ทุกคนบนโลกนี้ตระหนักดีว่า เรามีสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราทุกคนมีความเสมอภาคกันทุกเชื้อชาติ และทุกภาษา ไม่ว่าคุณจะอยู่ ณ มุมใดของโลก นั่นคือ การที่เรามีเวลา 24 ชั่วโมงต่อวันเท่าๆ กัน
แต่สิ่งที่ทำให้คุณค่า และความสามารถของแต่ละคนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง กลับเป็นความสามารถในการ "ใช้เวลา" ในแต่ละเสี้ยววินาทีของแต่ละวันให้คุ้มค่าต่างหากล่ะ หรือพูดให้ชัดจนลงไปก็คือ คุณมีความสามารถในการจัดสรรเวลา ไปกับแต่ละงานของคุณได้ถูกต้อง ถูกเวลามากน้อยแค่ไหน? เพราะประโยคสุดคลาสสิกที่ว่า "เวลาไม่เคยไหลย้อนกลับ..." มันยังคงเป็นอนิจจังอยู่เสมอ
ตัดสลับมากับสภาพสังคมเมืองท่ามกลางป่าคอนกรีตในทุกวันนี้ หลายคนบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่า "มีงานล้นเหลือกว่าที่จะทำให้เสร็จภายวันเดียว" หรือ "งานเยอะเหลือเกินไม่รู้จะเริ่มตรงไหนก่อน?!?" ผลที่ตามมาจากความรู้สึกนี้ก็ยิ่งแล้วใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการหลงลืมงานบางอย่าง การทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควรเพราะรีบเร่ง หรือแย่ที่สุดคือ ลืมทำงานสำคัญไปโดยไม่รู้ตัว!
ฉะนั้นคุณ "เดวิด อัลเลน" ผู้มีชื่อเสียงจากการเขียนหนังสือเรื่อง "ทำให้สำเร็จ" หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า "How to Get Things Done (GTD)" ได้เผยเคล็ดลับสำคัญให้กับมนุษย์บ้างานทุกคนเพื่อการพัฒนาตนเองในอีกขั้นหนึ่งว่า แทนที่เราจะจำสารพัดเรื่องในหัวสมอง ก็ควรเปลี่ยนมาเป็นการหา "ระบบ" ที่ใช้งานง่าย และเชื่อถือได้สำหรับเรียงลำดับความสำคัญของงานที่จะต้องทำในแต่ละวัน สุดท้ายหน้าที่ของเราก็เหลือแค่เพียงการตัดสินใจ และลงมือทำงานทีละอย่างในเวลาที่เหมาะสม
และวันนี้เราก็พร้อมจะแนะนำเว็บไซต์ที่จะทำหน้าที่เป็นระบบบริหารงานที่ต้องทำในแต่ละวันให้กับทุกวันทำงานของคุณ เพื่อประสิทธิภาพ ความราบรื่น และความสำเร็จในระดับสูงสุด
hitask.com คือ เว็บไซต์ที่หน้าที่เป็นระบบบริหารงานที่ต้องทำในแต่ละวันผ่านเว็บไซต์ โดยไม่ต้องลงโปรแกรมใดๆ (Web-based task management application) ช่วยให้คุณจัดระเบียบสิ่งที่ต้องทำทั้งกับงานของคุณเอง และโปรเจกต์ที่ต้องร่วมทำกับเพื่อนร่วมงานด้วย และที่ขาดไม่ได้คือ การใช้งานที่ง่าย ฟรี และรองรับภาษาไทยได้เป็นอย่างดี
เริ่มต้นอัปเกรดความไฮเทคให้กับตัวเองในการ "บันทึกสิ่งที่ต้องทำ (To-Do-List)" กับ Hitask แทนที่จะเป็นสมุดโน้ตเล่มเก่ากึ้กได้ตั้งแต่วันนี้
ขั้นตอนการใช้งาน
1. สมัครสมาชิกที่นี่
2. กรอกรายละเอียดสิ่งที่ต้องทำตามรายการต่างๆ อาทิ งาน (Tasks) ประชุม (Meeting) เตือน (Reminder) บันทึก (Note) วันเกิด (Birthday)
3. เชิญเพื่อนมาร่วมใช้รายการสิ่งที่ต้องทำด้วยกัน ทั้งแลกเปลี่ยน ส่งมอบงาน และประสานงานกัน
ทัวร์ 3 องค์ประกอบหลักของเว็บ hitask
เนื่องจากความเรียบง่ายในการออกแบบ มีเพียง 3 คอลัมน์แต่ทำงานสัมพันธ์กันทั้งหมด จึงทำให้เว็บ hitask มีการใช้งานที่เป็นระบบและง่ายเป็นเงาตามตัว
ด้านซ้ายจะเป็นปฏิทิน และ ตารางเวลาตลอดทั้ง 24 ชั่วโมงในแต่ละวัน คุณสามารถปรับเปลี่ยนรายการตามช่วงวันเวลาที่ต้องการได้ เพียงแค่ลากรายการขึ้น หรือลง ในช่วงเวลาที่ต้องการ
ตรงกลางจะเป็นส่วนของการเพิ่มรายการงานที่ต้องทำ โดยมีหมวดหมู่ของรายการต่างๆ ทั้ง 5 แบบ คือ งาน (Tasks) ประชุม (Meeting) เตือน (Reminder) บันทึก (Note) และ วันเกิด (Birthday)
แค่คลิกที่แถบรายการที่ต้องการ พิมพ์หัวข้อ รายละเอียด ระบุวันเวลา ที่จะต้องทำ รวมถึงป้ายชื่อ (Tag) สำหรับการค้นหาบันทึกในภายหลัง เมื่อคุณเพิ่มรายการใดๆ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ก็จะมีการแสดงขึ้นที่ตารางเวลาใต้ปฏิทินทางซ้ายมือทันที
นอกจากนี้แล้วคุณยังสามารถกำหนดสีสันของรายการที่ต้องทำตามหมวดต่างๆ ที่คุณกำหนดขึ้นเองได้ เช่น สำหรับงานที่ออฟฟิศใช้สีฟ้า นัดเพื่อนๆ ใช้สีเขียว และงานพาร์ทไทม์ใช้สีเหลือง เป็นต้น และเมื่อคุณต้องการจะมาตรวจสอบงานหรือกำหนดงานที่ต้องทำของแต่ละกลุ่ม ก็เลือกที่ Group by : Color แล้วลากรายการที่ต้องทำไปวางตามกลุ่มที่คุณต้องการ
ส่วนทางคอลัมน์ขวามือ จะเป็นพื้นที่สำหรับการทำงานร่วมกับผู้อื่น หากสมัครใช้บริการ hitask แบบฟรี คุณสามารถเชิญเพื่อนมาร่วมบันทึกและแบ่งปันรายการสิ่งที่ต้องทำด้วยกันได้ 3 คน โดยคลิกที่ "Find or invite people" เพียงกรอกอีเมลเพื่อน เพื่อนก็จะได้รับเมลเชิญจาก hitask
และทันทีที่เพื่อนสมัครสมาชิกเสร็จ ก็จะมีรายชื่อเพื่อนอยู่ใน My Team ได้โดยอัตโนมัติ และเมื่อเราคลิกชื่อเพื่อนก็เริ่มต้นการสนทนา และ ส่งมอบงานได้ทันที สำหรับการส่งมอบงานก็แค่คลิกที่ไอค่อนของรายการที่ต้องทำส่วนใดก็ได้แล้วลากมายังกล่องแชตของเพื่อนคนนั้น หรือจะใช้คำว่า "โยนงานให้" ก็ไม่ผิดนัก จากนั้นเพื่อนก็จะได้รับรายละเอียดเกี่ยวกับงานนั้นๆ ได้ทันที
อย่างไรก็ดีคุณสามารถเดินทัวร์ความสามารถทั้งหมดของ hitask ได้ที่นี่ (มีภาพประกอบชัดเจน)
ปรับแต่งการใช้งาน hitask ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคุณ
ที่เมนู Setting จะมีไว้สำหรับการปรับแต่งการใช้งาน hitask เช่น ที่เมนู Date and Time มีไว้สำหรับปรับวันเวลา เช่น การเริ่มต้นสัปดาห์ และแบบแผนวันที่ (วัน/เดือน/ปี) ส่วนเมนู Reminders มีไว้สำหรับปรับตั้งการเตือนงานที่ต้องทำผ่านอีเมลอีกทอดหนึ่งได้ หรือหากต้องการอัพเกรดบัญชีผู้ใช้ hitask ของตัวเองก็เข้าไปที่ My HiTask Account > คลิกปุ่ม Buy Now!
ใช้งาน hitask ทุกที่ทุกเวลาผ่านมือถือ
ถือเป็นความสามารถจำเป็นขั้นพื้นฐานที่นักพัฒนาโปรแกรมบนเว็บไซต์จะต้องคำนึงถึง คือการใช้งานบริการของตนผ่านโทรศัพท์มือถือ
ซึ่ง hitask ก็ได้ทำการบ้านในส่วนนี้มาเป็นอย่างดี คือ สามารถใช้งาน hitask ได้ทั้งบนโทรศัพท์มือถือทั่วไป (m.hitask.com) และกับไอโฟน (i.hitask.com) อีกทั้งยังแผ่อิทธิพล hitask ไปถึงวิดจิทบนจอคอมพิวเตอร์อย่าง iGoogle, และโปรแกรมวิดจิทบนเครื่องวินโดวส์ วิสต้า และ คอมพิวเตอร์แมคอินทอชด้วย คลิกดูรายละเอียดได้ที่นี่
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ hitask เว็บไซต์จัดการชีวิตการทำงานแบบออนไลน์สีสันลูกกวาดนี้จะเปิดให้ใช้บริการฟรี แต่ก็มีข้อจำกัด คือ การจำกัดเพื่อร่วมงานที่เข้ามาร่วมใช้งาน hitask แค่ 3 คน และจำกัดให้เพิ่มงานได้เพียง 99 งาน รวมถึงมีแถบโฆษณาจากกูเกิลติดมาด้วย ถึงแม้จะดูไม่เกะกะนักก็ตาม
และ ถ้าหากคุณใช้บริการ hitask จนติดใจก็สามารถอัพเกรดบัญชีผู้ใช้ได้ 2 แบบ คือ แบบพรีเมียม ราคา 19 เหรียญ/ปี (650 บาท) และสำหรับภาคธุรกิจ 106 เหรียญ/ปี (3600 บาท) ดูรายละเอียดที่นี่
ถ้าคุณหวังถึงโบนัสก้อนโตในปีหน้า การเลื่อนสี่ขั้นโดยไม่ได้คาดหมาย หรือการได้เป็นนายคนก่อนสิ้นปี ยังมีเวลาเหลือพอที่จะเริ่มต้น "การจัดการชีวิตอย่างเป็นระบบ" เว้นเสียแต่ว่า คุณเองจะเลื่อน "การจัดลำดับสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน" ไว้สำหรับวันถัดไป!
ข้อดี
* สามารถเปลี่ยนแปลง เรียงลำดับรายการที่ต้องทำได้โดยง่าย เพียงแค่ลากและวางรายการต่างๆ ไปยังตำแหน่งต่างๆ ของเว็บ (Drag and Drop)
* สามารถใช้งานภาษาไทยได้อย่างดีทุกฟีเจอร์
* ทุกครั้งที่แก้ไขรายการที่ต้องทำใด ๆจะมีการเก็บประวัติไว้ พร้อมวันเวลาอย่างละเอียด โดยคลิกเข้าไปในรายละเอียดของแต่ละรายการ และกด Show History
* สามารถดึงเนื้อหางานที่เราแพลนเอาไว้ไปใส่ที่ outlook อ่านทาง RSS Feed หรือ ปริ้นท์ออกมาได้
ข้อเสีย
* ระบบแชตไม่เรียลไทม์เหมือนเล่นโปรแกรมสนทนาแบบทันทีแบบ MSN แต่จะใช้สำหรับการบอกกล่าวมากว่าที่จะสนทนาจริงจัง อีกทั้งจะต้องคุยได้รายคน ไม่สามารถคุยเป็นกลุ่มได้ และไม่สามารถส่งไฟล์ให้กันได้
* ยังไม่มีเมนูภาษาไทยในขณะนี้ แต่ก็ใช้ภาษาอังกฤษง่าย ๆ และเป็นแบบที่คุณคุ้นเคย จึงไม่ต่างไปจากการใช้โปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ดในรูปแบบภาษาอังกฤษที่คุณใช้อยู่ทุกวัน