สำหรับ "Qosmio" ถือได้ว่าเป็นรุ่นที่ทางโตชิบาผลิตออกมาเพื่อตอบรับตลาดระดับไฮ-เอนท์เป็นหลักทำให้ราคาของเครื่องภายใต้รุ่นอย่าง "Qosmio" นั้นอยู่ในระดับสูง ซึ่งถ้าดูจากประสิทธิภาพของเครื่องที่ทางโตชิบาใส่มาให้นั้น ต้องยอมรับถึงความแรงของเครื่องอย่างแน่นอน
สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ทางโตชิบาตั้งไว้สำหรับเครื่องรุ่นนี้จะอยู่ในกลุ่มของ นักเรียน นักศึกษานานาชาติ ที่มีความสามารถในการตัดสินใจที่จะซื้อ(เฉพาะตัดสินใจซื้อเท่านั้นส่วนเงินนั้นผู้ปกครองออกให้แน่นอน) ทำให้การทำตลาดในส่วนของ "Qosmio" นั้นจะไม่แพร่หลายเท่าที่ควร
โดยเจ้าตัว "Qosmio X300" นี้ต้องถือว่าเป็นตัวบุกเบิกของรุ่น ที่หันมาใช้แพลตฟอร์มอย่างเซนทริโน 2 ประสิทธิภาพของเครื่องนั้นต้องยอมรับว่าอยู่ในระดับไฮ-เอนท์ ที่เทียบเท่าพีซีเลยทีเดียว และด้วยความที่เน้นไปทางการตอบโจทย์สำหรับคอเกม ทำให้เครื่องรุ่นนี้ยังขาดประสบการณ์บางอย่างในด้านมัลติมีเดียไป ส่วนรุ่นที่จะออกตามมาทีหลังในเร็วๆนี้คือ "F50" และ "G50" นั้นคงต้องรอกันต่อไป
Design of Qosmio X300
สำหรับ "Toshiba Qosmin X300" นี้ ด้วยความที่เป็นโน้ตบุ๊กสำหรับคอเกมโดยเฉพาะลักษณะลวดลายจึงมีความร้อนแรงจากสีแดงเพลิง ที่ทางโตชิบาเรียกว่า 'Fire Shark' หรือ ฉลามไฟ ตัดกับสีดำ โดยตัวเครื่องมีขนาดรอบตัว 412 x 306 x 62.5 มิลลิเมตร และ น้ำหนักถึง 4.3 กิโลกรัม ดังนั้นจึงเป็นเครื่องที่ไม่สะดวกสำหรับพกพาอย่างแน่นอน
ทีนี้มาดูถึงส่วนประกอบต่างๆของตัวเครื่องกันบ้าง เริ่มจากหน้าจอแบบ WSXGA ที่มีขนาด 17 นิ้ว ให้ความละเอียดสูงสุดที่ 1680 x 1050 ถือว่าขาดไปอีกนิดเดียวสำหรับระดับ Full Hi-def บริเวณด้านบนหน้าจอมีกล้องเว็บแคมความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล ส่วนข้างล่างจะมีสัญลักษณ์ "QOSMIO" สีเงิน โดยบริเวณด้านข้างของหน้าจอมีมีส่วนโค้งเล็กน้อย เพื่อที่เวลาปิดหน้าจอลงมาจะคลุมส่วนของตัวเครื่องด้านล่าง
ในส่วนของข้อต่อระหว่างเครื่องกับหน้าจอ จะมีลักษณะเป็นพลาสติกสีดำยึดทั้ง 2 ส่วนด้วยกัน ความแข็งแรงในส่วนนี้อาจจะไม่ค่อยมั่นคงเท่าไรนัก แต่ยังอยู่ในระดับมาตรฐาน ถัดลงมาบริเวณซ้ายละขวาจะมีลำโพง 'tweeter' อยู่ ต่อด้วยปุ่มเปิดปิดเครื่องทางฝั่งซ้าย แถบควบคุมและปุ่มลัดในการใช้งานต่างๆอยู่ตรงกลาง ส่วนด้านขวามีสัญลักษณ์ของ 'harman/kardon' ที่ผลิตลำโพงให้กับโตชิบา โดยในส่วนนี้ทั้งหมดจะมีไฟสีแดงแบบ 'LED illumination' เพิ่มความสวยงามขณะใช้งาน
บริเวณคีย์บอร์ด จะมีพื้นผิวสีดำแบบมันเงา (Glossy black) ให้ความสวยงามตัดกับสีแดงของตัวเครื่อง นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าโน้ตบุ๊กในขณะนี้ที่ออกตัวว่าจะมาแทนพีซีนั้นจะมีส่วนของปุ่มตัวเลข (Numeric keypad) มาให้ทั้งสิ้น Qosmio X300 ก็เช่นเดียวกัน มีปุ่มสำหรับใช้งานต่างๆค่อนข้างครบถ้วนไม่แตกต่างจากคีย์บอร์ดของพีซีเท่าไรคือแบบ 105 ปุ่ม และปุ่มฟังก์ชัน 13 ปุ่ม จะแตกต่างกันอยู่นิดหน่อยที่รูปแบบการวางปุ่มอย่าง Home, End, Del และ Numlock ที่มีการสลับตำแหน่งกันบ้าง
ถัดจากบริเวณคีย์บอร์ดลงมาในส่วนของแป้นวางมือนั้น บริเวณด้านซ้ายและขวา จะมี 'Bass Speaker' ที่ตกแต่งลวดลายเหมือนเปลวไฟ ส่วนตรงกลางค่อนมาทางซ้ายนิดหน่อย จะเป็นทัชแพด ขนาดพอเหมาะ ที่มีไฟสีแดงบอกบริเวณ รวมถึงปุ่มเมาส์สีเมทีลลิกขนาดใหญ่ ทั้งซ้ายขวา ส่วนบริเวณตรงกลางจะเป็นที่อยู่ของระบบตรวจสอบลายนิ้วมือ
การใช้งานคีย์บอร์ดต้องบอกว่า อาจจะไม่ถนัดเท่าไรนักเมื่อใช้งานในเวลานาน เนื่องจากมือด้านซ้ายจะต้องไปวางอยู่บนบริเวณลำโพง ทำให้วางมือไม่ค่อยสบาย ในส่วนของปุ่มตัวอักษรมีขนาดที่ใหญ่ซึ่งรองรับกับนิ้วขนาดใหญ่ได้ดีเลยทีเดียว จะติดอยู่สักนิดบริเวณปุ่มลูกศรที่มีขนาดเล็กกว่าปกติ ส่วนในเรื่องของการวางแผนผังของปุ่มฟังก์ชันต่างๆ เมื่อใช้งานไปสักพักจะคล่องขึ้น ส่วนการใช้งานทัชแพด จะมีปัญหาเรื่องบริเวณพื้นที่ในการใช้งานเนื่องจากบริเวณนั้นเป็นสีดำทั้งหมด ส่วนปุ่มกดถือว่าใช้งานง่าย อย่างไรก็ตามเครื่องรุ่นนี้คงไม่ได้ออกแบบมาให้ใช้ทัชแพดสำหรับเล่นเกมเป็นแน่จุดนี้จึงถือว่าให้อภัยได้
บริเวณด้านหลังจะมีส่วนของช่องพัดลมระบายอากาศขนาดใหญ่ ส่วนใต้เครื่องนั้น จะมี 'Subwoofer' อยู่ตรงกลางเครื่อง ถัดมาอีกนิดจะเป็นช่องสำหรับติดพัดลมระบายอากาศ จากรูปบริเวณด้าน ซ้ายบนจะเป็นที่ใส่แบตเตอรี่ ถัดลงมาซ้ายล่างจะเป็นช่องใส่แรม ส่วนฮาร์ดดิสก์จะอยู่ทางด้านขวา
Inputs and Outputs Ports
ต้องยอมรับกันว่าโน้ตบุ๊กระดับไฮ-เอนท์เดี๋ยวนี้มักจะมีพอร์ตสำหรับใช้งานต่างๆให้มาอย่างครบครัน สำหรับเจ้าตัว X300 ก็เช่นกันถึงแม้จะตัดทีวี-จูนเนอร์ และ โมเด็ม 56k ทิ้งไป (ในสเปคเขียนว่ามีแต่ผู้เขียนพลิกไปมาดูแล้วก็ยังหาไม่เจอ) ส่วนจุดเด่นอีกจุดหนึ่งของโตชิบาคือสามารถใช้พอร์ตยูเอสบี ชาร์จไฟกับอุปกรณ์พกพาได้แม้ว่าปิดเครื่องอยู่นั่นเอง
เริ่มกันจากทางฝั่งซ้าย จากริมในสุดจะเป็นพอร์ต eSATA/USB พอร์ต USB และ ExpressCard/54 Slot (ตามลำดับ)
ส่วนทางฝั่งขวา จากริมในสุดที่มีฝาปิดอยู่จะเป็น 5 - 1 การ์ดรีดเดอร์ ,FM จูนเนอร์ ไว้ต่อเสารับสัญญาณวิทยุ ถัดไปเป็น USB อีก 2 ช่อง ,ช่องเสียบลำโพง ,ช่องเสียบ ไมโครโฟน และ ปุ่มสำหรับปรับเสียง
ทางด้านหน้าจะมี ปุ่มสำหรับเปิดปิด ไวเลสอยู่บริเวณซ้าย ส่วนบริเวณขวามือจะเป็น ออพติคัลไดร์ฟแบบ DVD Super-Multi Double Layer
ส่วนสำคัญสุดเห็นจะเป็นด้านหลังเนื่องมาจากพอร์ตต่างๆมาซ่อนอยู่ข้างหลังซะเป็นส่วนใหญ่ ไล่มาตั้งแต่ ช่องสำหรับล็อกเครื่อง ,พอร์ต Firewire ,ช่องสำหรับเสียบชาร์จแบตฯที่มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ,พอร์ต HDMI , พอร์ต S/PDIF สำหรับต่อระบบเสียงแบบดิจิตอล ,VGA-Out และ Ethernet แบบ 10/100/1000
ในด้านการเชื่อมต่ออื่นๆนั้น ส่วนของไวเลสรองรับมาตรฐาน 802.11 a/b/g/n และ การเชื่อมต่อผ่านบลูทูธ 2.0 จะเห็นได้ว่าพอร์ตอย่าง USB ถึง 4 พอร์ตนั้นเพียงพอต่อการใช้งานอย่างแน่นอน
จากการที่เห็นว่าช่องสำหรับชาร์จแบตฯนั้นมีขนาดใหญ่ เลยหยิบในส่วนของอแดปเตอร์มาให้ดูด้วย จะเห็นได้ว่ามีขนาดใหญ่กว่าทั่วไปถึงเท่าตัวเลยทีเดียว น้ำหนักก็ไม่มากเท่าไรเพียงเกือบๆ 1 กิโลกรัม (880กรัม) เท่านั้นเอง
สำหรับคุณสมบัติ และ ความสามารถของเครื่องติดตามในหน้าถัดไป
Performance & Benchmark
ประสิทธิภาพของเครื่องรุ่นนี้ต้องยอมรับว่าอยู่ในระดับสูงมาก เนื่องจากออกแบบมาเพื่อคอเกมโดยเฉพาะหลายๆท่านคงอยากทราบถึงคุณสมบัติของเครื่องกันแล้ว มาดูกันเลยดีกว่า
เมื่อตรวจสอบผ่านโปรแกรม CPU-Z พบว่า Qosmio X300 ใช้ซีพียู Intel Core 2 Duo T9400 @ 2.53 GHz ที่ใช้เทคโนโลยี 45 นาโนเมตร, คอร์สปีดอยู่ที่ 1595.9 MHz ขณะใช้งานปกติ ส่วน FSB อยู่ที่ 1063.9 MHz, L1 D-Cache 32KB x 2, L1 I-Cache 32KB x 2 และL2 Cache ขนาด 6 MB
ด้านเมนบอร์ดเป็นของโตชิบาเอง โมเดล KSRAA ที่ใช้ชิปเช็ต PM45 หรือ Intel Centrino 2 นั้นเอง ในส่วนของหน่วยความจำใส่มากันเต็มที่ถึง 4 GB โดยทางโตชิบาบอกว่าเป็น DDR3 ขนาด 2 GB (1066 MHz) ทั้ง 2 ช่อง แต่ใน CPU-Z ขึ้นว่าเป็น DDR2 จึงไม่แน่ใจว่าทาง CPU-Z ไม่รู้จัก DDR3 หรืออย่างไร
เมื่อทดสอบผ่านโปรแกรม PCMark05 ผลที่ได้อยู่ที่ 5968 ซึ่งถือว่าสูงมากเลยทีเดียว โดยเมื่อเทียบกับตัว HP dv7 ที่ใช้ ซีพียูตัวเดียวกันนั้นที่คะแนนอยู่ที่ 4153 นั้นน่าจะมาจากในส่วนของหน่วยประมวลผลภาพก็เป็นได้ เพราะคะแนนในส่วนอื่นๆถือว่าอยู่ในระดับเดียวกัน ในส่วนของหน่วยความจำนั้นน่าเสียดายที่ทางวินโดวส์ วิสต้ามองเห็นเพียงแค่ 3 GB ไม่งั้นคะแนนอาจจะเขยิบสูงขึ้นไปอีกก็เป็นได้
เมื่อเห็นคะแนนด้านหน่วยประมวลผลภาพใน PCMark05 พุ่งขึ้นไปขนาดนั้น ต้องมาดูกันว่าใช้การ์ดจอรุ่นอะไรในการประมวลผล ตรวจสอบจากโปรแกรม GPU-Z พบว่าเป็น NVIDIA GeForce 9700M GTS กราฟิกแรมขนาด 512 MB ที่สามารถเพิ่มได้สูงสุดถึง 2303MB ด้วยประสิทธิภาพทางการ์ดจอที่เรียกได้ว่าสุดยอด ทีนี้ไปดูผลทดสอบจากโปรแกรมอย่าง 3DMark ที่ทุกท่านยอมรับกันดีกว่า
เมื่อลองทดสอบผ่านโปรแกรม 3DMark06 ปรับขนาดหน้าจออยู่ที่ 1280 x 800 คะแนนขึ้นไปสูงถึง 7724 เลยทีเดียว เมื่อลองปรับขนาดหน้าจอไปที่ค่าสูงสุดคือ 1680 x 1050 คะแนนที่ได้มาอยู่ที่ 6159 ต้องยอมรับกันละครับว่า เล่นเกมลื่นไหลสบายใจแน่นอน ทีมงานไม่นิ่งนอนใจหยิบ Crysis Warhead มาทดสอบในการเปิดความละเอียดสูงสุดทุกอย่าง ผลปรากฏว่า... ไม่มีความรู้สึกกระตุกหรือหน่วงแต่อย่างไร
ในจุดนี้ต้องยอมรับว่าจุดเด่นสำคัญของเครื่องรุ่นนี้คือการ์ดจอแน่นอนครับ สามารถใช้งานด้านกราฟิกหนักๆได้อย่างสบาย ดังนั้นไม่ต้องเป็นห่วงเลยว่าการใช้งานเพื่อความบันเทิงอย่างภาพยนตร์ความละเอียด 1080p ผ่านพอร์ต HDMI นั้นจะมีปัญหา
เนื่องจากเครื่องรุ่นนี้ให้ฮาร์ดดิสก์มาถึง 500GB โดยใช้ฮาร์ดดิสก์ของทาง โตชิบา ขนาด 250GB 2 ตัวนั้น ทำให้สามารถใช้งานในการจัดเก็บไฟล์มัลติมีเดียได้อย่างจุใจ
ด้านการเชื่อมต่อผ่านไวเลสนั้น ใช้การ์ดไวเลสจาก Intel Wireless WiFi Link 5100 ที่รองรับมาตรฐาน 802.11a/b/g/n เมื่อทดสอบการใช้งานโดยการเชื่อมต่อห่างจาก Access Point ประมาณ 10 เมตร พบว่า การจับสัญญาณมีลักษณะแกว่งบ้างเล็กหน่อย แต่ไม่ถือว่าเป็นปัญหามากนักขณะใช้งาน การโอนถ่ายข้อมูลได้ตามความเร็วปกติ ไม่มีการดรอปเป็นบางช่วงตามสัญญาณไวเลสแต่อย่างใด
Speaker
ต้องถือว่าระบบเสียงของ Qosmio X300 นั้น ไม่เป็นรองความสามารถด้านกราฟิกแต่อย่างไรเนื่องมาจากใช้ลำโพงในตัวของ Harman Kardon ที่เป็นแบบ 4.1-Channel ซึ่งหาได้ยากสำหรับโน้ตบุ๊กทั่วๆไป นอกจากลำโพงที่ดีแล้วการ์ดเสียงจาก Realtek รุ่น ALC272-GR ที่ถือว่ามีมาตรฐานแล้ว สำหรับตลาดโน้ตบุ๊กสามารถตอบสนองการใช้งานได้อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ถ้าท่านคิดว่าลำโพงในตัวเครื่องยังไม่เพียงพอ สามารถใช้พอร์ตอย่าง S/PDIF ในการเชื่อมต่อกับระบบเครื่องเสียงภายนอกได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
Battery and Heat
ในส่วนของเวลาการใช้งานบนแบตเตอรี่ อาจจะไม่ใช่จุดสำคัญสำหรับโน้ตบุ๊กที่วางตัวมาเพื่อใช้แทนพีซีก็เป็นได้ ทำให้เวลาในการใช้งานต่างๆอยู่ในระดับต่ำทั้งสิ้น โดยแบตเตอรี่เป็นแบบ Li-ion ขนาด 8 เซลล์ ความจุ 4000 mAh
หากทดลองใช้ในการรับชมภาพยนตร์ เปิดความสว่างหน้าจอสูงสุด เปิดเสียงดังสุด จะใช้ได้ประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้นเอง ส่วนถ้าปรับความสว่างหน้าจอลงมาเหลือ 50% ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไปจะใช้ได้ประมาณ 1 ชั่วโมง 20 นาที และ ท้ายสุดเมื่อทดลองใช้เล่นเกมอย่าง Crysis Warhead ที่ใช้ทรัพยากรในการประมวลผลสูง จะใช้ได้ประมาณ 45 นาทีเท่านั้น
เวลาในการชาร์จแบตใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที เห็นได้ว่าการใช้งานบนแบตเตอรี่นั้น ถือว่าเป็นข้อจำกัดหลักๆในการใช้งานเจ้าตัว Qosmio อย่างแน่นอน
ส่วนความร้อนของเครื่องขณะใช้งานปกติทั่วไปนั้น ความร้อนของซีพียูทั้ง 2 ตัวอยู่ที่ประมาณ 48 - 63 องศาเซลเซียส ส่วนการ์ดจออยู่ประมาณ 60 - 63 องศาเซลเซียส ฮาร์ดดิสก์ก็อยู่ประมาณ 47 - 50 องศาเซลเซียส
หากวัดเมื่อใช้เปิดเล่นเกมไประยะเวลาหนึ่ง ความร้อนสูงสุดของ ซีพียู ขึ้นไปอยู่ประมาณ 81 องศาเซลเซียส ส่วนการ์ดจอนั้นสูงสุดที่ 85 องศาเซลเซียส ส่วนความร้อนของฮาร์ดดิสก์สูงสุดอยู่ที่ 53 องศาเซลเซียส เมื่อลองใช้งานซีพียูที่ 100% นาน 1 ชั่วโมง ความร้อนสูงสุดของ ซีพียูอยู่ที่ 91 องศาเซลเซียส
จากระบบระบายอากาศของเครื่อง ที่มีช่องระบายอากาศขนาดใหญ่อยู่บริเวณด้านหลังเครื่องนั้น ยังถือว่าทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่วนใต้เครื่องแม้จะมีช่องพัดลมมาให้ถึง 2 ช่อง แต่ทางโตชิบา ติดมาให้เพียงช่องเดียวบริเวณการ์ดจอเท่านั้น อย่างไรก็ตามความร้อนของเครื่องนี้ ก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่ร้อนมาก ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติเลยทีเดียว
ส่วนของฟีเจอร์พิเศษ และบทสรุปของเครื่องรุ่นนี้อยู่ในหน้าสุดท้ายครับ
Feature
หน้าจอแสดงผลสำหรับปุ่มฟังก์ชันของทาง โตชิบานั้น ให้ความสะดวกสบายในการใช้งานได้เป็นอย่างดี โดยมีการแสดงปุ่มการใช้งานต่างๆขึ้นมาบนหน้าจอ เพื่อเลือกใช้ปุ่มฟังก์ชันต่างๆด้วยการกดปุ่ม 'FN' บนคีย์บอร์ดตามด้วยปุ่มอย่าง 'Esc' เพื่อใช้ในการเปิด-ปิดเสียง ,F1 สำหรับล็อกเครื่อง ,F2 สำหรับเปลี่ยนโหมดประหยัดพลังงาน ,F3 เพื่อเข้าสู่การปิดเครื่องแบบสแตนบายไว้ ,F4 เข้าสู่โหมด Hibernate ,F5 สำหรับเปลี่ยนลักษณะการแสดงผลผ่านพอร์ตอย่าง VGA และ HDMI ,F6-F7 สำหรับ ปรับเพิ่มลดความสว่างของหน้าจอ ,F8 สำหรับการจัดการด้านการเชื่อมต่อผ่านไวเลส และ บลูทูธ ,F9 สำหรับเปิด-ปิดการใช้งานทัชแพด และปุ่มสุดท้าย Spacebar สำหรับซูมหน้าจอนั้นเอง
ในส่วนของปุ่มลัดจะมีปุ่มสำหรับการใช้งานโปรแกรมอย่าง WMC (Windows Media Center) ที่มีมาให้ใน Windows Vista นั้น ที่จะมีโหมดการใช้งานทั้งหมด 6 โหมดด้วยกัน โดยจะมีเพิ่มขึ้นมาในส่วนของ FM จูนเนอร์ ที่ผู้ผลิตค่ายอื่นๆไม่นิยมนำมาใช้กันนั้นเพิ่มเข้ามา ทีนี้มาดูถึงรายละเอียดการใช้งานของแต่ละโหมดกัน
เริ่มจากโหมดแรกคือ Toshiba FM tuner เมื่อเปิดใช้งานจะมีโปรแกรม FM Tuner Utility ขึ้นมา หน้าตาการใช้งานนั้น ถือว่าใช้งานได้ง่ายมาก โดยไล่จากส่วนบนทางด้านซ้าย จะมีบอกระบบเสียงว่าเป็น Stereo หรือ Mono ถัดมาจะเป็น คลื่นความถี่ของวิทยุที่เปิดฟังอยู่ ต่อมาทางด้านขวา จะเป็นส่วนควบคุม ทั้งการเปลี่ยนคลื่น ค้นหาคลื่น รวมถึงการเปลี่ยนช่องที่บันทึกไว้ ในส่วนกลางของหน้าจอจะเป็นลักษณะเหมือนกราฟแสดงคลื่นความถี่วิทยุ ส่วนปุ่ม + - ทางด้านล่างไว้ใช้ในการปรับเสียง
โหมดต่อมาคือ Online Media จะเป็นโหมดในการใช้งานโปรแกรมต่างที่ใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยแบ่งย่อยเป็นในส่วนของ ทีวี+ภาพยนตร์ ,เพลง+วิทยุ ,รูปภาพ ,กีฬา ,เกมส์ และอื่นๆ อาจจะใช้งานเป็นหน้าจอลัดในการใช้งานก็เป็นได้
โหมดต่อมาเป็น Tasks ส่วนนี้จะเรียกว่าเป็นส่วนสำหรับตั้งค่าการใช้งานของ WMC รวมถึงควบคุมการใช้งานก็ได้เช่นเดียวกัน โดยในหน้าจอตั้งค่า จะสามารถตั้งค่า ทั่วไป เช่น การตั้งค่ารูปแบบการแสดงผล เสียง ระบบควบคุมการใช้งาน ,ทีวี จะสามารถตั้งค่าสัญญาณได้ว่าจะเป็นอนาล็อกหรือดิจิตอล ในเครื่องที่มีทีวีจูนเนอร์ ตั้งค่าหน้าจอของทีวี รวมถึงเสียงด้วย ,รูปภาพ สามารถตั้งค่าการแสดงผลรูปภาพตามแฟ้มที่จัดเก็บหรือแบบสุ่ม รวมถึงตั้งเพลงขณะใช้งานสไลด์โชว์ และค่าโปร่งใส ,เพลง จะมีให้ตั้งค่าในส่วนของ Visualizations เท่านั้น ,ดีวีดี จะสามารถตั้งภาษาที่จะแสดงผลทั้งเสียง และ ภาพ ,ส่วนเพิ่มเติม จะเป็นการโหลดโปรแกรมเสริมในการใช้งาน WMC และ สุดท้ายการตั้งค่า Library ของโปรแกรมโดยเป็นแบบอัตโนมัติ เช่นตั้งให้ตัวโปรแกรมอัปเดตลิสเพลงในแฟ้มที่กำหนดไว้
ส่วนฟังก์ชันหลักๆในการใช้งานโหมด 'Tasks' คงจะอยู่ที่การสั่ง ปิดเครื่อง ล็อกเครื่อง เปลี่ยนผู้ใช้งาน หรือก็คือการนำ Tasks Manager ของทางวินโดวส์มาไว้ในโปรแกรมนั้นเอง นอกจากนั้นก็มีการใช้งานอย่างไรท์แผ่น เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอก(sync) ใส่โปรแกรมเสริม และ เปิดใช้งานเฉพาะไฟล์มัลติมีเดีย
โหมดต่อมาคือ Pictures + Videos ที่จะเป็นโปรแกรมสำหรับดูรูปภาพ รวมถึงวิดีโอด้วย โดยการแสดงผลหลักจะเป็นแบบสไลด์โชว์ สามารถเลือกค้นหารูปภาพได้จากโฟลเดอร์ taqs และ วันที่ของรูปภาพ โดยการในส่วนของวิดีโอนั้น จะมีลักษณะคล้ายๆกัน
โหมดถัดมาคือ Music หรือ เครื่องเล่นเพลงนั้นเอง การทำงานของโปรแกรมนี้ไม่ได้ใช้งานในส่วนของ Windows Media Player แต่ใช้โปรแกรมที่อยู่ใน WMC เองเลย ที่พัฒนามาให้ง่ายต่อการใช้งานผ่านรีโมทควบคุม ลักษณะการใช้งานจะคล้ายกับการใช้งานเครื่องเล่นเพลงทั่วไป ที่จัดหมวดหมู่เพลงผ่าน ชื่ออัลบั้ม ชื่อศิลปิน ประเภทเพลง รวมถึงรายชื่อเพลงที่ตั้งไว้
โหมดสุดท้ายคือ TV + Movies เนื่องจากตัวเครื่องไม่มี ทีวีจูนเนอร์ ทำให้ไม่สามารถใช้งานในส่วนนี้ได้เต็มที่นัก แต่ยังสามารถดูทีวีผ่านอินเทอร์เน็ตได้ โดยตัวโปรแกรมถูกตั้งค่ามาสำหรับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง(กว่าบ้านเรา) ทำให้ลองใช้งานในส่วนนี้ให้ผู้อ่านชมไม่ได้ ส่วนโปรแกรมเล่นภาพยนตร์ จะมีปุ่มควบคุมทั่วไปอยู่บริเวณขวาล่างของหน้าจอ สามารถตั้งค่าต่างๆได้ผ่านการคลิกขวาเพื่อแสดงเมนูการตั้งค่า
จะเห็นได้ว่าการใช้งานในส่วนของ WMC นั้นมีลักษณะไม่แตกต่างจาก 'Quickplay' ที่เคยเขียนไปก่อนหน้านี้เท่าไหร่นัก จุดสำคัญของโปรแกรมเหล่านี้คือ เพิ่มความสะดวกสบายในการควบคุมผ่านรีโมท แทนที่จะต้องมานั่งกดเมาส์ในระยะใกล้ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ความบันเทิงเต็มรูปแบบนั่นเอง
บทสรุป
"Qosmio X300" คงเป็นเครื่องที่เหล่าคอเกมเมอร์อยากได้มาครอบครองก็เป็นได้ ด้วยความแรงของการ์ดจออย่าง GeForce 9700M ที่สามารถตอบสนองการเล่นเกมได้อย่างเต็มที่ โดยทางโตชิบาบอกมาว่า ไม่มีเกมไหนที่เครื่องนี้เล่นไม่ได้ ซึ่งก็คงจะเป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะเกมที่ใช้สเปกสุดโหดอย่าง Crysis Warhead ยังต้องยอมรับในประสิทธิภาพ
ฉะนั้นสำหรับผู้ที่ต้องการนำเครื่องมาใช้งานทั่วไป โน้ตบุ๊กอย่าง Qosmio X300 คงจะไม่เหมาะเพราะ ตัวเครื่องมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากถึง 4.5 กิโลกรัม และการใช้งานบนแบตเตอรี่ที่ได้ประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ถ้าต้องการมาใช้แทนพีซี ในบ้านก็ถือว่าเป็นเครื่องที่น่าสนใจในระดับหนึ่ง
โดยรวมในส่วนของพอร์ตการใช้งานอย่าง USB ที่ให้มาถึง 4 พอร์ต รวม eSATA ที่สามารถใช้งานเป็น USB ได้ถือว่าเพียงพอต่อการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆอย่างเต็มที่ แต่ทีวีจูนเนอร์ ที่มักจะมีมาให้ในโน้ตบุ๊กระดับพรีเมียม กลับถูกตัดทิ้งไป ซึ่งทางโตชิบา นำไปใส่ในรุ่นที่สูงกว่านี้คือ F50 และ G50 ที่จะออกตามมา ส่วนพอร์ตโมเด็มที่ถูกตัดทิ้งไปนั้นก็ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันไม่ค่อยได้ใช้งานกันแล้ว
ขอชม
- เครื่องเร็วแรงเต็มประสิทธิภาพ
- ลวดลายให้ความร้อนแรงตามประสิทธิภาพของเครื่อง
- ระบบเสียงแบบ 4.1 ช่วยเพิ่มประสบการณ์ความบันเทิงได้เป็นอย่างดี
ขอติ
- น้ำหนักและขนาดตัวเครื่องที่ถือว่าใหญ่เกินไปสำหรับพกพา
- ระบบระบายความร้อนของ GPU ยังไม่เต็มที่
- ไม่มีทีวี-จูนเนอร์
- ไม่มีไดร์ฟ Blu-ray Disc มาให้
คุณสมบัติ
แพลตฟอร์ม | Intel Centrino 2 Processor Technology |
ซีพียู | Intel Core 2 Duo processor |
T9400 2.53 GHz / 1066 MHz FSB / 6MB L2Cache | |
ชิปเซ็ต | Intel PM45 |
ระบบปฏิบัติการ | Windows Vista Home Premium |
หน่วยความจำ | DDR3 Bus 1066MHz 4GB |
ความจุ | HDD 250GB x 2 |
หน้าจอ | WXGA 17 นิ้ว |
ความละเอียด 1680 x 1050 | |
หน่วยประมวลผลภาพ | nVIDIA GeForce 9700M GTS |
512MB | |
ออพติคัลไดร์ฟ | DVD Super-Multi Double Layer |
การ์ดรีดเดอร์ | มี 5 - 1 |
เว็บแคม | มีความละเอียด 1.3 ล้านพิกเซล |
ไวเลส | Intel Wireless WiFi Link 5100 |
รองรับ 802.11 a/b/g/n | |
บลูทูธ 2.0 | มี |
แลน | มี |
โมเด็ม | ไม่มี |
ยูเอสบี | มี 4 พอร์ต |
HDMI | มี |
eSATA | มี |
แบตเตอรี่ | Lithium-Ion 8 เซลล์ |
ขนาด | 412 x 306 x 62.5 มิลลิเมตร |
น้ำหนัก | 4.3 กิโลกรัม |
สำหรับราคาเปิดตัวของ Toshiba Qosmio X300 อยู่ที่ 99,000 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
Company Relate Link :
Toshiba