xs
xsm
sm
md
lg

Review Olympus Tough 6000 เติมเต็มทุกช่วงเวลาสนุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



Olympus Tough 6000 เป็นกล้องคอมแพกต์อเนกประสงค์ที่มีคุณสมบัติอัดแน่นอยู่มากมาย สำหรับผู้ที่รักการท่องเที่ยวและดำน้ำเพื่อเก็บบันทึกความทรงจำ

แกะกล่อง



อุปกรณ์มาตรฐานที่ให้มามี ตัวกล้อง Olympus Tough 6000, สายคล้องมือ, คู่มือการใช้งานภาษาไทยและอังกฤษ,บัตรรับประกันศูนย์ทั่วโลก, สาย USB, สายAV, แบตเตอรี่ LI-50B, แท่นชาร์จ LI-50C, CD-ROMs2 แผ่น (OLYMPUS Master sofeware 2.0 และ Advanced Manual) และ MASD-1 (microSD attachment)หลังจากการทดสอบ 1-2 สัปดาห์ ทุกฟังก์ชัน และหลายๆสภาพแสงถือว่า Olympus Tough 6000 ทำได้ดีโดยรวมในด้านของวัสดุนั้นแข็งแรงทนทานดีมากตัวเครื่องด้านหน้าออกแบบเว้าเข้ากับมือได้เป็นอย่างดี ส่วนการเลือกใช้งานฟังก์ชันต่างๆก็ทำได้ลื่นไหล และสะดวกรวดเร็วติดตรงที่ปุ่มซูมเข้าและออกอาจใช้งานยากไป เนื่องจากปุ่มอยู่ติดกันมากและเล็กเกินไปการวางตำแหน่งนิ้วหัวแม่มือจึงทำได้ไม่สะดวกเท่าใดนัก

จุดขาย

Olympus Tough 6000 โดดเด่นในเรื่องของความทนทาน และการใช้งานที่หลากหลายเนื่องจากตัวเครื่องมีการซีลตามรอยต่อต่างๆ เพื่อให้สามารถถ่ายภาพใต้น้ำได้ รวมถึงมุมขอบทั้งสี่มุมมีการเสริมการกันกระแทกเป็นอย่างดีจากข้อมูลตามสเปกสามารถกันกระแทกได้ 1.5 เมตร กันน้ำลึกได้ 3 เมตร และกันความเย็นได้ -10 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ Tough 6000 ยังมีความละเอียดที่ 10 ล้านพิกเซลพร้อมโหมดต่างๆให้เลือกใช้ เช่น Dual Image Stabilization เทคโนโลยีป้องกันภาพสั่นไหวและ TAP Control ควบคุมการทำงานของกล้องด้วยการแตะ หรือเคาะเบาๆเพื่อความสะดวกขณะสวมถุงมือเวลาถ่ายภาพใต้น้ำหรือหิมะ

ดีไซน์

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นเนื่องจาก Tough 6000 ถูกออกแบบให้ทนต่อสภาพอากาศ และถ่ายใต้น้ำได้การออกแบบจึงเป็นส่วนสำคัญ โดยวัสดุที่ใช้นั้นเป็นพลาสติกแข็ง ผสมเหล็กทำให้ดูแข็งแรงแน่นหนา ตัวบอดี้มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 95.3x63.4x22.4 มิลลิเมตร น้ำหนัก 149 กรัมไม่รวมแบตเตอรี่และการ์ด ในส่วนของปุ่มกดต่างๆถูกวางในตำแหน่งที่เหมาะมือแต่อาจมีขนาดเล็กเกินไปเมื่อต้องสวมถุงมือในสภาวะใต้น้ำหรืออยู่กลางหิมะ ดังนั้นฟังก์ชัน TAP Control ที่มีนั้นอาจช่วยให้สามารถใช้งานได้มากขึ้น มีให้เลือกทั้งหมด 4 สี คือ น้ำเงิน, เทา, ส้ม และเหลือง



ด้านหน้า : ตัวเครื่องด้านหน้ามีไมโครโฟน ล่างลงมามีสัญลักษณ์ Olympus Tough และลายละเอียดความสามารถการกันกระแทก 1.5 เมตรและกันน้ำได้ลึก 3 เมตร เหนือขึ้นไปตรงกลางเป็นไฟแฟลชและไฟ LED เรืองแสงใต้น้ำ เมื่อใช้โหลดตั้งเวลาถ่ายภาพไฟดวงนี้จะสว่างขึ้นมา ด้านขวามือบนสุดเป็นตัวเลนส์ขนาด 28-102 มม.ออพติคอลซูม 3.6 เท่าและดิจิตอลซูม 5 เท่า



ด้านบน : ซ้ายสุดมีตัวหนังสือบอกรายละเอียดของเลนส์ ถัดมาเป็นปุ่มเปิด-ปิดตัวเครื่อง และปุ่มชัตเตอร์ ซึ่งถูกวางในตำแหน่งนิ้วชี้พอดิบพอดี และมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวสามารถสัมผัสได้เต็มนิ้วสบายมือ



ด้านหลัง : เมื่อพลิกไปด้านหลังจะพบจอแอลซีดีขนาด 2.7 นิ้ว ด้านล่างของจอมีสัญลักษณ์ OLYMPUS ในระดับเดียวกันถัดมาเป็นตัวหนังสือบ่งบอกถึงคุณสมบัติจอภาพแบบ HyperCrystal View ส่วนปุ่มควบคุมการใช้งานอยู่ทางด้านขวาของตัวเครื่องทั้งหมด เริ่มจากบนสุดเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าใช้สำหรับซูมเข้า-ออก (ออพติคอลซูมที่ 2.6ญไE0ท่า และดิจิตอลซูมทีเ 5 เท่า)ถัดลงมาเป็นไฟแสดงสถานะบอกการบัฟเฟอร์ของการ์ดหลังจากถ่ายภาพ ถัดมาด้านขวาเป็นวงล้อมีโหมดให้เลือกใช้งานอีก 6 เมนูโดยเมนูแรกเป็นโหมด P(สามารถใช้ความละเอียดสูงสุดได้ 5 ล้านพิกเซล), iAUTO(สามารถใช้ความละเอียดสูงสุดได้ 10 ล้านพิกเซล), พรีวิวภาพ, โหมดถ่ายภาพเคลื่อนไหว และโหมด BEAUTY

โหมด SCN ซึ่งเป็นโหมดสำหรับถ่ายภาพสำเร็จรูปโดยในโหมดนี้จะแยกออกเป็น 20 โหมดย่อยผู้ใช้สามารถเลือกฟังก์ชันเพื่อตอบสนองโอกาสต่างๆได้เริ่มจากโหมด ภาพบุคคล, ภาพวิวทิวทัศน์, ภาพกลางคืน, ภาพกลางคืนพร้อมบุคคล, ภาพกีฬา, ภาพในร่ม, ภาพใต้แสงเทียน, ภาพถ่ายตัวเอง, พระอาทิตย์ตก, พลุ, ดอกไม้ไฟ, ภาพถ่ายอาหาร, ถ่ายเอกสาร, ภาพถ่ายทะเลและหิมะ, ภาพถ่ายเมื่อยิ้ม, ภาพถ่ายก่อนการอัดวิดีโอ, ภาพถ่ายใต้น้ำ, ภาพถ่ายใต้น้ำมุมกว้าง1, ภาพถ่ายใต้น้ำมุมกว้าง2 และภาพถ่ายใต้น้ำมาโคร

ด้านใต้วงล้อมีปุ่มเล็กๆสองปุ่มถูกวางในระดับเดียวกันโดยปุ่มแรกซ้ายสุดเป็นปุ่มเข้าสู่เมนูการใช้งานเพื่อตั้งค่าต่างๆของตัวเครื่อง ถัดมาเป็นปุ่มสำหรับพรีวิวภาพซึ่งสามารถใช้กดดูภาพได้สะดวกกว่าการหมุนจากวงล้อไปสู่โหมดพรีวิว ถัดลงมาอีกเป็นปุ่มควบคุมแบบ 5 ทิศทางโดยแต่ละปุ่มสามารถใช้เป็นคีย์ลัดสำหรับเลือกการใช้งานในโหมดต่างๆได้ เริ่มจากปุ่มขึ้นใช้สำหรับปรับชดเชยแสง +/-, ปุ่มซ้ายใช้สำหรับเข้าสู่โหมดมาโครโดยมีให้เลือกใช้งานทั้งหมด 3 แบบด้วยกันคือ มาโคร, ซุปเปอร์มาโคร และS-MACRO LED โดยเมื่อเลือกใช้โหมดนี้ไฟ LED ด้านหน้าจะเปิดขึ้นเพื่อใช้ในการถ่ายภาพมาโครใต้น้ำ

ปุ่มล่างใช้สำหรับเข้าสู่โหมดจับเวลาถ่ายภาพ, ปุ่มขวาใช้สำหรับควบคุมการไฟแฟลชโดยมีให้เลือกแบบ AUTO, ลดตาแดง, ฟิลอินแฟรช และปุ่มกลางใช้สำหรับเข้าสู่การตั้งค่าต่างๆเริ่มจาก White balance ที่มีมาให้เลือกใช้ตั้งแต่ AUTO, มีแสงแดด, มีเมฆปกคุลม, มีแสงส่องผ่าน, ฟลูออเรสเซนต์1, ฟลูออเรสเซนต์2 และฟลูออเรสเซนต์3 ต่อมาค่า ISO สามารถเลือกตั้งค่าได้ตั้งแต่ AUTO, H.AUTO, 50, 100, 200, 400, 800 และ 1600 นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันการตั้งค่าแบบถ่ายภาพครั้งเดียว และถ่ายแบบต่อเนื่อง ส่วนระบบวัดแสงนั้นมีให้เลือกแบบเฉลี่ยทั้งภาพหรือเฉพาะจุด และฟังก์ชันสุดท้ายในปุ่มกลางคือการตั้งค่าความละเอียดและขนาดของไฟล์ภาพ

ส่วนสองปุ่มเล็กๆซึ่งอยู่ล่างสุดเริ่มจากปุ่มซ้ายมือใช้สำหรับตั้งค่า DISP เพื่อกำหนดการเปิด-ปิดหน้าจอ โดยสามารถเลือกได้ว่าจะแสดงรายละเอียดหรือไม่ นอกจากนี้ยังเลือกใช้งานจอภาพแบบ Grid มีลักษณะเป็นตารางเพื่อง่ายต่อการจัดองค์ประกอบภาพ ถัดมาปุ่มด้านขวามือใช้สำหรับเข้าสู่โหมดการตั้งค่าถ่ายภาพแบบพาโนรามา, ควบคุมการเคาะ(TAP Control), ปรับแสงเงา และหลายหน้าจอ



ด้านซ้าย : มีน็อตยึดสองตัวที่ด้านบน และล่างสุดของตัวเครื่อง



ด้านขวา : บนสุดมีคลิปล็อกสำหรับเปิด-ปิด ซีลด้วยยางเพื่อกันน้ำเข้าด้านในมีพอร์ตต่อสาย USB และAV OUT ถัดลงมามีช่องสำหรับร้อยสายคล้องมือ ข้างๆกันมีน็อตยึดหนึ่งตัว ถัดลงมาอีกเป็นลำโพง และล่างสุดของด้านซ้ายมือมีน็อตยึดอีกหนึ่งตัว



ด้านล่าง : มีช่องสำหรับใส่ขาตั้งกล้องอยู่ตรงกลางของตัวเครื่อง และทางด้านซ้ายเป็นช่องสำหรับใส่การ์ดแบบ microSD และแบตเตอร์รี่ขนาด 925mAh ส่วนฝาปิดแบตเตอร์รี่นั้นมีซีลด้วยยางกันน้ำเช่นกัน ซึ่งการออกแบบทำได้แข็งแรงและแน่นหนาดี

White Balance



ตัวอย่างภาพถ่าย : หลังจากการทดสอบถ่ายภาพมุมและแสงที่ใกล้เคียงกัน Olympus Tough 6000 ทำได้ค่อนข้างดีแต่เมื่อถ่ายย้อนแสงจะเห็นความผิดเพี้ยนชัดเจนมาก

ISO


คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น


ตัวอย่างภาพถ่าย : การตั้งค่า ISO นั้นมีให้เลือกตั้งแต่ 50, 100, 200, 400, 800 และ 1600 เมื่อทดสอบการใช้งานจริงจะเริ่มพบสัญญาณรบกวนภาพตั้งแต่ ISO400 แต่ก็ยังถือว่า Tough 6000 ทำได้ดีครับในระดับของกล้องคอมแพกต์ แต่เมื่อดันISO ไปที่ 800 และ 1600 อาจทำให้ภาพที่ได้นั้นหยาบและเสียความคมชัดไปอย่างมากครับ

ภาพถ่ายใต้น้ำ



ตัวอย่างภาพถ่าย : Olympus Tough 6000 สามารถกันน้ำลึกได้ 3 เมตรเมื่อทดสอบในตู้ปลาทำให้รู้ว่าการโฟกัสยังช้าอยู่ครับอาจลำบากในกรณีใช้งานใต้น้ำจริงๆแต่ถ้าถ่ายประการังน้ำตื้นทั่วๆไปคงไม่มีปัญหาอะไรแถมยังมีโหมดมาโครใต้น้ำมาให้เล่นอีกด้วย

การใช้งานโหมด ZOOM ทั้ง 3 ระดับ



ตัวอย่างภาพถ่าย : Olympus Tough 6000 สามารถซูมได้ 3.6X (แบบออปติคอล) ทำได้ดีครับ ภาพที่ได้ไม่เสียความคมชัดไปมากมายนัก แต่น่าเสียดายที่อาจน้อยเกินไปสำหรับการใช้งานในบางโอกาส

การถ่ายภาพระยะใกล้


จากสเปกตัวกล้องสามารถถ่ายภาพได้ใกล้สุดที่ 2 เซนติเมตร ซึ่งสามารถถ่ายได้ทั้ง มาโครและซูเปอร์มาโคร ด้านการใช้งานนั้นถือว่าทำได้ดีทั้งสีสัน และความคมชัด

บทสรุป



หลังจากการทดสอบการใช้งานนั้นเจ้า Olympus Tough 6000 มีความสามารถในด้านการใช้งานที่หลากหลายพร้อมที่จะเป็นกล้องสำหรับครอบครัวที่ชื่นชอบการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามความสามารถและฟังก์ชันต่างๆอาจยังทำได้ไม่ดีนัก แต่สำหรับผู้ที่ต้องการใช้งานทั่วๆไปทางด้านสีสัน และความคมชัด เสริมเข้ากับความคงทนของตัวกล้องที่สามารถกันกระแทกได้ 1.5 เมตรแล้วหายห่วงครับ เรียกได้ว่าเป็นกล้องอีกหนึ่งตัวที่น่าใช้มากๆ

ขอชม
- วัสดุและการออกแบบทำได้ดีมาก
- มีโหมดต่างๆมาให้เล่นอย่างครบถ้วน
- มีฟังก์ชัน TAP Control ช่วยให้การใช้งานง่ายขึ้นขณะใส่ถุงมือ

ขอติ
- ความละเอียดละดับ 10 ล้านพิกเซลนั้นในปัจจุบันอาจน้อยเกินไปแล้ว
- ซูมได้เพียง 3.6X
- แบตเตอรี่ที่ให้มานั้นน้อยเกิน

Company Relate Link :
OLYMPUS
เมื่อเปิดเครื่องเลนส์ของตัวกล้องจะไม่ยื่นออกมา
แฟรชและไฟ LED อยู่ข้างๆกันช่วยให้การใช้งานใต้น้ำสะดวกมากขึ้น
ด้านบนตัวเครื่องมีตัวหนังสือกำกับชัดเจนเกี่ยวกับคุณสมบัติของเลนส์
ฝาปิดด้านล่างซีลด้วยยางช่วยป้องกันน้ำซึมเข้าได้เป็นอย่างดี
แบตเตอรี่ขนาด 925 mAh
ฝาปิดช่องพอร์ท A/V OUT ก็มียางซีลกันน้ำเช่นกัน
ใต้จอ LCD ด้านซ้ายมือมีโลโก OLYMPUS ทำให้ดูสวยงามขึ้น
ใต้จอ LCD ด้านขวามือมีตัวหนังสือเขียนว่า HyperCrystalView แสดงคุณสมบัติของจอ LCD ชัดเจน
ปุ่มควบคุมแบบ 5 ทิศทางพร้อมคีย์ลัดเพื่อช่วยให้เข้าสู่โหมดต่างๆได้ง่าย
วงล้อหมุน ถูกวางในตำแหน่งที่เหมาะสมกับมือได้พอดิบพอดี
กำลังโหลดความคิดเห็น