"วิริศ"เผยมิ.ย.นี้พร้อมเซ็นสัญญา 4-5”บ้านโพ-พระแก้ว”รถไฟไทย-จีน เคลียร์มรดกโลก แยกออก NTP สร้างทางวิ่งก่อน ส่วนสถานีอยุธยารอหลังหารือกรมศิลปากร ยังเหลือโครงสร้างร่วม”ไฮสปีด 3 สนามบิน”รอแก้สัญญาร่วมทุนฯ และปรับแบบยกระดับสัญญา 3-5ช่วง”โคกกรวด”รอชงครม.ขอเพิ่มค่าก่อสร้าง
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง 2 สัญญา และมีการปรับแบบก่อสร้าง 1 สัญญา ได้แก่ สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ยังไม่ลงนามก่อสร้างเนื่องจากมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแหล่งมรดกโลก นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรณีการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา โดยล่าสุดได้ข้อสรุปจากการหารือกับคณะผู้เชี่ยวชาญ จากองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการมรดกโลกแล้ว และส่งมาที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว โดยรฟท.จะหารือกับกระทรวงคมนาคม เบื้องต้น คาดว่าไม่เกิน 1 เดือนหรือภายในเดือนมิ.ย. 2568 นี้ จะสามารถลงนามสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.30 กิโลเมตร วงเงิน 10,325.90 ล้านบาท กับบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด
ทั้งนี้ รฟท.ได้ตรวจสอบร่วมกับฝ่ายกฎหมายกรณีที่จะลงนามสัญญา 4-5 แล้ว ว่าสามารถดำเนินการได้เนื่องจากยูเนสโกไม่ได้กังวลเรื่องเส้นทางรถไฟ แต่ให้ความสำคัญและเน้นย้ำเรื่องการก่อสร้างอาคารสูงของเมืองมากกว่า ซึ่งมีแผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (TOD) และไม่ได้ห้ามเรื่องการก่อสร้างสถานี แต่ขอให้ปรับรูปแบบสถานีตามความเห็นของยูเนสโก โดยรฟท.จะหารือกับกรมศิลปากร ซึ่งจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง ดังนั้น เมื่อลงนามสัญญาแล้ว จะมีการส่งมอบพื้นที่และออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP : Notice to Proceed) ก่อสร้างส่วนของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไปก่อน ส่วนตัวสถานี จะรอการปรับแบบกับกรมศิลปากร ดังนั้นจะแยก NTP ออกไปอีกฉบับ
“ทางเอกชนที่ชนะประมูลมีการยืนราคาไปมานานแล้ว ขณะนี้ก็มีการเตรียมความพร้อมที่จะก่อสร้าง โดยในการก่อสร้างจะมีการขุดเจาะต้องใช้ความระมัดระวังสูง เนื่องจากเคยเกิดเหตุที่จ.แพร่ ในการก่อสร้างรถไฟทางคู่ มีการจุดเจอแหล่งโบราณสถาน ดังนั้นกรมศิลปากรจะต้องเข้ามาร่วมตั้งแต่แรก”
รายงานข่าวจากรฟท.แจ้งว่า ขณะนี้ทางสผ.ยังไม่ส่งหนังสือทางการ จากคณะกรรมการมรดกโลกให้รฟท.แต่ไม่มีผลต่อการลงนามสัญญา โดยหลังลงนามสัญญาคาดว่า จะออก NTP เริ่มงานก่อสร้างเส้นทางได้ใน 1-2 เดือน เนื่องจากต้องมีเวลาให้เอกชนเตรียมพร้อมเครื่องจักร ส่วนตัวสถานี คาดว่าจะออก NTP ได้หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน
สำหรับผลการปรับรูปแบบ จากผลการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์นานาชาติเพื่อการศึกษาการสงวนรักษาและการบูรณะมรดกทางวัฒนธรรม (ICCROM) และผู้เชี่ยวชาญจากสภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (ICOMOS) มีการปรับรูปแบบอาคารลดความกว้างของตัวสถานีจาก 150 เมตรเหลือ 95 เมตร และปรับลดความสูงของอาคารสถานีจาก 34.45 เมตร เหลือ 28 เมตร โดยคงความสูงสันราง ที่ระดับ 17 เมตร แค่ปรับตำแหน่งอาคารสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ห่างจากสถานีรถไฟอยุธยาเดิมประมาณ 4 เมตร และห่างจากขอบรางประมาณ 2.5 เมตร เพื่อไม่ให้หลังคาของอาคารสถานีรถไฟความเร็วสูง คลุมทับสถานีรถไฟเดิมที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน
@ช่วงโครงสร้างร่วมไฮสปีด 3 สนามบิน รออีอีซีแก้สัญญาร่วมทุนฯ
นายวิริศกล่าวถึงสัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม.ว่า เป็นช่วงที่เส้นทางทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่ต้องรอ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อนุมัติการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ กับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด นอกจากนี้ยังมีประเด็นการปรับเพิ่มกรอบวงเงินค่าก่อสร้างสัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ช่วงระหว่าง โคกกรวด-ภูเขาลาด ที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับแบบ
@ปรับแบบยกระดับเพิ่มค่าก่อสร้างช่วง”โคกกรวด”ยังไม่เข้าครม.
รายงานข่าวแจ้งว่า การปรับเพิ่มกรอบวงเงินค่าก่อสร้าง สัญญา 3-5 (โคกกรวด-นครราชสีมา) เนื่องจากมีเปลี่ยนแปลงรูปแบบก่อสร้าง ช่วงโคกกรวด-ภูเขาลาด จากคันทาง (Embankment) สูง 4-5 เมตร เป็นรูปแบบโครงสร้างยกระดับ (Elevated) ระยะทางประมาณ 7.85 กม. ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหาร้องเรียนและไปตามความต้องการของประชาชนบริเวณเทศบาลตำบลบ้านใหม่ ทำให้มีค่าก่อสร้างเพิ่ม ทั้งสิ้น 2,052,088,650 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7) และมีระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก 36 เดือน โดยรฟท.เสนอไปยังกระทรวงคมนาคม แล้วเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการปรับวงเงินโครงการในสัญญา 3-5 ต่อไป
โดยงานโยธา ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา (ระยะที่ 1) ระยะทาง 253 กม. ภาพรวมคืบหน้า
ประมาณ 44% ล่าช้ากว่าแผน 13% โดยสร้างเสร็จแล้ว
2 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา ยังไม่ได้ลงนาม 2 สัญญา