xs
xsm
sm
md
lg

“ฉันทวิชญ์”เตรียมมาตรการรับมือภาษีสหรัฐฯ ขอเร่ง FTA เกาหลีใต้ อียู ดัน SME ส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ฉันทวิชญ์”เปิดแผนงานเร่งด่วน สนับสนุนการเจรจาภาษีสหรัฐฯ เตรียมมาตรการคู่ขนาน ทั้งหาตลาดใหม่ ปรับกฎเกณฑ์การค้า และช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ยันเร่งรัดเจรจา FTA ไทย-เกาหลีใต้ ไทย-อียู ให้จบปีนี้ ประกาศแก้ปัญหาอุปสรรคให้ SME ดันมีโอกาสขายสินค้าทั่วโลก ตั้งเป้าภายใน 90 วันต้องสำเร็จ มั่นใจเป็นรัฐมนตรีอายุน้อย ไม่เป็นอุปสรรค

นายฉันทวิชญ์ ตัณฑสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตนมีแผนที่จะขับเคลื่อนงานเร่งด่วน ภายหลังได้รับการมอบหมายให้กำกับดูแลงานกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือไอทีดี โดยเรื่องสำคัญเรื่องแรก คือ การสนับสนุนการเจรจาเรื่องภาษีสหรัฐฯ ให้บรรลุผลสำเร็จ เพราะกระทรวงพาณิชย์ดูแล ทั้งเรื่องรายการสินค้าที่จะปรับลดภาษี เรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า และเรื่องการเยียวยา เพราะไม่ว่าผลเจรจาจะสรุปอย่างไร ก็จะมีกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแน่นอน

ทั้งนี้ แม้การเจรจาจะยังไม่จบ แต่ก็มีเรื่องที่กระทรวงพาณิชย์ต้องทำคู่ขนาน โดยจะเร่งหาตลาดใหม่รองรับให้กับสินค้าไทย ปรับกฎเกณฑ์ทางการค้า ที่จะช่วยให้สินค้าไทยแข่งขันได้ เช่น หลักเกณฑ์การคำนวณสัดส่วนมูลค่าการผลิตในประเทศและภูมิภาค (Regional Value Content : RVC) การเตรียมข้อมูลผู้ประกอบการส่งออกและนำเข้า เพื่อให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะช่วยรับรองให้ โดยมาตรการเหล่านี้ จะมีการตั้งทีมเข้ามาดูแล มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงพาณิชย์มาร่วมกันทำงาน

สำหรับเรื่องที่จะเร่งรัดต่อมา เป็นเรื่องการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่อยู่ระหว่างการเจรจา คือ ไทย-เกาหลีใต้ ซึ่งคาดว่าน่าจะจบได้เร็ว ๆ นี้ และกรอบไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่ขณะนี้การเจรจาคืบหน้าไปแล้ว 1 ใน 3 เหลืออีก 2 ใน 3 ตั้งเป้าจะเจรจาให้จบในปีนี้เช่นเดียวกัน หากสำเร็จ จะเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และมีโอกาสสำหรับการค้า การลงทุนของไทย และประมาณเดือน ส.ค.2568 จะจัดเวทีให้คุยทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมในเรื่องนี้ด้วย

นอกจากนี้ มีแผนที่จะผลักดัน SME เข้าไปอยู่ในซัปพลายเชนโลก สามารถค้าขายออกสู่ตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น โดยได้มอบหมายให้ไปศึกษาดูว่า SME จะส่งออก ต้องเจอกฎระเบียบอะไรบ้าง ตั้งแต่เริ่มผลิตไปจนถึงการส่งออกได้ อย่าไปมองมุมที่กระทรวงพาณิชย์ต้องกำกับ แต่ให้มองในมุมว่า SME ต้องเจออะไร กฎระเบียบบางอย่าง จำเป็นต้องมีหรือไม่ แต่ถ้าเป็นเรื่องคุณภาพมาตรฐาน อย่าไปแตะ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น ก็ต้องเลิก

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์มีฐานข้อมูลความต้องการสินค้าจากทั่วโลก ผ่านการสำรวจของทูตพาณิชย์ ก็เอามารวบรวมให้เป็นระบบ แล้วนำไปแจ้งให้กับ SME ชี้เป้าตลาดให้กับ SME หรือพา SME ไปขาย เพราะถ้าจะให้เขาไปเอง แค่ค่าเครื่องบินก็ไม่คุ้มแล้ว

“เป็นโจทย์ที่ผมวางไว้ว่าใน 90 วันนี้ จะต้องทำให้สำเร็จ แต่อาจจะไม่สำเร็จเปะ ๆ แต่อย่างน้อยก็ได้เริ่มไว้ เพราะเราไม่รู้ว่าการเมืองจะเป็นอย่างไร บางทีมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว เรามาอยู่ตรงนี้ ไม่ได้อยู่นาน ๆ 3 ปี 4 ปี แต่เราอาจมาแค่สั้น ๆ ต้องเร่งทำให้เร็ว เมื่อถึงตอนนั้น ถ้าอยู่ก็จะทำต่อ ไม่อยู่ก็ถือว่าได้วางรากฐานเอาไว้ คนมาใหม่ ถ้าเห็นว่าดีก็ทำต่อ ไม่ดีก็แล้วแต่จะพิจารณา และเชื่อว่า การมาเป็นรัฐมนตรีอายุน้อย ไม่มีผลต่อการทำงาน ผมเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความหวังดีให้ประเทศ อย่างที่มีคำพูด ไม่ได้วัดกันว่าอยู่บนโลกมากี่ปี ขึ้นกับสิ่งที่จะทำมากกว่า ถ้าทำได้ ทำดี ก็จะเกิดประโยชน์ และผมมั่นใจว่าจะทำงานร่วมกับข้าราชการได้ ผมมาจากครอบครัวราชการ ไม่ได้เข้ามาสั่ง แต่เข้ามาช่วยขับเคลื่อน และหวังว่าจะได้รับคำแนะนำในการขับเคลื่อนงาน”นายฉันทวิชญ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น