xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดรฟท.ขยายสัญญา 3-2 ไฮสปีด”ไทย-จีน” ช่วงอุโมงค์ อีก 181 วัน-เคาะร่างพ.ร.ฏ.เวนคืน 1,345 ไร่ เตรียมประมูลสร้างเฟส 2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด รฟท.เคาะขยายสัญญา 3-2 ช่วงอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) ไฮสปีดไทย-จีน อีก 181 วัน เหตุเวนคืนล่าช้า และเห็นชอบพ.ร.ฏ.เวนคืนที่ดิน 1,345 ไร่ สร้างเฟส 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย วงเงิน 1.2 หมื่นล.ชงคมนาคมเสนอครม.

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) ครั้งที่ 7 / 2568 วันที่ 15 พ.ค. 2568 2568 ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาการดำเนินงานตามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพ - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ - นครราชสีมา) สัญญาที่ 3 - 2 งานโยธาสำหรับงานอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) ออกไปอีก 181 วัน จากเดิมสิ้นสุดสัญญาวันที่ 7 มิถุนายน 2568 โดยกำหนดวันสิ้นสุดสัญญาใหม่เป็นวันที่ 5 ธันวาคม 2568 พร้อมกับให้ปรับแผนการเชื่อมประสานงานก่อสร้างให้สอดคล้องกับการขยายสัญญา โดยผู้รับจ้างฯ ไม่สามารถเรียกร้องค่าใช้จ่าย หรือค่าทดแทนใด ๆ รวมถึงไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากที่ปรึกษาฯรวมทั้งการรถไฟฯ ไม่เสียประโยชน์ และไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการอื่นๆ แต่อย่างใด

สำหรับสาเหตุที่ต้องขยายเวลาในครั้งนี้ เนื่องจาก รฟท. ส่งมอบพื้นที่ให้แก่ผู้รับจ้างก่อสร้างล่าช้า จากการเวนคืนพื้นที่ ทำให้กระทบงานก่อสร้าง 2 รายการ คือ งานก่อสร้างคันทางรถไฟระดับดิน ช่วง DK.134+765 – DK.135+385 และงานก่อสร้างสะพานผาเสด็จ 3 ปัจจุบัน รฟท. ส่งมอบพื้นที่เวนคืนทั้งหมดให้กับผู้รับจ้าง 100% แล้ว พร้อมเร่งรัดให้ดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่ปรับใหม่ เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง และแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด 


สำหรับสัญญาที่ 3-2 งานโยธาสำหรับอุโมงค์ ช่วงมวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กิโลเมตร ครอบคลุมงานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟ ระยะทาง 8 กิโลเมตร คันทางรถไฟระดับดิน ระยะทาง 3.27 กิโลเมตร โครงสร้างทางรถไฟยกระดับ ระยะทาง 0.96 กิโลเมตร รวมถึงอาคารและสิ่งปลูกสร้าง รองรับงานระบบรถไฟฟ้า 4 แห่ง พร้อมถนนเชื่อมต่อ มี บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง มูลค่า 4,279,309,390 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2564 ถึงวันที่ 2 เมษายน 2567 มีการขยายเวลาก่อสร้างครั้งที่ถึง ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2568 ครั้งที่ 2 อีก 181 วัน วันที่ 5 ธันวาคม 2568 ปัจจุบันมีความคืบหน้า 90.94%


@เห็นชอบร่างพ.ร.ฏ.เวนคืน 1,345 ไร่ สร้างไฮสปีด เฟส 2

นอกจากนี้ บอร์ด รฟท. ยังเห็นชอบนำเสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ - หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย ฯ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ภายใน 2 สัปดาห์เพื่อเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ต่อไป

ทั้งนี้ หลังจากครม.มีมติ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 อนุมัติการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา–หนองคาย ระยะทาง 357.12 กิโลเมตร (กม.) กรอบวงเงิน 341,351.42 ล้านบาท ซึ่งมีความจำเป็นต้องเวนคืนที่ดินนอกพื้นที่รฟท.สำหรับก่อสร้าง ได้แก่ พื้นที่บางส่วนของจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และจังหวัดหนองคาย คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 10% ของทั้งโครงการ ประกอบด้วยที่ดิน จำนวน 1,991 แปลง เนื้อที่ประมาณ 1,345 ไร่ และสิ่งปลูกสร้าง 1,428 รายการ กรอบวงเงิน 12,418.61 ล้านบาท ซึ่งรฟท.เสนองบดำเนินการ ปี 2569 ประมาณ 200 ล้านบาท ปี 2570 ประมาณ 6,100 ล้านบาท ปี 2571 ประมาณ 6,100 ล้านบาท


สำหรับความก้าวหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา – หนองคาย ได้รับมติเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 และคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา (TOR) และแบ่งสัญญาประมูลให้เหมาะสม คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปีนี้

โดยโครงการฯ ดังกล่าว มีจุดเริ่มต้นหลังสถานีนครราชสีมา และจุดสิ้นสุดที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง (ฝั่งไทย) รวมทั้งหมด 5 สถานี ประกอบด้วย สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี และสถานีหนองคาย รวมถึงยังมีศูนย์ซ่อมบำรุง (Deport) 2 แห่ง ที่นาทา และเชียงรากน้อย ศูนย์ซ่อมบำรุงทาง (Maintenance Base) 4 แห่ง ที่บ้านมะค่า หนองเม็ก โนนสะอาด และนาทา รวมถึงย่านเก็บตู้สินค้าและเปลี่ยนถ่ายสินค้า 1 แห่งที่นาทา รวมระยะทางประมาณ 357.22 กิโลเมตร ถือเป็นโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาเส้นทางสายใหม่ One Belt One Road (OBOR) โดยจะเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางและขนส่งระหว่าง 3 ประเทศ ไทย–ลาว–จีน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พร้อมทั้งกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ด้วยการเชื่อมโยงเมืองหลัก เมืองรอง และพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ให้เข้าถึงกันอย่างไร้รอยต่อ






กำลังโหลดความคิดเห็น