เงินเฟ้อ เม.ย. 68 ลด 0.22% ปรับลงครั้งแรกรอบ 13 เดือน จากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน และค่ากระแสไฟฟ้า รวมถึงผักสด ไข่ไก่ แต่เนื้อสุกร อาหารสำเร็จรูป เครื่องประกอบอาหารยังคงเพิ่มสูงขึ้น รวม 4 เดือน เพิ่ม 0.75% คาดแนวโน้ม พ.ค. 68 ยังลดลงอีก เตรียมประกาศปรับเป้าเงินเฟ้อทั้งปี 68 ใหม่เดือน มิ.ย.นี้
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน เม.ย. 2568 เท่ากับ 100.14 เทียบกับ เม.ย. 2567 ลด 0.22% เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 13 เดือน หลังจากที่เคยติดลบติดต่อกันในเดือน ต.ค. 2566-มี.ค. 2567 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ทั้งแก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน และค่ากระแสไฟฟ้า ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง และมีมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ รวมทั้งมีการลดลงของราคาผักสดและไข่ไก่ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนน้อยกว่าปีก่อน แต่สินค้าอาหารบางชนิดปรับตัวสูงขึ้น เช่น เนื้อสุกร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องประกอบอาหาร ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก และหากรวมเงินเฟ้อ 4 เดือน ปี 2568 (ม.ค.-เม.ย.) เพิ่มขึ้น 0.75%
สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อที่ลดลง 0.22% มาจากการลดลงของหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 1.45% จากการลดลงของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มพลังงาน (แก๊สโซฮอล์ทุกชนิด น้ำมันเบนซิน ค่ากระแสไฟฟ้า) ของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว แป้งทาผิวกาย) สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด (ผลิตภัณฑ์ซักผ้า น้ำยาล้างจาน น้ำยาถูพื้น) และเสื้อผ้า (กางเกงขายาวบุรุษ เสื้อยืดบุรุษ เสื้อเชิ้ตบุรุษ) ส่วนสินค้าสำคัญหลายรายการที่ราคาสูงขึ้น อาทิ น้ำมันดีเซล ค่าเช่าบ้าน ค่าทัศนาจรต่างประเทศ และค่าแต่งผมบุรุษและสตรี
ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม 1.63% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ ได้แก่ กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ (เนื้อสุกร ปลานิล ปลาทู กุ้งขาว) กลุ่มอาหารสำเร็จรูป (ข้าวราดแกง กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว) กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (กาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ (ร้อน/เย็น) น้ำอัดลม) กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) กะทิสำเร็จรูป) กลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเหนียว ขนมอบ) กลุ่มผลไม้สด (กล้วยน้ำว้า สับปะรด แตงโม มะพร้าวอ่อน) และกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาล (ขนมหวาน น้ำตาลทรายแดง) และมีสินค้าหลายรายการที่ราคาลดลง อาทิ ผักสด (มะนาว ถั่วฝักยาว แตงกวา ผักชี ผักกาดขาว พริกสด) ไข่ไก่ ส้มเขียวหวาน และไก่ย่าง
ทางด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน เม.ย. 2568 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.98% เร่งตัวขึ้นจากเดือน มี.ค. 2568 ที่สูงขึ้น 0.86% และรวม 4 เดือน ปี 2568 (ม.ค.-เม.ย.) เพิ่มขึ้น 0.91%
นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค. 2568 คาดว่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกับเดือน เม.ย. 2568 และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง โดยมีปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง จากราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกต่ำกว่าปีก่อน ส่งผลราคาแก๊สโซฮอล์จะปรับตัวลดลง รัฐจะปรับลดราคาค่ากระแสไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2568 ลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย ฐานราคาผักสดในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง และการจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ก็มีปัจจัยดันเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาน้ำมันดีเซลที่ราคา 31.94 บาทต่อลิตร ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และราคาสินค้าเกษตรบางชนิดและเครื่องประกอบอาหารมีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น มะพร้าว มะขามเปียก กาแฟ เกลือป่น น้ำมันพืช และเนื้อสุกร เป็นต้น
ทั้งนี้ เดิม สนค.จะพิจารณาปรับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีใหม่ในการแถลงข่าวเงินเฟ้อเดือน เม.ย. 2568 ช่วงต้นเดือน พ.ค. 2568 แต่ขอดูตัวเลขเดือน พ.ค.2568 ที่จะประกาศในช่วงต้นเดือน มิ.ย.2568 ก่อน แล้วจะประกาศตัวเลขเป้าหมายเงินเฟ้อของปี 2568 ใหม่