xs
xsm
sm
md
lg

ไม่ไหว! กทม.แบกขาดทุนสายสีเขียวปีละ 6 พันล้าน “ชัชชาติ” เผยแนวคิดยกให้รัฐบาลรวมศูนย์บริหารระบบราง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ชัชชาติ” เผยแนวคิดเจรจารัฐบาลโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวแก้ภาระขาดทุนค่าเดินรถส่วนต่อขยายปีละ 6,000 ล้านบาท หวังนำงบไปใช้ภารกิจอื่นของ กทม. ชี้รวมศูนย์บริหารระบบรางที่ "คมนาคม" จัดการค่าโดยสารร่วมได้ง่าย ประชาชนได้ประโยชน์ และขอรถเมล์มาดูแลเอง

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กทม.มีแนวคิดที่จะเจรจากับรัฐบาลเพื่อขอโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบ เนื่องจากเห็นว่ารถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ควรมีผู้บริหารจัดการหน่วยงานเดียว (Single Owner) เพราะจะทำให้การบริหารจัดการ การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นราคาเดียวกันได้ง่าย นอกจากนี้ การบริหารจัดการต้นทุนจะมีผลต่อการลงทุนโครงการสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน ที่จะขยายไปถึงถนนราชพฤกษ์ ซึ่งมีที่อยู่อาศัยจำนวนมากในอนาคตอีกด้วย

ทั้งนี้ หากมีการเจรจาหารือกับรัฐบาลในการโอนสายสีเขียวให้กระทรวงคมนาคม กทม.จะต้องคำนวณภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่มีด้วย เช่น ค่างานระบบ E&M ของส่วนต่อขยายที่ กทม.จ่ายไป รวมถึงสัมปทานหลักช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน

“ที่ผ่านมา กทม.ต้องนำงบประมาณไปใช้สำหรับ รถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างมาก ดังนั้นหากสามารถโอนให้กระทรวงคมนาคม จะทำให้นำงบประมาณไปใช้ในภารกิจอื่นของ กทม.ได้มากขึ้น เช่น บริหารจัดการรถเมล์ที่เข้าถึงพื้นที่ กทม.ได้ทั่วถึงกว่า” นายชัชชาติกล่าว


@หนี้เดินรถเยอะ แบกไม่ไหว ต้นตอแนวคิดยกสัมปทานให้รัฐบาล

ด้าน นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การที่ระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีผู้บริหารจัดการหน่วยงานเดียวจะมีผลดีต่อประชาชนในเรื่องการกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นหนึ่งเดียว ส่วน กทม.เองปัจจุบันต้องแบกภาระต้นทุนการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ที่มีผลขาดทุนประมาณ 6,000 ล้านบาท/ปี เนื่องจากมีต้นทุนการเดินรถอยู่ที่ 8,000 ล้านบาท/ปี แต่เก็บค่าโดยสารเพียง 15 บาทตลอดสาย ทำให้มี รายได้เพียง 2,000 ล้านบาท/ปีเท่านั้น ที่ผ่านมาจึงต้องของบประมาณมาอุดหนุนส่วนที่ขาดทุนมาโดยตลอด

ดังนั้น หากมีคืนเฉพาะส่วนต่อขยายไปให้รัฐบาลจะทำให้ กทม.มีเงินประมาณ 8,000 ล้านบาท/ปี ไปทำภารกิจอื่นๆ ของ กทม.ได้ นอกจากนี้ กทม.มีแนวคิดที่จะขอแก้ระเบียบกฎหมายในการนำกิจการรถเมล์มาดูแลเอง เพราะปัจจุบัน องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม หาก กทม.ได้กำกับเองก็จะทำให้การบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนใน กทม.ดีขึ้น


นายวิศณุกล่าวถึงนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทางของกระทรวงคมนาคมว่า หากมีการโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปบริหารที่กระทรวงคมนาคม น่าจะทำให้นโยบายนี้เกิดง่ายขึ้น แต่ตอนนี้ตัวเส้นทางหลักยังอยู่ในสัญญาสัมปทานที่จะหมดอายุลงในปี 2572 หรือเหลือเวลาอีก 4 ปีจากนี้ ซึ่งช่วงนี้ กทม.ได้มีการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาการร่วมลงทุนตามเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (PPP) เพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุด โดยการยกโครงการให้รัฐบาลดูแลต่อ ก็ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการศึกษาด้วย

“การโอนสายสีเขียวให้กระทรวงคมนาคมนั้นควรรอให้สายสีเขียวหมดสัมปทานในปี 2572 ก่อนหรือไม่นั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ซึ่งผมเห็นว่าไม่จำเป็นต้องรอสัมปทานหมดปี 2572 ส่วนการที่ กทม.จ้างศึกษาความเป็นไปได้ ก็เป็นไปตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน พ.ศ. 2562 ซึ่งในสัญญาสัมปทานระบุไว้ชัดเจนว่าให้ศึกษาแนวทางก่อนสัมปทานหมด 5 ปี กทม.อยู่ในช่วงพิจารณาทางเลือกที่ดีที่สุด เช่น กทม.รับผิดชอบต่อ จะประมูลใหม่ หรืออย่างไร หรือยกให้รัฐบาล ซึ่งในส่วนของการศึกษาคาดว่าจะสรุปได้ไม่เกิน 1 ปีหลังจากนี้” นายวิศณุกล่าว

รายงานข่าวระบุว่า แนวคิดการโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้รัฐบาล เพราะรถไฟฟ้าสายสีเขียวมีภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากโดยเฉพาะหนี้ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ซึ่งมีต้นทุนการเดินรถที่ 48 บาท/เที่ยว-คน แต่ปัจจุบันจัดเก็บค่าโดยสารจริงแค่ 15 บาท/เที่ยว-คน ขณะที่การปรับค่าโดยสารขึ้นค่อนข้างยากเพราะจะมีผลกระทบต่อประชาชน หากไม่ปรับแล้วรัฐบาลเข้ามาช่วยอุดหนุนผลขาดทุนปีละ 6,000 ล้านบาทก็เป็นอีกแนวทางที่ กทม.คาดหวัง

“หากไม่มีการช่วยอุดหนุน ผลขาดทุนปีละ 6,000 ล้านบาทของส่วนต่อขยาย 1, 2 ก็อาจจะคืนสัมปทานทั้งหมดไป แต่ต้องขึ้นอยู่กับการเจรจาด้วยเพราะถ้าจะต้องเอาสัมปทานให้รัฐบาลจริงๆ กทม.ก็ขอคิดค่าจ่ายที่กทม.เสียไปก่อนหน้านี้คืนกลับมา ทั้งค่าติดตั้งระบบเดินรถ (E&M) งานก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยายที่ 1 ซึ่งเป็นตัวเลขหฃายหมื่นล้านบาทอยู่” แหล่งข่าวกล่าว

ปัจจุบัน กทม.มีภาระโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวปัจจุบัน ได้แก่ ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ผลขาดทุนปีละ 6,000 ล้านบาท, ค่าจ้างติดตั้งงานระบบเดินรถ (ไฟฟ้าและเครื่องกล) (E&M) ส่วนต่อขยาย 2 จำนวนเงิน 23,000 ล้านบาท, ค่างานก่อสร้างโครงการส่วนต่อขยายที่ 1 และภาระหนี้งานโครงสร้างพื้นฐานระหว่าง กทม.กับกระทรวงการคลัง เกี่ยวเนื่องกับการรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มูลค่ารวม 56,112 ล้านบาท ซึ่ง กทม.ยังไม่ได้จ่ายเงินต้น จ่ายแต่ดอกเบี้ยปีละ 500 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ กทม.จ้างศึกษารูปแบบการลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวแล้ว โดยมี บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด , มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด เป็นที่ปรึกษา ระยะเวลาการศึกษาโครงการวันที่ 1 พ.ค. 2568-25 ม.ค. 2569 (ระยะเวลา 270 วัน) วงเงิน 27 ล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น