xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าหวั่น ศก.ครึ่งปีหลังทรุด ส่งออกชะลอตัว-สงครามการค้ายืดเยื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เตรียมรับแรงกระแทก! หอการค้าไทยเตือนเศรษฐกิจครึ่งปีหลังท้าทายหนัก ส่งออกชะลอตัว จับตาสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน เร่งดันดิจิทัล-AI-Future Food เสริมแรงภาคธุรกิจและการเกษตร 

 


นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย สะท้อนมุมมองภาคเอกชน ผ่านเวทีสัมมนา “Decode 2025 The Mid-Year Signal ถอดสัญญาณเศรษฐกิจโลก พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทย” โดยเปิดเผยถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ว่า GDP ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 2.5% จากปีก่อนหน้าที่อยู่ประมาณ 3.1% และคาดว่าปีนี้จะชะลอตัวลงจากหลายสาเหตุ เช่น ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน รวมถึงความตึงเครียดบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งอาจกระทบต่อต้นทุนพลังงานในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับคาดการณ์การเติบโตของ GDP ปี 2568 ลงมาอยู่ที่ 1.5-2.0% จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ 2.0-2.2% ขณะที่ภาคการส่งออกก็มีแนวโน้มหดตัว โดยคาดว่าจะอยู่ในกรอบ -0.5% ถึง 0.3% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 0.3-0.9% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ

“ตอนนี้ไทยและสหรัฐฯ อยู่ในช่วงการเจรจา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยต้องเตรียมความพร้อมอย่างจริงจัง ซึ่งหอการค้าไทยมีการเตรียมความพร้อมทั้งพูดคุยกับ ‘ทีมไทยแลนด์’ ที่ไปเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ตอนนี้หอการค้าไทยขอให้สมาคมการค้าต่างๆ ดูสินค้าของตนเองว่า มีสัดส่วนที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเกินกว่า 50-60% ไหม เผื่อไว้ เพราะว่ามีโอกาสมากๆ ที่เราจะใช้วิธีการเจรจาในรูปแบบที่คล้ายกับเวียดนามที่มีสองอัตรา เนื่องจากประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ถูกสหรัฐฯ มองว่าเป็นที่ผ่านของสินค้าจากจีน”

“ต้องยอมรับว่า Trade War ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนแรงมากตั้งแต่รอบแรก มารอบนี้แรงกว่าเดิม ไม่จำกัดอยู่แค่จีนแล้วแต่รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่เป็นทางผ่านการค้าของจีนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องไปดูในเชิงลึกเพื่อเตรียมการไว้ โดยภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาตัวเลขการค้าดีมากถึง 14.9% การเติบโตนี้ไม่ได้เห็นบ่อยๆ แต่ว่าสิ่งที่เราประเมินไว้ครึ่งปีหลังโดยเฉพาะไตรมาส 3 ซึ่งเป็นไตรมาสที่มีโอกาสที่ยอดจะลดลงไปเยอะ”

นายวิศิษฐ์เผยว่า การส่งออกไทยไปสหรัฐฯ เดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 35% ขณะที่เฉลี่ย 5 เดือนแรกอยู่ที่ 27% สะท้อนว่าผู้นำเข้าสหรัฐฯ เร่งนำเข้าสินค้าล่วงหน้าเพื่อรับมือภาษีนำเข้าชุดใหม่ที่อัตราสูงขึ้นราว 10% โดยผู้ซื้อและผู้ขายปลีกร่วมกันแบกรับภาระ จึงยังไม่กระทบผู้บริโภคโดยตรง อย่างไรก็ตาม หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นก็จะเริ่มส่งผลต่อราคาขายปลีก อย่างไรก็ดี หลังจากช่วงนี้ไป ยอดสั่งซื้ออาจชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว หากอัตราภาษีใหม่เริ่มมีผลบังคับใช้โดยสินค้าไทยที่เริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว ได้แก่อัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งรวมถึงทองคำ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และกล่าวต่อว่า สหรัฐฯ เตรียมประกาศอัตราภาษีนำเข้าใหม่ในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งยังต้องติดตามว่าจะประกาศใช้จริงตามกำหนดหรือเลื่อนเวลาออกไป นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะกำหนดอัตราภาษีแบบแบ่งกลุ่มประเทศ เช่น อังกฤษและสิงคโปร์ที่เจรจาแล้ว ส่วนประเทศอื่นรวมถึงเวียดนามยังต้องรอความชัดเจนอย่างเป็นทางการ

ขณะที่ EU ถูกตั้งภาษีสูงถึง 30% ซึ่งสูงกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ ซึ่งนายวิศิษฐ์มองว่าอาจเป็นผลมาจากการเจรจาที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์

ทั้งนี้ หอการค้าไทยจึงเสนอให้เร่งผลักดันเศรษฐกิจไทย ผ่านการส่งเสริมนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น e-commerce e-business และ Big Data ในภาคการเกษตร เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าขาดแคลนหรือล้นตลาดซึ่งอาจกระทบต่อราคา ผลักดันการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อบริหารจัดการวัตถุดิบ วิเคราะห์ข้อมูลป้องกันสินค้าลอกเลียนแบบ และควบคุมคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะในภาคเกษตร เช่น การใช้โดรนเพื่อตรวจแปลง ลดต้นทุน ทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน และการนำ Blockchain มาใช้เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ช่วยเพิ่มความโปร่งใสและตรวจสอบข้อมูลได้แบบเรียลไทม์

ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมธุรกิจสีเขียว โดยชู “อาหารแห่งอนาคต” (Future Food) โดยคิดเป็น 10% ของมูลค่าส่งออกอาหารทั้งหมด หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยกลุ่มที่เติบโตดี ได้แก่ Functional Food โปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) อาหารออร์แกนิก (Organic Food) และอาหารทางการแพทย์ (Medical Food) สำหรับผู้สูงอายุและทารก ซึ่งมีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้น 10–20% ต่อปี นอกจากนี้ยังมีอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) อีกด้วย

พร้อมขับเคลื่อนแนวทาง Green Industry การรายงาน ESG การติดตั้ง Solar Rooftop และการส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับภาคธุรกิจไทยในระยะยาว

“หลังจากนี้ไม่ว่าจะเจอสถานการณ์เรื่องภาษี ข้อบังคับต่างๆ ของโลก เราต้องปรับตัวให้ทัน ไม่ว่าจะเป็นทางภาครัฐหรือเอกชน และสุดท้ายคือความร่วมมือของรัฐ เอกชน และภาคประชาชนที่จะต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อฝ่าฟันอุปสรรคที่มี” นายวิศิษฐ์กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น