บอร์ดรฟท.เห็นชอบผลศึกษาร่วมลงทุน”ไอซีดีลาดกระบัง”เร่งเสนอครม.พิจารณาประกอบผลประมูลที่ค้างมาตั้งแต่ปี 2558 มั่นใจขั้นตอนครบถ้วนตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ คาดเซ็นสัญญากิจการร่วมค้า เอ แอล จี ในปีนี้ สัมปทาน 20 ปี เพิ่มปริมาณขนส่งระบบราง
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) ครั้งที่ 7 / 2568 เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2568 ที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบผลการศึกษาโครงการศึกษาและวิเคราะห์โครงการให้เป็นไปตามนัยของกฎหมาย ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในการสรรหาผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง ตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ซึ่งขั้นตอนจากนี้รฟท.จะสรุปและเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมได้ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวเป็นไปตาม มติครม.ล่าสุด เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2567 ที่ได้รับทราบผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยให้รฟท.จัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเพื่อให้การดำเนินงานสอดคล้องกับกฎหมายร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งรฟท.ได้ว่าจ้าง ม.ธรรมศาสตร์ศึกษา ใช้ระยะเวลา 3 เดือน พบว่ารูปแบบ PPP Net Cost มีความเหมาะสมและครบถ้วนตามกระบวนการที่ครม.สั่งการ และสอดคล้องกับที่รฟท.ได้ดำเนินการมาโดยคาดว่า สามารถลงนามสัญญากับผู้ที่ได้รับคัดเลือกได้ภายในปี 2568
“เนื่องจากมีการศึกษาอัพเดทตัวเลขต่างๆใหม่ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน ซึ่ง จะมีผลทำใหรฟท.ได้รัผลตอบแทนเพิ่มตามไปด้วย โดยจะมีการเจรจากับเอกชนต่อไป”
@ย้อน10 ปี ประมูล”ไอซีดีลาดกระบัง”ยังไม่ได้เซ็นสัญญา
รายงานข่าวแจ้งว่า สัญญาไอซีดีลาดกระบังเดิมมีผู้ประกอบการ6 ราย ต่อมาปี 2556 มีการศึกษาปรับเปลี่ยนรูปแบบให้มีผู้ประกอบการน้อยรายแต่กระทรวงการคลังเห็นว่าข้อมูลไม่ครบถ้วนจึงให้จัดทำข้อมูลใหม่ โดยรฟท. เปิดประกวดราคาโครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบัง เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2558 แต่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการในการประมูลที่อาจไม่โปร่งใส ตลอดจนมีการฟ้องคดีไปยังศาลปกครอง ทำให้ต่อมา รฟท.ต้องยกเลิกการประมูล
ช่วงต้นปี 2561 รฟท. เปิดประกวดราคาฯใหม่ อีกครั้ง มีผู้ซื้อเอกสารประกวดราคาทั้งสิ้น 10 ราย แต่มีเอกชนยื่นข้อเสนอเพียง 1 ราย คือ กิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) (บริษัท อีสเทิร์นซี แหลมฉบังเทอร์มินัล จำกัด ,บริษัท เอเวอร์กรีนคอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด ,บริษัท โอเชี่ยนเน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ไทย อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์ จำกัด)
รฟท.ได้เสนอผลการประกวดราคา ตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนเอกชน พ.ศ. 2556 โดยกิจการร่วมค้า เอ แอล จี (ประเทศไทย) เป็นผู้ได้รับคัดเลือก ไปยังครม. สัมปทาน 20 ปี โดยครม.เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2562 ยังไม่อนุมัติผลการประมูล แต่มีมติให้กระทรวคมนาคม โดยรฟท. กลับไปจัดทำรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการให้เป็นไปตามนัยของกฎหมาย ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน รวมทั้งข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องรอบด้าน โดยให้มีการศึกษาข้อมูลตามความเห็นของกระทรวงการคลัง และ สศช. รวมทั้งความเห็นเพิ่มเติมของรมว.คลัง และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการก่อนนำเสนอครม.ต่อไป
โดยรายงานการศึกษาการร่วมลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost โดยรฟท.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับมอบพื้นที่จากผู้รับสัมปทานเดิม และให้ผู้รับสัมปทานใหม่ดำเนินการปรับปรุงและจัดหาเครื่องมื่ออุปกรณ์การยกขน และรับสิทธิ์บริหารและจัดเก็บรายได้ ระยะเวลาร่วมทุน 20 ปี โดยรฟท.จะมีรายได้จากค่าเช่าพื้นที่ 11,049 ล้านบาท
สำหรับ การขนส่งสินค้าที่ไอซีดี ลาดกระบัง ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปี 2567 มีปริมาณสินค้าจำนวน 9.72 ล้านทีอีอยู มีรายได้สัมปทาน ประมาณ 10,789 ล้านบาท และมีรายได้จากการขนส่งสินค้าทางรถไฟ 10,387 ล้านบาท การขนส่งสินค้าที่ไอซีดี ลาดกระบัง ช่วยพัฒนาระบบรางและบริหารจัดการสินค้าทันสมัยและครบวงจร เนื่อวจากมีบริการแบบ One Stop Service