสิ้น



ส่วนด้านล่างจะเป็นพอร์ต HTC ExtUSB ที่ใช้ในการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ และหูฟังแบบเฉพาะของทางเอชทีซี



ด้านหลังเครื่องจะยังคงความเรียบแบบเดิม เพิ่มความรู้สึกด้านการออกแบบด้วยสีเหลี่ยมพื้นผ้าสีเงินบริเวณกล้องที่ให้ความละเอียด 3.2 ล้านพิกเซล บริเวณบนของแถบสีเงินดังกล่าวจะเป็นช่องลำโพงด้วย ส่วนตรงกลางมีตรา hTC ติดอยู่ ส่วนรูที่เห็นบริเวณล่างจะจะใช้สำหรับห้อยสายคล้องโทรศัพท์นั่นเอง

หากสังเกตจะพบบว่าในส่วนล่างของโทรศัพท์ด้านหลังจะมีการโค้งมนเล็กน้อยไปทางด้านหน้า เนื่องจากการที่มีแทร็กบอลติดอยู่ทำให้ทางเอชทีซีต้องออกแบบมาสำหรับกรณีที่วางเครื่องคว่ำหน้าลงไป ปุ่มแทร็กบอลจะไม่สัมผัสกับพื้นผิวทำให้บริเวณด้านล่างของเครื่องจะงอขึ้นมารับกับใบหน้า



เมื่อเปิดฝาหลังออกมาจะพบกับแบตเตอรี่ ขนาด 1,340 mAh อยู่ตรงกลางพร้อมช่องใส่ซิมการ์ดที่ต้องทำการถอดแบตเตอรี่ออกก่อน ส่วนช่องสำหรับเสียบหน่วยความจำไมโครเอสดี จะอยู่บริเวณมุมล่าง

บทสรุป

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าแอนดรอยด์โฟน ถือเป็นโทรศัพท์ใหม่ที่เพิ่งเริ่มเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจังในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้ผู้ที่ไม่ค่อยสนใจเทคโนโลยีจะมองข้ามระบบปฏิบัติการนี้ไป ซึ่งอย่างที่เคยกล่าวให้ฟังใน "รู้จักแอนดรอยด์โฟนให้มากขึ้น" ว่าเครื่อง Magic ที่จำหน่ายในประเทศไทยขณะนี้ จะไม่มีบริการ GMS ทำให้ยังใช้ความสามารถของเครื่องรุ่นนี้ได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นในเบื้องต้นผู้ที่จะหันมาใช้ Magic จึงกลายเป็นผู้ที่เบื่อหน่ายกับระบบปฏิบัติการเดิมๆ และเบื่อหน่ายกับไอโฟนนั่นเอง

เนื่องจากราคาเปิดตัวของเครื่องรุ่นนี้อยู่ที่ 25,900 บาท ทำให้ผู้ที่คาดหวังว่าราคาจะต่ำกว่าเครื่องรุ่นอื่นของเอชทีซีที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ โมบาย เพราะแอนดรอยด์เป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิดที่ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ต้องผิดหวังไปตามๆกัน อาจจะกล่าวได้ว่าในขณะนี้ผู้ที่ต้องการใช้จะเสียเงินแพงกว่าปกติ เพื่อที่จะได้ใช้งานระบบปฏิบัติการใหม่อย่างแอนดรอยด์นั่นเอง

ในอนาคตเชื่อว่าถ้ามีการนำแอนดรอยด์โฟนเข้ามาขายในประเทศไทยมากขึ้น ราคาเครื่องก็น่าจะถูกกว่านี้เพื่อให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้หยิบจับอย่างไม่เสียดายเงินมากนัก เพราะมองไปในแผนการตลาดแล้วหลายๆแบรนด์น่าจะนำเข้ามาจำหน่ายในช่วงไตรมาส 3 นี้เอง การแข่งขันในตลาดแอนดรอยด์โฟนจึงเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าจับตามองต่อไป

สำหรับการใช้งานในด้านโทรศัพท์ เสียงขณะสนทนาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่เบาจนเกินไป ระยะเวลาการใช้งานถ้าไม่เปิดการเชื่อมต่อแบบไวไฟไว้ตลอดเวลา เปิดให้เครื่องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตผ่าน EDGE/GPRS ใช้งานโทรศัพท์แบบปกติได้ 2 วันสบายๆ การตอบสนองของหน้าจอให้ความรู้สึกเร็วกว่าวินโดวส์ โมบายชัดเจน แต่ยังไม่เร็วขนาดไอโฟนอยู่ดี

ขอชม
- ดีไซน์สวยงามพร้อมหน้าจอ 3.2 นิ้ว ให้ความรู้สึกไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป
- อินเตอร์เฟสง่ายต่อการใช้งาน รวมถึงการตอบสนองของตัวเครื่องที่ทำได้ดี
- การเชื่อมต่อต่างๆมีมาให้ครบครันทั้ง สเตอริโอบลูทูธ ไวไฟ จีพีเอส

ขอติ
- เครื่องยังเป็นเพียงแอนดรอยด์โฟนเท่านั้น ไม่ใช่กูเกิลโฟนที่จะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ
- ไม่มีช่องเสียบหูฟังแบบ 3.5 มม.
- กล้อง 3.2 ล้านพิกเซลแต่ไม่มีแฟลช

Company Related Links :
HTC
HTCThailand








กำลังโหลดความคิดเห็น