xs
xsm
sm
md
lg

กรมราง- JICA ดันรถไฟฟ้าระยะ 2 ผุดเส้นทางใหม่-ฟีดเดอร์ หนุนพัฒนา TOD สร้างรายได้ ปี 83 คาดมีผู้โดยสาร 3.4 ล้านคน/วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมราง- JICA ร่วมต่อยอดพัฒนาแผนแม่บทรถไฟฟ้าระยะ 2” M-Map 2 “ผุดเส้นทางใหม่และฟีดเดอร์ เชื่อมต่อสะดวก แก้คอขวดการเดินทาง หนุนพัฒนา TOD ควบคู่สร้างรายได้ แผน 15 ปี คาดปี 85 เพิ่มโครงข่ายรถไฟฟ้าเป็น 7.01% ผู้โดยสารเพิ่มจาก 1.7 ล้านคน/วัน เป็น 3.4 ล้านคน/วัน

วันที่ 21 ก.ค. 2568 นายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ร่วมกับ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วมเปิดการสัมมนา ในหัวข้อ "Driving Railway Network and Urban Growth with The Second Mass Rapid Transit Master Plan in Bangkok Metropolitan Region (M-MAP2)" เพื่อนำเสนอและหารือเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และรองรับการเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) เข้ามาสนับสนุนประเทศไทยในการพัฒนาระบบรถไฟในเมืองหลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง และได้ร่วมมือกับกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ในการดำเนินโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ในการสนับสนุนการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-MAP2) เช่น การจัดทำแบบสำรวจความต้องการการเดินทาง (Demand Survey) และการจัดทำแบบจำลองการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร เป็นต้น รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาทักษะของบุคลากรด้านระบบรางผ่านโครงการฝึกอบรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรไทยในด้านการบริหารจัดการและการบำรุงรักษาระบบรถไฟ

นายซาคุโดะ ชุนสุเกะ หัวหน้าผู้แทน สำนักงาน JICA ประเทศไทยกล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้เป็นการนำเสนอรายละเอียดของแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่าย M-MAP2 ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวที่มุ่งมั่นขยายและเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอย่างทั่วถึง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด ลดมลภาวะ และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังมี ยังมีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ร่วมบรรยายแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) มีการนำเสนอแผนงานที่เป็นรูปธรรมในการพัฒนาระบบรางภายในแผนแม่บท M-MAP2 รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์และความสำเร็จของประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนาระบบรถไฟในเมืองและการบริหารจัดการพื้นที่บริเวณโดยรอบสถานี (Transit-Oriented Development - TOD) เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม


นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ทางไจก้าให้ความร่วมมือในการให้แนวคิดและความเห็นในการพัฒนาระบบรางและการพัฒนา TOD รวมถึงด้านการพัฒนาบุคลากร การซ่อมบำรุงต่างๆ เป็นโมเดล เพื่อสามารถพัฒนาต่อยอดในอนาคต เพราะจะทำให้เห็นภาพการพัฒนาในแต่เส้นทาง การแบ่งเฟส จัดลำดับความสำคัญก่อนหลังที่เหมาะสม หลักคิดมี 5 ด้านหลัก เช่น อัตราค่าโดยสารให้สามารถเข้าถึงได้ และระบบตั๋วร่วม ,ระยะเข้าถึงสถานีเฉลี่ยประมาณ 800 เมตร , ระบบฟีดเดอร์ เพื่อให้โซนที่อยู่ไกลเส้นทางรถไฟฟ้าเข้าถึงได้สะดวกขึ้น และเรื่องการเชื่อมต่อ อย่างไร้รอยต่อ

สำหรับแผนแม่บท M-Map-1 มีการพัฒนาระหว่างปี 2553-2572 จำนวน 14 เส้นทาง ระยะทาง 553.41 กม. โดยไจก้าเข้ามาช่วยเหลือแนวคิด เช่น รถไฟฟ้า MRT สีน้ำเงิน ระยะทาง 47 กม.วางสายทางเชื่อมเป็นวงกลม ปัจจุบันมีผู้โดยสาร 461,000 คน/วัน สายสีม่วง ระยะทาง 23 กม. เส้นทางเชื่อมจากด้านตะวันตกของกทม. ปัจจุบันมีผู้โดยสาร 73,000 คน/วัน ,สายสีแดง ระยะทาง 41 กม. วางแนวเป็นโครงข่ายหลักเชื่อมจังหวัดทางด้านเหนือของกทม. ปัจจุบันมีผู้โดยสาร 31,000 คน/วัน และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 4 สาย ระยะทาง 81.30 กม. เช่น สายสีส้ม สายสีม่วง ด้านใต้ และแอร์พอร์ตลิงก์ เชื่อมพญาไท-ดอนเมือง

สำหรับการพัฒนาด้าน TOD นั้นจะนำร่องที่รถไฟสายสีแดง ทั้งสถานีปลายทางและสถานกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นอกจากนี้ ยังมีที่สถานีศิริราช จุดเชื่อมต่อของรถไฟฟ้าสีส้มและสีแดง และสถานีวงเวียนใหญ่ ที่มีรถไฟฟ้า 3 สาย เชื่อมต่อกัน คือสีม่วง สีแดงและสีเขียว

 


แผนแม่บท M-Map 2 (ปี 2568-2583) นั้น พิจารณาโครงข่ายเพิ่มเต้มจาก M-Map 1 เช่น แก้จุดที่เป็นคอขวด หรือต่อขยายเส้นทางไปยังจังหวัดรอบกทม.มีแนวคิด 5 ด้าน คือ 1. จำนวนผู้โดยสาร ( Capacity) 2. ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น 3. ราคาเป็นธรรม 4. ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการ 5. เชื่อมโยงไร้รอยต่อ โดยมี 19 เส้นทาง ซึ่งเป็นเส้นทางจาก M-Map 1 ที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง 12 เส้นทาง และโครงการใหม่ 3 เส้นทาง และต่อขยาย 3 เส้นทาง นอกจากนี้ยังมีโครงข่ายฟีดเดอร์อีก 27 เส้นทาง

โดยประเมินว่า เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2583 จะทำให้มีโครงข่ายรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 4.33% เป็น 7.01% และมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจาก 1.7 ล้านคน/วัน เป็น 3.4 ล้านคน/วัน


ทั้งนี้ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ หัวข้อ "Necessity for a Sustainable Society Utilizing Public Transportation, Considering Green Transportation" โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและที่ปรึกษาอาวุโสของ JICA ประเทศไทย ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของระบบขนส่งสาธารณะในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและส่งเสริมการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ หัวข้อ "Urban Railway Development and TOD based on Japan’s Experience" โดย ศาสตราจารย์ ดร.โมริจิ ชิเงรุ จาก National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ซึ่งนำเสนอแนวคิดและกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จของญี่ปุ่นในการบูรณาการระบบรางกับการพัฒนาเมือง อีกทั้งได้รับเกียรติจากคณะทำงานซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งจากประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น มาร่วมบรรยายแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำเสนอแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ในการพัฒนาระบบรางภายในแผนแม่บท M-MAP2

การสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นเวทีสำคัญระดับประเทศที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญและผู้กำหนดนโยบาย ซึ่ง JICA และกระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางราง มุ่งหวังว่าการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นเวทีสำคัญในการสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจะนำไปสู่การผลักดันให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและส่งเสริมการเติบโตของเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต

นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง




กำลังโหลดความคิดเห็น