xs
xsm
sm
md
lg

กรมพัฒน์ย้ำสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ต้องทำเป็นหนังสือสัญญาเท่านั้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมพัฒนาธุรกิจการค้าประกาศเตือน สัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ต้องทำเป็นหนังสือสัญญาเท่านั้น ถึงจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย โดยผู้รับหลักประกัน (เจ้าหนี้) ต้องได้รับหนังสือยินยอมจากผู้ให้หลักประกัน (ลูกหนี้) ก่อนจึงจะมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันได้ หากพบดำเนินการโดยไม่สุจริต ปลอมแปลงเอกสาร แสดงข้อความเท็จ มีโทษอาญา เผยล่าสุด มียื่นจดสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว 878,337 คำขอ มูลค่ากว่า 20 ล้านล้านบาท

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันนี้ ในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 ยังคงมีผู้รับหลักประกัน (เจ้าหนี้) และผู้ให้หลักประกัน (ลูกหนี้) บางส่วนที่อาจจะยังไม่เข้าใจเรื่องขั้นตอนและรายละเอียดของการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ โดยเฉพาะในส่วนของการทำสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จะต้องทำเป็นหนังสือสัญญาเท่านั้น ถึงจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย และที่สำคัญ ผู้รับหลักประกัน (เจ้าหนี้) ต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้หลักประกัน (ลูกหนี้) ก่อน จึงจะสามารถนำมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์กับกรมได้

“ขอย้ำอีกครั้งว่า สัญญาหลักประกันทางธุรกิจต้องทำเป็นหนังสือสัญญาเท่านั้น ถึงจะมีผลบังคับตามกฎหมาย ผู้ที่เกี่ยวข้องในสัญญาหลักประกันทางธุรกิจทุกฝ่าย ต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง เพื่อให้กฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยผู้ที่มีเจตนาไม่สุจริต ปลอมแปลงหรือแสดงเอกสารอันเป็นเท็จเกี่ยวกับการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ มีโทษความผิดทางอาญาถึงขั้นจำคุกได้”

ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสและอำนวยความสะดวกในการตรวจสอบว่ามีผู้นำทรัพย์สินมาจดทะเบียนเป็นหลักประกันทางธุรกิจหรือไม่ กรมได้จัดทำระบบสืบค้นข้อมูลการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลสัญญาหลักประกันทางธุรกิจได้อย่างโปร่งใสและใช้ประกอบการพิจารณาทำนิติกรรมสัญญาต่าง ๆ อย่างรอบคอบและเป็นธรรม ผ่านเว็บไซต์ www.dbd.go.th หัวข้อ Hot Service >> New Service >> ระบบจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ (e-Secured) >> ค้นหาข้อมูลหลักประกันทางธุรกิจ และทางแอปพลิเคชัน DBD e-Service เลือกแบนเนอร์จดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ (e-Secured) ได้ด้วย

ที่ผ่านมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้มีการขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจและประชาชนที่ต้องการเข้าถึงแหล่งทุนสามารถนำทรัพย์สินตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ กิจการ ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิเรียกร้อง สังหาริมทรัพย์ (สินค้าคงคลัง ลูกหนี้ทางการค้า เครื่องจักร) มาใช้เป็นหลักประกัน ประกอบการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยไม่ต้องส่งมอบการครอบครองให้กับผู้รับหลักประกัน (เจ้าหนี้) แต่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือและผู้ให้หลักประกัน (ลูกหนี้) ควรเก็บสัญญาดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานด้วย

กฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME และประชาชน ได้เข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรม โดยกรมได้จัดกิจกรรมส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ อาทิ การลงพื้นที่ ให้คำปรึกษาเชิงลึกกับผู้ประกอบการ จัดสัมมนาออนไลน์และออฟไลน์ การอบรมเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์หลากหลายช่องทาง รวมทั้งสร้างสื่อการเรียนรู้ผ่าน DBD Academy “รอบรู้ หลักประกัน รู้ทันธุรกิจ” และ YouTube “กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ DBD” แนะนำวิธีการและขั้นตอน การจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ ผ่านระบบ e-Secured ดังนั้น ผู้รับหลักประกัน (เจ้าหนี้) และผู้ให้หลักประกัน (ลูกหนี้) ควรศึกษาข้อมูลเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ หน้าที่และความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

ปัจจุบัน (วันที่ 15 พ.ค.2568) มีคำขอจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจจำนวนทั้งสิ้น 878,337 คำขอ ทรัพย์สินรวมมูลค่าที่ใช้เป็นหลักประกันจำนวน 20,177,454 ล้านบาท โดยสิทธิเรียกร้องเป็นทรัพย์สินที่ถูกนำมาใช้เป็น หลักประกันมากที่สุด ร้อยละ 80.76 มูลค่า 16,296,094 ล้านบาท รองลงมา สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบ ธุรกิจ ได้แก่ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ เครื่องจักร รถยนต์ เรือ เครื่องบิน สัตว์พาหนะ เป็นต้น ร้อยละ 18.96 มูลค่า 3,825,296 ล้านบาท ทรัพย์สินทางปัญญา ร้อยละ 0.07 มูลค่า 14,495 ล้านบาท กิจการ ร้อยละ 0.01 มูลค่า 1,659 ล้านบาท อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ ร้อยละ 0.002 มูลค่า 398 ล้านบาท

ขณะที่ไม้ยืนต้นที่มีค่า ก็ได้รับความสนใจจากสถาบันการเงินและธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ รับเป็นหลักประกันทางธุรกิจเช่นกัน โดยในช่วงที่ผ่านมา มีจำนวน 167,302 ต้น มูลค่าสินเชื่อรวมกว่า 186 ล้านบาท แบ่งเป็นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 1,520 ต้น มูลค่าสินเชื่อ 10.8 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 23,000 ต้น มูลค่าสินเชื่อ 128 ล้านบาท และธุรกิจพิโกไฟแนนซ์ จำนวน 142,782 ต้น มูลค่าสินเชื่อ 47 ล้านบาท ต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจส่วนใหญ่ ได้แก่ ต้นสัก ต้น ขนุน ยางพารา ต้นยูคาลิปตัส ไม้สกุลทุเรียน ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลยาง เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น