xs
xsm
sm
md
lg

เจาะงบ "คมนาคม" ปี 69 กว่า 2.61 แสนล้านบาท กรมทางหลวงมากสุด 1.31 แสนล้าน 'สุริยะ' ดันกู้สร้าง 'ทางคู่-ไฮสปีด'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวนไม่เกิน 3,780,600 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2568 ของรัฐบาลที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จำแนกตามกลุ่มงบประมาณ และตามยุทธศาสตร์ โดยมีรายการค่าดำเนินการภาครัฐจำนวน 669,365.4866 ล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการรองรับเหตุการณ์สำหรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น การชำระหนี้ภาครัฐ และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง โดยกำหนดปฏิทินการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 วาระที่ 1 ระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม 2568 จากนั้นจะเข้าสู่วาระที่ 2 เพื่อพิจารณารายมาตรา และวาระที่ 3 เพื่อประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2568 

โดยกระทรวงคมนาคมอยู่ในลำดับ 5 ที่ได้รับงบประมาณปี 2569 สูงที่สุด โดยมีอันดับ 1. กระทรวงการคลัง จำนวน 397,856 ล้านบาท 2. กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 355,108 ล้านบาท 3. กระทรวงมหาดไทย จำนวน 301,265 ล้านบาท 4. กระทรวงกลาโหม จำนวน 204,434 ล้านบาท

กระทรวงคมนาคมมีภารกิจสำคัญในการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งให้มีความสะดวกสบาย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาจราจร เพิ่มขีดความสามารถของระบบราง ซึ่งระบบคมนาคมขนส่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีการขับเคลื่อนและบูรณาการแผนที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ

สำหรับวงเงินงบประมาณจำนวน 200,756 ล้านบาทดังกล่าว เป็นงบส่วนราชการยังไม่รวมโครงการลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากเป็นการดำเนินงานโดยใช้เงินรายได้ลงทุนเอง ใช้เงินกู้ดำเนินการ หรือใช้รูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP)​


@“คมนาคม” กางงบประมาณปี 69 จำนวน 2.61 แสนล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เบื้องต้นจำนวน 261,292.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณที่ได้รับในปี 2568 จำนวน 16,715.58 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.83% โดยแบ่งเป็น 2 รายการ ได้แก่ 1. รายจ่ายประจำ 30,666.20 ล้านบาท ลดลง 43.39 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.14% และ 2. รายจ่ายลงทุน 230,626.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,758.97 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.84%

ในการจัดสรรงบรายจ่ายของปีงบประมาณ 2569 จำนวน 261,292.54 ล้านบาทนั้น ประกอบไปด้วย ส่วนราชการ 9 หน่วยงาน รวมจำนวน 200,756.18 ล้านบาท

ได้แก่ 1. สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม จำนวน 1,123.89 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 99.28% 2. กรมการขนส่งทางบก จำนวน 3,913.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1 % 3. กรมการขนส่งทางราง จำนวน 142.16 ล้านบาท ลดลง 2.68% 4. กรมเจ้าท่า จำนวน 4,253.33 ล้านบาท ลดลง 13.4% 5. กรมทางหลวง จำนวน 131,932.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.47% 6. กรมทางหลวงชนบท จำนวน 53,598.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.83% 7. กรมท่าอากาศยาน จำนวน 5,349.18 ล้านบาท ลดลง 0.13% 8. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร จำนวน 274.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.67% 9. สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง จำนวน 168.59 ล้านบาท ลดลง 46.2%

สำหรับรัฐวิสาหกิจ ได้รับจัดสรรงบประมาณจำนวน 5 หน่วยงาน จำนวน 60,536.36 ล้านบาท ได้แก่ 1. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จำนวน 2,653.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% 2. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน 33,258.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.9% 3. การรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 19,418.53 ล้านบาท ลดลง 9.7% 4. สถาบันการบินพลเรือน 308.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.1% 5. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 4,897.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.3%

สำหรับเฉพาะงบประมาณรายจ่ายลงทุนจำนวน 230,626.33 ล้านบาทดังกล่าว ประกอบด้วย รายการปีเดียว 146,881.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6,551.14 ล้านบาท หรือ 4.67% และรายการผูกพันใหม่ 15,561.88 ล้านบาท ลดลง 8,627.58 ล้านบาท หรือลดลง 35.67% และรายการผูกพันเดิม 68,182.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18,835.40 ล้านบาท หรือลดลง 38.17%

“ตามไทม์ไลน์ การจัดสรรงบรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ของกระทรวงคมนาคมจะเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 ภายในช่วงวันที่ 28-31 พ.ค.นี้ และหลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาขั้นกรรมาธิการ การหารือในวาระที่ 2 และ 3 ในช่วงเดือนสิงหาคมต่อไป ดังนั้นรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมจึงมีความมั่นใจว่างบประมาณปี 2569 จะแล้วเสร็จ และพร้อมประกาศก่อนเริ่มปีงบประมาณในเดือนตุลาคม 2568 และสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นายสุริยะกล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคมมุ่งเน้นเรื่องระบบขนส่งทางราง เพราะจะช่วยทำให้ต้นทุนการขนส่งลดลง ซึ่งงบจะอยู่ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ส่วนที่เพิ่มเติมในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้า รถไฟทางคู๋ รถไฟความเร็วสูง จะใช้เงินกู้ดำเนินการ


@ ส่องงบปี 69 กรมทางหลวงยืนหนึ่ง 1.31 แสนล้านบาท ซ่อม-สร้าง 4 เลน- มอเตอร์เวย์-หนุน EEC

ในปีงบประมาณ 2569 “กรมทางหลวง” ยังคงยืนหนึ่งในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่ได้รับจัดสรรงบประมาณสูงสุด จำนวน 131,932.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.47% จากปีก่อน แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 5,407.15 ล้านบาท รายจ่ายลงทุน จำนวน 126,525.12 ล้านบาท

โดยงบประมาณส่วนใหญ่จะเน้นไปที่แผนยุทธศาสตร์พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 121,890.89 ล้านบาท ได้แก่ 1. การพัฒนาขยายทางหลวง เพื่อสนับสนุนระบบคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 11,621.67 ล้านบาท 2. งบบำรุงรักษาและบริหารจัดการโครงข่ายทางหลวงและสะพาน จำนวน 36,589.56 ล้านบาท 3. งบเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับด้านความปลอดภัยบนทางหลวง จำนวน 12,015.29 ล้านบาท 4. โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง จำนวน 1,893.88 ล้านบาท 5. โครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน จำนวน 57,961.08 ล้านบาท 6. โครงการพัฒนาจุดจอดพักรถและสถานีตรวจสอบน้ำหนัก จำนวน 1,809.38 ล้านบาท

และงบบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก วงเงิน 3,639.35 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นงบรายจ่ายบุคลากร 4,881.17 ล้านบาท

อันดับ 2 คือ กรมทางหลวงชนบท งบประมาณจำนวน 53,598.9 ล้านบาท เป้าหมายเพื่อสร้างถนนเชื่อมโยงโครงข่ายกับเส้นทางสายหลักเข้าสู่ชุมชน แหล่งท่องเที่ยว ชายแดน และยกระดับถนนสายรองเพื่อการพัฒนาเมือง ประกอบด้วย 1. งบรายจ่ายบุคลากร 1,396.87 ล้านบาท 2. พัฒนาสร้างความสามารถในการแข่งขัน 687.15 ล้านบาท แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ จำนวน 49,581.94 ล้านบาท 3. แผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จำนวน 1,933 ล้านบาท


@งบระบบราง 3.3 หมื่นล้าน "รถไฟฟ้า-รถไฟทางคู่-ไฮสปีด"

ส่วนหน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้รับงบประมาณสูงสุดจำนวน 33,258.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.9% แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 6,905.02 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน จำนวน 26,353.14 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ และ บางใหญ่-บางซื่อ จำนวน 3,642.63 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง จำนวน 2,505 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จำนวน 2,250 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ จำนวน 130.60 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯจำนวน 12,557 ล้านบาท

รองลงมาคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 19,418.53 ล้านบาท ลดลง 9.7% แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 8,081.99 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน จำนวน 11,336.54 ล้านบาท

โดยแผนงานงบประมาณ รฟท.เป็นเรื่องการให้บริการผู้โดยสารและสินค้า จำนวน 1,681.19 ล้านบาท เรื่องการพัฒนาโครงการ รวม 4,182.78 ล้านบาท ได้แก่ โครงการปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณไฟสีทั่วประเทศ, โครงการก่อสร้างระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช, โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต, โครงการจ้างที่ปรึกษา เพื่อเตรียมก่อสร้างรถไฟทั่วประเทศ, โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อเตรียมโครงการก่อสร้างทางรถไฟฟ้า, โครงการก่อสร้างทางเดินลอดใต้ทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อระหว่างชานชาลา

โครงการก่อสร้างรถไฟสายบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม, โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี, โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วง ขอนแก่น-หนองคาย, โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา, โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่, โครงการปรับปรุงจัดหาและติดตั้งเครื่องกั้นถนน, โครงการปรับปรุงทางรถไฟ, โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์, โครงการปรับปรุงสะพานและช่องน้ำ

โครงการติดตั้งรั้วสองข้างทางตามแนวเขตทางรถไฟ, โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพ[-นครราชสีมา-หนองคาย, โครงการออกแบบรายละเอียดรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย

นอกจากนี้ ยังมีแผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก รวม 402.11 ล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 230.80 ล้านบาท เป็นต้น

โดย รฟท.มีกรอบพันธกิจสำหรับแผนพื้นฟู พ.ศ. 2566-2570 เป้าหมายเพื่อสร้างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาระบบการขนส่งให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการขนส่งของประเทศ รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนผ่านโครงข่ายที่ครอบคลุม เข้าถึงได้และราคาเป็นธรรม ผลักดันให้การคมนาคมทางรางเป็นศูนย์กลางการขนส่งของประเทศ ด้วยบริการที่มีคุณภาพ ครบวงจร ทันสมัย ตอบสนองความต้องการของลูกค้า ทั้ง B2C และ B2B

ปี 2569 มีเป้าหมายปริมาณการขนส่งผู้โดยสารที่ 30.06 ล้านคน และขนส่งสินค้า 13.05 ล้านตัน


@“ทล.-ทช.” เร่งชงโครงการ "ซ่อม สร้าง" เข้าคิวหลังรัฐชะลอดิจิตอล เฟส 3 งบ 1.5 แสนล้าน

ล่าสุด จากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2568 ซึ่งมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ได้ตัดสินใจชะลอโครงการแจกเงิน 10,000 ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตออกไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันอยู่ในภาวะผันผวน เนื่องมาจากสงครามการค้าและการประกาศนโยบายจัดเก็บภาษีศุลากรตอบโต้ของสหรัฐฯ ซึ่งตามแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 157,000 ล้านบาท

ในส่วนของกระทรวงคมนาคม นายสุริยะกล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท เร่งสรุปโครงการที่ต้องการเข้ารับงบประมาณดังกล่าว และส่งมาที่กระทรวงคมนาคมโดยเร็ว คาดว่าภายในเดือน พ.ค.นี้จะมีความชัดเจน โดยพิจารณาโครงการตามเงื่อนไขที่กำหนด เช่น จะต้องเป็นโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2569 เป็นโครงการที่สามารถประมูลจัดซื้อจัดจ้างและผูกพันสัญญาเสร็จภายในปีงบประมาณ 2568 หรือในเดือน ก.ย. 2568


กระทรวงคมนาคมเป็นอีกความหวังของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกรัฐบาล โดยเฉพาะการประมูลงานก่อสร้างโครงการ ถนน ทางด่วน รถไฟ สนามบิน และท่าเรือ ที่ทำให้เกิดการจ้างแรงงาน การจัดซื้อวัสดุก่อสร้าง ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจกระจายเม็ดเงินผ่านอุตฯก่อสร้าง…และธุรกิจรับเหมาไทย!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น