xs
xsm
sm
md
lg

SCCอัด4กลยุทธ์รับมือสงครามการค้าเดือด ลงทุนStartupเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ฯในสหรัฐ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การปรับลดประมาณการณ์การเติบเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์)ในปี2568ลงมาเหลือ 1.6% จากเดิมที่เคยประมาณการณ์ไว้ 2.9% แทบเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน จากก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็เพิ่งปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้เหลือ 1.8% เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าระหว่างประเทศ และความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการลงทุน ขณะที่ภาครัฐเตรียมเจรจากับสหรัฐเพื่อปรับลดการขึ้นภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ที่สินค้าไทยโดนเก็บสูงถึง 36%

ในส่วนภาคเอกชนก็ไม่นิ่งนอนใจ เตรียมความพร้อมรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากนโยบายการขึ้นภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐที่ส่งสัญญาณมาตั้งแต่ก่อนเข้ารับตำแหน่ง เพียงแต่ไม่มีใครคาดคิดว่า สหรัฐฯปรับขึ้น Reciprocal Tariff ซึ่งจัดเก็บอัตราภาษีจากกลุ่มประเทศอาเซียนแตกต่างกันโดยไทยเจอภาษีนำเข้า Reciprocal Tariff สูงถึง 36% เพื่อกดดันเพียงให้ประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯตบเท้าเข้ามาเจรจาต่อรอง ขณะที่พี่เบิ้มในเอเชียอย่างจีน ไม่เล่นด้วย เปิดหน้าตอบโต้ทันควัน ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯตอบโต้ รวมทั้งระงับการส่งออกแร่หายากออกนอกประเทศ ซึ่งอดีตสหรัฐฯได้นำเข้าแร่หายากจากจีน

โดยทรัมป์ยอมยกเว้นการเก็บภาษีสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องซื้อสินค้าแพงขนเกินไป ขณะที่ภาคเอกชนจีนที่เรียกร้องขอให้รัฐบาลลดการเก็บภาษีนำเข้าวัตถุดิบปิโตรเคมีอย่าง อีเทนและโพรเพนจากสหรัฐฯ แต่ยังไม่มีสัญญานการตัดสินใจจากภาครัฐของจีน

บริษัทชั้นนำของไทยอย่างกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCG เห็นสัญญาณเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนมากขึ้นจึงวางกลยุทธ์ระยะสั้น-ยาว มาตั้งแต่กลางปี2567 เร่งรัดเข็มขัด การลงทุนที่ยังไม่มีความจำเป็นก็ยกเลิกหรือชะลอไปก่อน รวมถึงการตัดธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดกำไรออกไปและขายสินทรัพย์ (Asset Divestment) เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง รวมทั้งการหยุดเดินเครื่องโครงการLSP ที่เวียดนามตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2567 หลังเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้เพียงเดือนเดียว เพราะยิ่งผลิตยิ่งขาดทุนไม่สามารถแข่งขันกับเม็ดพลาสติกนำเข้าได้


ด้านผลประกอบการ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ในไตรมาส1/2568 บริษัทมีรายได้จากการขาย 124,392ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 5% เนื่องจากปริมาณการขายธุรกิจที่ลดลงของเอสซีจี เคมิคอลส์(SCGC)โดยเฉพาะของโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (LSP ) ที่เวียดนาม ขณะที่กำไรสำหรับงวดอยู่ที่ 1,099ล้านบาท ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขาดทุน 512ล้านบาท มาจากการบริหารจัดการภายใน และการปรับปรุงประสิทธิภาพของทุกธุรกิจ โดยไตรมาส1/2568 บริษัทมีกระแสเงินสด(EBITDA)อยู่ที่ 12,889ล้านบาท ลดลง15%จากไตรมาสก่อน สะท้อนการปรับตัวฉับไวของธุรกิจ เนื่องจากไตรมาส1 นี้ ไม่มีเงินปันรับจากธุรกิจอื่นๆ(SCG Investment)เหมือนไตรมาส4/2567 และ มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 11,752 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 22%จากไตรมาสก่อนจากการดำเนินงานที่ดีขึ้นของทุกธุรกิจ

แต่เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาส1/2567 SCC มีEBITDA เพิ่มขึ้น 2%จากSCGCและการบริหารจัดการภายในอย่างต่อเนื่องจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับศีเมนต์และการก่อสร้าง ทำให้รายได้จากการขายใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มีกำไรสำหรับงวดลดลง 55% สาเหตุหลักมาจากในช่วงเดียวกันของปีก่อน SCGC มีกำไรจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ

ผลการดำเนินงาน SCC ในไตรมาส1/2568 ที่ดีกว่าที่บริษัทหลักทรัพย์คาดการณ์ และยังมีแนวโน้มดูดีในไตรมาสหน้า จากมาตรการเสริมความเข้มแข็งทางการเงินอย่างต่อเนื่อง ด้วยการลดต้นทุนการผลิต ปรับลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งการขยายตลาดใหม่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทำให้ราคาหุ้น SCC ณ วันที่ 30 เม.ย. 2568 ปิดตลาดที่ 160.00 บาท เพิ่มขึ้น 8.50 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 5.61% มูลค่าการซื้อขาย 1,592 ล้านบาทและวันที่ 2 พ.ค. 2568 ราคาหุ้น SCC ขยับขึ้นมาปิดตลาดที่ 160.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.50บาท เปลี่ยนแปลง 0.31% มีมูลค่าซื้อขาย 1,103 ล้านบาท


ชู4กลยุทธ์ใหม่รับมือสงครามการค้า

นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน)หรือ SCC กล่าวว่า การวางกลยุทธ์รับมือเศรษฐกิจผันผวนเมื่อกลางปีที่แล้ว ยังไม่มีประเด็นการปรับขึ้นกำแพงภาษี Reciprocal Tariff ของสหรัฐฯ และสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรง จึงต้องยกระดับความเข้มข้นในการรับมือสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

นอกเหนือจากมาตรการเสริมความเข้มแข็งทางการเงินไม่ว่าจะเป็นการลดหนี้ การเพิ่มกระแสเงินสด เงินทุนหมุนเวียน และลดต้นทุนบริหารที่ทำมาตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว เราพิจารณาแล้วว่ายังไม่พอต้องเพิ่ม4 กลยุทธ์สำคัญ ดังนี้คือ 

1.ลดต้นทุนให้สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตระดับโลกอย่างจีนได้ หากจีนไม่สามารถส่งสินค้าไปขายในตลาดสหรัฐฯได้ มั่นใจว่าสินค้าราคาถูกจากจีนทะลักเข้ามาแย่งตลาดในภูมิภาคและไทยมากยิ่งขึ้นขึ้น ซึ่งเดิมSCC เคยมีแนวคิดที่ไม่ผลิตสินค้าแข่งกับสินค้าจีนที่มีต้นทุนถูก แต่จะอาศัยสินค้าจีนมาทำตลาดในรูปแบบโซลูชั่นต่างๆ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ก็ต้องปรับกลยุทธ์ดังกล่าว

ซึ่งการแข่งขันกับสินค้าจีนได้ ต้องทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ โดยการนำAI และ Robot มาใช้ เช่น เอสซีจีไฮม์ ใช้หุ่นยนต์ประกอบบ้านโมดูลาร์ทนแผ่นดินไหว หรือ เอสซีจี เดคคอร์ ใช้หุ่นยนต์พ่นสีเคลือบผลิตสุขภัณฑ์ COTTO หรือการใช้พลังงานสะอาดทั้งพลังงานโซลาร์ ไบโอแมสในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ เป็นต้น


2.ขยายพอร์ตสินค้าให้รองรับความต้องการตลาดทุกระดับ ทั้งสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงและสินค้ากรีน ((HVA Products &Green Products)และสินค้าคุณภาพ ราคาจับต้องได้ (Quality Affordable Products) ซึ่งเป็นการผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า โดยจะไม่โอเวอร์สเปคเพราะลูกค้าไม่มีความต้องการ ทำให้ราคาสินค้าปรับลดลง เช่น โซลาร์รูฟ ที่มีหลายแพคเกจราคาให้เลือก จากเดิมจับกลูกค้าที่ลงทุน2แสนบาทขึ้นไป ก็ปรับลดลงมาเหลือ 9 หมื่นบาท เป็นต้น หลังคาเซรามิครุ่น Celica Curve ที่คุ้มค่าทนทาน หรือท่อพีวีซีการเกษตร ที่ออกแบบให้อายุการใช้งานน้อยลงเพื่อตรงความต้องการของเกษตรกร ทำให้เกษตรกรไม่ต้องจ่ายแพงเกินความจำเป็น

3.บุกตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ การขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐฯ มีบางประเทศได้ประโยชน์ อาทิ ออสเตรเลีย ได้อานิสงส์ส่งออกแร่หายากไปตลาดสหรัฐแทนจีนที่ประกาศห้ามส่งออก รวมถึงบราซิล อาร์เจนตินา และอินเดีย ก็เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรให้จีนแทนการนำเข้าสหรัฐฯด้วย ดังนั้น SCC มองเห็นโอกาสในการเจาะตลาดประเทศเหล่านี้โดยใช้เครือข่ายกลุ่มบริษัทที่มีอยู่ทั่วโลกเริ่มต้นจากการขายสินค้าปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำ วัสดุก่อสร้าง และผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ หากตลาดมีศักยภาพดีก็ขยายการลงทุนตั้งโรงงานในอนาคต เพราะเราคงไม่สามารถพึ่งพาตลาดสหรัฐฯในระยะยาวได้

4.สร้างความได้เปรียบโดยส่งออกจากฐานการผลิตที่หลากหลายในภูมิภาคอาเซียน โดยสลับฐานการผลิตและส่งออกจากประเทศที่มีอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯต่ำกว่า ซึ่งเป็นจุดแข็งของSCC ซึ่งมีฐานการผลิตที่หลากหลายและกระจายไปยังประเทศในอาเซียน รวมถึงยุโรป เช่นบรรจุภัณฑ์ของSCGPมีฐานการผลิตทั้งในไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ส่วนปูนซีเมนต์คาร์บอนต่ำและกระเบื้องเกรซพอร์ซเลน สามารถส่งออกจากฐานการผลิตที่ไทยและเวียดนาม เป็นต้น

ยอมรับภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ กระแสเงินสดมีความสำคัญมากกว่ากำไรสุทธิ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ซึ่งผลดำเนินงานไตรมาส1/2568 บริษัทมีกระแสเงินสดและกำไรฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนไตรมาส2/2568 มั่นใจว่าบริษัทจะมีรายได้และกำไรดีกว่าไตรมาส1/2568 ส่วนในไตรมาส3-4 ปีนี้ คงต้องรอดูผลการเจรจาของภาครัฐกับสหรัฐฯในช่วง 90วันที่สหรัฐฯประกาศชะลอการการจัดเก็บภาษีนำเข้า ว่าจะปรับลดกำแพงภาษีลงมาได้มากน้อยแค่ไหน รวมทั้งสงครามการค้าทวีความรุนแรงแค่ไหนด้วย


สยายปีกลงทุนในสตาร์ทอัพที่สหรัฐฯ

สำหรับSCCได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้าโลกค่อนข้างน้อยเพียง1%ของยอดขายรวมในปี2567 เนื่องจากมีการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯน้อยมาก หากบริษัทไม่ขายไปสหรัฐฯก็ไม่เป็นไร แต่ผลกระทบทางอ้อมรุนแรงกว่ามาก หากพ้นระยะเวลาชะลอการจัดเก็บภาษี 90วัน ต้องดูว่ากลุ่มประเทศที่เกินดุลการสหรัฐฯจะถูกจัดเก็บ Reciprocal Tariff เท่าไรโดยเฉพาะอาเซียน เช่น ไทยอาจถูกเก็บภาษีนำเข้าที่ 36% ตามที่สหรัฐฯประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งจะมีผลทำให้เศรษฐกิจระดับภูมิภาคและโลกชะลอตัวรุนแรง นำมาซึ่งสงครามการค้า

หากจีนในฐานะโรงงานของโลก ไม่สามารถส่งออกไปขายยังตลาดสหรัฐฯได้น้อยลง เชื่อว่าโรงงานจะลดกำลังการผลิต ทำให้เศรษฐกิจโลกหดตัว สินค้าจีนทะลักเข้าสู่อาเซียน ส่งผลให้แต่ละประเทศต้องลดกำลังการผลิตเนื่องจากไม่สามารถแข่งขันราคาได้ เกิดการว่างงานมากขึ้นและกระทบกำลังซื้อของประชาชน ย่อมส่งผลต่อSCC ที่มีฐานการผลิตอยู่หลายประเทศและมีการทำตลาดหลากหลายผลิตภัณฑ์ในอาเซียน ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายSCCราว 80%มาจากอาเซียน ‘หากอาเซียนทรุด SCCก็จะทรุดตามไปด้วย’

ส่วนแผนการลงทุนในสหรัฐอเมริกา SCC มีการลงทุนอยู่แล้วในสหรัฐฯ เป็นการลงทุนใน Startup ด้านเทคโนโลยีของโซลาร์เซลล์รุ่นก้าวกระโดด ไม่ใช่โซลาร์เซลล์ในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนา ยังไม่ได้ผลิตเชิงพาณิชย์

อย่างไรก็ดี บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP ) อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนตั้งโรงงานบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูป( Rigid Packaging )ในสหรัฐอเมริกา เพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นอัตราภาษีนำเข้า โดยผู้บริหาร SCGP จะเดินทางไปที่สหรัฐอเมริกา เพื่อหาพันธมิตรร่วมลงทุน คาดว่าจะได้ข้อสรุปการลงทุนในเร็วๆนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในช่วงโควิด-19 พันธมิตรได้เคยชักชวนให้SCGPมาตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐฯ แต่ผลการศึกษาพบว่ามีต้นทุนที่สูงเกินไป จึงไม่ทำแต่หันไปลงทุนทำคลังสินค้า(Warehouse)แทน

ปัจจุบัน SCGP มีการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ใน 3 levels คือ บริษัทส่งออกไปโดยตรงอาทิ บรรจุภัณฑ์พอลิเมอร์ กระดาษถ่ายเอกสารและบรรจุภัณฑ์อาหาร ซึ่งในไตรมาส 1 ของปีนี้ มีมูลค่าการส่งออก 1,275 ล้านบาท Level 2 คือ ส่งออกผ่านลูกค้า หมายถึง ลูกค้าซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทแล้วส่งออก มีมูลค่า 966 ล้านบาท และ Level 3 ความเสี่ยงจากการชะลอตัวในตลาดโลกและจีน ซึ่ง SCGP ส่งออกไปจีนมีมูลค่า 2,029 ล้านบาท ทำให้ SCGP ต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และโอเชียเนีย เพื่อลดการพึ่งพาตลาดจีน การใช้ประโยชน์จากฐานการผลิตที่ตั้งอยู่ในหลายประเทศและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว


ภายใต้ความผันผวน ย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่ เช่น แนวโน้มราคาพลังงานที่ลดลงโดยเฉพาะน้ำมันที่ปรับลดลง ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบปิโตรเคมีคือแนฟทาปรับลดลงด้วย หนุนให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกกับวัตถุดิบ(สเปรด)ขยับสูงขึ้น เราเห็นว่าสินค้าHVA หรือเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษขายได้ แต่ถ้าเป็นเม็ดพลาสติกเกรดทั่วไปมีการแข่งขันรุนแรง ซึ่งเชื่อว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว ไม่สามารถลงมาได้กว่านี้

นอกจากนี้ ผู้ผลิตปิโตรเคมีจีนกำลังประสบปัญหาการจัดหาวัตถุดิบ ซึ่งเดิมมีการซื้ออีเทน และโพรเพนจากสหรัฐฯมาผลิตปิโตรเคมี เมื่อรัฐบาลจีนตอบโต้โดยขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ มีผลให้ราคาโพรเพนจากตะวันออกกลางดีดตัวสูงขึ้น หลังจากจีนหันไปนำเข้ามาทดแทนและไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น ผู้ประกอบการปิโตรเคมีจีนกำลังเรียกร้องให้รัฐบาลลดภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯเพื่อให้โรงงานเดินเครื่องจักรต่อไปได้ ดังนั้นคงต้องติดตามว่าเรื่องนี้จะมีข้อสรุปอย่างไร

โครงการLSPพร้อมเดินเครื่องจักรอีกครั้ง

นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. เอสซีจี เคมิคอลส์ หรือ SCGC กล่าวว่า ขณะนี้มีโครงการปิโตรเคมีใหม่ในจีนที่จะเปิดในช่วงปี 2570-71 ได้เลื่อนการเปิดอย่างไม่มีกำหนดหรือบางแห่งยกเลิกการลงทุนเลย ส่วนโรงงานที่มีต้นทุนการผลิตสูงก็ต้องลดกำลังการผลิต บางแห่งถึงขั้นปิดโรงงานไป สืบเนื่องวัฏจักรปิโตรเคมีตกต่ำมาหลายปี หลังจากมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในประเทศจีน

ซึ่งการปรับขึ้นภาษีของทรัมป์ มีส่วนชี้ชะตาของอุตสาหกรรมนี้ เนื่องจากจีนมีการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบอย่างอีเทนและโพรเพนจากสหรัฐฯเพื่อมาผลิตเม็ดพลาสติก หากจีนตอบโต้ โดยขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯจะทำให้ต้นทุนการผลิตเม็ดพลาสติกจีนสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ช่วงนี้บริษัทหันมาช่วงชิงตลาดในประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยจากการขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯอาทิ ญี่ปุ่น ทำให้ขายเม็ดพลาสติกไปญี่ปุ่นในไตรมาส2/2568ได้มากขึ้นกว่าไตรมาสก่อน รวมทั้งมีการตั้งวอร์รูม เพื่อแชร์ข้อมูลร่วมกันและเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆได้ทันท่วงที


ส่วนความคืบหน้าโครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (LSP)ประเทศเวียดนาม บริษัทมีความพร้อมที่จะเปิดเดินเครื่องใหม่อีกครั้ง เนื่องจากสเปรดปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 380-400เหรียญสหรัฐต่อตัน จากเดิมอยู่ที่ 320 เหรียญสหรัฐต่อตัน บวกกับการขึ้นกำแพงภาษีสหรัฐ อาจส่งผลให้โรงงานปิโตรเคมีแห่งใหม่ที่จะทยอยขึ้นในจีนต้องชะลอออกไป แต่บริษัทฯไม่รีบร้อนเปิดโรงงานLSP ขอรอดูผลการเจรจาใน 90วันนี้ว่าการเจรจาระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะเป็นอย่างไร

หากบริษัทตัดสินใจเดินเครื่องจักรในโครงการLSP จะต้องสั่งวัตถุดิบเข้า คาดว่าใช้เวลาประมาณเดือนครึ่ง เนื่องจากโครงการLSP เป็นโรงงานใหม่ ทำให้มีความได้เปรียบ และตั้งอยู่ในประเทศที่มีดีมานด์พลาสติกสูง แต่ว่าที่ผ่านมาตลาดเกิดโอเวอร์ ซัปพลาย ทำให้โรงงานใหม่ที่ต้องแบกภาระค่าเสื่อมราคาแข่งขันลำบาก

แม้ว่าจะมีกำลังการผลิตใหม่จากจีนเข้าสู่คตลาดโลกในช่วง1-2ปีนี้ แต่เริ่มเห็นสัญญาณว่าในปี 2570-2571 เดิมจะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 10 กว่าล้านตัน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเยอะ แต่ว่าโครงการยังไม่ตอกเสาเข็มเลย พอเจอเหตุการณ์ความไม่แน่นอนในการจัดหาวัตถุดิบนำเข้า เพราะขนาดโรงงานปัจจุบันยังมีปัญหาอยู่เลย ดังนั้นโรงงานปิโตรเคมีใหม่เหล่านี้จึงได้ชะลอการลงทุนไปก่อน

ส่วนความคืบหน้าแผนการนำเข้าอีเทน 1 ล้านตันจากสหรัฐฯมาใช้ในโครงการLSP นั้น ขณะนี้บริษัทได้มีการทำสัญญาซื้ออีเทนและเช่าเหมาเรือขนส่งอีเทนระยะยาวแล้วรวมทั้งเริ่มตอกเสาเข็มถังเก็บอีเทน ซึ่งทุกอย่างคืบหน้าไปได้ดีตามแผนคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2570 โดยโครงการนี้ ไม่มีปัญหาการนำเข้าอีเทนจากสหรัฐฯ เนื่องจากเวียดนามและสหรัฐฯมีสัมพันธ์ที่ดี


กำลังโหลดความคิดเห็น