ครม.ไฟเขียวขยาย"รถไฟฟ้า 20 บาท" ใช้ได้ 8 สาย เปิดลงทะเบียนรับสิทธิ์ ส.ค.เริ่มใช้ 1 ต.ค.68"สุริยะ"มั่นใจประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด ยันเงื่อนไขต้องจ่ายด้วยบัตร EMV หรือ Rabbit Card เท่านั้น ตั้งงบชดเชยส่วนต่างรายได้ รวม 5,512 ล้านบาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 ก.ค.2568 มีมติเห็นชอบ มาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2568 ครอบคลุมทั้งโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 8 สาย ประกอบไปด้วย รถไฟฟ้าสายสีเขียว,สีทอง,สีเหลือง,สีชมพู,สีน้ำเงิน,สายสีม่วง,สายสีแดง และ สายแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (ARL) โดยมาตรการดังกล่าวมีกรอบระยะเวลาการดำเนินมาตรการ 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2568 ถึง 30 กันยายน 2569 หรือตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการขยายมาตรการจากปัจจุบันที่ใช้ได้กับรถไฟฟ้า 2 สาย คือสายสีแดงและสีม่วง
ทั้งนี้ เนื่องด้วยผู้ให้บริการรถไฟฟ้าในปัจจุบันมีรูปแบบสัญญาสัมปทานและสัญญาจ้างเดินรถที่มีข้อกำหนดหรือเงื่อนไขทางธุรกิจแตกต่างกัน จึงได้กำหนดให้ประชาชนต้องลงทะเบียนตามเงื่อนไขที่กำหนดบนแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" เพื่อรองรับการใช้งานตามโนบาย โดยเงื่อนไขนั้นการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวบุคคลที่มีสัญชาติไทย โดยระบุเลขที่บัตรประชาชน 13 หลัก บัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรโดยสาร (Rabbit Card ที่ลงทะเบียน) ที่จะใช้งานกับระบบรถไฟฟ้า ผ่านแอปฯ “ทางรัฐ”
ทั้งนี้ บัตรที่ได้รับการยืนยันการลงทะเบียนจะได้สิทธิโดยอัตโนมัติ เมื่อใช้งานหลังจากเริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 68 ครอบคลุมทั้งโครงข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้ง 8 สายที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน
@ ราคา 20 บาท ไม่ทุกคนเฉพาะจ่ายด้วยบัตร EMV หรือ Rabbit Card เท่านั้น
สำหรับการใช้บริการค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสายนั้น ต้องชำระค่าโดยสารด้วย บัตร EMV Contactless (Visa/Mastercard) ซึ่งจะใช้ได้กับรถไฟฟ้า 6 สาย คือ สายสีแดง, สีน้ำเงิน, สีม่วง, สีชมพู, สีเหลือง, ARL (ไม่รวมสีทองและสีเขียว) ส่วนการชำระด้วยบัตร Rabbit Card ใช้ได้กับสายสีเขียว, สีทอง, สีเหลือง, สีชมพู ซึ่งเป็นโครงข่ายที่มีกลุ่ม BTS เป็นผู้ให้บริการ และคาดว่าในอนาคตจะมีการเปิดระบบสแกน QR Code ในมือถือแทนการใช้บัตร เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน
นายสุริยะ กล่าวว่า ภายในเดือน สิงหาคม 2568 จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ค่าโดยสาร 20 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" และภายใน 1 ตุลาคม 2568 จะเริ่มดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า สูงสุด 20 บาทตลอดสายตามนโยบายรัฐบาล และภายหลังจากนั้นจะมีกระบวนการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้โครงสร้างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
"มาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย จะเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะ ลดภาระค่าครองชีพแก่ประชาชน ช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสาธารณะของรัฐเพื่อเดินทางถึงปลายทางด้วยระบบรถไฟฟ้า ที่มีความปลอดภัย สะดวก ตรงเวลา และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในราคาค่าโดยสารที่เข้าถึงได้ตามนโยบายของรัฐบาล เกิดการใช้ความจุของโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเกิดความคุ้มค่าจากผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง ประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง ลดความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ และเพิ่มมูลค่าความอยู่ดีมีสุขของประชาชนเป็นส่วนสนับสนุนการลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนน ลดปัญหาการจราจรติดขัด และลดการใช้พลังงานน้ำมันลดปริมาณมลพิษจากการจราจร ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมให้คุณภาพอากาศในพื้นที่ตามแนวสายทางและข้างเคียงให้ดีขึ้น" นายสุริยะ กล่าว
โดยมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย มีเป้าหมายที่จะให้ใช้ครอบคลุมโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑลที่จะมีทั้งสิ้น จำนวน 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 279.84 กิโลเมตร 194 สถานี โดยปัจจุบัน เปิดให้บริการแล้ว 10 เส้นทาง อีก 3 เส้นทางที่เหลือคือสายสีส้ม อยู่ระหว่างก่อสร้าง สายสีเทาและสีน้ำตาลอยู่ระหว่างขั้นตอนศึกษาและนำเสนอขออนุมัติโครงการ
@คาดใช้งบชดเชยส่วนต่างรายได้ รวม 5,512 ล้านบาท
โดยใช้งบประมาณในการชดเชยรายได้ค่าโดยสาร รวมทั้งสิ้น 5,512 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงข่ายรถไฟฟ้าของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชดเชยรวม 666 ล้านบาท แบ่งเป็นรถไฟชานเมืองสายสีแดง ชดเชย 189 ล้านบาท และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งก์ ชดเชย 477 ล้านบาท แหล่งที่มาของบมาจากงบประมาณแผ่นดิน
2.โครงข่ายรถไฟฟ้าของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)ชดเชยรวม 2,321 ล้านบาท แบ่งเป็น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 1,192 ล้านบาท, รถไฟฟ้าสายสีม่วง 480 ล้านบาท,รถไฟฟ้าสายสีเหลือง 249 ล้านบาท, รถไฟฟ้าสายสีชมพู 400 ล้านบาท แหล่งที่มาของงบมาจากกองทุนส่งเสริมระบบตั็วร่วมหรือแหล่งเงินอื่นที่เหมาะสม
3. โครงข่ายรถไฟฟ้าของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ชดเชยรวม 2,525 ล้านบาท แบ่งเป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว 2,503 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีทอง 22 ล้านบาท
ทั้งนี้ ได้ประมาณการผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวในช่วง 1 ปี ในเชิงปริมาณและมูลค่าจากจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าที่ได้รับผลประโยชน์ จะประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านเศรษฐกิจ ประเมินจากการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถ 7,360.43 ล้านบาท 2. ด้านสังคม ประเมินจากค่าความสุข และ การลดมูลค่าความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ 2,612.02 ล้านบาท และ 3. ด้านสิ่งแวดล้อม ประเมินจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 77.28 ล้านบาท รวมทั้ง 3 ด้านประเมินเป็นประโยชน์ในงบประมาณ 2569 รวม 10,049.73 ล้านบาท
ทั้งนี้ยังได้ประมาณการผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินมาตรการดังกล่าวในช่วง 1 ปี ในเชิงปริมาณและมูลค่าจากจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าที่ได้รับผลประโยชน์ จะประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านเศรษฐกิจ ประเมินจากการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถ 7,360.43 ล้านบาท 2. ด้านสังคม ประเมินจากค่าความสุข และ การลดมูลค่าความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ 2,612.02 ล้านบาท และ 3. ด้านสิ่งแวดล้อม ประเมินจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 77.28 ล้านบาท รวม ทั้ง 3 ด้านประเมินเป็นประโยชน์ในงบประมาณ 2569 รวม 10,049.73 ล้านบาท
@ไม่ลงทะเบียนแอปฯทางรัฐ- MRT Plus- บัตรเติมเงิน สีแดง แอร์พอร์ตลิงก์ ไม่มีสิทธิ์
ทั้งนี้ มาตรการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะไม่ครอบคลุมกรณีใช้บัตรโดยสารแบบเติมเงิน ทั้ง MRT Plus ของสายสีน้ำเงิน-ม่วง หรือบัตรเติมเงิน (Stored Value Card) ของรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยจะต้องจ่ายค่าโดยสารในอัตราปกติ เพราะผู้จะได้รับสิทธิ์ 20 บาทตลอดสาย นอกจากต้องลงทะเบียนด้วยเลข 13 หลักบัตรประชาชนผ่านแอปฯ”ทางรัฐ”แล้ว บัตรที่ใช้จ่ายค่าโดยสาร ยังกำหนดเพียง 2 ประเภท คือ บัตร EMV (บัตรเครดิตได้ทุกธนาคาร แต่กรณีเป็นบัตรเดบิต จะให้ใช้ได้เฉพาะธนาคารกรุงไทยเท่านั้น ของธนาคารอื่นใช้ไม่ได้ ก็จะไม่ได้สิทธิ์ใช่หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ ยังไม่รับทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวและเข้าใจว่าจะได้รับสิทธิ์ 20 บาทตลอดสายเหมือนกันหมด ซึ่งคาดว่า จะมีผู้ได้รับประโยชน์จากรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายไม่เท่าเทียมกันทุกคน
อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าว ทางหน่วยงานภาครัฐมองว่า ผู้ถือบัตรเติมเงิน MRT และสายสีแดงมีจำนวนไม่มากนัก และในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบให้ชำระค่าโดยสารด้วยการสแกน QR Code ในมือถือแทนการใช้บัตรโดยสาร ซึ่งจะทำให้ทุกคนเข้าถึงราคา 20 บาทตลอดสายได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งขณะนี้จึงควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ ว่า จะได้รับสิทธิ์ ค่าโดยสาร 20 บาท อย่างไร