xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม”ดันเต็มสูบรถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย เร่งแก้”สัญญาสัมปทาน-พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯปี 2543”ควักชดเชย 9,500 ล้านบาท/ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การขับเคลื่อนนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เรื่องนี้เป็น”นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลฯที่จะดำเนินการทันที โดยจะเป็นการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับนโยบาย ค่าโดยสารราคาเดียวตลอดสายเพื่อลดภาระค่าเดินทางของประชาชน

มีการดำเนินนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายแล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2566 นำร่องโครงการรถไฟฟ้า 2 สาย คือ 1. รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ จำนวน 16 สถานี และ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 10 สถานี และช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 4 สถานี

“ค่ารถไฟฟ้าจะปรับลด จากราคาเริ่มต้น 14 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท เหลือสูงสุด 20 บาทตลอดสาย“

โดยสรุปผลดำเนินการในปีแรก พบว่า รถไฟฟ้าสายสีแดง มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นประมาณ 50% จากเดิมที่มีเฉลี่ยประมาณ 2 หมื่นคน-เที่ยว/วัน เป็นเฉลี่ยอยู่ที่ 3 หมื่นคน-เที่ยว/วัน ซึ่งสูงกว่าประมาณการณ์ที่นำเสนอ ครม.เห็นชอบ โดยคาดว่า สายสีแดงจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น จากมาตรการ 20 บาทตลอดสาย 10-15 % หรือสูงสุด ประมาณ 20% ถือว่า เกินความคาดหมายและประสบความสำเร็จอย่างมาก

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอชดเชยส่วนต่างรายได้สายสีแดง เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ประมาณ 6.43 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 77.15 ล้านบาทต่อปี

ส่วนรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงมีปริมาณผู้โดยสาร เพิ่มขึ้นกว่า 17 % จากเดิมมีเฉลี่ยประมาณ 5-6 หมื่นคน-เที่ยว /วัน โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประมาณการณ์กรณีสายสีม่วง ลดค่าโดยสารเหลือ 20 บาทตลอดสายว่ารายได้ จะลดลงจากปัจจุบันประมาณ 56-60 ล้านบาท/ปี ในขณะที่ประเมินว่า จำนวนผู้โดยสารจะมีเพิ่มขึ้น 10 -20 % หรือเพิ่มเป็น 6-7 หมื่นคน-เที่ยว/วัน และคาดว่ารายได้ที่ลดลง จะกลับมาเท่าเดิมได้ภายใน 2 ปี

ปัจจุบัน นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ดำเนินการเป็นปีที่ 2 แล้ว ขณะที่นโยบายในปีที่ 3 ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำหนดว่า จะมีการขยายค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทให้ใช้ได้กับรถไฟฟ้าทุกสาย สามารถขึ้นกี่ต่อก็ได้ ตลอดการเดินทางจ่าย 20 บาท เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระบบราง ทุกเส้นทาง ภายในวันที่ 30 ก.ย. 2568


@“สุริยะ”ยืนยัน 30 ก.ย. 68 ใช้ครบทุกสี 8 สายทาง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า คนไทยทุกคนที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าจะจ่ายค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาท ได้ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2568 เป็นต้นไป ซึ่งผู้โดยสารที่ใช้สิทธิ์นี้ ต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เพื่อยืนยันตัวตน โดยกรอกตัวเลขข้อมูลบัตรที่จะใช้ชำระค่าโดยสาร เพื่อเชื่อมโยงกับระบบบริหารจัดการรายได้กลาง โดยจะเริ่มลงทะเบียนในเดือนส.ค. 2568

พร้อมยืนยันว่า จะไม่ทำให้เกิดความยุ่งยาก ในการเชื่อมเดินทางข้ามสายจ่ายที่ 20 บาท โดยใช้แอป”ทางรัฐ”เป็นระบบเคลียร์รายได้ ซึ่งกำหนดให้ประชาชน เริ่มลงทะเบียนในเดือนส.ค. 2568 ขณะที่ ปัจจุบันสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) หรือ Digital Government Development Agency (Public Organization) (DGA) กำลังพัฒนาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง(Central Clearing House : CCH) และทดสอบการเชื่อมต่อข้อมูลกับผู้ให้บริการแก่ผู้รับบัตร (Acquirer) สำหรับบัตรโดยสาร EMV และ Rabbit ABT

รายงานข่าวระบุว่า สพร.ตั้งงบประมาณ สำหรับพัฒนาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง ไว้ 156 ล้านบาท ได้แก่ ค่าพัฒนาระบบ Clearing House (CCH) และระบบที่เกี่ยวข้อง 76 ล้านบาท ค่าเช่าบริการคลาวด์(จานวนการเดินทาง 2.18 คนเที่ยว/วัน) (ระยะเวลา 12 เดือน) 50 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการระบบ 30 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง

@เปิดเกณฑ์ลงทะเบียน”แอปทางรัฐ” ใช้ได้เฉพาะ EMVและ Rabbit

ตามแผนงานที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เสนอดำเนินนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ตลอดสายของรัฐบาล “ระยะที่ 2”ที่จะใช้กับรถไฟฟ้าทุกสายที่ให้บริการในปัจจุบัน ได้แก่ 1.สายสีแดง 2.สายสีม่วง 3.สายสีน้ำเงิน 4. แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 5.สายสีเขียว 6.สายสีทอง 7.สายสีเหลือง 8.สายสีชมพู ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2568 นั้น

ระบุว่า ผู้ได้รับสิทธิ์นั้น จะเป็นเฉพาะผู้โดยสารที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน แอปทางรัฐ และเดินทางด้วยบัตร EMV หรือ บัตรเติมเงินประเภท ABT ซึ่งปัจจุบันมีเฉพาะ บัตร Rabbit ที่ลงทะเบียนไว้ ส่วนบัตรนอกเหนือจากข้อ 2 หรือบัตรที่ไม่ได้ลงทะเบียน ต้องเสียค่าโดยสารราคาตามอัตราปกติ

โดยการใช้งานบัตรโดยสารปัจจุบัน มีดังนี้

-บัตรแรบบิท ใช้กับรถไฟฟ้า 4 สาย มี บีทีเอส เป็นผู้ให้บริการ คือ สายสีเขียว สายสีทอง สายสีเหลือง และสายสีชมพู

-บัตร MRT Plus ใช้กับรถไฟฟ้า 2 สาย ของ รฟม. โดย BEM ให้บริการคือ สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง

-บัตร Europay Mastercard and Visa (EMV) Contactless Card ใช้กับรถไฟฟ้า 6 สาย ได้แก่ สายสีแดง, สีน้ำเงิน, สีม่วง, สีชมพู และสายสีเหลือง ส่วนสายสีเขียวของบีทีเอส ไม่รับบัตร EMV

-บัตรประเภทเติมเงิน ของรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL)

@ใช้เงินสด จ่ายราคาเต็ม บัตรอื่นหมดสิทธิ์

“ความหมายคือ บัตร MRT ทั้งหมด ของรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงิน สีม่วง บัตรเติมเงินของสายสีแดง และแอร์พอร์ตลิงก์ ที่ผู้โดยสารใช้อยู่ในปัจจุบัน และ ผู้โดยสารจ่ายเงินสด ไม่ได้รับสิทธิ์ 20 บาทตลอดสาย ผู้โดยสารแต่ทำไม บัตร Rabbit ของบีทีเอส จึงได้รับเพียงผู้ประกอบการรายเดียว…”

นอกจากนี้ EMV ในส่วนของบัตรเดบิต ยังให้ใช้เฉพาะ บัตรของธนาคารกรุงไทย เท่านั้น ส่วนธนาคารอื่นยังไม่ร่วม ซึ่งมีคำอธิบายว่า เพราะ ธนาคารเห็นว่าไม่คุ้ม

ประเด็นข้อสงสัยนี้ กรมรางและกระทรวงคมนาคม ยังไม่มีคำตอบว่า คนกลุ่มนี้จะทำอย่างไร เพียงชี้แจงว่า ต้องการให้ทุกคน ผูกบัญชีกับแอปทางรัฐ ซึ่งจะมีสิทธิประโยชน์อีกมากมาย ขณะที่ส่วนใหญ่ ประชาชนมีบัตรเครดิต กันอยู่แล้ว ก็แค่ลงทะเบียนผู้เลขบัตรที่จะใช้ชำระค่าโดยสาร เข้ากับแอปทางรัฐ ส่วนกรณีบัตรเดบิต ของธนาคารกรุงไทย หากต้องไปออกบัตรใหม่ จะมีค่าใช้จ่าย 200 บาทเท่านั้น อยากให้พิจารณาว่า ค่าออกบัตร 200 บาท เทียบกับ การประหยัดค่าเดินทางเพราะจ่ายเพียง 20 บาท จากเดิมที่ต้องจ่ายค่าเดินทาง 80 บาท เดินทางไม่กี่วัน ก็คุ้มกับค่าออก เดบิตที่จ่ายไปแล้ว”


@บัตรต่างค่าย…ใช้ข้ามสายไม่ได้

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า ปัจจุบันบัตรส่วนใหญ่ที่ประชาชนที่ใช้เดินทางด้วยรถไฟฟ้ามี 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ 1. บัตรแรบบิท ใช้กับรถไฟฟ้า 4 สาย คือ สีเขียว สีทอง สีชมพู สีเหลือง 2. บัตร MRT Plus ใช้กับ รถไฟฟ้า 2 สาย คือ สีน้ำเงิน สีม่วง 3. บัตร EMV ใช้กับรถไฟฟ้า 6 สาย ได้แก่ สีแดง, สีน้ำเงิน, สีม่วง, สีชมพู, สีเหลือง ส่วนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) รับเฉพาะบัตร ARL

ซึ่งการได้บัตร EMV หรือ บัตรแรบบิท มานั้น ต้องลงทะเบียนยืนยันด้วยหมายเลขบัตรประชาชนมาแล้ว ดังนั้นจึงไม่ยุ่งยาก เพียงแค่นำตัวเลขที่อยู่บนบัตรเหล่านั้นมาลงทะเบียนบนแอป”ทางรัฐ”ก็สามารถใช้รถไฟฟ้า 20 บาทได้แล้ว

โดย วันที่ 30 ก.ย. 2568 ที่จะเริ่มใช้ 20 บาทกับรถไฟฟ้าทุกสาย กรณีต้องการเดินทางข้ามสาย ผู้โดยสารจะต้องถือบัตร 2 ใบคือ EMV กับ บัตรแรมบิท โดยใช้ EMV กับรถไฟฟ้าทุกสาย กี่ต่อก็ได้ แต่หากจะเข้าใช้ระบบของสายสีเขียว ต้องใช้บัตรแรบบิทแตะเท่านั้น

ส่วนผู้โดยสารที่ใช้งานเฉพาะสาย ไม่ข้ามระบบ ใช้ได้ทั้ง EMV และ บัตรของแต่ละสาย…ยังรอความชัดเจนว่า จะใช้สิทธิ์ 20 บาทได้อย่างไร

ขณะที่ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข คือ ต้องเร่งรัดผู้ให้บริการ และ ธนาคารกรุงไทย ติดตั้งอุปกรณ์ EMV เพิ่มเติมและเชื่อมต่อระบบ ซึ่งปัจจุบัน รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ (ระบบ ARL ) ยังไม่มี ระบบ EMV


@พ.ค.นี้ ชงครม.อนุมัติรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ทุกสาย

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เรื่องนี้กระทรวงคมนาคมได้ตั้งคณะทำงานเร่งรัด โดยมีอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธาน ซึ่งมีการหารือกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อเร่งรัดทุกมิติที่เกี่ยวข้องให้พร้อมในวันที่ 30 ก.ย. 2568 โดยขณะนี้ กระทรวงคมนาคมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)​ เห็นชอบการดำเนินอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย ภายในเดือนพ.ค.นี้

นอกจากนี้ ยังต้องรอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ...ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) คาดว่าจะ ประกาศใช้ในเดือน ก.ย. 2568 ตามกรอบเวลา

“หลักการในการดำเนินนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ปัจจัยสำคัญ คือ ทุกกระบวนการทุกขั้นตอนต้องเสร็จเรียบร้อยครบถ้วน ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย เพื่อความรอบคอบ กว่าปัจจัยเรื่องเวลาจึงจะสามารถเดินหน้า เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายการเงิน ที่ กระทรวงการคลังกำกับอยู่ด้วย”ปลัดคมนาคมย้ำ


@ส่องปัญหา”แก้สัญญาสัมปทาน-แก้พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ปี 2543 ”ดึงเงินรฟม.จ่ายชดเชย

ก่อนหน้านี้ นายสุริยะ เคยระบุว่า นโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาททุกสาย มีการประเมินว่ารัฐจะต้องชดเชยรายได้ให้ผู้ประกอบการปีละประมาณ 8,000 ล้านบาท จะใช้เงินจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และใช้ พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมฯ จัดตั้งกองทุนตั๋วร่วมฯ เป็นเครื่องมือในการชดเชย โดยจะมีการจัดตั้งกองทุนตั๋วร่วมขึ้นมา

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การประเมินตัวเลขล่าสุด คาดว่าจะใช้วงเงินชดเชยหรืออุดหนุนถึง 9,500 ล้านบาท การจะนำเงินรายได้สะสมของรฟม.มาใช้นั้น จะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 เพิ่มเติม เรื่องการสนับสนุนเพื่อบูรณาการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เป็นการเปิดทางให้นำเงินรายได้สะสม ของ รฟม.มาใช้ได้ในนโยบาย 20 บาทตลอดสายได้ เนื่องจาก ในพ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ พ.ศ.2543 ไม่มีการระบุเรื่องการนำเงินสะสมของรฟม.มาใช้ทำอะไรได้บ้าง ดังนั้นการจะนำมาใช้ทันที จึงเสี่ยงผิดระเบียบและกฎหมาย รวมถึง วินัยการเงินการคลัง

“รฟม.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นรายได้สะสมที่มีก็ถือเป็นเงินของรัฐ โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล เงินสะสมเหล่านี้มาจากเงินรายได้ที่เหลือจ่ายในแต่ละปีของรฟม. ซึ่งปัจจุบันมีสะสมประมาณ 7,000 ล้านบาท”

ดังนั้น ความท้ายทายและสิ่งที่ต้องดำเนินการให้เสร็จทันวันที่ 30 ก.ย. 2568 เพื่อ ให้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาททุกสายทำได้ตามเป้าหมาย คือ กระทรวงคมนาคมต้องเสนอครม. ขอความเห็นชอบนโยบาย, เจรจาเอกชนผู้ให้บริการแก้ไขสัญญาสัมปทาน ทุกรายเพื่อเข้าร่วม ,สพร.พัฒนาระบบระบบ CCH , รฟท.และรฟม. ปรับปรุงกายภาพระบบ บัตร EMV เชื่อมต่อ CCH , พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ประกาศมีผลบังคับใช้ ,จัดตั้งกองทุนตั๋วร่วม, แก้ไข พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนฯ พ.ศ. 2543


@กทม.กางต้นทุน สีเขียวส่วนต่อขยาย 1,2 ปีละ 8 พันล้านบาท

แหล่งข่าวระบุว่า อันดับแรก ต้องเจรจากับผู้รับสัมปทานให้ชัดเจนก่อนว่า ยอมรับการเข้าร่วมหรือไม่ ซึ่งทางเอกชนต้องมีเงื่อนไข ขอชดเชยรายได้ที่ลดลงจากรัฐ ซึ่งไม่ง่ายเลย เนื่องจากปัจจุบันเอกชนดำเนินการตามเงื่อนไข สัญญาสัมปทาน ที่มีการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสาร และจัดเก็บค่าโดยสารเอง เท่ากับเอกชนมีรายได้เข้าทันที การเปลี่ยนให้มา จัดเก็บไม่เกิน 20 บาท และรัฐชดเชยส่วนต่าง ซึ่งอาจจะไม่ได้ชดเชยทันที เพราะอาจได้ส่วนต่างรายได้ เป็นรายเดือน รายปี ระยะเวลาที่เอกชนขาดรายได้ จากที่เคยได้ทันที จะเกี่ยวไปถึงดอกเบี้ยที่ควรจะได้อีกด้วย ตรงนี้ เอกชนคงมีเงื่อนไขให้รัฐชดเชย รวมไปถึง ต้องมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานอีกด้วย

โดยเฉพาะ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ กทม. กำกับดูแล ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้น กทม.ระบุว่า มีต้นทุนค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 1 ช่วงอ่อนนุช - แบริ่งและช่วงสะพานตากสิน - บางหว้า และส่วนต่อขยาย 2 ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ปีละ 8,000 ล้านบาท โดยกทม.แบกภาระขาดทุนอยู่ 6,000 ล้านบาท เพราะเก็บค่าโดยสารได้เพียง 2,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งกระทรวงคมนาคมรับข้อเสนอนี้ไปแล้ว ส่วน สายสีเขียว ที่มี บมจ.บีทีเอส รับสัมปทาน ยังรอตัวเลขและต้องเจรจากับทางบีทีเอส

นับถอยหลังเหลือเวลาอีกไม่ถึง 5 เดือน “รถไฟฟ้า 20 บาท”ทุกสายทุกสีข้ามระบบได้ จะทำได้จริงแค่ไหน เพราะยังมีโจทย์ใหญ่ ทั้งเรื่อง เงินชดเชยเอกชนที่ตัวเลขพุ่งเพิ่มไปถึง 9,500 ล้านบาท/ปี ซึ่งจะล้วงเอาจากเงินสะสมของรฟม. แต่ก็ต้องแก้ไขกฎหมายเสียก่อน ส่วน กองทุนตั๋วร่วม ยังจัดตั้งไม่ได้จนกว่า พ.ร.บ.ตั๋วร่วมฯประกาศใช้ ไม่รวมถึงข้อจำกัดมากมายจนถูกมองว่ารถไฟฟ้า 20 บาทรอบนี้ ยุ่งยากมากไปจนคนไทยใช้ได้ไม่ทั่วถึง!!


กำลังโหลดความคิดเห็น