xs
xsm
sm
md
lg

เปิดฤดูผลไม้ราคาวูบหนัก “ทุเรียน-มังคุด-มะม่วง” อาการโคม่า เกษตรกรถาม “พาณิชย์” ปีทองมาตอนไหน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบันฤดูผลไม้ปี 2568 ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว โดยปีนี้มีการคาดการณ์ว่าผลผลิตผลไม้สำคัญ 9 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน ลำไย มะม่วง สับปะรด มังคุด ส้มเขียวหวาน เงาะ ลองกอง และลิ้นจี่ จะเพิ่มขึ้นทุกรายการ เบ็ดเสร็จน่าจะมีประมาณ 6.736 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 15% ซึ่งในช่วงก่อนเริ่มต้นฤดูกาล กระทรวงพาณิชย์ได้ทำคลอดมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2568 ออกมาจำนวน 7 มาตรการ 25 แผนงาน โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นมาตรการผลักดันราคาผลไม้ปีนี้ให้เพิ่มสูงขึ้น และเป็นปีทองของพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้อีกปีหนึ่ง

แต่ทว่า เมื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลไม้มาได้เพียงแค่ 1 เดือนกว่าๆ เหตุการณ์กลับตาลปัตร ไม่เห็นแม้แววปีทอง เห็นแต่แววปีแห่งการขาดทุน เพราะต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นทุกตัว ทั้งค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรงงาน แต่ราคาที่ขายได้ที่ดูเหมือนจะดีเมื่อช่วงต้นฤดูกาล แต่มาวันนี้ผลไม้บางชนิดราคารูดลงแล้วเป็น 100% หรือมากกว่านั้น ทำให้เกษตรกรต่างสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แล้วภาครัฐที่ดูแลหลักอย่างกระทรวงพาณิชย์มัวทำอะไรอยู่ ทำไมไม่เข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร

เปิดปฏิทินผลไม้ออกสู่ตลาด

ก่อนที่จะไปดูสถานการณ์ด้านราคาผลไม้ มาดูกันว่าปีนี้ ผลผลิตผลไม้จะเริ่มออกสู่ตลาดเดือนไหน และอย่างไรกันก่อน ก็อย่างที่รู้ ปีนี้ผลไม้มีมากถึง 6.736 ล้านตัน โดยผลไม้ที่เพิ่มมากสุด คือ ทุเรียน มีผลผลิตปริมาณ 1.767 ล้านตัน เพิ่ม 37% รองลงมาคือ ลำไย ปริมาณ 1.456 ล้านตัน เพิ่ม 1% มะม่วง ปริมาณ 1.306 ล้านตัน เพิ่ม 10% สับปะรด ปริมาณ 1.343 ล้านตัน เพิ่ม 17% และมังคุด ปริมาณ 2.79 แสนตัน เพิ่ม 2% และลำไย คาดว่าจะมีผลผลิตปริมาณ 1.6-1.7 ล้านตัน เพิ่ม 10%

โดยผลไม้ที่จะออกสู่ตลาดตัวแรก คือ มะม่วง ออกมากช่วง เม.ย. สัดส่วน 33% พ.ค.-มิ.ย. 26% ทุเรียน ออกมากช่วง เม.ย.-มิ.ย. สัดส่วน 57% ก.ค.-ส.ค. 17% มังคุด ออกมากช่วง เม.ย.-มิ.ย. สัดส่วน 58% ก.ค.-ส.ค. 19% เงาะ ออกมากช่วง เม.ย.-มิ.ย. สัดส่วน 65% ก.ค.-ส.ค. 18% ลิ้นจี่ ออกมากช่วง พ.ค.-มิ.ย. สัดส่วน 80% สับปะรด ออกมากช่วง พ.ค.-มิ.ย. สัดส่วน 25% พ.ย.-ธ.ค. 16% ลองกอง เริ่มออก มิ.ย.-ส.ค. สัดส่วน 13% ออกมาก ก.ย.-ต.ค. 73% ลำไย ออกมาก ช่วง ก.ค.-ส.ค. สัดส่วน 38% พ.ย.-ธ.ค. 23% และส้มเขียวหวาน ออกมาก พ.ย.-ธ.ค. สัดส่วน 70%


ส่วนใหญ่พึ่งตลาดส่งออก

สำหรับผลผลิตผลไม้ทั้งหมด 6.736 ล้านตัน จะส่งออกสัดส่วน 74% เป็นการส่งออกแบบสด 62% แปรรูป 38% และบริโภคในประเทศ 26% เป็นการบริโภคแบบสด 73% แปรรูป 27% และหากแยกเป็นรายชนิด ลำไยส่งออกมากถึง 91% บริโภคในประเทศ 10% มังคุดส่งออก 82% บริโภคในประเทศ 18% สับปะรดส่งออก 78% บริโภคในประเทศ 22% ทุเรียนส่งออก 75% บริโภคในประเทศ 25% ลิ้นจี่ ส่งออก 20% บริโภคในประเทศ 80% มะม่วง ส่งออก 16% บริโภคในประเทศ 84% ลองกอง ส่งออก 15% บริโภคในประเทศ 85% เงาะ ส่งออก 8% บริโภคในประเทศ 92% และส้มส่งออก 1% บริโภคในประเทศ 99%

ทั้งนี้ ในปี 2567 ที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกผลไม้ทั้งแบบสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง มูลค่า 6,510.6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 231,401 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.6% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมดของไทย และเฉพาะผลไม้สด มีมูลค่า 5,149.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 183,823 ล้านบาท

หากเจาะลึกลงไป พบว่าทุเรียนส่งออก 859,183 ตัน มูลค่า 3,755.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 134,852 ล้านบาท สัดส่วน 72.9% ของมูลค่าการส่งออกผลไม้สดทั้งหมดของไทย ลำไยส่งออก 527,927 ตัน มูลค่า 571.2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 19,698 ล้านบาท มังคุดส่งออก 284,860 ตัน มูลค่า 490.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 17,573 ล้านบาท มะพร้าวอ่อนส่งออก 257,428 ตัน มูลค่า 217.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7,616 ล้านบาท มะม่วงส่งออก 106,753 ตัน มูลค่า 133.09 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4,716 ล้านบาท

ในการส่งออกผลไม้สำคัญ พบว่าตลาดจีนเป็นตลาดหลักของการส่งออกทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าวอ่อน ยกเว้นมะม่วง ที่ตลาดเกาหลีใต้เป็นตลาดส่งออกสำคัญ


“พาณิชย์” เคาะ 7 มาตรการ 25 แผนงาน

ในการรับมือฤดูกาลผลไม้ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมความพร้อมด้วยการกำหนดมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2568 จำนวน 7 มาตรการ 25 แผนงาน ที่จะถูกนำมาใช้เป็นมาตรการหลักในการกำกับดูแล และผลักดันราคาผลไม้ปีนี้ให้ปรับตัวสูงขึ้น

โดย 7 มาตรการ 25 แผนงาน มีดังนี้ 1. สร้างความเชื่อมั่น มี 4 แผนงาน เร่งตรวจรับรองแปลง GAP สร้างความเชื่อมั่น ตั้งวอร์รูมผลักดันส่งออก และตั้งชุดเฉพาะกิจเจรจาจีน 2. ส่งเสริมตลาดในประเทศ มี 8 แผนงาน เชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า กระจายออกนอกแหล่งผลิต สนับสนุนค่าบริหารจัดการ รณรงค์บริโภค สนับสนุนบรรจุภัณฑ์ โหลดผลไม้ขึ้นเครื่อง คนตัวใหญ่ช่วยคนตัวเล็ก และส่งเสริมผลไม้ GI 3. ส่งเสริมแปรรูปและปรับพื้นที่เกษตร มี 2 แผนงาน แปรรูปและสนับสนุนปลูกพืชสวนแทนพืชไร่ 4. ส่งเสริมตลาดต่างประเทศ มี 4 แผนงาน จัดมหกรรมการค้าชายแดน จัดจับคู่ธุรกิจ ส่งเสริมการขาย ร่วมงานแสดงสินค้า 5. ยกระดับผลไม้ มี 3 แผนงาน ประชาสัมพันธ์ ใช้ประโยชน์จาก FTA เจรจาผ่อนคลายมาตรการทางการค้า 6. แก้ไขอุปสรรค มี 2 แผนงาน ผ่อนปรนเคลื่อนย้ายแรงงาน สนับสนุนการค้าแยก-ขนย้าย 7. กฎหมาย มี 2 แผนงาน ปิดป้ายราคารับซื้อ ป้องกันกดราคา เอาเปรียบเครื่องชั่ง การฮั้ว

ภายใต้มาตรการดังกล่าว ได้กำหนดเป้าหมาย ช่วยระบายผลผลิตผลไม้ 950,000 ตัน ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

ส่วนตลาดจีน จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ดำเนินการภายใต้วอร์รูมผลักดันส่งออก และมีชุดเฉพาะกิจเจรจาจีน เพื่อทำงานเชิงรุกและเกาะติดทุกประเด็นที่คาดว่าจะเป็นปัญหา โดยสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการแล้ว ก็คือ การเดินทางไปสำรวจเส้นทางส่งออกทางบก โดยรถบรรทุกเส้นทาง R3A จากเชียงของ จ.เชียงราย ผ่าน สปป.ลาว เข้าสู่ทางใต้ของจีน ติดตามการตรวจตู้สินค้า และดูปัญหาความแออัดที่หน้าด่าน รวมทั้งได้ตรวจสอบล้งผลไม้และผู้ส่งออกใน จ.จันทบุรี เข้มงวดเรื่องสารย้อมสี Basic Yellow 2 หรือ BY2 ตกค้าง


“พิชัย” คุยทูตจีนเปิดทางสะดวกทุเรียน

นอกจากนี้ ช่วงก่อนวันหยุดยาวสงกรานต์ นายพิชัยยังได้หารือกับนายอู๋ จื้ออู่ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และ น.ส.จาง เซียวเซียว อุปทูตด้านเศรษฐกิจและการค้า ประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย เพื่อขอให้ทางการจีนพิจารณาผ่อนปรนมาตรการตรวจสอบสารตกค้างในทุเรียนไทย โดยเฉพาะการตรวจสาร BY2 ที่ปัจจุบันสุ่มตรวจ 100% พร้อมทั้งขอให้เพิ่มความรวดเร็วในการตรวจผ่านด่าน เพิ่มเครื่องมือและอุปกรณ์การตรวจ รวมทั้งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ เพื่อรองรับปริมาณสินค้าที่จะส่งออกไปยังตลาดจีนในช่วงฤดูผลไม้ พร้อมทั้งเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์การตรวจรถสินค้าที่หน้าด่าน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยสามารถบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในการหารือ อัครราชทูตจีนได้รับนำข้อเสนอของไทยไปประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจีน เพื่ออำนวยความสะดวกและผลักดันการส่งออกทุเรียนไทยสู่ตลาดจีนให้เกิดความราบรื่นมากที่สุด พร้อมได้กำชับขอให้ทางไทยเข้มงวดเรื่องการป้องกันและการตรวจสารปนเปื้อน ไม่ให้หลุดรอดไปตรวจพบในจีน ซึ่งปัจจุบันยังมีการตรวจพบสารนี้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้รับและจะเร่งประสานกรมวิชาการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป

ต่อมาหลังสงกรานต์ นายพิชัยได้พบกับนายอู๋ จื้ออู่ และ น.ส.จาง เซียวเซียว อีกครั้ง โดยได้นำทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในจีน ไปให้ชิม เพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยได้รับคำแนะนำว่าควรจัดเกรด ควบคุมคุณภาพของล้งในพื้นที่ต่างๆ หากล้งใดมีสินค้าคุณภาพสูง ไม่ตรวจพบสารอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถใช้วิธีการสุ่มตรวจบางส่วน หรือตรวจน้อยลง ซึ่งจะได้ประสานคำแนะนำนี้ไปยังกรมวิชาการเกษตรแล้ว


สถานการณ์จริงไม่เป็นอย่างคำคุย

หันกลับมาดูสถานการณ์ความเป็นจริง เริ่มต้นจากทุเรียน ที่มีการตั้งความหวังจะเป็นปีทองของพี่น้องชาวสวน แต่ทันทีที่เริ่มฤดูกาล ช่วงเดือน มี.ค. 2568 ราคายังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัม (กก.) ละ 200 บาท โดยมีราคาสูงสุดอยู่ที่ กก.ละ 240-245 บาท ยืนราคาได้ช่วงปลายเดือน มี.ค. ถึงต้นเดือน เม.ย. แต่หลังจากนั้น ราคาปรับตัวลดลงเรื่อยๆ วันละ 5 บาท 10 บาท จนถึงปัจจุบัน ทุเรียนเกรด AB ราคาอยู่ที่ กก.ละ 120 บาท และเริ่มเห็นแววว่าจะลงไปแตะ 100 บาท หรือต่ำกว่าในไม่ช้านี้

ขณะที่การส่งออก ปรากฏว่าช่วงต้นฤดูกาลมีตู้สินค้าส่งไปจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่พอระยะหนึ่งปรากฏว่าตู้สินค้าติดคาอยู่ที่ด่าน จากการตรวจสอบเข้มสารตกค้าง และจำนวนเจ้าหน้าที่หน้าด่านมีไม่เพียงพอ ส่งผลทำให้ตู้สินค้ากลับคืนมาช้า และมีตู้ไม่เพียงพอที่จะส่งออกทุเรียน ทำให้เกษตรกรต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน ขอให้ชะลอการตัดทุเรียน เพื่อรอให้ตู้สินค้ากลับมามากๆ ก่อน จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องตู้ส่ง แต่ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะช่วงนี้ทุเรียนกำลังเริ่มแก่จัด และจำเป็นต้องตัด

นอกจากนี้ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งการเข้มงวดตรวจสารตกค้าง และตู้สินค้ามีไม่เพียงพอ ทำให้ล้งรับซื้อทุเรียน ปรับลดราคารับซื้อลงต่อเนื่อง โดยเกิดปรากฏการณ์ที่น่าแปลกใจ คือ ราคาเกรด ABC ถูกกว่าราคาเกรดตกไซส์ที่พ่อค้าแม่ค้าซื้อไปขายตลาดในประเทศ ยกตัวอย่างเช่น เกรด ABC ราคา กก.ละ 120 บาท แต่เกรดตกไซส์ ราคา กก.ละ 120 บาท

สำหรับราคาซื้อขายในตลาดจีน เปิดตู้ที่ตลาดกว่างโจว เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2568 ที่ผ่านมา ราคากล่อง 18 กก. อยู่ที่ 800-850 หยวน หรือคิดเป็นเงินบาทประมาณ 3,600-3,800 บาท หรือเฉลี่ย กก.ละ 200-220 บาท ซึ่งดูแนวโน้มแล้วมีความเป็นไปได้ที่ล้งจะกดราคารับซื้อลงไปกว่านี้เพื่อเพิ่มผลกำไร


มังคุดราคาดิ่งจาก 200 เหลือ 50 บาท

ทางด้านสถานการณ์ราคามังคุด เกษตรกรชาวสวนมังคุด จ.จันทบุรี ได้ระบุว่า ราคามังคุดปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเริ่มต้นฤดูกาลราคาอยู่ที่เฉลี่ย กก.ละ 200 บาท (วันที่ 2 เม.ย. 2568) โดยราคายืนอยู่ได้ไม่กี่วัน จากนั้นได้ปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ครั้งละ 5 บาท 10 บาท จนถึงช่วงกลางเดือน ราคาตกลงมาอยู่ที่ กก.ละ 100-115 บาท พอเข้าสู่ช่วงปลายเดือน เม.ย. 2568 ราคาปรับลงแรงมาก ครั้งละ 10 บาทหรือมากกว่า จนล่าสุดราคา ณ วันที่ 2 พ.ค. 2568 อยู่ที่เฉลี่ย กก.ละ 50 บาท โดยลงไปต่ำสุดถึง กก.ละ 45 บาท

เหตุผลที่ราคามังคุดปรับตัวลดลง ล้งรับซื้อมังคุดแจ้งว่า ตลาดปลายทาง คือ จีน ราคาปรับลดลง จึงต้องรับซื้อมังคุดในราคาที่ลดลง ซึ่งในความเป็นจริง ราคาในตลาดจีนยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง แต่พ่อค้าใช้เป็นสาเหตุมากดราคาซื้อจากเกษตรกรเอง และมีการคาดกันว่าผลผลิตมังคุดในพื้นที่ จ.จันทบุรี และใกล้เคียง จะออกสู่ตลาดมากตั้งแต่ 1-2 สัปดาห์นี้เป็นต้นไป เกษตรกรเป็นห่วงว่าราคาจะยืนอยู่ในระดับนี้ไหวหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาแค่เดือนเดียวราคาลงจาก 200 บาท มาอยู่ที่ระดับ 50-60 บาทแล้ว


มะม่วงในสวน 2 บาท แม่ค้าถึงขั้นต้องเททิ้ง

สำหรับมะม่วง ปีนี้พูดได้ว่าผลผลิตมากถึงมากที่สุด แทบจะทุกบ้านมะม่วงออกลูกดก จนเกิดปรากฏการณ์ในโลกโซเชียล วันนี้คุณได้รับแจกมะม่วงแล้วหรือยัง หรือลิสต์รายชื่อบ้านที่จะต้องเอามะม่วงไปแจก เพราะผลผลิตมีมากจริงๆ นี่ขนาดตามบ้านเรือนยังขนาดนี้ และที่ปลูกเป็นสวน หรือทำเป็นอาชีพ จะมีมากขนาดไหน

จากการตรวจสอบสถานการณ์ราคามะม่วงที่นิยมปลูก นิยมบริโภค อย่างมะม่วงน้ำดอกไม้ ราคาช่วงต้นฤดูกาล เคยอยู่ในระดับสูงถึง กก.ละ 28-30 บาท แต่ปัจจุบันในท้องตลาดขายกันที่ กก.ละ 5-10 บาท โดยชาวสวนมะม่วงขายได้ราคาต่ำสุด กก.ละ 2 บาท

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีพ่อค้าแม่ค้าบางรายที่ไม่สามารถขายผลผลิตได้หมด แม้จะลดราคาลงมาเหลือ กก.ละ 5 บาทแล้ว ได้แก้ปัญหาด้วยการนำไปเททิ้ง เพราะไม่รู้ว่าจะระบายผลผลิตยังไง จะเก็บไว้ก็เน่าเสีย หรือจะนำไปกวน หรือนำไปบริจาค ก็ไม่สามารถทำได้เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุน


ผลไม้อื่นๆ อย่างแตงโมก็ราคาดิ่ง

นอกจากผลไม้หลักที่เริ่มต้นฤดูกาล และประสบปัญหาราคาตกต่ำ ยังมีผลไม้ที่ไม่ใช่ผลไม้หลัก อย่างแตงโม ก็ประสบปัญหาราคาตกต่ำเช่นเดียวกัน โดยในพื้นที่ จ.ชัยนาท เกษตรกรต่างประสบปัญหาราคาตกต่ำ โดยราคาแตงโมเคยขายได้ กก.ละ 8-10 บาท แต่ปัจจุบันราคาลงมาเหลือ กก.ละ 1-2 บาท ขณะที่ จ.ราชบุรี ราคาก็ตกต่ำไม่แพ้กัน เกษตรกรขายได้ กก.ละ 2 บาท จากปกติ 7-9 บาท จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง หน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือกลับเป็นพระและภาคเอกชน ที่เข้าไปช่วยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ขณะที่หน่วยงานภาครัฐกลับนิ่งเฉย ไม่มีมาตรการใดๆ ปล่อยให้ผลผลิตของเกษตรกรหลายรายต้องเน่าเสียคาสวน

เกษตรกรถามปีทองผลไม้มาตอนไหน

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่เป็นช่วงต้นฤดูกาลผลไม้ แต่ราคากลับตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว สวนทางกับสิ่งที่นายพิชัยเคยประกาศเอาไว้เมื่อวันแถลงมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2568 เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2568 ที่ระบุไว้ว่าจะผลักดันให้ราคาผลไม้ไทยดีทั้งปี และแสดงความมั่นใจว่าจะเดินหน้าผลักดันให้ปี 2568 เป็นปีทองของเกษตรกร ให้ผลไม้ไทยขายได้ราคาดีทั้งใน และต่างประเทศ

แต่นับจากวันที่ประกาศมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2568 จนถึงวันนี้ ผ่านมาแค่ 1 เดือนกว่าๆ และเพิ่งเริ่มต้นฤดูกาล ราคาผลไม้กลับพลิกผันอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด มะม่วง ราคาดิ่งตัวลงเกิน 100% ภายในเวลาแค่เดือนเศษๆ ไม่เห็นแววคำคุยที่จะทำให้ราคาผลไม้ไทยดีทั้งปี แล้วจากนี้ผลผลิตจะยิ่งออกสู่ตลาดมาก ยังไม่นับรวมผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่จะต่อคิวตามมา

วันนี้ เกษตรกรต่างตั้งคำถาม ราคาจะไปลงสุดตรงจุดไหน จะขายผลผลิตได้คุ้มต้นทุนหรือไม่ แล้วปีทองผลไม้ไทยที่ว่า จะมาจริงหรือไม่ และมาตอนไหน ???


กำลังโหลดความคิดเห็น